ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเงินเรี่ยไร “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” ต้องกางบัญชีภายใน 90 วันหลังเรี่ยไรจบ

เปิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเงินเรี่ยไร “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” ต้องกางบัญชีภายใน 90 วันหลังเรี่ยไรจบ

29 พฤศจิกายน 2015


ปัจจุบันหน่วยงานรัฐหลายแห่งใช้ วิธีการเรี่ยไรหรือขอรับบริจาค โดยมีวัตถุประสงค์ของการเรี่ยไรหลายประการ เช่น เรี่ยไรเพื่อสาธารณประโยชน์ เรี่ยไรเพื่อป้องกันหรือพัฒนาประเทศ

เป็นน่าสนใจว่า ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ประเด็นความโปร่งใสในการดำเนินโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์นั้นถูกกล่าวถึงมาโดยตลอด มีปมปัญหาต่าง ๆ ที่สังคมยังคลางแคลงสงสัยตามที่ปรากฏในหน้าสื่อต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี การที่หน่วยงานของรัฐจะขอรับบริจาคหรือขอเรี่ยไรนั้นมีระเบียบการขอเรี่ยไรควบคุมกำกับอยู่ ซึ่งความรัดกุมในระดับหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่หน่วยงานรัฐจะขอเรี่ยไร ขอรับบริจาคโดยใช้ชื่อหน่วยงานรัฐนั้น เพราะขั้นตอนทั้งหมดต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544

ระเบียบว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐฯ ฉบับนี้ น่าจะเป็นระเบียบที่ถูกนำมาอธิบายเรื่องเด่นประเด็นร้อนในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยระเบียบฯ ได้นิยามของคำว่าเรี่ยไรไว้ในข้อ 4

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2544
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2544

หากจะตีความตามตัวอักษรแล้ว คำว่า “ขอรับบริจาค” กับ “ขอเรี่ยไร” นั้นไม่แตกต่างกัน ความหมายของ “บริจาค” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานบัญญัติคำนี้ไว้ว่า บริจาค หมายถึง การแจก เสียสละ ส่วนเรี่ยไร (Collection) เป็นการเก็บเงินหรือสิ่งของโดยขอร้องให้ช่วยออกเงินหรือสิ่งของตามใจสมัคร

ดังนั้น ถ้าตีความเช่นนี้แล้ว ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์สมควรจะปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานรัฐฉบับนี้ ซึ่งสาระสำคัญของระเบียบฯ มีดังนี้

1. ระเบียบฯ จำแนกลักษณะการเรี่ยไรออกเป็น (ก) หน่วยงานรัฐเป็นผู้เข้าไปเรี่ยไรเองและ(ข) เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร ซึ่งหมายถึง เข้าไปช่วยเหลือ มีส่วนร่วมในการจัดให้มีการเรี่ยไรในฐานะเป็นผู้ร่วมจัดให้มีการเรี่ยไร เป็นประธานกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงานหรือที่ปรึกษาอื่นใดในการเรี่ยไร กรณีดังกล่าวมีข้อสังเกตว่า การดำเนินการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ กองทัพบกมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรทั้งในตอนต้นที่ขอรับเงินบริจาคโดยตรงเข้าสู่กองทุนสวัสดิการกองทัพบก หรืออดีตผู้บัญชาการทหารบกซึ่งเป็นประธานมูลนิธิราชภักดิ์ หัวเรี่ยวหัวแรงในการระดมเงินทุนก่อสร้างครั้งนี้

ราชภักดิ์-1

2.ระเบียบฯ กำหนดให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการระเบียบฯ

3.หลักการตามระเบียบฯ หน่วยงานรัฐจะจัดให้มีการเรี่ยไรมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ หรือ กคร. ซึ่ง กคร. แต่เดิมมีจำนวน 14-16 คน ต่อมามีการแก้ไขระเบียบในปี 2549 เหลือ 12-14 คน (ตัดผู้แทนจาก สตง.และ ป.ป.ช. ออก) กคร.มี รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นประธาน กคร.

