ThaiPublica > คอลัมน์ > กระชากเศรษฐกิจดิจิทัลถอยหลังด้วย “ซิงเกิ้ล เกตเวย์”

กระชากเศรษฐกิจดิจิทัลถอยหลังด้วย “ซิงเกิ้ล เกตเวย์”

28 กันยายน 2015


สฤณี อาชวานันทกุล

นับวันผู้เขียนยิ่งรู้สึกว่า การเป็นประชาชนคนไทยในโลกดิจิทัล เวอร์ชั่น 2.0 แต่ต้องมาอยู่ใต้ผู้มีอำนาจที่คิดแบบเวอร์ชั่น 0.5 เมื่อครั้งอินเทอร์เน็ตยังไม่เกิด เป็นสถานะที่น่าเหนื่อยหน่ายไม่ใช่เล่น

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) คนล่าสุดเพิ่งให้สัมภาษณ์สื่อ ไปไม่ทันไร เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 ถึงความสำคัญของนโยบาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่งรับ “ไม้ต่อ” มาจากทีมเศรษฐกิจชุดก่อนหน้านี้ วันถัดมา บล็อกนัน (Blognone) เว็บข่าวไอทีแนวหน้าของไทย ก็เปิดคำสั่งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ให้กระทรวงไอซีทีไปเร่งรัดการดำเนินการ “จัดตั้ง single gateway”

ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 27 ส.ค. 2558 สั่งให้เร่งรัดดำเนินการ single gateway ที่มาภาพ: http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2558/993152581.pdf
ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 27 ส.ค. 2558 สั่งให้เร่งรัดดำเนินการ single gateway ที่มาภาพ: http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2558/993152581.pdf

“ซิงเกิ้ล เกตเวย์” ในเอกสารนี้หมายถึงแนวคิดที่จะให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั้งประเทศที่ออกสู่ต่างประเทศทำผ่าน International Internet Gateway (IIG) หรือ “ประตูทางผ่าน” ประตูเดียว แทนที่ปัจจุบันซึ่งมีมากกว่าสิบเกตเวย์

ข่าวบล็อกนันเปิดเผยต่อไปว่า “ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เอกสารข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ระบุเหตุผลของการสร้างทางออกอินเทอร์เน็ตทางเดียวทั้งประเทศนี้ว่า “เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางอินเตอร์เน็ต” โดยหากติดข้อกฎหมายใดก็ให้เร่งดำเนินการออกกฎหมายต่อไป”

ชัดเจนว่า ผู้มีอำนาจอยากทำเรื่องนี้เพื่อกีดกันไม่ให้คนไทยได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารบางอย่างที่ฝ่ายความมั่นคงมองว่าเป็น “ภัยคุกคามความมั่นคง”

ปิดประตูบานเดียว ย่อมง่ายและสะดวกโยธินกว่าการตามไปปิดหลายประตู

ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ข้อมูลที่คนทั่วโลกเข้าถึงได้ แต่ไม่อยากให้คนไทยได้ดูนั้น เป็นภัยคุกคามถึงขั้นจะต้องงัดมาตรการเผด็จการผูกขาดอย่าง single gateway ขึ้นมาใช้อย่างไร

เราไม่เคยได้ยินคำชี้แจงใดๆ จาก คสช. คณะรัฐมนตรี หรือกระทรวงไอซีทีเลย

ในทางตรงกันข้าม พอเรื่องนี้เป็นข่าว เริ่มมีกระแสต่อต้านในเน็ต (แคมเปญบน Change.org มีผู้มาร่วมลงชื่อคัดค้านกว่า 35,000 คน ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงแรก) ผู้รับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับออกมาให้ข่าวในทางที่ “กลบเกลื่อน” เป้าหมายที่แท้จริงของ ซิงเกิ้ล เกตเวย์ และสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ

แคมเปญคัดค้าน Single Gateway บน Change.org ที่มาภาพ: https://www.change.org/p/thai-govt-%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%8C-stop-proposed-plan-for-single-internet-gateway
แคมเปญคัดค้าน Single Gateway บน Change.org ที่มาภาพ: https://www.change.org/p/thai-govt-%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%8C-stop-proposed-plan-for-single-internet-gateway

โดยในวันที่ 24 กันยายน รมว.ไอซีทีอ้างกับสื่อว่า โครงการ ซิงเกิ้ล เกตเวย์ นั้น “ทำเพื่อเศรษฐกิจเป็นหลัก ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ” ส่วนประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ก็อ้างว่า เป้าหมายเรื่องนี้ของรัฐบาลคือ “ต้องการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจดิจิตัลในภูมิภาค สร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาใช้ช่องทางเชื่อมต่อของไทยแทนที่จะเป็นเพื่อนบ้าน”

นอกจากข้ออ้างของผู้มีอำนาจทั้งสองนี้จะไม่จริง ความจริงยังอยู่ตรงกันข้าม นั่นคือ ถ้าทำจริงขึ้นมา นอกจากมันจะมีราคาแพงลิบ ซิงเกิ้ล เกตเวย์ ยังจะกระชากเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยให้ถอยหลังไปไกล ไม่ได้ส่งเสริมแม้แต่น้อย!

