ThaiPublica > คนในข่าว > จัดระเบียบแผนพลังงาน 20 ปี (ตอน1) : คลิ๊ก 5 แผน ปรับกระบวนใหม่ แก้ “บิดเบี้ยว-มองไม่ครบทุกมิติ”

จัดระเบียบแผนพลังงาน 20 ปี (ตอน1) : คลิ๊ก 5 แผน ปรับกระบวนใหม่ แก้ “บิดเบี้ยว-มองไม่ครบทุกมิติ”

14 ธันวาคม 2015


แม้ว่าราคาพลังงานโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แต่ในระยะยาว ไม่มีใครรู้ว่าราคาพลังงานจะยังคงยืนอยู่ในระดับนี้ตลอดไปหรือไม่ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพึ่งพิงเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก แต่ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยมีอยู่มากมายลดลงอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซแอลเอ็นจี (LNG) เพิ่มขึ้น ขณะที่นโยบายอุดหนุนราคาพลังงานก็ยังคงมีอยู่

จากสถานการณ์พลังงานไทยในปัจจุบัน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ต้องปรับปรุงแผนพลังงานใหม่ เนื่องจากแผนพลังงานทั้ง 5 แผน ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP), แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP), แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP), แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง มีจุดเริ่มต้นไม่พร้อมกัน ช่วงเวลาในการบังคับใช้ก็ไม่ตรงกัน เป็นเหตุให้กระทรวงพลังงานถูกโจมตีมาโดยตลอด(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

แผนพลังงาน1

แผนพลังงาน2

ทำไมต้องบูรณาการแผนพลังงาน 5 ฉบับ

ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่กระทรวงพลังงานทำแผนพลังงานทั้ง 5 แผน เข้ามารวมอยู่ใน “แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว พ.ศ. 2558-2579” โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน, การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และยั่งยืน

เหตุผลสำคัญที่ทำให้กระทรวงพลังงานต้องบูรณาการแผนพลังงาน 5 แผน ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานมีการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) กำหนดกรอบการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าในช่วง 15 ปีข้างหน้า ต่อมามีการพัฒนาแผนพลังงานเพิ่มเติมอีก 2 แผน คือ แผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเน้นเรื่องของความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ที่ต้องมองหาพลังงานทางเลือกอื่นมาทดแทนพลังงานฟอสซิล เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก จึงมีการจัดทำแผนพลังงานเพิ่มเติมขึ้นมาอีก 2 แผน คือ แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง

ปรากฏว่า แผนพลังงานทั้ง 5 แผนมีจุดอ่อนอยู่หลายด้าน คือ ประการแรก แผนพลังงานแต่ละแผนมีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน เช่น แผนอนุรักษ์พลังงาน และแผน PDP สิ้นสุดปี 2573 ส่วนแผนพลังงานทดแทนใช้ถึงปี 2564 จึงจำเป็นต้องจัดระเบียบใหม่

ประการที่ 2 การจัดทำแผนพลังงานในอดีต “บิดเบี้ยว” มองไม่ครบทุกมิติ จึงต้องปรับใหม่โดยใช้ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ สมมติฐาน กำหนดเป้าหมายเดียวกัน โดยเริ่มดำเนินการพร้อมกัน จบพร้อมกัน ซึ่งเน้น 3 ด้าน คือ 1. ความมั่นคงด้านพลังงาน 2. ขับเคลื่อนความมั่งคั่งของประเทศ และ 3. ปรับปรุงแผนพลังงานให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุดหนุนผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำa ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

ตั้งเป้าปี ’79 ลดสัดส่วนการใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าเหลือ 30%

ดร.ทวารัฐกล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก และในแผน PDP ฉบับที่แล้วก็ยังเน้นการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไปจนกลายเป็นจุดอ่อน เนื่องจากกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยมาถึงจุดสูงสุดแล้ว และกำลังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จึงมีความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของราคา

“นี่คือเหตุผลที่ต้องจัดสมดุลแผนพลังงานกันใหม่ เริ่มจากแผน PDP ปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า 64% ขณะที่แผน PDP เดิมยังคงกำหนดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติไว้ที่ 58% จะเห็นว่าปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติปรับลดลงไม่มาก ถือว่ามีความเสี่ยง ดังนั้น ในแผนพลังงานฉบับใหม่ จึงตั้งเป้าหมายปรับลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจาก 64% เหลือ 30% ภายในปี 2579”

