ThaiPublica > คอลัมน์ > สังคมแบบไหนที่การกดไลก์เป็นอาชญากรรม?

สังคมแบบไหนที่การกดไลก์เป็นอาชญากรรม?

21 ธันวาคม 2015


สฤณี อาชวานันทกุล

ผู้เขียนเพิ่งเขียนเรื่อง ““พัฒนาการ” ของการตีความ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์” (อ่านย้อนหลังได้จากหน้านี้) ไปเมื่อไม่ถึงสามเดือนก่อน น่าเศร้าที่ “พัฒนาการ” ดังกล่าวปรากฎเพียงสั้นๆ ประหนึ่งผีพุ่งไต้ที่สว่างวาบชั่วครู่ยามก่อนจะลับหายจากขอบฟ้า

ผู้เขียนกำลังพูดถึงกรณีที่คุณฐนกร ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่ง ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ทหารคุมตัวไปสอบปากคำหลายวันโดยไม่เปิดเผยสถานที่ และไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าพบ

พนักงานสอบสวนนำตัวฐนกร ผู้ต้องหาคดีโพสต์แผนผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ฝากขังผลัดแรกที่ศาลทหาร ที่มาภาพ: http://m.manager.co.th/Crime/detail/9580000137045
พนักงานสอบสวนนำตัวฐนกร ผู้ต้องหาคดีโพสต์แผนผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ฝากขังผลัดแรกที่ศาลทหาร ที่มาภาพ: http://m.manager.co.th/Crime/detail/9580000137045

มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง หรือเครือข่ายพลเมืองเน็ต (หมายเหตุ: ผู้เขียนปัจจุบันเป็นประธานกรรมการมูลนิธิ) สรุปกรณีดังกล่าวในแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ เรื่อง “รัฐบาลต้องสนับสนุนการตรวจสอบของประชาชน” วันที่ 17 ธันวาคม 2558 (อ่านออนไลน์ได้จากเว็บเครือข่ายฯ) ตอนหนึ่งว่า

“…ฐนกรถูกแจ้งความดำเนินคดี …โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานความผิด “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และ “ดูหมิ่นกษัตริย์” ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการกระทำ 3 เหตุการณ์ ได้แก่ “1. กดไลก์ [LIKE] รูปภาพในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นสถาบันฯ 2. คัดลอกและแชร์รูปภาพประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงในเฟซบุ๊ก และ 3. คัดลอกและแชร์รูปภาพแผงผังเปิดโปงทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเป็นการต่อต้านการทำงานของรัฐและปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบ”

ผู้เขียนเห็นด้วยกับจุดยืนของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ดังแถลงการณ์ดังกล่าวว่า “แม้การเผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่าย “ยั่วยุปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อาจถูกศาลตัดสินให้เป็นความผิด แต่การแสดงออกถึงความรู้สึกต่อเนื้อหาดังกล่าว [เช่น การกดไลก์] ไม่มีฐานความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ถือเป็นการสนับสนุน เพราะการสนับสนุนต้องเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นขณะที่กระทำความผิด และผู้สนับสนุนต้องมีการกระทำบางอย่างในการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด ซึ่งการกดไลก์นั้นไม่เข้าเงื่อนไขใดเลย”

ผู้เขียนคิดว่า ลำพัง “สามัญสำนึก” ก็บอกเราได้ว่าการกดไลก์ไม่น่าจะผิดกฎหมายอะไรเลย เพราะมันเป็นเพียงการแสดงความรู้สึกเท่านั้น ซึ่งความรู้สึกนี้บ่อยครั้งก็ไม่ใช่ “ถูกใจ” ด้วยซ้ำไป หลายคนอาจ “ไม่ถูกใจ” แต่เลือกที่จะกดไลก์เพจหรือข้อความนั้นๆ เพียงเพื่อจะได้กลับมาติดตาม (ทำให้ลิงก์เพจ/ข้อความยังเวียนวนอยู่ในฟีด (feed) หน้าจอ) หรือเป็นสัญญาณบอกผู้สร้างเพจ/ข้อความว่า “ฉันแวะมาแล้วนะ” บางคนไล่กดไลก์ดะข้อความของเพื่อนเพียงเพราะอยากให้กำลังใจ ไม่เคยกดเข้าไปอ่านด้วยซ้ำ ไม่นับเหตุผลอื่นๆ อีกร้อยแปดพันเก้า

ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วทำไมเฟซบุ๊กจึงส่งข้อมูลการกดไลก์ของเราไปขึ้นหน้าฟีดของคนอื่น (คนที่เป็น ‘เพื่อน’ หรือเฟรนด์ของเราในเฟซบุ๊กบางทีจะเห็นข้อความ “X กดถูกใจ [ลิงก์ข้อความ]”) ทำไมไม่บอกให้เรารู้ว่าส่งไปที่ไหน และทำไมจึงไม่ให้เรามีสิทธิควบคุม – จะสั่งห้ามไม่ให้เฟซบุ๊กเผยแพร่กิจกรรมการกดไลก์ของเราก็ไม่ได้?

คำตอบคือ กิจกรรมของเราทุกคน โดยเฉพาะการกดไลก์และแชร์ คือหัวใจของโมเดลการหารายได้ของเฟซบุ๊ก สาเหตุหลักที่เราสามารถใช้บริการต่างๆ ของเฟซบุ๊กได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย คือ เฟซบุ๊กทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายพื้นที่โฆษณา และเอากิจกรรมของเราแต่ละคนไปเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณา

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเรากดไลก์แชมพูยี่ห้อหนึ่ง เฟซบุ๊กก็สามารถเก็บค่าโฆษณาจากบริษัทแชมพูเจ้านั้น ด้วยการขึ้นข้อความแจ้ง ‘เพื่อน’ เราบนเฟซบุ๊กว่า เรากดไลก์ยี่ห้อนี้แล้วนะ ราวกับมาสะกิดว่า “ดูสิ เพื่อนคุณในเฟซบุ๊กเขา “ถูกใจ” แชมพูยี่ห้อนี้นะ คุณก็น่าจะลองดูบ้าง”

การจัดลำดับเนื้อหาต่างๆ ที่เราแต่ละคนเห็นในฟีด (หน้าหลักเมื่อล็อกอินเข้ามา) แทบทั้งหมดเป็นผลลัพธ์จากการขายโฆษณาของเฟซบุ๊ก ซึ่งซอฟแวร์ก็ประมวลผลอัตโนมัติจากกิจกรรมการกดไลก์กดแชร์ของเราแต่ละคน

ดังนั้นเมื่อมองในแง่ธุรกิจ แน่นอนว่าเฟซบุ๊กย่อมไม่อยากให้เรามีอำนาจควบคุมการเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่ว่าเรากดไลก์อะไรไปบ้าง เพราะมันจะทำให้โมเดลธุรกิจนี้ใช้การไม่ได้ – ถ้าเราและคนจำนวนมากสั่งปิด ไม่ให้ข้อมูลเรื่องการกดไลก์ไปขึ้นฟีดคนอื่น บริษัทห้างร้านต่างๆ ก็จะใช้ข้อมูลนี้ในการเอาเราไปโฆษณากับ ‘เพื่อน’ ของเราในเฟซบุ๊กไม่ได้

ในเมื่อกิจกรรมการกดไลก์ของเราเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลการหารายได้ของเฟซบุ๊ก จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทุกครั้งที่เรากดไลก์ เฟซบุ๊กจะไปบอกให้ใครรับรู้บ้าง

นอกจากนี้ ผู้สร้างเนื้อหาที่เรากดไลก์ก็สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือลบเนื้อหานั้นๆ ได้ทุกเมื่อ โดยที่เราไม่รู้เรื่องด้วย (ซึ่งเรื่องนี้ก็มี “ดราม่า” ให้เห็นมาแล้วมากมาย อย่างเช่นกรณี “เพจดัก” ที่ตั้งชื่อเพจเก๋ๆ ดึงดูดความสนใจ ล่อหลอกให้คนมากดไลก์ พอมีคนไลก์ถึงหลักร้อยหรือหลักพันก็เปลี่ยนชื่อเพจ เปลี่ยนเนื้อหาเสียดื้อๆ)

