ThaiPublica > เกาะกระแส > ไทยสอบผ่าน EASA “การบินไทย-MJet ” บินเข้ายุโรปได้ตามปกติ – “ประยุทธ์” ย้ำต้องมุ่งมั่นแก้ปัญหาต่อ

ไทยสอบผ่าน EASA “การบินไทย-MJet ” บินเข้ายุโรปได้ตามปกติ – “ประยุทธ์” ย้ำต้องมุ่งมั่นแก้ปัญหาต่อ

11 ธันวาคม 2015


เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2558 ที่กรุงบรัสเซลส์ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศปรับปรุงบัญชีรายชื่อความปลอดภัยทางอากาศ ผ่านเว็บไซต์ http://europa.eu มีรายละเอียดดังนี้

หลังจากได้มีการนำแผนยุทธศาสตร์ความปลอดภัยด้านการบินแผนใหม่ของสหภาพยุโรปมาใช้ได้เพียง 1 วัน วันนี้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)ได้ประกาศรายการปรับปรุงรายการความปลอดภัยทางอากาศ โดยระบุถึงรายชื่อของสายการบินที่อาจมีการห้าม หรือจำกัดเส้นทางการบินในสหภาพยุโรป บัญชีรายชื่อดังกล่าวมีสำคัญที่รับประกันความปลอดภัยทางอากาศในระดับสูงสุดให้กับชาวยุโรป การดำเนินการรูปแบบนี้ช่วยคัดกรองสายการบินใหม่จากประเทศที่ 3 ที่ยื่นขออนุญาตทำการบินเข้าสหภาพยุโรป ที่เริ่มยื่นขอทำการบินตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งในอนาคตการดำเนินการรูปแบบดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มความปลอดภัยทางอากาศ

easa

การปรับปรุงครั้งนี้ได้ยกเลิกการแบนสายการบินจากคาซัคสถาน คือ Air Astana ซึ่งถูกจำกัดเส้นทางการบิน ตั้งแต่ปี 2009 ขณะเดียวกันได้เพิ่มสายการบิน อิรักแอร์เวย์ เข้าในรายการดังกล่าว เนื่องจากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยได้

Ms.Violeta Bulc, EU Commissioner for Transport กล่าวว่า “ในวันจันทร์ที่ผ่านมาเรามีการปรับปรุงกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ด้านการบินและวันนี้ได้ทำการปรับปรุงบัญชีรายชื่อความปลอดภัยทางอากาศ เราสามารถปลดสายการบิน Air Astana ออกจากรายชื่อได้ หลังจากที่เราร่วมมือกันแก้ไขปัญหามา 6 ปี อย่างไรก็ตามจะยังคงสภาพสายการบินอื่นๆของคาซัคสถานเอาไว้ในบัญชีรายชื่อ(ยกเว้น Air Astana) และเพิ่มสายการบิน อีรักแอร์เวย์เข้าไปอีก 1 สาย”

ทั้งนี้ยังไม่มีสายการบินจากประเทศไทยถูกเพิ่มในบัญชีรายชื่อดังกล่าว อย่างไรก็ตามคณะกรรมการและหน่วยงานความปลอดภัยการบินยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) มีความยินดีที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานของไทยเพื่อยกระดับความปลอดภัยการบิน และติดตามตรวจสอบการแก้ปัญหาด้านการบินของไทยอย่างใกล้ชิด หากมีการแจ้งเตือนเรื่องความปลอดภัยด้านการบินอีกครั้งทางคณะกรรมการอาจมีการพิจารณาเพิ่มสายการบินอื่น ของไทยเข้าในบัญชีรายชื่อ

ทั้งนี้สหภาพยุโรปมีการปรับปรุงบัญชีรายชื่อความปลอดภัยทางอากาศ ซึ่งจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 ธันวาคม 2558 โดยจะมีสายการบินทั้งหมด 228 สายการบินที่อยู่ในรายชื่ออยู่ในบัญชีดังกล่าว จาก 20 ประเทศ เนื่องจากยังมีข้อบกพร่องด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบิน

