ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิษณุ” ตั้งโต๊ะแจงยิบ 8 ข้อสงสัย ปมใช้คำสั่งปกครองเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว – “ยิ่งลักษณ์” โต้ไม่ได้รับความเป็นธรรม

“วิษณุ” ตั้งโต๊ะแจงยิบ 8 ข้อสงสัย ปมใช้คำสั่งปกครองเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว – “ยิ่งลักษณ์” โต้ไม่ได้รับความเป็นธรรม

16 พฤศจิกายน 2015


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php?
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php?

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย แถลงข่าวชี้แจงข้อสงสัยประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอความเป็นธรรม และมีการออกข่าวผ่านสื่อโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายหลายประเด็น โดยนายวิษณุใช้เวลาในการอธิบายราว 1 ชั่วโมง 30 นาที มีใจความโดยสรุปว่า

ปัดจ้องเล่นงานคดีจำนำข้าว – ยันให้ความเป็นธรรมเต็มที่

หลักการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งหรือที่เรียกกันว่าค่าสินไหมทดแทน เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อจนทำให้รัฐ ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม ฯลฯ และประชาชนได้รับเสียหาย ถือว่ากระทำการ “ละเมิดต่อรัฐ” โดยผู้ที่กระทำการละเมิดจะต้องชดใช้ต่อรัฐเกิดเป็นคดีแพ่ง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับคดีอาญา มีข้อพิจารณาว่า คดีจำนำข้าวเมื่อมีมูลทางอาญาแล้ว จะมีมูลทางแพ่งด้วยหรือไม่ “มูล” แปลว่าเชื้อ เมื่อมีเชื้อก็ต้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกกล่าวหา เช่น นาย ก. ลักทรัพย์สินของทางราชการ หัวหน้าส่วนราชการจะนิ่งเฉยไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 157

ทั้งนี้ เมื่อรู้ว่ามีการละเมิดต่อรัฐ รัฐก็ต้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งทำได้ 2 วิธีการ ขีดเส้นใต้ว่าไม่ได้มีเพียงวิธีเดียว

  1. ฟ้องร้องต่อศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.แพ่งฯ) ว่าด้วยละเมิด ให้จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหาย โดยรัฐเป็นโจทก์ ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้มาแต่โบราณกาล กระทั่งในปี 2539-2540 มีการออกกฎหมายฝาแฝด จำนวน 3 ฉบับที่ออกมาเพื่อคุ้มครองประชาชน ประกอบด้วย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เปิดทางให้มีอีกวิธีการที่รัฐจะดำเนินการได้ คือ
  2. ออกคำสั่งทางปกครอง โดยใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ซึ่งจะใช้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาจะต้องฟ้องร้องต่อศาลเท่านั้น วิธีการนี้ใช้มา 19 ปีเศษแล้ว มีการออกคำสั่งไปแล้วกว่า 5 พันเรื่อง จึงมิใช่นวัตกรรมที่เพิ่งคิดขึ้นไม่กี่ปีนี้เพื่อเล่นงานบุคคลใด ซึ่งเป็นวิธีการที่มีขั้นตอนและระยะเวลามากกว่าการฟ้องร้องต่อศาลโดยตรง เริ่มต้นจากตั้ง “คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง” ที่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงอย่างเต็มที่ แล้วไปสู่ “คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง” ที่อาจจะเห็นชอบกับคณะกรรมการฯ ชุดแรกหรือไม่ก็ได้ หากทั้ง 2 ชุดเห็นชอบ ถึงจะเสนอให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงออกคำสั่งทางปกครองให้ผู้ถูกกล่าวหาชดใช้ หากผู้ถูกกล่าวไม่เห็นด้วยยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วันต่อ “คณะกรรรมการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์” หากเห็นว่าไม่ต้องรับผิด ก็เสนอให้ยุติเรื่องได้ และแม้จะมีการออกคำสั่งทางปกครอง ผู้ถูกกล่าวก็ยังมีสิทธิในการยื่นฟ้องต่อ “ศาลปกครอง” ทั้งชั้นต้นและสูงสุด ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีการฟ้องร้องหลายคดี และคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดก็มีทั้งให้ชดใช้ทั้งหมด ชดใช้บางส่วน เปลี่ยนสูตรในการคำนวณความเสียหาย หรือไม่ต้องชดใช้เลย