“แต่การปรับลดสัดส่วนการใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีการจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดการใช้ไฟฟ้า ซึ่งในแผนพลังงานฉบับใหม่มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เดิมคาดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.4% ต่อปี ปรับลดเหลือ 3.9% ซึ่งในแผนพลังงานฉบับนี้จะทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศลดลง 10,000 เมกะวัตต์ แต่นอกจากประหยัดพลังงานแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ภายใต้แผนพลังงานฉบับใหม่ก็ต้องมีแผนพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่น เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ลดลงด้วย เช่น ถ่านหิน พลังงานทดแทนสีเขียว และซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน”

ดร.ทวารัฐกล่าวต่อว่า สำหรับเชื้อเพลิงประเภทถ่านหิน ปัจจุบันมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 18-20% แผนใหม่ปรับเพิ่มเป็น 20-25% พลังงานหมุนเวียนปัจจุบันใช้กันอยู่ที่ 8% เพิ่มเป็น 15-20% และซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่ม 7% เป็น 15-20% ซึ่งจะต้องเจรจาซื้อไฟฟ้าจากประเทศเมียนมาและกัมพูชาเพิ่มขึ้น

ถามว่าการเจรจาซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมีความมั่นคงแค่ไหน ดร.ทวารัฐตอบว่า ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางการทูต ปัจจุบันความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ลาวถือว่าดีมาก ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เมียนมาอยู่ในระดับค่อนข้างดี ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างไทย-มาเลเซียคงพึ่งพาไม่ได้ เพราะในบางครั้งกระทรวงพลังงานต้องจัดส่งไฟฟ้าไปช่วยมาเลเซีย ส่วนกัมพูชายังต้องหารือกันอีกหลายประเด็น(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าแยกตามเชื้อเพลิง

ค่าไฟฟ้าเฉลี่น-ปริมาณสำรอง

ดร.ทวารัฐกล่าวต่อว่า “ประเด็นที่เป็นปัญหา คือ ถ้าเราไม่ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าแล้ว เราจะใช้เชื้อเพลิงอะไร คำตอบคือต้องใช้ถ่านหิน พลังงานทดแทน และซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และนี่คือเหตุผลที่ สนพ. ต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินเป็น 20-25% พลังงานทดแทนอื่นๆ อีก 15-20% แต่ก็มีเอ็นจีโอหลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมไม่เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน คำตอบคือ พลังงานทดแทนบางอย่างยังมีราคาแพงและยังไม่เสถียรพอ หากเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมากเกินไปอาจจะทำให้มีจุดอ่อน แผนการผลิตไฟฟ้าที่ดีควรใช้พลังงานพื้นฐานเป็นหลักก่อน โดยมีพลังงานทดแทนเข้ามาเสริม ซึ่งจะทำให้อัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงมากกว่าแผนเดิม ทุกๆ 1 หน่วยไฟฟ้า ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 0.5 กิโลคาร์บอนไดออกไซด์ และในอนาคตจะเหลือ 0.3 เท่านั้น”

นอกจากนี้ความพยายามในการปรับลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติยังมีข้อดีอีกประการหนึ่ง คือ ทำให้ค่าไฟฟ้าไม่แพงจนเกินไป ทั้งนี้ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติมีราคาแพงและมีความผันผวนมาก ถึงแม้ปัจจุบันราคา LNG จะมีราคาถูก แต่ในอนาคตไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าราคา LNG จะอยู่ที่ระดับไหน หากสามารถดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในแผนพลังงานฉบับใหม่ ประเมินว่าค่าไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยทั้งแผนน่าจะอยู่ที่ 4.587 บาทต่อหน่วย โดยช่วง 3 ปีแรกค่าไฟฟ้าจะลดลง จากนั้นในปีที่ 8 ค่าไฟฟ้าจะทยอยปรับขึ้น แต่โดยเฉลี่ยแล้วราคาค่าไฟฟ้าก็ยังถูกกว่าแผนพลังงานเดิม

เล็งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-หนุนท่องเที่ยว

“การปรับลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ-เพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินนั้น ปัญหาคือ คนกลัวถ่านหิน มีการสร้างกระแสความน่ากลัวกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ วิเคราะห์เบื้องต้นว่าน่าจะเป็นกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์ เช่น กลุ่มท่องเที่ยว แต่ในทางตรงกันข้าม ผมกลับมองว่าไม่เสียประโยชน์อะไรเลย เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าภาคใต้ก็เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ในอดีตก่อนที่ภาคใต้จะมีชื่อเสียงในเรื่องการท่องเที่ยวก็เคยทำเหมืองแร่ดีบุกมาก่อน เช่น จังหวัดกระบี่ก็เคยทำเหมืองถ่านหินมาก่อน ปัจจุบันก็ยังมีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในพื้นที่ด้วย หากจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าที่ฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดกระบี่ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินควรตั้งอยู่ในจุดที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว น่าจะยอมรับกันได้ แต่ถ้าไปก่อสร้างในพื้นที่ใหม่ อาจจะมีปัญหามากกว่านี้” ดร.ทวารัฐกล่าว

