ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดผลประโยชน์หมื่นล้านในวงการลูกหนังไทย กับสมาคมฟุตบอลฯ ยุค “วรวีร์ มะกูดี”

เปิดผลประโยชน์หมื่นล้านในวงการลูกหนังไทย กับสมาคมฟุตบอลฯ ยุค “วรวีร์ มะกูดี”

18 พฤศจิกายน 2015


นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 4 สมัย (ระหว่างปี 2551-2558) ที่มาภาพ: http://www.fifa.com/about-fifa/committees/people=39285/index.html
นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 4 สมัย (ระหว่างปี 2551-2558) ที่มาภาพ: http://www.fifa.com/about-fifa/committees/people=39285/index.html

ปลายปี 2558 วงการฟุตบอลไทยตกเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก เมื่อสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ The Fédération Internationale de Football Association: FIFA) ออกคำสั่งฟ้าผ่า 2 ฉบับซ้อน

– ฉบับแรก ห้าม “นายวรวีร์ มะกูดี” นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 4 สมัย ยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอลชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน

– ฉบับที่สอง ตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาจัดการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลฯ คนใหม่ แทนนายวรวีร์ที่หมดวาระไปเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2558 โดยมี พล.ร.อ. สุรวุฒิ มหารมณ์ เป็นประธาน

ตลอดเวลา 7 ปีครึ่งที่นายวรวีร์นั่งเก้าอี้นายกสมาคมฟุตบอลฯ (มีนาคม 2551 – ตุลาคม 2558) มีทั้งเสียงชื่นชมที่ช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลไทยให้เติบโตก้าวกระโดด ทั้งในเชิงผลงานและในเชิงธุรกิจ แต่อีกด้านก็มีเสียงวิจารณ์ว่าการบริหารงานภายในสมาคมฟุตบอลฯ เป็นไปอย่างไม่โปร่งใส

ที่น่าสนใจคือ แม้ความเห็นของ “กองเชียร์-กองแช่ง” จะต่างกันชนิดคนละขั้ว แต่บางประเด็นกลับซ้อนทับกัน โดยเฉพาะเรื่อง “ผลประโยชน์”

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้ตรวจสอบข้อมูลที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ รวมถึงเว็บไซต์ทางการ เช่น เว็บไซต์ของสมาคมฟุตบอลฯ เว็บไซต์สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (Asian Football Confederation: AFC) ไปจนถึงเว็บไซต์ของ FIFA เพื่อรวบรวมข้อมูลว่า สมาคมฟุตบอลฯ ยุคนายวรวีร์ (ซึ่งเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวของการตั้งต้นทำธุรกิจฟุตบอลอาชีพอย่างจริงจัง หลังการก่อตั้งบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ในปี 2551) เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “ผลประโยชน์” โดยเฉพาะที่เป็นตัวเงินมากน้อยเพียงใด โดยไม่มีเจตนาจะกล่าวหาบุคคลใด เพราะต้องยอมรับว่าการบริหารจัดการผลประโยชน์ของสมาคมฟุตบอลฯ มีความโปร่งใสในระดับหนึ่ง ทั้งการแจกแจงการใช้จ่ายเงินในงบดุลให้สโมสรสมาชิกได้รับทราบเป็นประจำทุกปี และมีการทำพิธีรับมอบเงินสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ

จากการตรวจสอบ พบว่า กว่าทศวรรษที่ผ่านมา สมาคมฟุตบอลฯ ของไทย เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ราว 9,000 – 10,000 ล้านบาท

เงินฟุตบอล1_edit1

แบ่งเป็น

1. เงินที่ภาคเอกชนให้กับสมาคมโดยตรง

เช่น ค่าสปอนเซอร์ต่างๆ ค่าสนับสนุนการดำเนินกิจการ ค่าสนับสนุนการเตรียมทีมชาติ ค่าสนับสนุนเสื้อทีมชาติ ฯลฯ รวม 898 ล้านบาท