อาทิตย์ สุริยะวงษ์กุล ผู้ประสานงานมูลนิธิอินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) อธิบายเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า

“ปริมาณข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่มีไม่น้อย ถ้ารัฐทำจริงเชื่อว่าจะทำให้อินเทอร์เน็ตช้าลง มากน้อยขึ้นกับเทคนิคที่ใช้ เพราะต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนปล่อย ซึ่งในเอกสารระบุว่าเป็นการเช็คขาเข้า แต่โดยเทคนิคแล้วเช็คได้ทั้งขาเข้าขาออก

“สอง ถ้าทำขึ้นจริงจะเกิด single point of failure คือ ถ้าล่มก็ล่มทั้งหมดเลย เปรียบได้กับบ้านหลังหนึ่งใช้น้ำประปาต่อท่อเข้ามาในบ้านจากผู้ให้บริการสามเจ้า แต่ละท่อส่งน้ำหนึ่งลิตรต่อหนึ่งวินาที พอรวมเป็นท่อเดียวก็เป็นสามลิตรต่อหนึ่งวินาที แบบนี้ดูไม่มีปัญหา แต่ลองคิดว่า ถ้าท่อนี้แตกก็จะไม่มีน้ำใช้เลย ขณะที่แบบเดิม ถ้าท่อนึงแตกยังมีเหลืออีกสองท่อ

“เพราะฉะนั้น ปัญหาจึงมีหลายจุด หนึ่ง เรื่องสิทธิเสรีภาพ แปลว่ารัฐพยายามจะควบคุมการไหลของข้อมูล ซึ่งรัฐพูดถึงตรงนี้อย่างชัดเจนว่าจะทำ สอง นอกจากการเซ็นเซอร์ การดักข้อมูลก็ทำได้ง่ายขึ้นด้วย ตรงนี้จะกระทบสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล สาม รัฐบอกว่าจะสนับสนุนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ประกอบด้วย 3 เรื่องคือ การรักษาความลับของข้อมูล (confidentiality) ความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล (integrity) และความพร้อมใช้งานของข้อมูลและระบบ (availability) พอทำแบบนี้จะกระทบทั้งสามส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพร้อมใช้ของข้อมูลและระบบ เพราะมีแนวโน้มว่าเจ๊งปุ๊บ จะล่มหมด จากแทนที่จะมีหลายลิงก์ อันนึงเสียก็ใช้อันอื่นต่อได้ ทั้งหมดนี้เท่ากับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ลดลง สวนทางกับที่รัฐบาลบอกจะทำให้ปลอดภัยขึ้น และจะหนุนดิจิทัลอิโคโนมี”

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ที่มาภาพ: http://prachatai.org/journal/2015/09/61537
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ที่มาภาพ: http://prachatai.org/journal/2015/09/61537

ซิงเกิ้ล เกตเวย์ นอกจากจะไม่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างที่ รมว.ไอซีที และประธาน กทค. กล่าวอ้าง มันยิ่งจะทำให้ผู้ประกอบการดิจิทัลมีต้นทุนและความเสี่ยงมากขึ้น จากการที่เน็ตช้ากว่าเดิม ภัยคุกคามไซเบอร์มีความเสี่ยงและแนวโน้มจะก่อความเสียหายมากขึ้น (แค่มีใครไปตัดไฟเกตเวย์ตัวนี้ตัวเดียว อินเทอร์เน็ตไทยก็จะล่มทั้งประเทศ)

ไม่นับว่าถ้าให้ กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ดูแล ซิงเกิ้ล เกตเวย์ ยุคแห่งการผูกขาดก็จะหวนคืนมา สวนทางกระแสการเปิดเสรีซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 อีกทั้งยังเปิดโอกาสคอร์รัปชั่นมโหฬารจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มูลค่ามหาศาล ซึ่งถูกตีตรา “ลับมาก” ในโครงการที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เลย

นอกจากจะมีต้นทุนและความเสี่ยงจากภัยคุกคามไซเบอร์มากขึ้น ซิงเกิ้ล เกตเวย์ ยังทำให้ข้อมูลทั้งหมดของประชาชนและธุรกิจสุ่มเสี่ยงที่จะถูกรัฐสอดแนม ปลอมแปลงใบรับรองการเข้ารหัสเพื่อล้วงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย โดยปราศจากกลไกตรวจสอบและรับผิดใดๆ

อาทิตย์อธิบายว่า “ถ้ามีใครในไทย เช่น อาทิตย์ขอกูเกิลให้ส่งใบรับรองให้หน่อย ทันทีที่ ซิงเกิ้ล เกตเวย์ เห็นว่ามีการขอ ก็จะหยุดคำขอนั้นไว้ ไม่ส่งต่อและส่งใบรับรองปลอมให้อาทิตย์ เมื่ออาทิตย์ได้รับใบรับรองก็เข้าใจว่าใบรับรองนี้เป็นกุญแจเข้ารหัสจากกูเกิล ก็จะส่งข้อมูลที่เข้ารหัสด้วยกุญแจปลอมนี้กลับไป เท่ากับว่าคนสร้างกุญแจปลอมจะอ่านข้อมูลเข้ารหัสนี้ได้ โดยปกติ การส่งใบรับรองปลอมแบบนี้ทำไม่ได้ง่ายนัก แต่เมื่อไรที่ควบคุมเกตเวย์ได้ก็จะทำได้โดยง่าย กรณีนี้เรียกว่า man-in-the-middle attack”

ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจจะเลิกอ้างเหตุผลเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจหรือภัยคุกคามไซเบอร์ซึ่งฟังไม่ขึ้นแม้แต่น้อย เปิดอกบอกประชาชนมาตรงๆ ดีกว่าว่า ข้อมูลข่าวสารที่ไม่อยากให้ประชาชนเข้าถึงนั้นคืออะไร และมันเป็นภัยคุกคามถึงขั้นที่เราควรยอมจ่ายต้นทุนมหาศาลทางเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นส่วนตัวเพราะอะไร.