ประเทศเหล่านั้นได้แก่ อัฟกานิสถาน, แองโกลา (ยกเว้น 1 สายการบินที่ผ่านการประเมิน), เบนิน, สาธารณรัฐคองโก, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, จิบูตี,อิเควทอเรียลกินี, เอริเทรีย, กาบอง (ยกเว้น 2 สายการบินที่ผ่านการประเมิน) อินโดนีเซีย (ยกเว้น 4 สายการบิน), คาซัคสถาน (ยกเว้นสายการบิน Air Astana ที่จะถูกปลดจากรายชื่อวันนี้) สาธารณรัฐคีร์กีซ, ไลบีเรีย, ลิเบีย,โมซัมบิก, เนปาล, เซาตูเมและปรินซิปี, เซียร์ราลีโอน,ซูดาน และแซมเบีย

นอกจากนี้ในรายการดังกล่าวได้เพิ่มสองสายการบินที่ยังไม่ผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัย ได้แก่ อิรักแอร์เวย์ (ประเทศอีรัก) และสายการบินบลูวิงส์ (ประเทศซูรินาเม) รวมมีสายการบินที่ถูกจำกัดการบินทั้งสิ้น 230 สายการบิน และมี 7 สายการบินที่ได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะให้สามารถทำการบินเข้าสหภาพยุโรปได้ ได้แก่ สายการบิน Afrijet และสายการบิน SN2AG (ประเทศกาบอง), สายการบิน Koryo (ประเทศเกาหลีเหนือ), สายการบิน Service Comores (ประเทศคอโมโรส), อิหร่านแอร์ (ประเทศอิหร่าน) สายการบิน TAAG Angola Airline (Angola) และสายการบินมาดากัสการ์ (ประเทศมาดากัสการ์)

คมนาคมตั้งโต๊ะแถลง-จรัมพรชี้พร้อมร่วมมือ และช่วยแก้ไขปัญหา

ในวันเดียวกัน ที่กระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการแถลงข่าวกรณี European Commission แถลงการณ์การปรับสถานะ EU Air Safety List โดยมี นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมการแถลงข่าวฯ

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม

นายอาคม กล่าวว่า คณะกรรมาธิการแห่งสภาพยุโรปได้มีแถลงการณ์ EU Air Safety List ประกาศรายชื่อสายการบินที่ไม่อนุญาตให้ทำการบินในเขตสหภาพยุโรป มีความเห็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยว่า ไม่ปรากฏว่ามีสายการบินของประเทศไทยที่ถูกเพิ่มเติมในรายชื่อสายการบินที่ไม่อนุญาตให้ทำการบินในขณะนี้ โดยคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรป และหน่วยงานด้านความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) มีความปรารถนาที่จะร่วมมือกับหน่วยงานด้านการบินของไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริม ความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทย และจะกำกับติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการพัฒนาการนับจากนี้ ทั้งนี้ การปรับสถานะ EU Air Safety List จะประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 ธันวาคม 2558

ด้านายจุฬา ระบุว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) จากการตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อาทิ การปรับปรุงกฎ ระเบียบต่าง ๆ ให้เป็นปัจจุบัน สอดคล้องกับ ICAO ทั้งด้านความเหมาะสมกับการบิน และเศรษฐกิจ พร้อมทั้งร่วมมือกับ EASA และสำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านมาตรฐานการบิน

ทั้งนี้ ICAO FAA และ EASA ได้รับทราบและเข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทย และมุ่งหวังว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค และได้ให้ข้อเสนอแนะเรื่องบุคลากรของ กทพ. เนื่องจากบุคลากรเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้การกำกับดูแลมาตรฐานการบินของประเทศไทยเข็มแข็งมากยิ่งขึ้น ทั้งการเรียนรู้ และปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

“ปัจจุบัน กพท. ได้วางแผนเรื่องบุคลากรไว้ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 เปิดรับบุคคลที่มีประสบการณ์ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ตรวจสอบได้ทันที ขั้นตอนที่ 2 กพท. จะรับโอนบุคลากรจากหน่วยงานของรัฐที่มีความรู้ความสามารถ และประสงค์จะมาปฏิบัติงานด้านกำกับดูแลด้านการบินขั้นตอนที่ 3 เปิดรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาใหม่ เป็นการสร้างบุคคลในระยะยาว และจะต้องได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับ กฎ ระเบียบด้านมาตรฐานการบิน โดยจะดำเนินการทั้ง 3 ขั้นตอนพร้อมกัน” นายจุฬา กล่าว

สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศนั้น ได้ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดเพื่อออกใบรับรองฯ และทุกสายการบินจะต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อพิจารณาออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (Air Operator Certificate Re-Certification) อย่างเข้มงวด

นายจรัมพร โชติกเสถียร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแถลงการณ์ดังกล่าว ไม่ปรากฎว่ามีประเด็นเกี่ยวกับประเทศไทยด้านลบ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังคงให้บริการเส้นทางบินสู่ยุโรปได้ตามปกติ

“เรียกได้ว่าช่วงที่ผ่านมาหลังจาก ICAO ประกาศว่าไทยมีข้อพกพร่อง SSC เราโดนตรวจสอบ ณ ลานจอนถี่ขึ้นมาก ปีนี้ถูกตรวจไปราว 100 ครั้ง ซึ่งไม่พบปัญหาใดๆ เป็นเครื่องยืนยันมาตรฐานของการบินไทย และการบินไทยได้แสดงความพร้อมให้ทาง EASA เห็นโดยการเชิญเขาเขามาตรวจสอบเอง ซึ่งผลการประเมินก็เป็นไปตามที่ประกาศในวันนี้” นายจรัมพร กล่าว

การบินไทยยังคงให้บริการเส้นทางบินสู่ทวีปยุโรปได้ตามปกติ โดยปัจจุบันสายการบินไทยให้บริการเส้นทางบินสู่ยุโรป 11 จุดบิน ได้แก่ ลอนดอน โคเปนเฮเกน แฟรงก์เฟิร์ต บรัสเซลส์ มิวนิก ออสโล ปารีส สตอกโฮล์ม ซูริก มิลาน โรม ดูรายละเอียดตารางการบินได้ที่ www.thaiairways.com

ทั้งนี้การบินไทยได้รักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสูง ยึดมาตรฐานของ EASA เป็นแนวทาง และพร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับ กพท. ในการทำ Recertificate ที่จะเกิดขึ้นต่อไป รวมทั้งให้ความช่วยเหลือสายการบินอื่นๆ ของประเทศไทยในการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยเพื่อให้ธุรกิจการบินของประเทศไทยมีความเข้มแข็งขึ้นโดยเร็ว

นายกฯ เผยประกาศ EASA เป็นของขวัญปีใหม่

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เปิดเผยภายหลัง ได้รับทราบผลการพิจารณาของ สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป(EASA) ว่า ขอบคุณที่สหภาพยุโรปเห็นถึงความพยายามของไทย

“ตระหนักดีว่าการตัดสินใจของเขาในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับเขา เพราะ จะให้เพียงแค่ตัดสินใจตามองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO)และ สำนักงานบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา(FAA)ย่อมเป็นเรื่องที่เขาทำได้โดยง่าย แต่เขาเลือกที่จะตัดสินใจไม่แบนไทยวันนี้ เพราะเห็นถึงความพยายามของเราโดยเฉพาะในระยะ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เราได้นำเสนอแผนแม่บทในการทำงานใหม่ที่เขาพอใจและต้องการให้เราทำให้ได้จริงเพราะจะเป็นการยกระดับมาตรฐาน มาตรฐานความปลอดภัย ของการบินพลเรือนไทย ให้เทียบระดับสากลได้อย่างยั่งยืน”

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า วันนี้ไทยไม่ได้เร่งแก้ปัญหาแค่เพื่อปลดธงแดงจาก ICAO แต่รัฐบาลไทยกำลังทำงานยากคือ ปฏิรูปการทำงานทั้งระบบเพื่อให้การบินพลเรือนไทยก้าวออกจากวังวันเก่าๆที่ไม่ได้มาตรฐาน วันนี้ไทยกำลังเริ่มทำงานกับบริษัทที่ปรึกษามืออาชีพ ที่ทุกประเทศให้การยอมรับ และเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมก็เพิ่งลงนามร่วมกับ EASA เพื่อร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิด ในการยกระดับการบินพลเรือนไทยให้ได้มาตรฐานเดียวกับในสหภาพยุโรป