ปัจจุบัน ม.ร.ว.ปนัดดา ดิศกุล เป็นประธาน กคร. (ดูประกาศ กคร. ฉบับล่าสุดเมื่อวัน 4 สิงหาคม 2558 ที่ประธาน กคร. ลงนามในประกาศเกี่ยวกับการควบคุมการเรี่ยไร)

4.อำนาจหน้าที่สำคัญของ กคร. คือ อนุมัติให้หน่วยงานรัฐที่ประสงค์จะทำการเรี่ยไร หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร ซึ่งอำนาจข้อนี้เองที่ กคร. อาจเป็นอีกคณะหนึ่งที่ออกมาชี้แจงเพื่อสร้างความกระจ่างให้กับสังคม ถึงที่มาที่ไปของเงินเรี่ยไรหรือเงินบริจาคที่กองทัพบกเข้าไปส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรเงินหรือสิ่งของในการก่อสร้างโครงการอุทยานครั้งนี้

5.เมื่อ กคร. อนุมัติให้หน่วยงานรัฐที่ประสงค์จะทำการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรเรียบร้อยแล้ว กคร.ต้องแจ้งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ทราบด้วย ดังนั้น หากการก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์เข้าข่ายลักษณะการเรี่ยไรแล้ว ถึงแม้โครงการนี้จะใช้เงินบริจาค แต่ สตง.ก็สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบได้ตามนิยามคำว่า “ตรวจสอบ” ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ที่นิยามคำว่าตรวจสอบครอบคลุมการตรวจสอบเงินบริจาคด้วยเช่นกัน

6.ระเบียบฉบับนี้กำหนดให้การเรี่ยไรแต่ละครั้งต้องกำหนดวัตถุประสงค์หรือหลักเกณฑ์การเรี่ยไรไว้อย่างชัดเจนว่า หน่วยงานรัฐที่ประสงค์จะเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรนั้นต้องระบุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 ข้อ(ตามระเบียบข้อ 18) ทั้งนี้ในทางปฏิบัติเมื่อหน่วยงานรัฐประสงค์จะเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวกับการเรี่ยไรนั้นจะต้องมีหนังสือคำขออนุมัติ (ตามแบบ กคร. 1) หรือ คำขออนุมัติเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร (ตามแบบ กคร.2) ซึ่งแบบดังกล่าวเพิ่งปรับปรุงตามประกาศ กคร.เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขออนุมัติให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการเรี่ยไรหรือให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร

7.เมื่อหน่วยงานรัฐได้รับอนุมัติหรือได้รับยกเว้นให้ดำเนินการเรี่ยไรแล้ว หน่วยงานนั้นต้องกระทำการเรี่ยไรโดยประกาศเผยแพร่ต่อสาธารณะ กำหนดสถานที่หรือวิธีการรับเงินหรือทรัพย์สินที่ขอเรี่ยไร รวมทั้งออกใบเสร็จหรือหลักฐานการรับเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ผู้บริจาคทุกครั้ง (กรณีสิ่งของที่ขอเรี่ยไรหรือได้รับบริจาค เช่น ต้นปาล์มในอุทยานซึ่งเอกชนเป็นผู้บริจาคนั้น จัดเป็นการเรี่ยไรในรูปสิ่งของ) นอกจากนี้หน่วยงานรัฐยังต้องจัดทำบัญชีการรับเงินหรือทรัพย์สินไว้เพื่อสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวหน่วยงานรัฐที่ประสงค์จะเรี่ยไรต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบฯ เพราะขั้นตอนนี้ คือ การแสดงความโปร่งใส สร้างความรับผิดชอบ และพร้อมถูกตรวจสอบได้อย่างแท้จริง

8.หลังจากดำเนินการเรี่ยไรเสร็จแล้ว ระเบียบฯ กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องจัดทำบัญชีการรับจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการเรี่ยไรตามระบบบัญชีทางราชการใน 90 วัน นับแต่วันสิ้นสุดการเรี่ยไรหรือทุก 3 เดือน หากทำการเรี่ยไรต่อเนื่อง และที่สำคัญ ต้องปิดประกาศโดยเปิดเผย ณ ที่ทำการหน่วยงานของรัฐที่ทำการเรี่ยไรไม่น้อยกว่า 30 วัน และจัดเตรียมเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินการเรี่ยไรไว้ ณ สถานที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถค้นหาและศึกษาข้อมูลข่าวสารทางราชการได้ด้วย (ระเบียบข้อ 20)