  • ปี 2551-2555 บริษัท ไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์กีฬายี่ห้อ Nike ในประเทศไทย สนับสนุนเสื้อทีมชาติ 100 ล้านบาท
  • ปี 2552-2555 บริษัท แมคไทย จำกัด เจ้าของเฟรนไชส์ McDonald’s ในประเทศไทย สนับสนุน 90 ล้านบาท
  • ปี 2553-2554 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเบียร์ช้าง สนับสนุน 60 ล้านบาท
  • ปี 2553-2556 บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยี่ห้อ LG ในประเทศไทย สนับสนุน 45 ล้านบาท
  • ปี 2555 บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ผู้บริการสายการเบินต้นทุนต่ำ Air Asia สนับสนุน 3 ล้านบาท
  • ปี 2555-2556 บริษัท ไทยเบฟฯ สนับสนุนต่อ 60 ล้านบาท
  • ปี 2555-2556 บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการบัตรเงินสด Umay+ สนับสนุน 44 ล้านบาท
  • ปี 2555-2558 บริษัท แกรนด์สปอร์ตกรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์กีฬา ยี่ห้อ Grand Sport สนับสนุนเสื้อทีมชาติ 96 ล้านบาท
  • ปี 2558-2565 บริษัท ไทยเบฟฯ สนับสนุน 400 ล้านบาท

2. เงินที่ภาครัฐให้กับสมาคมโดยตรง

เพื่อสนับสนุนการดำเนินการกิจกรรม โดยเฉพาะเงินสนับสนุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งสมาคมฟุตบอลฯ ได้รับในอัตราเฉลี่ยมากกว่า 100 ล้านบาท/ปี โดยเงินจาก กกท. ส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้เป็นเงินสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในระดับดิวิชั่น 2 หรือลีกภูมิภาค (ทั้งเงินสนับสนุนทีม ทีมค่าจัดการแข่งขัน ค่าตอบแทนผู้ตัดสิน ฯลฯ) ซึ่งแต่ละปีจะมีสโมสรฟุตบอลอาชีพระดับจังหวัดส่งทีมเข้าแข่งขันราว 70-90 ทีม

ทั้งนี้ ยังมีเงินสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่ได้มาเป็นครั้งคราว เช่น จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ให้ตามนโยบาย “1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ” ของรัฐบาล รวมเป็นเงิน 100 ล้านบาท และจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล อีก 3 ล้านบาท

3. เงินสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น FIFA

สมาคมฟุตบอลฯ จะได้เงินสนับสนุนจาก FIFA ขั้นต่ำ 7.5 ล้านบาท/ปี ตามโครงการให้เงินช่วยเหลือด้านการเงิน (The Financial Assistance Programme: FAP) ที่ FIFA จ่ายให้กับประเทศสมาชิกขั้นต่ำ 250,000 เหรียญสหรัฐ/ปี

ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ของ FIFA ได้เปิดเผยตัวเลขการให้ให้เงินช่วยเหลือแก่สมาคมฟุตบอลฯ ตามโครงการ FAP ย้อนหลัง เป็นเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2554-2558 โดยในปี 2554 ให้เงินรวม 550,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 16.5 ล้านบาท) ปี 2555 ให้เงินรวม 250,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 7.5 ล้านบาท) ปี 2556 ให้เงินรวม 250,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 7.5 ล้านาบท) ปี 2557 ให้เงินรวม 500,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 15 ล้านบาท) ปี 2558 ให้เงินรวม 300,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 9 ล้านบาท)

นอกจากนี้ FIFA ยังให้เงินสนับสนุน ผ่านโครงการ Goal Programme ที่ให้ยื่นขอเป็นรายโปรเจกต์ ซึ่งถึงปัจจุบัน สมาคมฟุตบอลฯ ได้ยื่นขอไปแล้ว 4 โปรเจกต์ ได้รับงบประมาณรวม 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 36 ล้านบาท)

ยังไม่รวมกับเงินรางวัลที่ได้จากการส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันรายการสำคัญ อาทิ การส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก ที่ประเทศแคนาดา ช่วงต้นปี 2558 ซึ่งจะได้รับเงินสนับสนุน 12 ล้านบาท

หรือกรณีที่ FIFA จ่ายเงินสนับสนุนเฉพาะคราว (เงินโบนัส) เช่น ภายหลังการแข่งขันฟุตบอลชายชิงแชมป์โลก ที่ประเทศบราซิล ในปี 2557 ที่มีกำไรค่อนข้างมาก FIFA ก็มีมติจ่ายเงินโบนัสครั้งเดียวให้กับสมาคมฟุตบอลของประเทศสมาชิก ประเทศละ 500,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 15 ล้านบาท) เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงเงินช่วยเหลือจาก AFC ที่สมาคมฟุตบอลฯ ของไทย เป็น 1 ใน 47 ประเทศสมาชิก