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นและรัฐบาลขอยืนยันว่าจะเดินหน้าทำงานต่อไปร่วมกับพันธมิตรของเราอย่างเต็มที่ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทาง 41 สายการบิน และ องค์กรใหม่ที่จะเริ่มงานในวันที่ 1 มกราคม 2559 คือสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยหรือ กพท. ซึ่งจะทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย

“ผม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นคนกำกับดูแลการทำงานของข้าราชการทั้ง ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศบปพ.) และกระทรวงคมนาคมให้เป็นไปตามแผนงานที่เรานำเสนอแก่ ICAO EU และ FAA ใหม่ด้วยตัวเอง และกระบวนการคัดเลือกคนเข้าทำงานที่ กพท. จะต้องโปร่งใสยุติธรรมและได้มาซึ่งคนที่มีคุณภาพสุจริตและได้มาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นองค์กรที่ทำงานอย่างมืออาชีพได้อย่างเต็มที่ และเราต้องช่วยกันดูแลไม่ให้ผู้มีอิทธิพลทางการเมือง เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำงาน ของ กพท.ได้ในอนาคต” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า ตนหวังว่าการประกาศผลในครั้งนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและขอบคุณสหภาพยุโรปที่ให้ข่าวดีนี้เป็นของขวัญให้กับคนไทยนี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าปัญหาในอดีตไม่ว่าจะยากขนาดไหนถ้าร่วมมือกันก็จะแก้ได้ แต่ต้องทำอย่างจริงจังอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งตนเชื่อว่ามาตรฐานการบินพลเรือนของไทยจะดีขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน

อานิสงส์สอบผ่านEASA

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ถึงอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวไทยหลัง EASA ไม่ขึ้นบัญชีดำสายการบินสัญชาติไทย ว่าหลังจากสำนักงานความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) ประกาศผลการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทยแล้ว โดยไม่มีสายการบินใดของไทยถูกเพิ่มเข้าไปใน EU Air Safety List หรือไม่ถูกขึ้นบัญชีดำ ส่งผลให้สายการบินสัญชาติไทยยังคงสามารถบินเข้า-ออกยุโรปได้ตามปกติ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการของ EASA จะยังคงติดตามและตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

เป็นไปตามคาดว่า EASA ไม่ประกาศขึ้นบัญชีดำ (blacklist) สายการบินสัญชาติไทย ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าสายการบินสัญชาติไทยยังคงมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับที่สูง ทั้งนี้ การประเมินของ EASA มุ่งเน้นพิจารณาด้านความปลอดภัยและบุคลากรของสายการบินเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากการประเมินของ ICAO และ FAA ที่มุ่งเน้นพิจารณาการกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐและระบบการออกใบอนุญาตเดินอากาศ จึงทำให้สายการบินสัญชาติไทย โดยเฉพาะการบินไทย ซึ่งมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสูง และได้รับประกาศนียบัตรสายการบินที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยจาก IATA (IATA Operational Safety Audit: IOSA) ยังคงสามารถทำการบินเข้าสู่น่านฟ้าสหภาพยุโรปได้

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในกรณีที่ EASA ขึ้นบัญชีดำสายการบินสัญชาติไทย อีไอซีมองว่าอาจกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงสั้นๆ ราว 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากการบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแบบประจำเส้นทาง (scheduled flight) รายเดียวของไทยที่มีเที่ยวบินไปยุโรปอาจไม่สามารถโอนย้ายผู้โดยสารไปยังสายการบินอื่นได้ทัน รวมถึงผู้โดยสารอาจไม่สามารถเปลี่ยนแผนการเดินทางเข้าไทยได้ ดังนั้น การที่ EASA ยังคงให้สายการบินสัญชาติไทยทำการบินเข้า-ออกยุโรปได้จึงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจากยุโรปยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวยังได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปมีการเดินทางมากขึ้น โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวยุโรปคิดเป็น 15% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และการบินไทยมีส่วนแบ่งการตลาด 1 ใน 3 ของเที่ยวบินเส้นทางยุโรปทั้งหมด หรือจำนวน 1.6 ล้านที่นั่งจาก 5.6 ล้านที่นั่งต่อปี

