ThaiPublica > เกาะกระแส > DIB Talk ธุรกิจคิดต่าง (4): “แสงเดือน ชัยเลิศ” Elephant Nature Park – การกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เราต้อง pure และ real

DIB Talk ธุรกิจคิดต่าง (4): “แสงเดือน ชัยเลิศ” Elephant Nature Park – การกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เราต้อง pure และ real

7 ธันวาคม 2015


วันที่ 28 พฤศจิกายน 2558 ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการจัดเสวนา Do it Better Talk (DIB Talk) ครั้งที่ 3 โดยบริษัท ป่าสาละ จำกัด ที่เป็นการเสนอความคิดของคนที่อยากทำให้โลกดีขึ้น ด้วยธุรกิจคิดต่าง (Do it Better by Unconventional Business) โดยมีวิทยากร ได้แก่ ณัฐพงศ์ เทียนดี จากสถานีโทรทัศน์ออนไลน์ SpokeDark.TV, สายสิริ ชุมสาย ณ อยุธยา จากโรงแรมบ้านท้องทราย เกาะสมุย, แสงเดือน ชัยเลิศ จาก Elephant Nature Park จ. เชียงใหม่, วรวิทย์ ศิริพากย์ จากปัญญ์ปุริ (Panpuri) และประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ จาก ชูใจ กะ กัลยาณมิตร

แสงเดือน ชัยเลิศ
แสงเดือน ชัยเลิศ

จากตอนที่ 3 “ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์” เล่าถึง งานความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยสนับสนุนความยั่งยืนและแก้ปัญหาสังคมได้ ตอนที่ 4 นี้ “แสงเดือน ชัยเลิศ” ผู้ก่อตั้ง Elephant Nature Park จ.เชียงใหม่ เจ้าของรางวัล Hero of Asia จากนิตยสาร Time ก็ได้เล่าถึงโมเดลธุรกิจที่ช่วยปัญหาเรื่องช้าง และสร้างคุณภาพชีวิตของสังคมให้ดีขึ้นอีกด้วยจากการต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ

แสงเดือนเริ่มต้นเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตนสนใจประเด็นการอนุรักษ์ช้างว่า ทุกวันนี้ที่เราทารุณกรรมช้าง เกิดจากความกลัว เราเลยคิดว่าหากจะควบคุมช้างได้ต้องทำให้ช้างกลัวเรา ถ้าเกิดเราให้ความรักไป ช้างจะรู้สึกได้ ช้างก็จะไม่ทำอันตรายแก่เราเลย

แล้วทำไมจึงเลือกทำงานกับช้าง ที่มาคือ ตั้งแต่สมัยที่ตนอายุ 16 ปี ไปทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับมิชชันนารี ได้ยินเสียงร้องของช้างเชือกหนึ่งในป่า ก็ขอผู้ใหญ่บ้านเข้าไปดู สิ่งที่เห็นคือช้างตัวผู้เชือกนั้นมีบาดแผลที่หน้าอก และถูกตะขอทุบหัวบังคับให้ลากไม้ ในช่วงนั้นเราเห็นช้างพยายามผลักโซ่ออกไปจากหน้าอก ปรากฏว่าโซ่ก็ไหลมาที่แผล ทำให้แผลบาดลึกกว่าเดิม ตอนที่ยืนอยู่ตรงนั้นเห็นแววตาของเขา และได้ยินเสียงโหยหวน ก็ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป

“ก็เหมือนกับวัยรุ่นอื่นๆ ที่คิดว่า วันหนึ่งอยากเป็นหมอ อยากเป็นนักร้อง พอไปเห็นช้างเชือกนั้น เสียงนั้น แววตานั้น มันติดตา เลยตัดสินใจว่าวันหนึ่งจะทำงานเพื่อช้าง นั่นคือจุดเริ่มต้นเลย”

ที่มาของ Elephant Nature Park ที่เป็นศูนย์ช่วยพักพิง พัฒนา อนุรักษ์ และช่วยรักษาสิทธิ์ของช้างที่ถูกกระทำ ยังได้เปลี่ยนเป็นศูนย์ท่องเที่ยวที่ให้คนไทยและต่างประเทศเข้ามาเป็นอาสาสมัคร

