ThaiPublica > คอลัมน์ > Vessel ผู้หญิงทวนกระแส

Vessel ผู้หญิงทวนกระแส

30 พฤศจิกายน 2015


1721955

vessel2 (1)

จากวัยเด็กเมื่อตอน 8 ขวบ ที่แม่เคยพาขึ้นเรือกรีนพีซ ทำให้ รีเบคกา กอมเปิร์ท สาวชาวเนเธอร์แลนด์ อดีตอาสาสมัครกรีนพีซ เลือกที่จะร่ำเรียนมาทางการแพทย์ แล้วก่อตั้งองค์กร Women on Waves ขึ้น ด้วยเป้าหมายเพื่อจะแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มประเทศที่การยุติการตั้งครรภ์เป็นความผิดทางกฎหมาย เรื่องราวเหล่านี้นำความประทับใจมาสู่ ไดอะนา ไวท์เทน ทำให้เธอเลือกที่จะจับกล้องขึ้นมาทำสารคดีเป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือ Vessel ที่ทำให้ ไวท์เทน คว้ารางวัลออเดียนซ์ อะวอร์ด และสเปเชียล จูรี อะวอร์ด ในเทศกาลหนังอินดี้ชื่อดังอย่าง SXSW

ไวท์เทน เล่าว่า “ในปี 2000 กอมเปิร์ทนำเสนอโปรเจกต์ด้วยไอเดียที่เรียกว่า ‘ออกนอกชายฝั่ง’ โดยทั่วไปแล้วระยะพื้นที่นอกชายฝั่งทะเล 12 ไมล์ ของเขตประเทศต่างๆ ถือว่าเป็นน่านน้ำสากล แล้วตราบเท่าที่เรืออยู่ห่างจากประเทศต่างๆ ในระยะ 12 ไมล์ กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นกับเรือลำนั้นต้องยึดถือกฎหมายของประเทศเจ้าของเรือ ซึ่งก็คือกฎมายของประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่การยุติการตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้น กอมเปิร์ทจึงสามารถให้บริการทำแท้งได้บนเรือลำนี้ โปรเจกต์นี้ต่อมาเรียกว่า Women on Waves เพื่อเดินทางไปช่วยเหลืออย่างถูกวิธีให้แก่ผู้หญิงในประเทศที่การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย”

vessel3 (1)

“ในแง่หนึ่ง ‘เรือ’ เป็นเสมือนการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ดังที่ กอมเปิร์ทได้พูดไว้และปรากฏใน ตัวอย่างหนังด้วยว่า ‘เรือเป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ’ แล้วเธอก็ใช้คำพูดนี้ไปสู่การต่อสู้ เพื่อจะอธิบายว่ากฎหมายต่างๆ ถูกกำหนดขึ้นโดยประเพณีที่กำหนดโดยเพศชาย แต่สำหรับบนเรือลำนี้ ผู้หญิงมีสิทธิ์ครอบครองเสรีภาพนั้นได้ ไม่ว่าจะในทางสร้างสรรค์ หรือในการแสดงความท้าทายใหม่ๆ

โปรเจกต์ของกอมเปิร์ทก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ตลอดหลายปีมานี้ ไปพร้อมๆ กับการเผชิญอุปสรรคต่างๆ จากการต่อต้านที่ไม่ต้องการให้เธอบรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงโดยกลุ่มศาสนา ไปจนถึงระดับรัฐบาล เช่น ในปี 2004 รัฐบาลโปรตุเกสถึงกับส่งเรือรบสองลำออกมาสกัดกั้นในบริเวณท่าเรือ แล้วจากเหตุการณ์นั้นเอง ทำให้เธอเลือกที่จะพลิกบทบาทจากการเป็นฝ่ายตั้งรับเพียงอย่างเดียว ไปสู่การต่อสู้เชิงรุก ด้วยการออกสนทนาสดทางทีวี ที่สอดแทรกข้อมูลความรู้ว่า จริงๆ แล้ว พวกผู้หญิงสามารถจะหาซื้อยานี้ได้ทั่วไป เพราะเป็นยาที่มีขายอย่างถูกต้องตามองค์การอนามัยโลก เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ยาตัวนั้นคือ Misoprostol (ยาที่ใช้สำหรับแก้อาการตกเลือดหลังการคลอดบุตร)