การประเมินผลในเชิงบวกของ EASA จะช่วยเรียกความมั่นใจให้แก่อุตสาหกรรมการบินของไทย และส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินในปี 2016 มีแนวโน้มเติบโตได้ดี แม้ว่าไทยจะถูกลดระดับจาก ICAO และ FAA แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมการบินยังอยู่ในวงจำกัดและไม่รุนแรงมากนัก กล่าวคือ สายการบินสัญชาติไทยไม่สามารถเพิ่มความถี่ของสายการบินเดิมหรือเพิ่มเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทางใหม่ในบางประเทศเท่านั้น ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อพิจารณาผลกระทบดังกล่าวประกอบกับการประเมินของ EASA ที่เป็นไปในทิศทางบวก จึงเป็นสัญญาณที่ดีต่ออุตสาหกรรมการบินของไทย โดยอีไอซีประเมินว่ารายได้ของสายการบินเต็มรูปแบบและสายการบินต้นทุนต่ำยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในปี 2559 ในระดับ 4-6% และ 20-25% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องเร่งแก้ไขปัญหาด้านการบินอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (new engine of growth) โดยมีอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจึงมีความจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้านการบินอย่างเร่งด่วน ทั้งในประเด็นการออกใบอนุญาตเดินอากาศ และการเพิ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบ (inspector) เพื่อให้ ICAO และ FAA คืนสถานะความปลอดภัยด้านการบินแก่ไทยในระยะเวลาอันสั้นที่สุด

ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม ยังคงต้องจับตาผลการประเมินของ EASA ครั้งต่อไป ซึ่งจะมีการประเมินในทุกๆ ครึ่งปี ผู้ประกอบการโรงแรมควรเตรียมความพร้อมเพื่อหาลูกค้าใหม่ทดแทนในกรณีที่นักท่องเที่ยวชาวยุโรปจะยกเลิกการจองห้องพัก อาทิ การมุ่งเน้นรองรับลูกค้าชาวเอเชียให้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการประเมินผลครั้งต่อไปของ EASA โดยเฉพาะโรงแรมในเขตกรุงเทพฯ สมุย ภูเก็ต และพัทยา ซึ่งยังคงพึ่งพาลูกค้าจากตลาดยุโรปเป็นส่วนใหญ่

ข้อมูลพื้นฐาน

ตาม Regulation (EC) No 2111/2005 รายชื่อความปลอดภัยทางอากาศของสหภาพยุโรปมีการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอโดยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจากประเทศสมาชิก จะมีการประชุมร่วมกันอย่างน้อย 2 ครั้ง/ปี เป็นการภายในของคณะกรรมการด้านความปลอดภัย (EU Air Safety Committee : ASC) โดยมีคณะกรรมาธิกาสหภาพยุโรปเป็นประธาน และร่วมกับ EASA เมื่อมีการตัดสินใจที่จะยกระดับการควบคุมต่างๆ จะต้องได้รับมติเอกฉันท์จาก ASC ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของบัญชีรายชื่อความปลอดภัยทางอากาศ และมั่นใจได้ว่าประเทศสมาชิกจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ทั้งนี้การประเมินที่เกิดขึ้นไม่ได้ยึดมาตรฐานจาก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (The International Civil Aviation Organization : ICAO) เพียงแหล่งเดียว แต่คณะกรรมาธิกาสหภาพยุโรป และ ASC ข้อมูลจากหลาแหล่งเพื่อทำการประเมิน ทั้งจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (US Federal Aviation Administration : FAA) จาก EASA และผลการตรวจสอบ ณ ลานจอด (ramp inspections) ร่วมกับข้อมูลที่รวบรวมโดยประเทศสมาชิกและคณะกรรมาธิการเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม : รายชื่อของสายการบินต้องห้ามในสหภาพยุโรป, ความสำคัญของการบินสำหรับเศรษฐกิจยุโรป