“จะเห็นได้ว่า วิธีการหลังให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาในการนำพยานหลักฐานมาโต้แย้งได้หลายขั้นตอน กระทั่งหลังออกคำสั่งทางปกครองก็ยังยื่นอุทธรณ์ได้อีก ถ้าไม่พอใจผลอุทธรณ์ก็ยังยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ถึง 2 ศาล ต่างกับวิธีการแรกที่ไปศาลทันทีเลย แล้วคดีที่มีทุนทรัพย์มากๆ ส่วนใหญ่จะไปที่ศาลทั้งสิ้น ผมคำนวณคร่าวๆ ว่าน่าจะใช้เวลา 5-10 ปีกว่าที่ศาลปกครองจะมีคำตัดสินออกมา จึงมีอีกหลายขั้นตอน ไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะออกคำสั่งทางปกครองเลย” รองนายกฯ ด้านกฎหมายกล่าว

ไม่ฟ้องไม่ได้ ผิดมาตรา 157 ฐานละเว้น

นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในคดีรับจำนำข้าว แบ่งผู้ถูกกล่าวหาได้เป็น 4 กลุ่ม ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดและส่งหนังสือมาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 73/1

– กลุ่มแรก มี “นางสาว ย.” หลังจาก ป.ป.ช. ขี้มูลจากคดีจำนำข้าวกรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ก็ส่งหนังสือให้กระทรวงการคลังเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558

– กลุ่มที่ 2 มี “นาย บ.” กับพวก หลังจาก ป.ป.ช. ชี้มูลจากคดีทุจริตขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ไทย-จีน ก็ส่งหนังสือให้กระทรวงพาณิชย์เรียกค่าเสียหายทางแพ่ง เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558

– กลุ่มที่ 3 มี “นาย ภ.” กับพวก หลังจาก ป.ป.ช. ชี้มูล จากคดีทุจริตขายข้าวแบบ G to G ไทย-จีน ก็ส่งหนังสือให้กระทรวงพาณิชย์เรียกค่าเสียหายทางแพ่ง เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558

– กลุ่มที่ 4 เป็นเอกชน ซึ่งมีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวม 15 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีของคนในกลุ่มที่ 2 และ 3 ฐานเป็นผู้ร่วมกระทำผิดในคดีทุจริตขายข้าวแบบ G to G ไทย-จีน หลังจาก ป.ป.ช. ชี้มูล ก็ส่งหนังสือให้กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558

เมื่อ ป.ป.ช. ส่งหนังสือไปยังกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ให้เรียกค่าเสียหายกับบุคคลทั้ง 4 กลุ่มนี้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นผู้เกี่ยวข้องอาจถูกดำเนินคดีฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.อาญา มาตรา 157 คำถามคือรัฐจะเลือกใช้วิธีการใดในการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับบุคคลเหล่านี้ หลังจากปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รัฐก็ตัดสินใจเลือกใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งจะใช้กับผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 1-3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่ 4 ซึ่งเป็นเอกชน ต้องกลับไปใช้วิธีการฟ้องร้องต่อศาล

580519yingluck
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวทางไปร่วมการพิจารณาคดีจำนำข้าว ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีรับจำนำข้าว ที่ ป.ป.ช. ชี้มูล มี 2 ส่วน

ส่วนแรก กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกกล่าวหาเพียงคนเดียว สำหรับการลงโทษ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติถอดถอน ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกตัดสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ส่วนการดำเนินคดีอาญา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยจะเริ่มไต่สวนพยานในเดือนมีนาคม 2559 และคาดว่าจะมีคำพิพากษาออกมาภายในเดือนธันวาคม 2559

ส่วนที่ 2 กรณีทุจริตขายข้าวแบบ G to G มีผู้ถูกกล่าวหา 21 คน ประกอบด้วย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก โดยมีเอกชนเกี่ยวข้องด้วย 15 คน สำหรับการลงโทษ ที่ประชุม สนช. ได้ลงมติถอดถอนนายบุญทรง นายภูมิ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ไปแล้ว ทำให้บุคคลทั้ง 3 ถูกตัดสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมือง/ทางราชการ เป็นเวลา 5 ปี ส่วนการดำเนินคดีอาญา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาฯ โดยจะเริ่มไต่สวนพยานในเดือนมีนาคม 2559 และคาดว่าจะมีคำพิพากษาออกมาช่วงต้นปี 2560