บทความใน WIRED อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้กดไลก์ทุกสิ่งที่ขวางหน้าเป็นเวลา 48 ชั่วโมงติดต่อกัน ที่มาภาพ: http://www.wired.com/2014/08/i-liked-everything-i-saw-on-facebook-for-two-days-heres-what-it-did-to-me/
บทความใน WIRED อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้กดไลก์ทุกสิ่งที่ขวางหน้าเป็นเวลา 48 ชั่วโมงติดต่อกัน ที่มาภาพ: http://www.wired.com/2014/08/i-liked-everything-i-saw-on-facebook-for-two-days-heres-what-it-did-to-me/

ในเมื่อเราไม่รู้ว่ากดไลก์แล้วมันจะไปโผล่ที่ไหน สั่งเฟซบุ๊กให้เลิกเผยแพร่ก็ไม่ได้ ควบคุมเนื้อหาที่กดไลก์ก็ไม่ได้ เพราะเนื้อหานั้นสามารถถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อโดยผู้สร้าง การที่ตำรวจหรือใครจะอ้างว่า การกดไลก์อาจเป็นการแสดง “เจตนา” ที่จะเผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย จึงเป็นการตีความแบบ “หลุดโลก” ชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ในสังคมสมัยใหม่ และเท่าที่ผู้เขียนค้นคว้า ก็ไม่พบว่ามีประเทศไหนตีความหลุดโลกแบบนี้

ถ้าจะอ้างว่า คนที่กดไลก์หรือโพสความคิดเห็นประกอบอาจผิดฐานเป็น “ผู้สนับสนุน” การกระทำความผิด ก็เป็นการอ้างแบบหลุดโลกไร้สาระเช่นกัน เพราะผู้สนับสนุนตามหลักกฎหมายอาญาจะต้องมี “การกระทำ” ที่ชัดเจนว่าเป็นการ “ช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวก” ให้แก่ผู้กระทำผิด เฉพาะ “ก่อนหรือขณะความผิดเกิด” เท่านั้น ขณะที่การกดไลก์หรือโพสความคิดเห็นย่อมเกิดขึ้นหลังจากที่เกิด “การกระทำความผิด” ไปแล้ว

“การกระทำความผิด” หมายถึงการลงมือโพสของผู้สร้างเนื้อหาคนแรก สิ่งที่ปรากฎออนไลน์ให้คนมากดไลก์ หรือโพสความเห็นประกอบในเวลาต่อมา เป็นเพียง “ภาพบันทึก” ความผิดเท่านั้น มิใช่ตัว “การกระทำ” อันเป็นปัจจุบันแต่อย่างใด การกดไลก์ กดแชร์ หรือแสดงความเห็นหลังจากนั้นจึงไม่อาจเข้าข่ายผู้สนับสนุนได้เลย

ผู้เขียนเห็นว่า การตีความกฎหมายชนิดหลุดโลกเกินเลยตัวบทไปมาก ดังในกรณีของคุณฐนกร กำลังทำให้คำว่า “ติชมโดยสุจริต” และ “เจตนา” ไร้ความหมาย ทั้งที่อย่างแรกคือแก่นสารของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออก อย่างหลังคือหัวใจของระบบกฎหมายอาญา

ปกหนังสือ 1984 โดย George Orwell ฉบับแปลไทยล่าสุด ตีพิมพ์โดย สนพ. สมมติ
ปกหนังสือ 1984 โดย George Orwell ฉบับแปลไทยล่าสุด ตีพิมพ์โดย สนพ. สมมติ

สังคมที่คนจำนวนมากไม่คิดว่าการตีความเช่นนี้มีปัญหา น่าจะกำลังคืบคลานเข้าใกล้การเป็นสังคมดิสโทเปียแบบในนิยายเรื่อง 1984 ซึ่งเสนอว่า ลำพังการมี “ความคิด” ที่รัฐไม่ชอบ ก็นับเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือที่เรียกว่า “thoughtcrime” แล้ว

ผู้เขียนหวังว่า ศาลทหารจะไม่รับรองการตีความกฎหมายชนิดหลุดโลกเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อโจมตีที่ว่า คสช. กำลังพาสังคมไทยเข้าสู่โลกใน 1984 มากขึ้นทุกขณะ.