ThaiPublica > เกาะกระแส > อุตสาหกรรมลุย “Green Industry” สู่ “Green Town” – นำร่องไปแล้วกว่า 20,000 โรงงาน

อุตสาหกรรมลุย “Green Industry” สู่ “Green Town” – นำร่องไปแล้วกว่า 20,000 โรงงาน

3 ธันวาคม 2015


อาทิตย์ พัฒนพงศ์ชัย
นายอาทิตย์ พัฒนพงศ์ชัย (ขวา) วิศวกรระดับชำนาญการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว” ขึ้น มีวัตถุประสงค์ติดตามความเคลื่อนไหวทางวิชาการ นโยบายและมาตรการ รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศและระหว่างประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาประเทศตามแนวทางการเติบโตรูปแบบใหม่

ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยฯ ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ “Research Gap on Thailand Green Economy” โดยมีนายอาทิตย์ พัฒนพงศ์ชัย วิศวกรระดับชำนาญการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำเสนอแนวทางยุทธศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรมที่มีนโยบายจะปรับโรงงานทั้งประเทศเป็นโรงงานสีเขียว

นายอาทิตย์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ Green Industry ของกระทรวงอุตสาหกรรมว่าได้รับนโยบายจากรัฐบาลปี 2554 แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่จึงหยุดไประยะหนึ่ง ต่อมารัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการว่าต้องทำและเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ปัจจุบันมีโรงงานเข้าสู่กระบวนการ 20,215 โรงงานแล้ว

green industry 1

ยุทธศาสตร์ 5 ขั้น มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว

ทั้งนี้ แนวคิดเรื่อง Green Industry ได้ประยุกต์แนวคิดของ UNIDO หรือ United Nations Industrial Development Organization ของสหประชาชาติมาใช้เป็นหลัก จากศึกษาพื้นฐานอุตสาหกรรมประเทศไทยพบว่า 140,000 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีไปกว่า 135,000 โรงงาน มีโรงงานขนาดใหญ่ประมาณเพียง 5,000 โรงงานเท่านั้นที่มีเครื่องจักรที่มีกำลังเกิน 10,000 แรงม้า

“ดังนั้นการที่เราบอกว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็น Green Industry ต้องไม่ใช่แค่การทำกับโรงงานใหญ่ๆ แล้วมาถ่ายรูปกัน ไม่ใช่แนวทางแบบนั้น เราต้องมีแนวทางการพัฒนาให้ครอบคลุมเครือข่ายหรือห่วงโซ่การผลิตของผู้ประกอบการทั้งหมด”

ทางกระทรวงจึงแบ่งการพัฒนาเป็น 5 ระดับ เพื่อที่จะให้อุตสาหกรรมและโรงงานไทยเข้าถึงการเป็น Green Industry ได้ คือโรงงานที่ผ่าน Green Industry ระดับ 5 หรือ GI5 ปัจจุบันมีอยู่ 13 โรงงาน เช่น กลุ่มเอสซีจี มีโรงงานอุตสาหกรรม 5 โรงงาน,โรงงานเหมืองหินปูน 3 โรงงาน และโรงงานอื่นๆ อีก 5 โรงงาน

นายอาทิตย์กล่าวต่อไปถึงหลักเกณฑ์ว่า การพัฒนาเป็น Green Industry ได้นั้น เริ่มต้นโรงงานต้องมีนโยบายมุ่งพัฒนามิติการผลิตที่สะอาดและยั่งยืน อีกด้านต้องมีมิติความสมดุลด้านเศรษฐกิจให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ และมิติสังคม โรงงานต้องพัฒนาโครงการต่างๆ ให้สังคมรอบโรงงานยอมรับโรงงาน

ด้วยเงื่อนไข 3 มิติ คือ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม กระทรวงจึงสร้างระบบ 5 ระดับแบบค่อยเป็นค่อยไป ระดับที่ 1 หรือ GI1 เรียกว่า Green Commitment โรงงานต้องกำหนดเป็นนโยบายว่าจะเป็น Green Industry ด้วยกิจกรรม เช่น ลดการใช้พลังงาน ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ลดของเสียจากการผลิต ใช้แรงงานในท้องถิ่น ชุมชนรอบโรงงานมีความพึงพอใจ โดยกิจกรรมต่างๆ ต้องชัดเจน จับต้องได้ อย่างการลดพลังงานต้องระบุตัวเลขว่าลดได้ 10% จากปีฐานที่เอาไปเทียบ ใช้แรงงานท้องถิ่นกี่เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด ชุมชนพึงพอใจมากกว่า 70% เป็นต้น