“จริงๆ เรื่องโชว์ช้างโด่งดังมากในประเทศไทย เพราะว่าที่ต่างประเทศเริ่มจะแบนกัน แต่บ้านเราสวนกระแส สิ่งที่เกิดขึ้นมันต้องมีเหตุและผล เรามองไปที่แววตาช้าง เราก็คิดว่าเราต้องเริ่มทำอะไรที่มันแตกต่าง ต้องกล้าที่จะยืนขึ้นมาฝืนกระแส แม้บางครั้งการฝืนกระแสนั้นจะบาดเจ็บบ้าง

ตอนที่ทำใหม่ๆ ยอมรับเลยว่ายากลำบาก (suffer) มาก เริ่มต้นที่ปี 2538 และ มาเปิดศูนย์จริงๆ ปี 2546 ช่วงนั้นโรคซาร์สเข้ามา แทบจะไม่มีเงินเข้ามาเลี้ยงช้างเลย ก็มานั่งคิดดูแล้วคนที่จะเข้ามาช่วยทำธุรกิจนี้ให้ยั่งยืนคือคนที่รักสัตว์

ก็เริ่มต้นโปรแกรมอาสาสมัคร ถามว่าเขาต้องจ่ายเงินเข้ามาทำงานให้เราอาทิตย์ละ 12,000 บาท และมีคนบอกว่าเป็นไปได้หรือว่าฝรั่งจะมาทำ ในวันที่เริ่มต้น ทุกคนหัวเราะ บอกว่าล้มแน่ ไม่มีทางหรอก ขนาดว่าจ้างคนมา ในปีที่มีโรคซาร์ส คนงานยังหนีหมด แต่เรากำลังให้ฝรั่งเข้ามาเก็บขี้ช้างและจ่ายตังค์ มันจะมีใครเข้ามา

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจเรายั่งยืนคือศรัทธา เราต้องทำจริงๆ ธุรกิจที่จะกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เราต้อง pure และ real ต้องทำให้ลูกค้าเห็นว่าที่เขาจ่ายเงินมา 12,000 บาทนั้นถึงสัตว์จริงไหม แล้วเขากลับไปด้วยความสุขหรือเปล่า เราต้องสร้างจุดนี้ก่อน และเราไม่ต้องโฆษณา ถึงเวลามีคนหลั่งไหลเข้ามา โดยเขียนเรื่องเราออกไป ในสมัยนั้นยังไม่มียูทูบ ยังไม่มีะไร ก็ใช้ปากต่อปาก”

แสงเดือนขยายความโมเดลธุรกิจที่เป็น real and pure ว่าจุดกำเนิดของตนในวัยเด็กที่เป็นคนยากจน เป็นลูกชาวเขา ที่แทบไม่ได้รู้จักอะไรเลย อีกทั้งจากการที่ตัวเองเห็นประเด็นในหลายเรื่องจากชีวิตจริง ที่ไม่ได้รับความจริงใจเท่าไหร่ การถูกกดดันจากสังคมต่างๆ ก็นำทุกอย่างเข้ามาผสมผสานกัน และมีความรู้สึกว่าถ้าเราจะสร้างธุรกิจบางอย่าง เราต้องมีการแบ่งปัน ต้องมีความเมตตา และให้ผลผลิตนั้นจับต้องได้ด้วย

“หลังจากที่เราได้เงินมาครบ เราต้องให้ลูกค้าได้เห็นว่าสิ่งที่เรานำไปทำ โครงการที่เราไปสร้างโรงเรียน ห้องน้ำ และวัด 130 กว่าโครงการ มันก็กลายเป็นโครงการที่ลูกค้าพบ เราเอาเงินไปสร้างโรงเรียน เขาก็ไปทำด้วย เราไปสร้าง animal shelter เขาก็ไปทำ แล้วเขาก็เห็นว่าเงินตรงนี้เป็นเงินที่เขาไปสร้างจริงๆ และเขาก็ถ่ายรูปไปแชร์ในโซเชียลมีเดีย เอาไปเขียนในสิ่งต่างๆ ก็กลายเป็นธุรกิจที่เราไม่ต้องโฆษณา แต่เขานำเรื่องเหล่านั้นไปเสนอว่าเราเป็นของจริง”

แสงเดือนเผยว่า ยอมรับว่าการมาพูดเรื่องช้างไม่ใช่เรื่องง่ายเลย “ดิฉันถูกแจ้งจับเยอะมาก การขึ้นโรงพักเป็นเรื่องปกติ แต่ดิฉันเองเชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้าพูดความจริงไม่ใส่ร้ายเขาก็จะรอด อย่างดิฉันเองก็ถูกยกฟ้องแทบทุกคดี ถามตัวเองทุกวันว่า พูดวันนี้แล้วพรุ่งนี้ต้องขึ้นโรงพัก ในการที่เป็นนักอนุรักษ์ เราต้องกล้าจะเผชิญกับสิ่งที่เราพูด ถามว่าครอบครัว suffer ไหม แน่นอน suffer แต่จัดการอย่างไร”