เงินฟุตบอล1_edit1

4. เงินที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในประเทศ

หลังถูก AFC บังคับให้ต้องจัดตั้งนิติบุคคลเข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการฟุตบอลลีกภายในประเทศ นำไปสู่การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกฯ ในปี 2551 (ที่มีนายวรวีร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 45%) วงการฟุตบอลไทยก็เข้าสู่ยุคการทำธุรกิจลูกหนังอย่างจริงจัง และเติบโตอย่างก้าวกระโดดกระทั่งมีมูลค่าราว 3,500 ล้านบาท/ปี ในปัจจุบัน จากการประเมินโดยนายองอาจ ก่อสินค้า ประธานบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกฯ คนปัจจุบัน

(สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เคยตรวจสอบรายได้ของสโมสรต่างๆ ในไทยพรีเมียร์ลีกและลีกวัน เท่าที่ตรวจสอบได้ 28 สโมสร จากทั้งหมด 38 สโมสร พบว่ามีรายได้รวมกันถึง 2,008 ล้านบาท แต่นั่นเป็นข้อมูลของปี 2556)

ผลประโยชน์ในส่วนนี้เป็น “ก้อนใหญ่ที่สุด” ซึ่งสมาคมฟุตบอลฯ เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยมีการทำสัญญาจ้างบริษัทเอกชน ได้แก่ บริษัท สยามสปอร์ตซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการสิทธิประโยชน์

ทั้งนี้ จากการรวบรวมโดยคำนวณรวมกับสัญญาที่ทำล่วงหน้าไปด้วย พบว่า มีมูลค่ารวมกัน 7,703 ล้านบาท โดยมากกว่าสามในสี่ (6,600 ล้านบาท) เป็นค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจากบริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเพิ่งต่อสัญญาฉบับล่าสุด ระหว่างปี 2560-2563 ด้วยมูลค่ามหาศาลถึง 4,200 ล้านบาท

– ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด

  • ปี 2554-2556 บริษัททรูวิชั่นส์ฯ รวม 600 ล้านบาท (ปีละ 200 ล้านบาท)
  • ปี 2557-2559 บริษัททรูวิชั่นส์ฯ รวม 1,800 ล้านบาท (ปีละ 600 ล้านบาท)
  • ปี 2560-2563 บริษัททรูวิชั่นส์ฯ รวม 4,200 ล้านบาท (ปีละ 1,050 ล้านบาท)

ที่เหลือเป็นเงินสนับสนุนการจัดการแข่งขันรายการต่างๆ ทั้งฟุตบอลลีกและฟุตบอลถ้วย โดยบางส่วนถูกกันไว้เป็นเงินรางวัลสำหรับแชมป์ รองแชมป์ และลำดับต่างๆ ลดหลั่นกันไป รวม 1,103 ล้านบาท แบ่งเป็น

– ไทยพรีเมียร์ลีก

  • ปี 2553 บริษัท เครื่องดื่มสปอนเซอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มเกลือแร่ Sponsor สนับสนุน 25 ล้านบาท
  • ปี 2554-2555 บริษัทเครื่องดื่มสปอนเซอร์ฯ สนับสนุน 140 ล้านบาท (ปีละ 70 ล้านบาท)
  • ปี 2556-2558 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุน 200 ล้านบาท (ปีละ 66.7 ล้านบาท)
  • ปี 2559-2561 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุน 300 ล้านบาท (ปีละ 100 ล้านบาท)

– ดิวิชั่น 1/ลีกวัน

  • ปี 2555-2557 บริษัท ไทย ยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ Yamaha ในประเทศไทย สนับสนุน 60 ล้านบาท (ปีละ 20 ล้านบาท)
  • ปี 2558 บริษัทไทยยามาฮ่าฯ สนับสนุน 15 ล้านบาท
  • ปี 2559 บริษัทไทยยามาฮ่าฯ สนับสนุน 15 ล้านบาท

– ดิวิชั่น 2/ลีกภูมิภาค

  • ปี 2552 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ AIS สนับสนุน 15 ล้านบาท
  • ปี 2553-2558 บริษัทแอดวานซ์ฯ สนับสนุน 120 ล้านบาท (ปีละ 20 ล้านบาท)
  • ปี 2559 บริษัทแอดวานซ์ฯ สนับสนุน 35 ล้านบาท