ระดับที่ 2 หรือ GI2 เรียกว่า Green Activity จะต้องนำไปปฏิบัติ เช่น ต้องใช้แรงงานในท้องถิ่น ต้องไปประกาศรับสมัคร มีนโยบายว่าจะพัฒนาแรงงานในท้องถิ่นอย่างไร ถ้าเป็นแรงงานมีฝีมืออาจจะใช้เกณฑ์ของโรงงาน แต่จะพิจารณาแรงงานในท้องถิ่นก่อน เป็นต้น หรือเรื่องชุมชนจะต้องพึ่งพอใจ ต้องหาทางลดผลกระทบต่อชุมชน น้ำอากาศ เสียง และอาจจะถึงขั้น Zero เลย คือไม่ปล่อยน้ำออกมา มีการปรับปรุงเครื่องจักรต่างๆ ให้ดีขึ้น

นายอาทิตย์กล่าวต่อว่าเนื่องจากเรื่องที่ต้องจัดการมีปริมาณมาก ทางกระทรวงจึงให้เวลาค่อยๆ ทำไปทีละเรื่อง เช่น ปีแรกทำเรื่องน้ำ อีกปีทำเรื่องอากาศ เป็นต้น โดยกำหนดกรอบระยะเวลากำกับอีกชั้น คือ ในขั้นแรกที่ประกาศนโยบายโรงงานจะมีระยะเวลาเพียง 1 ปีที่จะต้องนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในขั้นที่ 2 แต่ถ้า 1 ปีแล้วไม่ไปสู่ขั้นต่อไปก็ถือว่าคุณไม่จริงใจไม่ตั้งใจ ทางกระทรวงจะถอนการรับรอง แต่ถ้านำมาปฏิบัติจริงสัก 1 เรื่องภายใน 1 ปี กระทรวงจะถือว่าได้ระดับที่ 2 แล้ว โดยระยะที่ 2 จะมีระยะเวลารอบละ 2 ปี ที่จะต้องทำตามนโยบายปีละ 1 เรื่องหรือ 2 ปีเรื่อง จนครบทุกเรื่อง ขึ้นอยู่กับนโยบายตามที่ระบุไว้

“หลังจากทำได้หมดแล้ว ต่อไปในระดับที่ 3 หรือ GI3 เรียกว่า Green System จะต้องนำระบบมากำกับสิ่งที่ทำไปแล้ว เพื่อให้เวลาคนเปลี่ยน ผู้บริหารเปลี่ยน แผนงานการปฏิบัติงานจะยังอยู่ วิธีการคือโรงงานต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO ต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในทุกอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมใช้ 2 มาตรฐานสากล คือ ISO 14000 เรื่องสิ่งแวดล้อม ISO 50001 เรื่องพลังงาน หรือโรงงานจะต้องได้มาตรฐานเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งอิงมาจาก ISO 26000 ทั้งนี้ เพื่อให้ผ่านการรับรองระดับที่ 3 โรงงานต้องผ่านมาตรฐานอย่างน้อยหนึ่งมาตรฐาน รวมถึงต้องรักษามาตรฐานเป็นเวลาอย่างน้อยเวลา 3 ปีด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบยั่งยืนอย่างแท้จริง”

green industry 2

นายอาทิตย์กล่าวต่อไปว่าพอได้ระดับ 3 แล้วโรงงานจะไปสู่ระดับที่ 4 หรือ GI4 เรียกว่า Green Culture กระทรวงอุตสาหกรรมจะให้หลักการ 7 ข้อ ได้แก่ โรงงานต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม, โรงงานต้องมีความโปร่งใส, โรงงานต้องมีจริยธรรมในการดำเนินการ, โรงงานต้องเคารพสิทธิมนุษยชน, โรงงานต้องมีการปฏิบัติตามกฎหมาย, โรงงานต้องเคารพผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด และโรงงานต้องมีเคารพแนวทางสากลด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้าปฏิบัติตามนี้ได้กระทรวงถึงจะรับรองโรงงานระดับ 4 ให้ ซึ่งจะรวมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไว้ทั้งหมดแล้ว