แจงยิบ 8 ประเด็น – ยันออกคำสั่งปกครองเรียกค่าเสียหาย “นายกฯ” ได้

นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่อยากชี้แจงมี 8 ประเด็น

1. นายกฯ และรัฐมนตรี ถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่อยู่ในอำนาจของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ หรือไม่

พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ มาตรา 4 ให้นิยาม “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ว่ารวมถึง “ข้าราชการ” ด้วย ซึ่งตามหลักกฎหมายทั่วไป นิยามของคำว่าข้าราชการจะหมายรวมถึงข้าราชการพลเรือนและข้าราชการการเมืองด้วย โดยข้าราชการการเมืองนั้นหมายรวมถึงนายกฯ รัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี ฯลฯ ด้วย ดังนั้น นายกฯ และรัฐมนตรีจึงถือเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามกฎหมายนี้

2. จะสามารถออกคำสั่งทางปกครองกับนายกฯ และรัฐมนตรีได้หรือไม่ เพราะตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 4 (3) กำหนดข้อยกเว้น มิให้ออกคำสั่งทางปกครองกับนายกฯ และรัฐมนตรีในงานทางนโยบายโดยตรง

มีคนอ้างว่ามาตรานี้ทำให้ออกคำสั่งทางปกครองกับนายกฯ ไม่ได้ ซึ่งเป็นจริงว่าเรื่องนโยบายใครจะไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ ไม่ว่านโยบายนั้นจะดีหรือแย่อย่างไร ข้าราชการจะไปโต้แย้งไม่ได้ ฟ้องศาลไปก็ไม่รับ แต่หากเป็นการนำนโยบายไปปฏิบัติแล้วมีการกระทำที่มิชอบ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เลือกปฏิบัติ หรือทุจริตคอร์รัปชัน สามารถฟ้องร้องต่อศาลหรือออกคำสั่งทางปกครองได้ ที่ผ่านมานโยบายจำนำข้าวก็ไม่มีหน่วยงานใดที่ไปบอกว่านโยบายผิด แต่ผิดที่การดำเนินการ ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ไม่ได้ยกเว้น

3. เมื่อดำเนินการทางอาญาด้วยการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว เหตุใดยังต้องมีการดำเนินการทางแพ่งอีก

เหมือนกับคำพูดว่าจองล้างแล้วทำไมยังต้องไปจองผลาญอีก ถ้ามองจากมุมมนุษยธรรมก็อาจจะถูก แต่ถ้ามองในมุมของกฎหมาย เป็นเรื่องที่รัฐต้องปฏิบัติตามตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 73/1 ไม่เช่นนั้นอาจมีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติตามหน้าที่ตาม ป.อาญา มาตรา 157 แล้วคนในรัฐบาลชุดนี้อาจจะถูกถอดถอน ฟ้องร้อง หรือรับผิดทางแพ่งแทนผู้ถูกกล่าวหา

เผย จนท. ทำรัฐเสียหายเกือบ 100% ใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดฯ ทั้งนั้น

4. เหตุใดรัฐถึงเลือกใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ แทนการฟ้องร้องต่อศาล

ทั้ง 2 วิธีเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งมิใช่วิถีเถื่อนหรือนวัตกรรมใหม่ นับแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ มาตั้งแต่ปี 2539 มีการออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายไปแล้วกว่า 5 พันเรื่อง จึงเป็นเรื่องที่ปฏิบัติมาอยู่แล้ว เรื่องนี้ข้าราชการต่างรู้ว่าหากมีการกระทำที่สร้างความเสียหายต่อรัฐจะต้องใช้วิธีการนี้ แต่นักการเมืองกับประชาชนทั่วไปอาจจะไม่ชิน ทำให้ออกมาตั้งคำถาม ระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา หากเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดต่อรัฐเกือบ 100% จะใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครอง มีน้อยมากที่จะฟ้องร้องต่อศาล เช่น กรณีนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2540 ที่มีการปฏิบัติตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ จนเกือบจะออกคำสั่งทางปกครองอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่มั่นใจสุดท้ายก็ไปยื่นฟ้องร้องต่อศาลแทน