– เอฟเอคัพ

  • ปี 2552 มูลนิธิไทยคม สนับสนุน 3 ล้านบาท
  • ปี 2553-2555 มูลนิธิไทยคม สนับสนุน 25 ล้านบาท (ปีละ 8.3 ล้านบาท)
  • ปี 2556-2557 มูลนิธิไทยคม สนับสนุน 20 ล้านบาท (ปีละ 10 ล้านบาท)
  • ปี 2558-2562 บริษัทไทยเบฟฯ สนับสนุน 100 ล้านบาท (ปีละ 20 ล้านบาท)

– ลีกคัพ

  • ปี 2553-2555 บริษัทโตโยต้าฯ สนับสนุน 30 ล้านบาท (ปีละ 10 ล้านบาท)
  • (หลังปี 2556 บริษัทโตโยต้าฯ ยังสนับสนุนต่อเนื่อง แต่วงเงินไปรวมกับเงินสนับสนุนไทยพรีเมียร์ลีก)

สิ่งเหล่านี้ คือเม็ดเงินที่วนเวียนอยู่ใกล้เคียงกับสมาคมฟุตบอลฯ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ในยุคที่ประมุขลูกหนังไทยมีชื่อว่า นายวรวีร์ มะกูดี

ทุกปี สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย บจ.ไทยพรีเมียร์ลีก และ บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท ผู้ดูแลสิทธิประ ล้านบาท ดิวิชั่น1/ลีกวัน ทีมละ 3 ล้านบาท และดิวิชั่น 2/ลีกภูมิภาค ทีมละ 1 ล้านบาท โดยจะแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด คือ เปิดฤดูกาล จบเลกแรก และปิดฤดูกาล ที่มาภาพ: http://toyotafootball.com/560/2015-sponsorship-event-1/
ทุกปี สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย บจ.ไทยพรีเมียร์ลีก และ บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท ผู้ดูแลสิทธิประ ล้านบาท ดิวิชั่น1/ลีกวัน ทีมละ 3 ล้านบาท และดิวิชั่น 2/ลีกภูมิภาค ทีมละ 1 ล้านบาท โดยจะแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด คือ เปิดฤดูกาล จบเลกแรก และปิดฤดูกาล ที่มาภาพ: http://toyotafootball.com/560/2015-sponsorship-event-1/

ความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินของสมาคมฟุตบอลฯ

สำหรับการใช้จ่ายเงินที่สมาคมฟุตบอลฯ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศอย่าง FIFA จะมีการแจกแจง “งบดุล” ต่อสโมสรสมาชิกอยู่เป็นประจำทุกปีในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ซึ่งจากการตรวจสอบข่าวสารที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อย้อนหลัง พบข้อมูลดังนี้

– ปี 2551 แจ้งว่า มีรายรับ 117.55 ล้านบาท รายจ่าย 115.11 ล้านบาท คงเหลือ 2.44 ล้านบาท

– ปี 2552 แจ้งว่า มีรายรับ 147.40 ล้านบาท รายจ่าย 141.02 ล้านบาท คงเหลือ 6.38 ล้านบาท

– ปี 2553 (ไม่มีข้อมูล)

– ปี 2554 แจ้งสั้นๆ เพียงว่า มีรายรับมากกว่ารายจ่าย 1 ล้านบาท

– ปี 2555 แจ้งว่า มีรายรับ 131.93 ล้านบาท รายจ่าย 153.30 ล้านบาท ติดลบ 21.37 ล้านบาท

– ปี 2556 (ไม่มีข้อมูล)

– ปี 2557 ยังไม่มีการแจ้ง เพราะยังไม่มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 ที่เดิมกำหนดไว้เป็นวันที่ 17 ตุลาคม 2558 ก่อนจะถูกเลื่อนออกไป หลังจาก FIFA สั่งห้ามนายวรวีร์ยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอลชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน

ส่วนการใช้จ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพภายในประเทศ ทั้งฟุตบอลลีกและฟุตบอลถ้วย (เงินสปอนเซอร์ ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ฯลฯ) จะมีบริษัทเอกชนที่สมาคมฟุตบอลฯ ว่าจ้างเข้ามาดูแลสิทธิประโยชน์เป็นผู้ใช้จ่ายเงินก้อนนี้ โดยไม่ผ่าน บจ.ไทยพรีเมียร์ลีก (ก่อตั้งปี 2551) ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา จะมีการทำพิธี “ส่งมอบเงินสนับสนุน” ให้กับสโมสรสมาชิกต่างๆ โดยตรง ปีละ 1-3 ครั้ง