“ทีนี้จะมีคำถามว่า เรื่องเหล่านี้เป็นนามธรรมมาก กระทรวงอุตสาหกรรมจะวัดอย่างไร หลายคนบอกว่าตรวจอย่างไร ใช้อารมณ์หรือเปล่า เรื่องนี้ทางกระทรวงมีแนวคิดอยู่ว่าอันดับแรกต้องเป็นไปตามกฎหมายก่อน ต่อมาจะต้องเป็นไปตามค่านิยมสากลที่ไม่ได้มีผลบังคับทางกฎหมาย แสดงว่าทุกๆ ค่าที่วัดออกมาจากโรงงานจะต้องเป็นดีกว่ากฎหมายกำหนด ดีกว่ากฎกติกาทุกอย่างในโลกนี้ รวมถึงต้องเทียบเคียงกับโรงงานสีเขียวระดับโลก คือมีมาตรฐานที่นำมาอ้างอิง ดังนั้นถ้ากฎหมายบอกว่าปล่อยน้ำเสียออกสู่สาธารณะต้องมีค่าออกซิเจนในน้ำ 20 มิลลิกรัมต่อลิตรนะ แล้วโรงงานคุมไว้ได้ที่ 20 ถือว่าผ่านกฎหมาย แต่จะไม่มีทางผ่านระดับ 4 ได้เลย เพราะถือว่าจริงๆ คุณไม่ได้มีวัฒนธรรมที่จะเป็นโรงงานสีเขียว ที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม การผ่านระดับ 4 ต้องดีกว่ากฎหมายไปอีกระดับ ด้วยการปรับเครื่องจักร ปรับระบบภายในให้ดีขึ้น อย่างเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชนจะต้องดีกว่ากฎหมายแรงงานกำหนด ดูว่าจ่ายเงินเดือนตรงไหม สวัสดิการหรือโบนัสมีหรือไม่ มีการอบรมหรือไม่ เป็นต้น” นายอาทิตย์กล่าว

ในขั้นสุดท้าย ระดับที่ 5 หรือ GI5 เรียกว่า Green Network โดยผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดของโรงงานจะต้องเป็นสีเขียวด้วยทั้ง 100% ยกตัวอย่างเช่น ในห่วงโซ่การผลิตช่วงต้นน้ำ คือซัพพลายเออร์ของโรงงาน อย่างกลุ่มปิโตรเค มีซัพพลายเออร์อยู่ 600 ราย ในขั้นตอนนี้ต้องได้ระดับ GI2 เป็นอย่างน้อยที่สุด หรือถ้าเป็น supplier จากต่างประเทศจะต้องได้ ISO 14000 หรือเทียบกับระดับ GI3 ของกระทรวงถึงจะให้ระดับสุดท้ายแก่โรงงานนั้นๆ เป็นต้น

ในส่วนปลายน้ำจนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าใช้สินค้าอย่างประหยัด บริโภคได้เต็มประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ผงซักฟอกต้องมีการแนะนำชัดเจนว่าใช้เท่าไรต่อน้ำเท่าไร เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด หรือปูนซีเมนต์ต้องมีการระบุว่าต้องใช้ปูนเท่าไร เหล็กเท่าไร เทอย่างไร ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด แข็งแรงที่สุด หรือโรงงานพลาสติกต้องบอกเขาว่าจะต้องใช้เม็ดพลาสติกเท่าไร เป็นต้น

“ขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นโรงงานสีเขียวและเป็นเป้าหมายที่เราต้องการอย่างแท้จริง ส่วนขั้นตอนที่ผ่านมายังถือว่าเป็นสีเขียวหลอกๆ แต่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นขั้นตอนการพัฒนาให้โรงงานค่อยๆ เรียนรู้ เพราะถ้าบอกว่าให้ทุกคนมาเป็น Green Network ไม่มีใครทำได้ หรือทำโรงงานคาร์บอนต่ำตามแนวทาง UNIDO ของสหประชาชาติ คำว่าคาร์บอนต่ำมีเฉพาะคนที่จบมาด้านนี้หรือคนที่ทำเรื่องพลังงานสิ่งแวดล้อมที่สนใจ แต่โรงงานทั่วๆ ไปเขาแทบจะไม่ได้สนใจเรื่องวัดการปล่อย Emission Factor ใครจะไปทำ” นายอาทิตย์กล่าว

green industry 3

นายอาทิตย์กล่าวต่อไปว่าขั้นตอนต่อไปหลังจากดำเนินการในระดับโรงงานแล้ว ในต่างประเทศจะทำเรื่องนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว และสุดท้ายพัฒนาจนเป็นเมืองสีเขียว หรือ Green Town ส่วนนี้เทียบกับของประเทศไทยส่วนของโรงงานทำแล้ว แต่ชุมชนหรือภาคบริการอื่นๆ ยังมีปัญหาหลายเรื่อง ซึ่งต้องพยายามส่งเสริมให้เกิดเป็นสีเขียวเหมือนกัน โดยกระทรวงจะพยายามทำเป็นพื้นที่ไป เริ่มจากพื้นที่ระดับนิคมอุตสาหกรรม เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดก่อนจะขยายไปยังชุมชนโดยรอบ แต่ต้องยอมรับว่ายังเป็นเรื่องยาก เพราะต้องอาศัยการตระหนักรับรู้ของประชาชนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะเลิกอุดหนุนสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยถึงจะยกระดับขึ้นไปได้ ซึ่งปัจจุบันเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น(ดูเพิ่มเติม 1,2)

ใช้มาตรการภาษีจูงใจโรงงานสีเขียว

นายอาทิตย์กล่าวต่อว่ามาตรการส่งเสริมโรงงานสีเขียวยังมีอุปสรรคอยู่ เพราะเป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจกระทรวงอุตสาหกรรม ปัจจุบันกระทรวงมีหน้าที่หลักคือเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมรายปี แต่ด้วยอุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยคิดเป็น 40% ของจีดีพี ทุกรัฐบาลจึงยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ทุกโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เราเก็บได้แค่ใบอนุญาต ซึ่งเราสามารถยกเว้นให้โรงงานสีเขียวได้ แต่ยังถือเป็นเม็ดเงินที่น้อยมาก ทำให้เราไม่มีสามารถทำมาตรการส่งเสริมโดยตรงได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางกระทรวงได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงแรงงานสร้างตราสัญลักษณ์คุณภาพไทยแลนด์ หรือ Thailand Trust Mark: TTM เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าว่าได้รับการเลือกสรรให้เป็นสินค้าชั้นเยี่ยมจากประเทศไทยที่ผ่านการรับรองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง นอกจากนี้แนวโน้มที่เป็นไปได้คือการลงโทษและส่งเสริมผ่านมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงการคลังต้องปรับคนที่สร้างมลพิษ หรือให้สิทธิลดหย่อนภาษีในกรณีที่โรงงานสีเขียว ซึ่งทุกวันนี้ยังรอร่างกฎหมายอยู่

“ต้องยอมรับว่ามาตรการด้านผู้บริโภคเป็นเรื่องยาก โดยนิสัยคนส่วนใหญ่ในโลกแล้ว เราไม่ได้อยู่ในยุโรปหรืออเมริกาที่บอกว่าต้องซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แพงกว่าไม่เป็นไร จะพกถุงไปใส่ของเอง นี่ไม่ใช่นิสัยคนส่วนมากในโลก มันมีแค่บางประเทศ มันเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าจับต้องยากกว่า การส่งเสริมระดับนี้จะต้องเป็นอีกระดับแล้ว คือต้องมีการตื่นตัวของประชาชนมากขึ้นกว่านี้ใกล้เคียงกับประเทศที่ทำได้ ดังนั้น มาตรการภาษีคือใช้เยอะ จ่ายเยอะ หรือลดหย่อนภาษี ตามหลักคนก่อมลพิษจ่าย จะเป็นแนวทางที่เป็นไปได้มากกว่า”

อ่านเพิ่มเติมGreen Industry

DSCF4486