ราชภักดิ์-2

9.ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐที่ทำการเรี่ยไรต้องรายงานการเงินของการเรี่ยไรพร้อมส่งบัญชีการรับจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการเรี่ยไรให้ สตง. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้จัดทำบัญชีแล้วเสร็จ หรือ หากเรี่ยไรต่อเนื่องให้ส่งบัญชีให้ สตง.ทุก ๆ 3 เดือน

อาจกล่าวได้ว่า ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 พอจะให้คำตอบบางประการว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่ควรแสดงบทบาทในกรณีเกิดความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์โดยเฉพาะประเด็นที่มาที่ไปของเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการ

กคร. ในฐานะผู้อนุมัติให้มีการเรี่ยไรควรออกมาไขข้อสังสัยให้สังคมทราบถึงเหตุผลความเป็นมาของโครงการนี้ว่าเหตุใดจึงอนุมัติให้มีการเรี่ยไรโครงการนี้ได้ หรือ หากยกเว้นไม่ต้องขออนุมัติจาก กคร. เนื่องจากเข้าข่ายเหตุผลใดตามระเบียบฯ ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุมัติเรี่ยไร

สำหรับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในที่นี้ คือ กองทัพบกควรชี้แจงให้สังคมหายข้องใจนอกเหนือจากการแถลงข่าวไปแล้ว โดยควรชี้ให้เห็นว่ากองทัพในฐานะหน่วยงานรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรครั้งนี้อย่างไร จะดีไม่น้อยหากสามารถแสดงแบบคำขออนุมัติตามแบบ กคร.1 หรือ กคร. 2 รวมทั้งแสดงข้อมูลหลักฐานให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐผู้เรี่ยไรได้จัดส่งบัญชีการรับจ่ายให้ สตง.เรียบร้อยตามระเบียบว่าด้วยการเรี่ยไรแล้ว

หากข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานใดเปิดเผยหรือแสดงข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการครั้งนี้แล้ว…ก็น่าเศร้าใจว่าการเพรียกหาความโปร่งใสจากกองทัพครั้งนี้ก็คงเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาที่ “เงียบหาย” เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง

มิพักต้องเอ่ยถึงภาพลักษณ์กองทัพที่ถูกมองว่าไม่มีใครกล้าแตะต้อง ตรวจสอบได้ หรือถ้าตรวจสอบก็เป็นแค่การตรวจสอบพอเป็นพิธี และยิ่งสังคม “ปลาทอง” ลืมง่ายเช่นสังคมไทยเลิกสนใจเรื่องนี้แล้ว สักพักเรื่องนี้ก็คงเงียบหายเข้ากลีบเมฆไปเหมือนอีกหลายเรื่องที่ไม่เคยมีใครแสดงความรับผิดชอบ

ดังนั้น ไม่ว่าเงินงบประมาณแผ่นดิน เงินบริจาค หรือเงินที่ได้จากการเรี่ยไรมานั้น ล้วนแล้วแต่ต้องการความชัดเจนทั้งที่มาของเงินและที่ไปของการใช้เงิน ความชัดเจนที่ว่านี้ หมายถึง การใช้จ่ายที่ถูกต้องตามระเบียบที่วางไว้ หรือไม่บิดเบือนเงินหรือผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อตัวเอง หรือไม่ซื้อของแพงกว่าราคาตลาดแต่เลือกใช้คำสวย ๆ แก้ต่างว่า “ส่วนต่างสูงกว่าราคาตลาด” เป็นต้น

ท้ายที่สุดในอนาคต หากหน่วยงานรัฐคิดจะเรี่ยไรโครงการลักษณะเช่นนี้อีก คงไม่มีใครอยากร่วมทำบุญบริจาคด้วยความสมัครใจ