ThaiPublica > คอลัมน์ > วันนี้คุณได้รับการใส่ใจจากเมืองหรือยัง

วันนี้คุณได้รับการใส่ใจจากเมืองหรือยัง

29 ธันวาคม 2015


ณัฐเมธี สัยเวช

ฝาท่อ
ฝาท่อ

รู้จัก “กระเบื้องน้ำปรี๊ด” ไหมครับ…

กระเบื้องปูทางเท้าน่ะครับ ที่มันกระดกได้ และบางแผ่นก็จะมีน้ำขังอยู่ข้างใต้ พอเราเหยียบ น้ำขังนั่นก็จะพุ่งปรี๊ดใส่เรา บางครั้งก็เบาๆ เอาทิชชู่เช็ดๆ แถวเท้าก็พอผ่านไปได้ แต่บางทีก็ยิ่งใหญ่ เหยียบแล้วรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นไกรทองที่จุดเทียนระเบิดน้ำ คราวนั้นผมใส่ขาสั้น น้ำนั่นพุ่งไปเกือบถึง…เลยครับ

เชื่อไหมว่า ในเวลาที่จิตตกใจตรมเพราะสถานการณ์หลายๆ อย่างในบ้านเมืองและชีวิต น้ำเพียงปรี๊ดเดียวจากกระเบื้องทางเท้าแบบนั้น ก็ทำให้ผมรู้สึกว่าถูกบ้านเมืองทอดทิ้งได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งยังทำให้รู้สึกสงสัยว่า ชีวิตเรานี่มันมีราคาเท่าไหร่ มีคุณค่าระดับไหน ในบ้านเมืองนี้

โอ้โฮ…แลดูเล่นใหญ่เล่นโตมากๆ

แต่ก็นั่นแหละครับ ผมว่าไอ้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้นี่แหละ ที่สะท้อนว่าบ้านนั้นเมืองนั้นใส่ใจผู้คนของตนอย่างละเอียดลออเพียงไหน คล้ายๆ กับที่ผมเคยได้ยินว่า ถ้าอยากรู้ว่าคนเราใส่ใจความสะอาดของตัวเองขนาดไหนให้ดูที่เท้าของเขา เพราะเวลาทำความสะอาดร่างกายในรูปแบบใดๆ ก็ตาม เท้าเป็นอวัยวะในร่างกายที่อยู่ไกลจากมือที่สุด และยังเป็นจุดที่เอาเข้าจริงก็คงไม่ค่อยมีใครเห็น ดังนั้น ใครที่ใส่ใจความสะอาดเท้าเป็นเลิศ ก็แปลว่าเขาคงใส่ใจความสะอาดในร่างกายอย่างดีงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

คือ คุณปูกระเบื้องพรรค์นี้มาไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี น่าจะรู้ได้แล้วว่าเมื่อไหร่มันจะเริ่มมีปัญหา ควรจะมีเวลาซ่อมบำรุงที่ชัดเจนสำหรับเรื่องพวกนี้ ระหว่างทำแบบที่ไม่มีปัญหาแบบนี้ให้ต้องซ่อมบ่อยๆ กับทำแบบที่มีปัญหาอย่างนี้แล้วซ่อมบ่อยๆ แบบไหนใช้เงินน้อยกว่า หรือใช้งบประมาณได้มีประสิทธิภาพมากกว่า เรื่องพวกนี้นี่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะรู้ และผมคิดว่าพวกเขาสมควรจะต้องรู้

นี่ไม่ได้โวยวายเพราะบางทีเหยียบแล้วน้ำกระเด็นเกือบถึง…นะครับ แต่อย่างที่บอก นี่คือเรื่องของความใส่ใจที่มีต่อพลเมือง พลเมืองที่บ้านเมืองเขาบอกว่าจะดูแลน่ะ

ผมทำงานอยู่ในบ้านเป็นหลัก วันๆ จะออกไปไหนก็คือเดินไปหาอะไรกินเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น ผมจะผูกพันกับทางเท้ามากๆ และประสบการณ์หลายอย่างจากการใช้ทางเท้าก็ทำให้ผมข้องใจมากๆ ว่าบ้านนี้เมืองนี้กำลังดูแลผมในแบบไหน