ภาพรวมการใช้ไฟฟ้า

ดร.ทวารัฐกล่าวว่า หากดูภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศในปี 2558 จะเห็นว่า “ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 3,182 เมกะวัตต์ ช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด (Peak) มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 2,600 เมกะวัตต์ หากพิจารณาจากการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า พบว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่พึ่งพาได้มีแห่งเดียว คือ “โรงไฟฟ้าจะนะ” เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า มีกำลังการผลิต 2,200 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าที่เหลือ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนบางลาน มีกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ ซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียอีก 300 เมกะวัตต์

ขณะที่โรงไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้า ต้นทุนสูง ราคาแพง พึ่งพาได้น้อย ส่วนโรงไฟฟ้าพลังน้ำก็พึ่งพาได้เฉพาะฤดูกาลที่มีน้ำมาก ส่วนโรงไฟฟ้าของประเทศมาเลเซีย เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แทนที่มาเลเซียจะช่วยไทย กลับกลายเป็นว่าไทยต้องไปช่วยมาเลเซีย

สรุป ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าที่พึ่งพาได้จริงแค่แห่งเดียว คือ “โรงไฟฟ้าจะนะ” ทำให้ภาคใต้มีความเสี่ยงไฟดับ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

ภาคอีสาน ดร.ทวารัฐกล่าวว่า “ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับภาคใต้ เพราะโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่พึ่งพาไฟฟ้าจากประเทศลาวเป็นหลัก ประมาณ 2,100 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่ใช้พลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งแปรผันตามฤดูกาล ดังนั้น หากเกิดปัญหาภัยแล้ง ก็มีความเสี่ยงอีก”

แต่อย่างไรก็ตาม มีเอ็นจีโอบางคนตั้งคำถามว่า ในแผน PDP มีพลังงานสำรอง (Reserve Margin) เหลือเป็นจำนวนมาก ทำไมยังมีความเสี่ยงอีก

ประเด็นนี้ ดร.ทวารัฐชี้แจงว่า เรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน หากมองโดยภาพรวมแล้ว ส่วนใหญ่มีความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก แต่ถ้าแยกดูเป็นรายภูมิภาคแล้วพบว่าภาคใต้ยังมีความเสี่ยง จึงจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ส่วนไฟฟ้าภาคอีสานก็พึ่งพาโรงไฟฟ้าของประเทศลาว หากเปรียบเทียบระหว่างลาวกับมาเลเซีย โรงไฟฟ้าลาวพึ่งพาได้มากกว่ามาเลเซีย เพราะสัญญาซื้อไฟฟ้าจากลาวมีลักษณะซื้อยกเขื่อน ส่วนมาเลเซียเป็นสัญญาแลกเปลี่ยน เช่น สัญญาการซื้อ-ขายก๊าซระหว่างไทยกับมาเลเซีย (JDA) ใช้ท่อก๊าซท่อร่วมกัน หากมีปัญหาขัดข้องเกิดขึ้น ไฟฟ้าก็จะดับทั้งไทยและมาเลเซีย

“กำลังการผลิตไฟฟ้าภาคใต้พึ่งพาได้จริง มีอยู่แค่ 2,200 เมกะวัตต์ ขณะที่ช่วงฤดูร้อนเป็นช่วง Peak ปริมาณการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 2,500 เมกะวัตต์ การแก้ไขปัญหาต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปช่วยภาคใต้ในช่วง Peak ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในภาคใต้ เพื่อรองรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคใต้เอง ไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่นเลย อย่างเกาะสมุยก็ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอม หาดใหญ่ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าจะนะ ส่วนภูเก็ตและกระบี่ก็ใช้ไฟจากโรงไฟฟ้าน้ำมันเตาที่จังหวัดกระบี่เพียงแห่งเดียว นอกจากไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้แล้ว ต้นทุนผลิตสูง แต่ละปีเดินเครื่องไม่กี่วัน ยกเว้นกรณีที่รัฐบาลสั่งให้ใช้น้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้า”