ส่วนใหญ่ปางช้างกลียดดิฉัน แต่ดิฉันไม่เกลียดพวกเขา ทุกวันนี้ดิฉันสร้างความเปลี่ยนปางช้างเข้ามาเป็นพันธมิตรเยอะ ดิฉันเชื่อว่าการทำธุรกิจ เราอย่าผลักศัตรูออกไป ถ้าเขามองเราเป็นศัตรู เราต้องกอดเขาใกล้ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเขาด่าเรามา เราอย่าตอบโต้ การทำธุรกิจในแนวคิดที่แตกต่าง เราอย่าตอบโต้ใครทั้งสิ้น สังคมอาจจะเข้าใจเราผิด แต่มันต้องใช้เวลา

ดังนั้น ในส่วนที่ตัวเองทำ แน่นอน เราต้องเผชิญต่อสิ่งที่เราจะ suffer แต่เราต้องอดทน

ทุกวันนี้ดิฉันจะเดินทางไปตามปางช้างต่างๆ และเปลี่ยนแปลงจากโชว์ช้างเป็นโปรแกรมที่เลิกใช้ตะขอ ไม่ขี่ช้าง และเดินกับช้างเท่านั้น ธุรกิจที่เจ้าของปางช้างใช้ตะขอและขี่ช้าง วันหนึ่งจะได้ตัวละ 300 บาท แต่วันหนึ่งดิฉันเปลี่ยนธุรกิจเขามาเป็นเดินกับช้างอย่างเดียว และป้อนอาหาร จะได้ตัวละ 6,000 บาท แล้วจะเลือกแบบไหน

แล้ว 6,000 บาทนั้นไปที่ไหน ก็เอาไปสร้างโรงเรียน มีธุรกิจต่อยอดอีกเยอะแยะ

แสงเดือนนิยามตัวเองเป็น Social Enterprise ทำธุรกิจเพื่อสังคม พยายามสร้างโมเดลเพื่อเอาไปขยายต่อ ซึ่งปัจจุบันโมเดล volunteer tourism ได้ขยายไปสู่ปางช้างอื่นๆ และยังขายไปสู่โมเดลธุรกิจด้านอื่น

“ก็จะเห็น ที่เราทำทุกวันนี้ Elephant Nature Park จะมีการขายข้ามปี คือ ลูกค้าจะจ้างเงินล่วงหน้าเลย เมื่อเห็นว่าลูกค้าของเรายืน standby ต่อวัน บางวันมี 200 คน เราจะทำอย่างไร เราก็แบ่งให้กับพันธมิตร ใครที่อยากจะร่วมงานกับเรา จะต้องเป็นโมเดลที่เกิดจากใจรัก”

แสงเดือน ชัยเลิศ
แสงเดือน ชัยเลิศ

“เราต้องเริ่มโปรโมทให้เขา โดยใช้ตัวดิฉันเองที่ทำงานร่วมกับองค์กรสัตว์โลกและองค์กรต่างๆ ก็ประทับรับตราเลยว่าองค์กรนี้เชื่อถือได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ให้ร่วม อย่างองค์กรหนึ่งจากประเทศศรีลังกา เราไปดูงานที่นั่นแต่ก็ยังไม่ผ่านมาตรฐานของเรา”

“จริงๆ แล้วก็มีที่เชียงใหม่ 7 ที่ มีที่กาญจนบุรี กระบี่ พังงา กำลังสร้างที่ภูเก็ต และเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา รัฐบาลก็ให้ที่กับเรามา 25,000 เอเคอร์ ก็เป็นโครงการที่เราทำกับัตว์ป่าและช้างที่นั่นเช่นกัน”

แสงเดือนกล่าวว่า เราต้องอย่ารวยคนเดียว เงินทั้งหมดที่เข้ามาต้องเข้าสู่สังคม พอเราเอาของไปแจกเด็กๆ บนเขา ขนาดของมือสอง ได้เห็นว่าเด็กๆ ดีใจที่ได้รับของเหล่านั้นมาก ฉะนั้น การทำโครงการหรือธุรกิจอะไรก็ตาม ถ้าจะยั่งยืนหรือไม่ อยู่ที่ตัวเราแชร์ให้เขาหรือเปล่า