ไม่ใช่แค่เรื่องกระเบื้องน้ำปรี๊ด ต้นไม้ตามสองข้างทางก็สร้างความลำบากไม่น้อย ผมโตมากับคำขวัญว่า “ต้นไม้คือชีวิต เจ้าดูดอากาศพิษแทนข้า” (โอ้โฮ นี่บอกช่วงอายุกันเลย) ซึ่งก็คงอะไรแบบนี้แหละครับ ที่ทำให้ต้นไม้งอกขึ้นมา (ถูกนำมาปลูก) ตามสองฝั่งถนน แต่ก็่น่าสงสัยว่า ต้นไม้พวกนี้จะดูดอากาศพิษแทนผมได้สักแค่ไหน เอาแค่เรื่องเติบใหญ่ให้ความร่มเย็นก็ยังทำไม่ได้ ที่ทำได้ก็แค่ปาดป้ายสีเขียวๆ ลงไปบนถนนสีเทาๆ เพราะต้นไม้เหล่านี้ก็เรียงรายเป็นแนวเดียวกับเสาไฟฟ้าน่ะครับ พอยอดเริ่มเติบโตจนนัวเนียกับสายไฟเขาก็ให้คนมากุดหัวเสีย แล้วที่บอกว่าสร้างความลำบากนี่คือยังไง ก็ฐานต้นไม้เหล่านี้สิครับ น่าจะพอเห็นกันอยู่ ที่เป็นกรอบสี่เหลี่ยมนูนกว้างคูณยาวแล้วก็คงประมาณสักหนึ่งตารางเมตรน่ะ มันกินพื้นที่ทางเท้าแคบๆ ของบ้านเราเมืองเราจะตายไป บางที่คนเดินเท้าเหลือทางเดินแคบกว่าฐานต้นไม้เหล่านี้เสียด้วยซ้ำ

นี่ยังไม่ต้องนับว่า เมื่อวาน (28 ธ.ค. 2558) ผมออกไปเดินดู พบว่ายอดต้นไม้บางต้น (ที่โดนกุดหัวแล้ว) นั้นยังเกือบจะบังเครื่องหมายเขตทางข้ามอีก นี่สร้างความลำบากให้คนขับรถนะครับ เขาจะไม่รู้ว่ากำลังเข้าเขตทางข้ามเอา ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่ว่าจะมาตรา ๔๕(๒) ที่ห้ามแซงในระยะ 30 เมตรก่อนถึงทางข้าม หรือมาตรา ๗๐ ที่ต้องชะลอรถเมื่อเข้าใกล้ทางข้าม เห็นไหมครับ นี่สร้างความลำบากต่อทั้งคนเดินเท้าที่รอข้ามถนนที่ทางข้าม รวมทั้งผู้ขับขี่ยานพาหนะต่างๆ อีกต่างหาก โดยที่ไอ้เรื่องดูดอากาศพิษหรือสร้างความร่มรื่นก็ไม่อาจทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แท้ๆ

ป้ายบอกเขตทางข้ามแบบทำงานร่วมกับสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางม้าลาย
ป้ายบอกเขตทางข้ามแบบทำงานร่วมกับสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางม้าลาย

เวลาเดินไปบนทางเท้านี่ ผมไม่เคยรู้สึกว่ากำลังเดินไปเฉยๆ เลย แต่รู้สึกว่ากำลังผจญภัยตลอด ไม่ว่าจะกระเบื้องน้ำปรี๊ด ฐานต้นไม้ รวมทั้งมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งหรือจอดบนทางเท้า (อ้อ หลังๆ มีจักรยานด้วย) ทางเท้าไทย (หรือให้ชัดจริงๆ คือกรุงเทพฯ) ทำให้ผมรู้สึกไม่ปลอดภัยเสียจนตอนเดินบนทางเท้าที่สิงคโปร์นี่ผมรู้สึกว่าได้พักผ่อนเลยล่ะครับ หรือเอาง่ายๆ ในไทยนี่แหละ ผมเคยเดินบนทางเท้าที่เพิ่งปรับปรุงไม่นาน พื้นยังเรียบสนิทเป็นระนาบเดียวกัน เชื่อไหมว่า ทางที่ปรกติผมเดินแล้วปวดเมื่อยเพราะเท้าพลิกไปมาตามความไม่ราบเรียบของพื้น วันนั้นกลับเดินได้สบายโดยไม่มีปัญหาอะไร

มาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมผมถึงบ่นแต่กระเบื้อง ต้นไม้ มอเตอร์ไซค์ แต่ไม่ว่าอะไรหาบเร่แผงลอยสักนิด ทั้งที่ถ้าว่าไปแล้ว หาบเร่แผงลอยกินพื้นที่และทำให้ทางเท้ากลายเป็นแดนผจญภัยเสียยิ่งกว่าอะไรต่างๆ ที่ผมว่ามาเสียอีก