“ตามหลักการสร้างโรงไฟฟ้า ต้องจัดหาไฟฟ้าสำรอง ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่นั้นๆ ถึงจะมีความมั่นคงมากที่สุด กรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปช่วยภาคใต้ ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น”ดร.ทวารัฐกล่าว

ถามว่า สนพ. มีหลักในการพิจารณาเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานในแต่ละพื้นที่อย่างไร ดร.ทวารัฐตอบว่า ตามมาตรฐานสากล ส่วนใหญ่ใช้ทฤษฎี N-1 โดยจำลองสถานการณ์ กรณีโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดและพึ่งพาได้ในพื้นที่นั้นๆ หายไปจากระบบหรือหยุดทำการ โรงไฟฟ้าที่เหลืออยู่สามารถรองรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้มากน้อยแค่ไหน อย่างในพื้นที่ภาคใต้ปัจจุบันประสบปัญหาผลิตไฟฟ้าไม่พอใช้อยู่แล้ว หากโรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าหลักของภาคใต้ ปิดทำการหรือมีปัญหาจะเกิดอะไรขึ้น

ชะลอโรงไฟฟ้ากระบี่-ชี้ปี2561-2562 ภาคใต้เสี่ยงไฟฟ้าดับ

“ปกติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี ทั้งนี้ไม่นับช่วงเวลาที่ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ “EIA” ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานใช้เวลาในการจัดทำรายงาน EIA จนเสร็จเรียบร้อยแต่ยังไม่ทันได้ส่งให้คณะผู้ชำนาญการพิจารณา ปรากฏว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สั่งให้ชะลอ เนื่องจากมีคนในพื้นที่ออกมาคัดค้าน ต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ทาง ทส. จึงแต่งตั้งคณะไตรภาคีขึ้นมาเจรจาไกล่เกลี่ย คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย ตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน ตัวแทน ทส. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาข้อสรุปว่าจะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่อไปได้หรือไม่

ถามว่าที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่หรือไม่ ดร.ทวารัฐตอบว่า ส่งเจ้าหน้าที่ไปพูดคุยกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านส่วนหนึ่งเป็นคนนอกพื้นที่โรงไฟฟ้า เข้ามาสร้างกระแสให้ชาวบ้านเกิดความกลัว ถ้าพูดถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงต้องนึกถึงเหมืองแม่เมาะ ชาวบ้านก็จะกลัว และตั้งการ์ดสูง ไม่ยอมรับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งถ่านหินมันมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีอยู่แล้ว “รูปชั่ว ตัวดำ คนจึงไม่ชอบ” อย่างเช่น ที่ท่าเรือนครหลวง จังหวัดอยุธยา เป็นท่าเรือที่มีการขนถ่ายถ่านหินมากที่สุด ขณะเดียวกันก็มีการขนถ่ายแป้งมันสำปะหลังด้วย ซึ่งข้อเท็จจริง การขนถ่ายแป้งมันสำปะหลังทำให้เกิดมลพิษมากที่สุด แต่แป้งมันสำปะหลังมันสีขาว คนจึงไม่ด่า ด่าแต่ถ่านหินเพราะว่าสีดำ เห็นชัด และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนออกมาต่อต้าน คือ สิ่งที่รัฐบาลในอดีตทำไว้ไม่ดี ไม่มีหลักประกัน กฟผ. ไว้ใจไม่ได้ เพราะไปนึกถึงเหมืองถ่านหินที่แม่เมาะ

“ถามว่าจะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ได้หรือไม่ ผมเองก็ตอบไม่ได้จริงๆ แต่ที่สำคัญ ในแผนพลังงานบรรจุแผนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินผลิตไฟฟ้า ทดแทนก๊าซธรรมชาติเอาไว้แล้ว หากก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้ ก็ต้องกลับไปใช้ก๊าซธรรมชาติตามเดิม และถ้าเป็นเช่นนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะปรับแผนพลังงานทำไม” ดร.ทวารัฐกล่าว

และถ้าหากภาคใต้ไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าที่พึ่งพาได้เพิ่มเติมภายในปี 2561-2562 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าภาคใต้จะอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ได้หมายความว่าปี 2561-2562 ไฟฟ้าภาคใต้จะดับ แต่มีความเสี่ยงเรื่องไฟฟ้าดับมาก และที่สำคัญ การส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปช่วยภาคใต้มีต้นทุนสูง ในระยะยาวไม่มีความยั่งยืน และที่สำคัญ ยังมีความเสี่ยงเหมือนเดิม

ดูเพิ่มเติมแผนบูรณาการพลังงานฉบับเต็ม

อ่านต่อตอนที่ 2 แผนพลังงานทางเลือก