ThaiPublica > เกาะกระแส > สตง. ตรวจสอบ กสท พบสัญญาระบบ HSPA กับทรูมูฟไม่รัดกุม เสียหายกว่า 4 หมื่นล้าน – ประธาน คตง. เสนอตั้ง กก. สอบ

สตง. ตรวจสอบ กสท พบสัญญาระบบ HSPA กับทรูมูฟไม่รัดกุม เสียหายกว่า 4 หมื่นล้าน – ประธาน คตง. เสนอตั้ง กก. สอบ

9 ธันวาคม 2015


จากกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบงบการเงินบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ “กสท” ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ล่าสุด เจ้าหน้าที่ สตง. ตรวจสอบพบสัญญาการดำเนินกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องมีข้อกำหนดที่ไม่รัดกุม อาจทำให้ กสท เสียเปรียบ รวมทั้งพบประเด็นที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและคู่สัญญาของ กสท ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญา ทำให้ กสท สูญเสียประโยชน์ที่ควรได้รับตามที่กำหนดไว้ในสัญญา คิดเป็นเงินจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบการดำเนินการที่ทำให้ กสท มีความเสี่ยงจะเกิดความเสียหาย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และภาพรวมการดำเนินธุรกิจของ กสท ในอนาคต

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการดังกล่าว สตง. ได้ตั้งข้อสังเกตไว้หลายประเด็นดังนี้

1. การขายส่งบริการบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA ที่ กสท ทำสัญญากับริษัท เรียล มูฟ จำกัด โดยตกลงชำระค่าบริการเป็นรายเดือน ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ถึงงวดเดือนธันวาคม 2557 เป็นเงิน 49,864.86 ล้านบาท แต่บริษัทยืนยันชำระหนี้เพียง 37,665.80 ล้านบาท ที่เหลือ 12,199.06 ล้านบาท จะเจรจาหาข้อยุติในภายหลัง แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ กสท ได้รับเงินไม่ครบถ้วน และสูญเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับ เช่น ดอกเบี้ย คิดเป็นเงินมูลค่าหลายพันล้านบาท

2. การเช่าเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคม เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA จากบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตามสัญญากำหนดให้บริษัทจัดหาเครื่องและอุปกรณ์สถานีฐานให้ กสท จำนวน 13,500 ชุด ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 แต่บริษัทไม่สามารถจัดหาให้ครบได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามสัญญาบริษัทต้องจ่ายค่าปรับให้ กสท เป็นเงิน 2,364.99 ล้านบาท แต่ กสท ให้บริษัทชำระค่าปรับเพียง 2,016.20 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ควรได้รับ 348.78 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้จ่ายชำระค่าปรับในส่วนนี้ให้ กสท แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังพบว่าบริษัทได้สร้างสถานีฐานเกินจำนวน (13,500 ชุด) โดย กสท ไม่ได้รับค่าบริการที่เกิดจากสถานีฐานส่วนเกินดังกล่าว และยังไม่มีการเจรจาตกลงกันในเรื่องค่าบริการที่เกิดจากสถานีฐานส่วนเกินให้ชัดเจน

ที่มาภาพ : http://www.digithun.com/wp-content/uploads/2011/
ที่มาภาพ : http://www.digithun.com/wp-content/uploads/2011/

3. กสท ตกลงให้ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ บนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ HSPA (บริการ Roaming) แต่ยังมิได้มีการทำสัญญาข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อ กสท แจ้งเรียกเก็บค่าบริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 เป็นเงิน 6,225.53 ล้านบาท บริษัทไม่ยอมชำระค่าบริการ โดยอ้างว่าการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องอัตราค่าบริการ

4. บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ตกลงอนุญาตให้ กสท ใช้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่บนความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในลักษณะ Roaming โดยมีข้อตกลงว่า กสท จะจ่ายค่าตอบแทนให้บริษัทตามที่กำหนด โดยรายได้ที่บริษัทได้รับมอบจาก กสท นั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทต้องนำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้เพื่อชำระเงินให้แก่ กสท ตามสัญญาดำเนินการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ แต่บริษัทยังไม่ได้ชำระส่วนแบ่งรายได้ของปี 2554-2556 ให้ กสท เป็นเงินรวม 1,578.09 ล้านบาท โดย กสท ยังไม่ได้เรียกให้บริษัทชำระส่วนแบ่งและเงินเพิ่มกรณีชำระล่าช้าแต่อย่างใด และไม่ได้รับรู้รายได้ส่วนแบ่งดังกล่าวให้ถูกต้องในปีที่เกิดรายได้ ส่งผลให้ กสท ต้องเสียเงินเพิ่มจากการชำระภาษีไม่ถูกต้องเป็นจำนวนถึง 23,279.38 ล้านบาท

5. การให้บริการอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ซึ่ง กสท อนุญาตให้บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด เข้าพื้นที่เพื่อสำรวจ ติดตั้งอุปกรณ์ และใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมก่อนการจัดทำสัญญาหรือข้อตกลง และยังไม่มีข้อตกลงเรื่องอัตราค่าใช้บริการ ทำให้ กสท ไม่สามารถออกใบแจ้งหนี้ให้บริษัทชำระค่าบริการได้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ถึง 31 ธันวาคม 2557 รวมเป็นเงิน 287.75 ล้านบาท

นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เปิดเผยว่า “เรื่องดังกล่าวนี้เป็นการดำเนินงานที่ไม่มีความรัดกุม ปฏิบัติงานล่าช้า และไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา ส่งผลให้ กสท เสียเปรียบและเกิดความเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก จึงแจ้งให้ กสท พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. และการดำเนินการครั้งต่อไปต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม เพื่อไม่ให้เสียเปรียบคู่สัญญา และต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็วตามขั้นตอนที่กำหนดในสัญญาและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการหาผู้รับผิดชอบทางแพ่ง ทางวินัย และอาญาต่อไป”