ผมมองหาบเร่แผงลอยว่าเป็นผลของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ผมเชื่อว่าหาบเร่แผงลอยส่วนใหญ่นี่เกิดจากการที่คนเราไม่สามารถเข้าไปทำงาน “ในระบบ” (คำที่ตรงกว่าอาจจะเป็น “ภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการ” หรือ formal sector) ในความหมายของ “งานที่มีเงินเดือนประจำ” ได้น่ะครับ งาน “นอกระบบ” (คำที่ตรงกว่าอาจจะเป็น “ภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ” หรือ informal sector) แบบนี้ มักเกิดขึ้นเพราะคนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่สูงเพียงพอให้เข้าไปทำงานที่มีเงินเดือนประจำได้ (หรือหากได้ ก็ไม่ได้เงินเดือนมากมายนัก) และอะไรแบบนี้ก็เป็นผลมาจากนโยบายการศึกษาที่ทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง (อย่าคิดว่ามีนโยบายเรียนฟรีแล้วทุกคนจะเข้าเรียนได้นะครับ ผมเคยเจอบ้านที่ขนาดเรียนฟรีแล้วก็ยังไปเรียนไม่ได้เพราะไม่มีเงินพอเป็นค่าใช้จ่ายรายวันของลูกมาแล้ว)

จริงๆ เรื่องหาบเร่แผงลอยนี่ผมมักพูดง่ายๆ ว่า ถ้าเราทำให้ทุกคนทำงานในออฟฟิศหรือมีเงินเดือนประจำที่แน่นอนไม่ได้ หาบเร่แผงลอยก็เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับให้มีอยู่ในฐานะทางรอดหนึ่งของพลเมืองร่วมประเทศ แต่ทีนี้ ในฐานะที่ต้องอยู่ร่วมกับผู้ใช้ทางเท้าท่านอื่นๆ การจัดวางระเบียบให้ไม่เบียดเบียนกันและกันนักก็จำเป็น ซึ่งกับเรื่องหาบเร่แผงลอย จริงๆ เราก็มี “เขตผ่อนผัน” อยู่แล้ว หลายคนน่าจะเคยเห็นนะครับ ว่ามีป้ายบอกจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดเขตผ่อนผันตามทางเท้า ปัญหาคือจะออกแบบและควบคุมอย่างไรให้มีระเบียบอยู่ร่วมกันได้ภายใต้เขตอนุญาตแบบนั้นจริงๆ

และพอพูดถึงระบบระเบียบของหาบเร่แผงลอย ผมก็นึกถึงการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยเพื่อคืนความสุขให้คนเดินเท้า และนึกโยงมาถึงปัญหาคาใจของผม (อาจจะของหลายๆ คนด้วย) ในแง่ที่ว่า ทีการจัดระเบียบทางเท้าไปในทิศทางอย่างการกวาดล้างหาบเร่แผงลอย (ซึ่งทำให้หลายๆ คนต้องเสียหนทางทำมาหากิน) เพื่อให้คนเดินเท้าได้เดินอย่างสะดวกสบายยังทำได้ แล้วกับไอ้แค่ทำให้คนเดินเท้าเดินได้ง่ายๆ (โดยไม่มีใครเสียหนทางหารายได้หล่อเลี้ยงชีวิต) นี่ทำไมไม่ทำกัน

พอคิดเรื่องพวกนี้ บางทีผมก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า บ้านเราเมืองเรานั้นใส่ใจกับ “ภาพ” ของความเป็นระเบียบมากเกินไปหรือเปล่า คือเน้นแต่จะให้ทุกอย่างดูเรียบร้อยสวยงามทางสายตาโดยไม่คำนึงว่าความเรียบร้อยสวยงามในเชิงการใช้งานจริงที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้คนทั้งหลายนั้นเป็นอย่างไร แล้วตัวเรานี่มีราคาพอให้เขาวาดภาพแบบนั้นใหม่อย่างใส่ใจรายละเอียดมากขึ้นไหม

การอยู่ในเมืองสักเมือง เมืองนั้นๆ อาจไม่จำเป็นต้องทำให้เรารู้สึกโชคดีมีคุณค่าที่ได้อยู่หรอกครับ แต่อย่างน้อยๆ เอาแค่เราไม่ต้องรู้สึกโชคร้ายและไร้คุณค่าก็พอ

ว่าแต่ ตอนนี้แถวลานคนเมืองตรงศาลาว่าการ กทม. เขามีไฟให้เดินดูอยู่นะครับ ลงทุนไปตั้ง 39 ล้าน ถ้าไปก็อย่าดูไฟเพลินนะครับ พลาดเหยียบตะแกรงฝาท่อผุหักทะลุจนขาโดนตะแกรงบาดเย็บเป็นร้อยเข็มขึ้นมาแบบในข่าว กทม. เขาไม่มีระเบียบช่วยเหลือ (รับผิดชอบ) อย่างเป็นทางการนะ นี่ผู้อำนวยการเขตที่เกิดเรื่องท่านก็ต้องมอบเงินส่วนตัวช่วยเหลือไป