แล้วด้วยเหตุการณ์ในคราวนั้นเอง ทำให้การต่อสู้ของเธอก้าวไปสู่การเผยแพร่ให้ข้อมูลผ่านทางศูนย์สายด่วนและเว็บไซต์ ด้วยโปรเจกต์ต่อเนื่องที่เรียกว่า Women on Web ที่ให้ข้อมูลอย่างละเอียดถึงขั้นตอนเหล่านั้นในหน้าเว็บ ที่สามารถทำเองได้ง่ายๆ ในบ้าน เพียงแต่อายุครรภ์ต้องไม่เกิน 9 สัปดาห์ จึงจะใช้ได้ผลและไม่เสี่ยงอันตราย”

vessel4 (1)

ส่วนในการเริ่มถ่ายทำสารคดีนี้ที่ใช้เวลานานถึง 7 ปี ไวท์เทนให้เหตุผลถึงการเลือกกอมเปิร์ทมาเป็นประเด็นสำหรับสารคดีเรื่องนี้ก็คือ “กอมเปิร์ทเป็นคนพิเศษ เธอมีพรสวรรค์ในการเป็นผู้นำ ในทุกสถานการณ์เธอแสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจที่แทบจะไม่มีข้อผิดพลาด เธอตลกและต่อสู้ด้วยรอยยิ้ม มีเสน่ห์ และรู้ว่าจะใช้วิธีไหน หรือสื่อใดอย่างได้ผล เธอเต็มไปพลังในการต่อสู้แล้วเหตุการณ์ต่างๆ ก็พลิกผันขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในที่สุดฉันจึงต้องถ่ายทำโปรเจกต์นี้ถึงเจ็ดปีด้วยกัน”

“เป็นการถ่ายๆ หยุดๆ แล้วก็ใช้อีกสองปีในการตัดต่อ เป็นขั้นตอนที่ยาวนาน ซ้ำยังเป็นสารคดีเรื่องแรกของฉันด้วย ดังนั้นจึงเป็นเหมือนโปรเจกต์ที่ฉันได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ ด้วย แต่ฉันก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากคนรอบข้างด้วยเช่นกัน”

Vessel เล่นกับประเด็นอ่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะความเชื่อทางศาสนาที่ว่า การทำแท้งเป็นความผิดบาปมหันต์ เพราะเปรียบเสมือนการฆ่าเด็ก หรือไม่ก็ขัดต่อพระประสงค์ของพระเจ้า สมควรถูกสาปส่งลงนรก Vessel จึงพยายามจะทำลายกรอบเดิมๆ ของสังคมเหล่านี้ ด้วยการให้ความรู้เรื่องสิทธิโดยชอบธรรมเหนือร่างกายตนเอง อันเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ผ่านเสียงสะท้อนของบรรดาผู้หญิงที่ต้องเผชิญปัญหาการท้องไม่พร้อมอย่างโดดเดี่ยว ที่นอกจากจะถูกกดทับด้วยความผิดบาปแล้ว ยังผิดกฎหมาย หรือถูกสังคมประณามสาปแช่งด้วย

vessel5 (1)

ไวท์เทนปิดท้ายว่า “ผู้หญิงควรมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกจะจัดการกับร่างกายตนเอง เพราะสังคมส่วนใหญ่ได้ละเลยแง่มุมนี้ และบีบบังคับให้ผู้หญิงต้องเป็นไปตามกลไกโครงสร้างของสังคม แล้วหากจะสังเกตเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในหนังเรื่องนี้ จะพบว่ากลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักกฎหมาย หรือบรรดาผู้นำทางศาสนา ล้วนแล้วแต่เป็นเพศชายทั้งสิ้น จุดนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ออกมาคัดค้านการทำแท้ง ส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบหรือต้องเจ็บปวดต่อการตั้งครรภ์หรือทำแท้งแต่อย่างใด เราเพียงต้องการทำลายวาทกรรมเดิมๆ ให้ผู้หญิงได้ฉุกคิด และกล้าจะตัดสินใจเลือกหนทางเพื่อตนเอง ปลดแอกจากความผิดบาปที่สังคมกดทับอยู่สักที”