– ปี 2553 ส่งมอบเงินสนับสนุนรวม 88.9 ล้านบาท แบ่งเป็นไทยพรีเมียร์ลีก 16 ทีม ทีมละ 1 ล้านบาท ดิวิชั่น 1/ลีกวัน 18 ทีม ทีมละ 5 แสนบาท และดิวิชั่น 2/ลีกภูมิภาค 74 ทีม โดยทีมจังหวัดจะได้ 1 ล้านบาท ส่วนทีมสโมสรจะได้ 3 แสนบาท

– ปี 2554 ส่งมอบเงินสนับสนุนรวม 79.2 ล้านบาท แบ่งเป็นไทยพรีเมียร์ลีก 18 ทีม ทีมละ 4 ล้านบาท และดิวิชั่น 1/ลีกวัน 18 ทีม ทีมละ 4 แสนบาท

– ปี 2555 ส่งมอบเงินสนับสนุนรวม 79.2 ล้านบาท แบ่งเป็นไทยพรีเมียร์ลีก 18 ทีม ทีมละ 4 ล้านบาท และดิวิชั่น 1/ลีกวัน 18 ทีม ทีมละ 4 แสนบาท

– ปี 2556 ส่งมอบเงินสนับสนุนรวม 118.8 ล้านบาท แบ่งเป็นไทยพรีเมียร์ลีก 20 ทีม ทีมละ 6 ล้านบาท และดิวิชั่น 1/ลีกวัน 18 ทีม ทีมละ 6 แสนบาท

– ปี 2557 ส่งมอบเงินสนับสนุนรวม 537 ล้านบาท แบ่งเป็นไทยพรีเมียร์ลีก 20 ทีม ทีมละ 20 ล้านบาท ดิวิชั่น 1/ลีกวัน 18 ทีม ทีมละ 3 ล้านบาท และดิวิชั่น 2/ลีกภูมิภาค 83 ทีม ทีมละ 1 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแจกแจง “งบดุล” ของสมาคมฟุตบอลฯ ในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือมีการทำพิธี “ส่งมอบเงินสนับสนุน” ให้กับสโมสรสมาชิกอย่างเปิดเผย แต่ก็ยังมีคำถามจากสโมสรสมาชิกบางราย เรื่อง “ส่วนต่าง” ของเงินที่สมาคมฟุตบอลฯ ได้รับกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง นำไปสู่การตั้งคำถามว่า “เงินหายไปไหน?” จากสโมสรสมาชิกจำนวนหนึ่ง นำโดยนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เมื่อปี 2555

ข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องผลประโยชน์

ตลอด 7 ปีครึ่ง ที่นั่งอยู่บนเก้าอี้นายกสมาคมฟุตบอลฯ เสียงวิพากษ์วิจารณ์นายวรวีร์มักวนเวียนอยู่กับเรื่องการบริหารงาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ “ผลประโยชน์”

แต่ปี 2555 น่าจะเป็นปีที่ตัวเขาถูกตรวจสอบหนักที่สุด

หลังจากในเดือนมีนาคม 2555 นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ออกมาตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสในการบริหารงานของสมาคมฟุตบอลฯ โดยเฉพาะเรื่องเงินที่ บจ.ไทยพรีเมียร์ลีก ได้รับจากการจัดแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกในขณะนั้น ทั้งเงินจากเครื่องดื่มเกลือแร่สปอนเซอร์ (ปีละ 70 ล้านบาท) และค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจาก บมจ.ทรูวิชั่นส์ (ปีละ 200 ล้านบาท) ว่า หายไปไหน?