5. อายุความ

ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ กำหนดให้มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการกระทำผิดและตัวผู้กระทำผิด ซึ่งได้แก่วันที่ ป.ป.ช. ส่งหนังสือให้หน่วยงานราชการ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง ในวันที่ 17 และวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ตามลำดับ ดังนั้น อายุความจะสิ้นสุดลงในวันที่ 17 และ 18 กุมภาพันธ์ 2560

6. มีการออกคำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้ความเสียหายทางแพ่ง นับแต่ปี 2539 มาแล้วกี่คดี

กรมบัญชีกลางได้รวบรวมข้อมูลพบว่า นับแต่ปี 2539 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 มีการออกคำสั่งทางปกครองเรียกชดใช้ค่าเสียหายมาแล้วกว่า 5 พันเรื่อง แบ่งเป็น ระหว่างปี 2539-2553 มี 3,097 เรื่อง ปี 2554 มี 335 เรื่อง ปี 2555 มี 117 เรื่อง ปี 2556 มี 114 เรื่อง ปี 2557 101 เรื่อง และปี 2558 จนถึงวันนี้ มี 76 เรื่อง หลายเรื่องยุติหลังออกคำสั่งทางปกครอง คือผู้ถูกกล่าวหายอมจ่ายเงิน แต่หลายเรื่องมีการยื่นฟ้องศาลปกครอง

7. ที่มีข้อโต้แย้งว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กำหนดว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ต้องให้ “หัวหน้าส่วนราชการ” เป็นผู้ลงนาม แต่สำหรับ “นางสาว ย.” ที่เคยมีตำแหน่งเป็นนายกฯ ไม่ได้สังกัดส่วนราชการใด การใช้ระเบียบสำนักนายกฯ นี้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจึงมิชอบ

ถ้าไปดูชุดขาวปรกติของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงแต่ละคน จะเห็นว่าไม่ได้มีตราสัญลักษณ์ว่าอยู่ในสังกัดกระทรวงนั้นๆ แต่อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ไม่ได้มีตราสัญลักษณ์นกวายุภักดิ์ของกระทรวงการคลัง ส่วนราชการสำหรับรัฐมนตรีแต่ละคนรวมถึงนายกฯ คือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีหัวหน้าส่วนราชการคือนายกฯ ดังนั้น ในคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของนางสาว ย. จึงให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลงนามร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

8. ระยะเวลาในการดำเนินการ

การดำเนินการในส่วนกระทรวงการคลัง ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างพิจารณาของ “คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง” เท่านั้น โดยกฎหมายให้ระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน และขยายเวลาได้ครั้งละ 30 วันตามความจำเป็น ซึ่งมีการขยายเวลาให้แล้ว 1 ครั้ง โดยจะสิ้นสุดปลายเดือนพฤศจิกายน 2558 และอาจพิจารณาขยายเวลาได้ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ส่วนกระทรวงพาณิชย์ มีความคืบหน้ากว่า เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาของ “คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง” แล้ว ทั้งนี้ กฎหมายไม่มีกำหนดว่าคณะกรรมการแต่ละชุดจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด มีเพียงอายุความว่าต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปีนับแต่วันที่รับรู้การกระทำผิดและผู้ที่กระทำผิด หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และส่วนตัวคิดว่าทั้ง 2 กรณีจะต้องทำให้แล้วเสร็จในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน เพราะมีข้อเท็จจริงบางอย่างที่เกี่ยวพันกันอยู่

“สำหรับตัวเลขความเสียหายที่จะออกคำสั่งทางปกครองให้ผู้ถูกกล่าวหาชดใช้ กว่าจะรู้ก็ต้องรอผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง ที่ต้องสรุปตัวเลขเสนอให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเพื่อออกคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น ถึงจะมาถามผมว่า จะให้นางสาว ย. นาย บ. นาย ภ. ชดใช้คนละกี่ล้านบาทในตอนนี้ ผมก็ยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะยังมีอีกหลายขั้นตอน และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา” นายวิษณุกล่าว

581116รถดับเพลิง
คดีจับซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. เป็นอีกหนึ่งคดีที่นายวิษณุหยิบมาเป็นตัวอย่างว่า มีการใช้คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีหลายคน ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th/bangkok/192620