เราต้องสร้างคนรอบข้างเราให้แข็งแกร่ง เราอยากได้สินค้าที่มีคุณภาพ เราต้องสร้างคนให้มีคุณภาพด้วย ถ้าชีวิตของเขาไม่มีคุณภาพ จะทำให้ธุรกิจของเรายั่งยืนได้อย่างไร อย่างดิฉันมีโครงการ Happy Family ให้กับพนักงาน คือ ถ้าพนักงานเป็นหนี้ จะทำให้เขาศรัทธางานได้อย่างไร เราก็ต้องช่วยเขา ให้พนักงานยืมเงินได้โดยไม่คิดดอกเบี้ย ใช้หักเงินเดือน ไม่ต้องการันตี แต่ตัวคุณต้องทำงานให้ดีที่สุด ยิ่งคุณมีคุณภาพ คุณก็ยิ่งยืมเงินได้เยอะ

คือเราต้องแบ่งปัน มองคนรอบข้าง มองสังคม ทุกวันนี้เราได้ช่วยธุรกิจกาแฟ ที่ต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม คือไปทำโครงการช้างบังเอิญได้ขยายไปเรื่องสิ่งแวดล้อม ธุรกิจใบชา ธุรกิจของผู้หญิงที่เราไปก่อตั้งเครือข่ายให้เขา บริจาคเงินเข้าไป กระตุ้น empower ให้ผู้หญิง และให้ทุนทำธุรกิจด้วย ขยายไปเยอะเหมือนกัน หากสนใจก็เข้าไปดูในเพจเฟซบุ๊ก Lek Chailert ได้

แสงเดือนกล่าวถึง บทบาทของการทำงานรณรงค์ในแง่ของการสร้างความเปลี่ยนแปลง การรับรู้ ของหน่วยงานภาครัฐและผู้เล่นรายอื่นในธุรกิจท่องเที่ยว และยังเป็นการสร้างอิทธิพลทางความคิดว่า “จริงๆ แล้วทำงาน 20 ชั่วโมงต่อวัน มันชินไปแล้ว รู้สึกชีวิตตัวเองมันสั้นมาก ยิ่งไปเห็นสัตว์ถูกทารุณกรรม สัตว์เจ็บป่วย มันยิ่งรู้สึกว่าไฟลนก้นต้องวิ่งตามตลอด”

แนวคิดหนึ่งคือหลังจากสร้างโมเดลให้ธุรกิจอื่นแล้ว เราจะต้องมาบรรยายทุกอาทิตย์ให้กลุ่มนักศึกษาที่มาจากทั่วโลก ต้องยอมรับว่า ถ้าเลือกมาทำงานตรงนี้แล้ว จะมาบอกว่าเรา suffer ไม่ได้แล้ว เพราะว่าเราเลือกที่จะมาทำ เราเลือกจะมาพูด ดังนั้นมันต้องทำต่อไป ต้องสนุกกับงานด้วย

“ทำงานเกี่ยวกับสัตว์บางทีโดนโจมตีเยอะมาก ในโซเชียลมีเดียก็โดนด่าเหมือนกัน แต่ไม่เป็นไร เราถือว่าเราอ่านได้หลายมุมรอบด้าน เราอย่าเอาพลังลบนั้นมาต้านสิ่งที่เราจะทำ เราต้องใช้พลังบวก คือขณะที่เรามีคนเกลียด เราก็มีคนรัก มองไปรอบๆ ข้าง ช้างพิการที่เรามีอยู่ สุนัข 500 กว่าชีวิต วัว ควาย เป็นพันกว่าชีวิตที่อยู่ตรงนั้น สิ่งที่มาเป็นพลังให้ดิฉันทำงานก็คือสัตว์ วันไหนที่ดิฉันเหนื่อยมากๆ ก็เดินเข้าไปในท้องช้าง ให้สุนัขมาเล่นด้วย เพราะดิฉันเชื่อว่าตัวเองอยู่เพราะสิ่งเหล่านั้น ในยามที่ดิฉันร้องไห้ หมามาเลียน้ำตาให้เรา มันเป็นอะไรที่สุดๆ แล้วในชีวิต ก็จะอยู่เพื่อเขา เพราะถ้าไม่มีเขาเราไม่มีวันนี้”