จน นายอดิศัย วารินทร์ศิริกุล ตัวแทน บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท บริษัทเอกชนที่สมาคมฟุตบอลฯ ว่าจ้างให้ดูแลสิทธิประโยชน์ซึ่งเกี่ยวข้องกับฟุตบอลอาชีพจากสมาคมฟุตบอลฯ ต้องออกมาชี้แจงอย่างละเอียด ว่า ในปี 2554 รายได้ของการแข่งขันฟุตบอลอาชีพไทย มี 3 ส่วน คือ 1. ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด จาก บมจ.ทรูวิชั่นส์ 2. ผู้สนับสนุนการแข่งขัน ทั้งเครื่องดื่มเกลือแร่สปอนเซอร์สำหรับไทยพรีเมียร์ลีก และ บมจ.เอไอเอส สำหรับดิวิชั่น 2 และ 3.ผู้สนับสนุนอื่นๆ เช่น บมจ.ปตท บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ บจ.ไทยน้ำทิพย์ และ บจ.ยามาฮ่า รวมเป็นเงินทั้งหมด 218 ล้านบาท

“96% เป็นค่าใช้จ่าย เหลือเพียง 4% หรือ 8 ล้านบาทเศษ ที่เป็นกำไรแบ่งให้กับสมาคมฟุตบอลฯ และ บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท อย่างละครึ่ง คือรายละ 4 ล้านบาทเศษ เท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบเรื่องสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลอาชีพของไทยยังเดินหน้าต่อไป ทำให้ บมจ.สยามสปอร์ตฯ ตัดสินใจยกเลิกสัญญาการเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของสมาคมฟุตบอลฯ ในปี 2555 (ก่อนจะกลับมาเซ็นสัญญาใหม่ในปี 2556 มีอายุสัญญาถึงปี 2560)

หลังจากนั้น หลายหน่วยงานก็เข้ามาตรวจสอบการบริหารงานและการจัดการผลประโยชน์ของสมาคมฟุตบอลฯ โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร และ กมธ.การกีฬา วุฒิสภา มีการแตกประเด็นเพิ่มเติมมากมาย อาทิ การไม่เสียภาษีต่อกรมสรรพากรตั้งแต่ปี 2550 ตามคำกล่าวอ้างของนายเนวิน, การให้ บมจ.สยามสปอร์ตฯ เป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์เพียงรายเดียวโดยไม่เปิดให้มีการแข่งขัน, โฉนดที่ดินที่ใช้ก่อสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ ย่านหนองจอก ติดจำนองกับธนาคารหรือไม่, การนำเงินสนับสนุนจาก FIFA ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ฯลฯ

ทำให้นายวรวีร์ ผู้บริหารของทั้งสมาคมฟุตบอลฯ และ บจ.ไทยพรีเมียร์ลีก ต้องออกมาชี้แจงแทบทุกสัปดาห์

รวมไปถึงปมประเด็นที่น่าสนใจ กรณี บจ.แดอัน 21 (อดีต บจ.แดอัน ย็อนอัพ) ของประเทศเกาหลีใต้ ที่ยื่นฟ้องสมาคมฟุตบอลฯ และนายวรวีร์ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ฐานฉ้อโกงทรัพย์ กรณีสมาคมฟุตบอลฯ ทำสัญญามอบสิทธิให้เป็นตัวแทนดำเนินธุรกิจด้านการตลาดในทุกด้าน ระหว่างปี 2550-2554 แต่หลังจาก บจ.แดอันฯ วางเงินประกันราว 28-30 ล้านบาทแล้ว แต่สมาคมฟุตบอลฯ กลับไม่ได้มอบสิทธิให้บริษัทแต่อย่างใด ขณะที่นายวรวีร์แถลงข่าวตอบโต้ว่า เป็น บจ.แดอันฯ เองที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา โดยเข้ามาทำงานให้กับสมาคมฟุตบอลฯ เพียง 1 ปี จากอายุสัญญา 5 ปี แล้วก็หายตัวไป

ต่อมาในปี 2556 ศาลแขวงพระนครเหนือได้ยกคำฟ้อง บจ.แดอันฯ เนื่องจากเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา

นอกจากนี้ ชื่อของนายวรวีร์ยังถูกเชื่อมโยงจากสื่อต่างชาติว่าเป็น 1 ในรายชื่อของผู้ที่จะถูกสอบว่าอาจเกี่ยวกับกรณีสินบนโหวตเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 2018 (ที่ประเทศรัสเซียเป็นเจ้าภาพ) และปี ค.ศ. 2022 (ที่ประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพ) แต่เจ้าตัวก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง และพร้อมให้ถูกตรวจสอบ

ก่อนจะถูก FIFA สั่งห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอลชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน โดยยังไม่มีการเปิดเผยว่า มีสาเหตุมาจากเรื่องใด