ยก 5 คดีตัวอย่าง บี้ “รมต.-บิ๊ก ขรก.” ชดใช้

นายวิษณุยังกล่าวยกตัวอย่างคดีที่มีการใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งมีตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีไปจนถึงข้าราชการขั้นสูงใหญ่ให้ชดใช้ค่าเสียหาย อาทิ 1. คดีรถและเรือดับเพลิง มีอดีตรัฐมนตรีหลายคนเป็นผู้รับผิดชอบ ค่าเสียหาย 7,780 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาในศาลปกครอง 2. คดีเรือขุดเอลลิคอตต์ มีอดีตอธิบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบ ค่าเสียหาย 86 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง 3. คดีคลองด่าน กรณีออกเอกสารสิทธิที่ดิน มีอดีตรัฐมนตรีและข้าราชการเป็นผู้รับผิดชอบ ค่าเสียหาย 912 ล้านบาท 4. คดีคลองด่าน กรณีใช้ประโยชน์ มีอดีตรัฐมนตรีและข้าราชการเป็นผู้รับผิดชอบ ค่าเสียหาย 15,200 ล้านบาท และ 5. คดีที่ดินสถานีขนส่งหมอชิต มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบ ค่าเสียหาย 1,119 ล้านบาท

“คดีละเมิดต้องดำเนินการก่อนโดยไม่จำเป็นต้องรอคดีอาญาให้จบสิ้น บางคดีที่ยกขึ้นมาเพิ่งมีคำตัดสินทางอาญาไม่นานมานี้เอง หลายคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล”

เมื่อถามว่า หากศาลฎีกาฯ พิพากษาคดีจำนำข้าว ทั้งกรณีนางสาว ย. และ G to G เสร็จก่อนที่จะมีคำสั่งทางปกครอง แล้วออกมาว่า “ยกฟ้อง” จะส่งผลต่อการเรียกชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องดูว่าเป็นการยกฟ้องในลักษณะไหน เช่น ถ้ายกฟ้องเพราะคดีหมดอายุความก่อนส่งฟ้องก็อาจจะไม่มีผล แต่ถ้ายกฟ้องเพราะข้อเท็จจริงก็จะมีผลแน่นอน

เมื่อถามว่า รัฐมีสิทธิเข้าไปดูเส้นทางการเงินของผู้ถูกกล่าวหาในคดีจำนำข้าวหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่รู้ว่ารัฐจะเข้าไปดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ และคงจะไม่เข้าไปดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม ยกเว้นกรณีเดียวคือเรื่องศาลปกครองตัดสินแล้วอ้างว่าไม่มีเงินจ่าย ซึ่งตามปกติคดีปกครองจะมีอายุความในการติดตามทรัพย์สิน 10 ปี ก็จะต้องเข้าไปดูว่ามีการซุกซ่อนทรัพย์สินไว้ที่ใดหรือไม่

เมื่อถามว่า การออกคำสั่งทางปกครองเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร แสดงว่ารัฐบาลชุดต่อไปเข้ามาก็สามารถยกเลิกได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทำได้ แต่จะกล้าทำหรือไม่ เพราะอาจมีคนยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อาญา มาตรา 157 และตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดกล้ายกเลิกคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการละเมิดต่อรัฐเลยแม้แต่ครั้งเดียว

เมื่อถามว่า ในจดหมายเปิดผนึกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เรียกร้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบข้อกฎหมายอีกครั้งว่าการใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ สามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้ขอสรุปแล้วว่า รัฐเลือกวิธีการนี้ จึงไม่จำเป็นต้องกลับไปทบทวนอีก

“ยิ่งลักษณ์” โต้รัฐบาลตั้งธงเล่นงาน

ด้านท่าทีจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ภายหลังนายวิษณุแถลงข่าวชี้แจงจบไม่กี่ชั่วโมง เฟซบุ๊กของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ได้โพสต์ข้อความระบุว่า หลังจากฟังนายวิษณุชี้แจงจบ ก็ไม่อยู่ในฐานะที่ต้องการอะไรแม้แต่คำว่า “ความเป็นธรรม” เพราะทุกอย่างคงดำเนินการไปตามที่รัฐบาลนี้ต้องการ  พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งข้อสังเกตการดำเนินการในเรื่องนี้ 5 ข้อประกอบด้วย

  1. รัฐบาลเลือกใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ดิฉันชำระค่าเสียหายทั้งที่คดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น เท่ากับว่ารัฐบาลใช้อำนาจตุลาการแทนศาล และยังเลือกใช้มาตรา 44 คุ้มครองรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่สอบสวนข้อเท็จจริงให้พ้นจากการถูกฟ้องร้องใดๆ จากดิฉันใช่หรือไม่
  2. ที่อ้างว่า พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 นั้นใช้มานานกว่า 19 ปี และกว่า 5,000 คดี ดิฉันเห็นว่าเวลาและจำนวนคดีไม่ใช่สาระสำคัญที่จะใช้เป็นข้ออ้าง เพราะเชื่อว่ายังไม่มีคดีไหนเหมือนดิฉันซึ่งเป็นคดีแรกที่นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชนถูกยึดอำนาจ ถูกดำเนินคดี จากนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาเพื่อช่วยเหลือประชาชน จะเป็นเรื่องของการที่ทำให้รัฐต้องเสียหาย และต้องรับผิดชอบทั้งที่คดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น
  3. รัฐบาลต้องตอบกับพี่น้องประชาชนด้วยว่า การที่เลือกใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ดิฉันชำระค่าเสียหายนั้น ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร และจะรับประกันได้หรือไม่ว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่อยู่ภายใต้การชี้นำ แต่สามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างถูกต้องและเที่ยงธรรมเช่นศาล แม้รัฐบาลพยายามที่จะพูดว่าขั้นตอนยังไม่เป็นที่สิ้นสุดและสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ แต่กลับไม่มีคำตอบว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ให้กระบวนการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นไปตามขั้นตอนของศาลยุติธรรมเพื่อเป็นหลักประกันแห่งการอำนวยความยุติธรรมแทนการใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ดิฉันชำระค่าเสียหาย
  4. อะไรที่เรียกว่าสร้างความเสียหายต่อรัฐอย่างร้ายแรง ทั้งๆที่โครงการรับจำนำข้าวได้จ่ายเงินตรงถึงมือชาวนาผ่าน ธกส. ทุกบาททุกสตางค์
  5. การเพิ่มประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเป็น “พยานล่วงหน้า” ในคดีอาญา ถือเป็นข้อสังเกตที่เป็นนัยยะสำคัญว่าอาจนำผลการสอบสวนข้อเท็จจริงในคดีแพ่ง ทั้งที่ยังไม่มีข้อยุติมาทำให้เป็นผลร้ายกับดิฉันในคดีอาญาหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊ก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเพื่อโต้แย้งประเด็นทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับคดีรับจำนำข้าวมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 และครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558

อ่านเพิ่มเติมซีรี่ย์จำนำข้าวสิ้นนา สิ้นชาติ จริงหรือ!

กระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวได้กว่า 5 หมื่นล้าน

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้ระบายข้าวในสต็อกของรัฐไปแล้วกว่า 5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 52,300 ล้านบาท และจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 ได้กำหนดนโยบายชัดเจนว่าจะชะลอการระบายข้าวในสต็อกของรัฐที่มีคุณภาพมาตรฐานและใกล้เคียงมาตรฐานเพื่อการบริโภคในช่วงต้นฤดูที่ข้าวนาปี ปีการผลิต 2558/59 กำลังออกสู่ตลาด (พฤศจิกายน 2558 – กุมภาพันธ์ 2559) เพื่อมิให้เกิดอุปทานส่วนเกินมากดทับตลาดซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาข้าวที่เกษตรกรจะได้รับ โดยรัฐจำเป็นต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ก่อน และจะไม่นำข้าวเพื่อการบริโภคออกมาประมูลจนกว่าจะพ้นช่วงฤดูข้าวใหม่ เพื่อให้กลไกตลาดและมาตรการสนับสนุนต่างๆ ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ในการช่วยผลักดันราคาข้าวเปลือกในประเทศให้มีเสถียรภาพ

ขณะเดียวกันในระหว่างนี้ให้นำข้าวที่ต่ำกว่ามาตรฐานมาก ซึ่งได้แก่ ข้าวเกรด C ข้าวเสีย และข้าวผิดชนิดมาระบายสู่อุตสาหกรรมแทน จนกว่าจะพ้นช่วงของข้าวฤดูกาลใหม่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ภายใต้การกำกับดูแลที่รัดกุม เพื่อตัดข้าวกลุ่มนี้ออกจากวงจรข้าวปกติ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคา ข้าวบริโภค รวมทั้งตลาดจะนำมาเป็นข้ออ้างในการกดราคาข้าวฤดูใหม่ไม่ได้

สำหรับการดำเนินงานตามนโยบายของคณะกรรมการ นบข. ดังกล่าว คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ในการประชุมครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ได้กำหนดแผนการระบายข้าวในสต็อกของรัฐให้สอดคล้องตามสถานการณ์ ดังนี้

1. ช่วงข้าวต้นฤดูนาปี (พฤศจิกายน 2558 – กุมภาพันธ์ 2559)

กระทรวงพาณิชย์จะทดลองเปิดประมูลข้าวเสียจากคลังขนาดเล็กที่มีปริมาณข้าวไม่มากเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่เพื่อการบริโภคของคนหรือสัตว์ เพื่อเป็นการทดสอบกระบวนการประมูลข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม รวมทั้งมาตรการ ข้อกำหนด และกลไกภาคปฏิบัติในการควบคุมไม่ให้ข้าวเสียรั่วไหลสู่วงจรข้าวตามปกติ ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามระบบที่วางไว้ ต้นปีหน้าจะเริ่มนำข้าวเกรด C (ยกเว้นข้าวหอมมะลิเกรด C) จากคลังขนาดเล็กที่มีปริมาณข้าวไม่มากมาเปิดประมูลเข้าสู่อุตสาหกรรมที่เหมาะสมแบบเปิดกว้างเพื่อให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาต่อไป

ทั้งนี้ การระบายข้าวเกรด C ข้าวเสีย และข้าวผิดชนิดเข้าสู่อุตสาหกรรมนั้น กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาดำเนินการในปริมาณและช่วงจังหวะที่เหมาะสมด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อวัตถุดิบหลักที่ภาคอุตสาหกรรมใช้อยู่ อาทิ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ภายใต้มาตรการในการกำกับดูแล และบทลงโทษที่รัดกุม โดยมอบหมายหน่วยปฏิบัติทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลการขนย้ายข้าวเสื่อมเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม กำหนดให้ผู้ที่ประมูลได้ต้องมาขออนุญาตขนย้ายข้าวกับกรมการค้าภายใน ภายใต้ พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 พร้อมทั้งมีการสุ่มตรวจจากหน่วยงานในพื้นที่เป็นระยะ

2. หลังจากพ้นช่วงต้นฤดูนาปีไปแล้ว (มีนาคม 2559 เป็นต้นไป)

ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 ซึ่งคาดว่าจะพ้นช่วงที่ข้าวนาปี ปีการผลิต 2558/59 ออกสู่ตลาดแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาปัจจัยผลจากภัยแล้งว่าผลผลิตในตลาดมีเพียพอต่อการบริโภคและการส่งออกหรือไม่เพียงใด เพื่อกำหนดแผนการระบายให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

กระทรวงพาณิชย์ยังได้เน้นย้ำว่า การบริหารจัดการข้าวในสต็อกที่มีปริมาณมากถึง 18 ล้านตันเศษ ซึ่งเป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพไปแล้วกว่าครึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมาได้พยายามดำเนินการความรอบคอบ รัดกุม โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของภาครัฐเป็นสำคัญ ภายใต้ปัญหาความยุ่งยากและอุปสรรคมากมาย การดำเนินการบางกรณีต้องใช้ความกล้าในการตัดสินใจเนื่องจาก หมิ่นเหม่ต่อการถูกกล่าวหาได้ง่าย รวมทั้งยังต้องดำเนินการกับผู้รับผิดชอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ในอีกหลายกรณี ส่งผลให้ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการและคณะทำงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีความกังวลด้วยเกรงปัญหาที่จะตามมาภายหลัง

อย่างไรก็ตามภายใต้คำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2558 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ตามอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ คณะกรรมการ คณะทำงาน และบุคคล จากการรับผิดทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญา ในกรณีที่ได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วยความสุจริตและยุติธรรมนั้น เป็นมาตรการที่มีส่วนช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ภาคปฏิบัติมีความมั่นใจในการดำเนินงานมากขึ้น เป็นการแก้ไขข้อกังวลที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการข้าวในสต็อกของรัฐ ระงับยับยั้งความเสียหายของรัฐจากภาระค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐต้องแบกรับเอาไว้ ทำให้การแก้ไขปัญหาข้าวในสต็อกของรัฐบาลดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้