ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้เชี่ยวชาญชี้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์ไม่อันตราย แต่ความร้อนที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ผู้เชี่ยวชาญชี้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์ไม่อันตราย แต่ความร้อนที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ

15 กันยายน 2015


ผู้เชี่ยวชาญด้านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ชี้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามทฤษฎีและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน แต่ความร้อนที่เกิดขึ้นจากโทรศัพท์มือถืออาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ แนะผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่กลัวความเสี่ยงควรใช้โทรศัพท์ตามความจำเป็น และควรเก็บโทรศัพท์มือถือให้ห่างจากตัวอย่างน้อย 20 เซนติเมตร

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558 สมาคมอุปกรณ์การแพทย์ไทยได้จัดบรรยายหัวข้อเรื่อง “คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากการใช้โทรศัพท์มือถือ มีผลต่อสุขภาพหรือไม่” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการ Medical Fair Thailand ระหว่างวันที่ 10-12 กันยายน 2558

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญไชย ไทยเจียม ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และตัวแทนจากสมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย กล่าวว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามี 2 ประเภท คือ คลื่นนอนไอโอไนซ์ (Non-ionizing radiation) ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อเซลล์ โดยให้เพียงความร้อนเท่านั้น เช่น คลื่นวิทยุ FM/AM แสงแดด เตาไมโครเวฟ ฯลฯ และคลื่นไอโอไนซ์ (Ionizing radiation) ซึ่งมีผลกระทบต่อเซลล์ เช่น รังสีเอ็กซ์เรย์ที่ในวงการแพทย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญไชย ไทยเจียม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญไชย ไทยเจียม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญไชยกล่าวต่อว่า อันตรายของแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นอยู่กับระดับกำลังคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยกำลังมากก็จะให้ความร้อนมากซึ่งอุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละชนิดที่ใช้นั้นมีกำลังคลื่นแม่เหล็กต่างกัน คือ วิทยุเอฟเอ็มรัศมี 50 กิโลเมตรมีระดับกำลัง 100 กิโลวัตต์ เตาไมโครเวฟมีระดับกำลัง 1 กิโลวัตต์ โทรศัพท์มือถือ 2 วัตต์สำหรับระบบเดิม แต่ปัจจุบันที่เป็นระบบ 3G มีระดับกำลังคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ประมาณ 0.8 วัตต์ หากระบบ 4G ระดับกำลังคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะน้อยลงอีก

“ผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นมีระดับที่แตกต่างกัน โดยอวัยวะที่มีเลือดหล่อเลี้ยงมากจะมีความเสี่ยงน้อย ส่วนอวัยวะที่มีเลือดหล่อเลี้ยงน้อยจะมีความเสี่ยงมาก เช่น ดวงตา แต่ปัจจุบันยังไม่พบผู้ที่ดวงตามีปัญหาเนื่องจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทั้งนี้เพราะเลือดที่หมุนเวียนในอวัยวะต่างๆ จะเป็นตัวช่วยคลายความร้อนที่เกิดขึ้นจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและส่งความร้อนมายังร่างกายมนุษย์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญไชยกล่าว

สำหรับข้อกังวลด้านสุขภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นปัจจุบันมีหลายเรื่อง ซึ่งมีผลการศึกษารองรับในเชิงระบาดวิทยา แต่ในทางวิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเรื่องที่หลายคนกังวลใจคือ ปวดศีรษะ, มีอารมณ์ฉุนเฉียว, ซึมเศร้า, คลื่นไส้, มีปัญหาด้านการมองเห็นลดลง, มะเร็งเนื้องอกในสมอง โดยคลื่นจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทําให้อาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว, เด็กมีความเสี่ยงเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว, สูญเสียการได้ยิน (หูดับ), ส่งผลต่อทารกในครรภ์ และสมรรถภาพทางเพศเสื่อม

“อาจเป็นไปได้ที่การโทรศัพท์มือถือทำให้มีอาการปวดหัวได้ แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีของโทรศัพท์ที่ส่งผลจากการกระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ไม่ส่งผลต่อการแตกตัวของไอออน ซึ่งยังสังเกตผลไม่ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ทั้งอาการปวดหัว คลื่นไส้ หรืออาการอื่นๆ แต่อย่างน้อยการใช้โทรศัพท์นานๆ ก็อาจส่งผลต่อได้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลมาจากท่าทางหรือช่วงสรีระระหว่างการใช้โทรศัพท์หรืออาจเกิดจากความร้อน เช่น จากแบตเตอรี่โทรศัพท์ที่แนบหูไว้นานๆ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญไชยกล่าว

ด้านข้อกังวลใจเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศเสื่อม ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยรายงานว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือ ทำให้เกิดความผิดปกติของการหลั่งสารเคมี ฮอร์โมนภายในร่างกาย และปริมาณอสุจิของเพศชาย แต่ผลการศึกษาใหม่ๆ ขัดแย้งกับผลการศึกษาในอดีต ซึ่งยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือมีผลต่อระบบสืบพันธุ์โดยเฉพาะเพศชาย เนื่องจากอวัยวะอยู่ภายนอกร่างกาย ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงแนะนำให้พยายามเก็บมือถือให้ห่างจากร่างกายอย่างน้อย 20 เซนติเมตร

ระดับกำลังคลื่นแม่หล็กไฟฟ้า ที่มา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญไชย ไทยเจียม
ระดับกำลังคลื่นแม่หล็กไฟฟ้า ที่มา: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญไชย ไทยเจียม

สำหรับเรื่องมะเร็งเนื้องอกในสมอง รายงานวิจัยบางรายงานสรุปว่า อาจมีความเสี่ยงเกิดมะเร็ง บางรายงานสรุปว่า ไม่มีความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเพิ่มขึ้น นั่นคือ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่โดยทฤษฎีแล้วสนามแม่เหล็กที่ออกมาจากโทรศัพท์มือถือไม่ใช่สาเหตุของการเร่งการเกิดมะเร็ง แต่ความร้อนที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนเรื่องมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยทั่วไปเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ พันธุกรรม ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือติดเชื้อไวรัสบางชนิด สารเคมีและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่ในกลุ่มของสิ่งแวดล้อม โดยองค์การอนามัยโลกระบุให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่ในกลุ่ม 2B คืออาจจะก่อมะเร็งในมนุษย์ เพื่อตีกรอบป้องกันไว้ก่อน หลังจากที่ศึกษาพบว่าอาจจะก่อมะเร็งแม้ยังพิสูจน์แน่ชัดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม มีสารเคมีและปัจจัยอื่นๆ รวม 287 ชนิดที่อยู่ในกลุ่ม 2B เช่น กาแฟ เครื่องสำอาง ฯลฯ

ส่วนอันตรายต่อทารกในครรภ์นั้น หากใครที่กังวลใจก็อย่านำโทรศัพท์ไปไว้ใกล้ๆ ทั้งนี้ทารกในครรภ์จะเสี่ยงน้อยกว่าเด็กทารกที่คลอดแล้ว เนื่องจากมีท้องของแม่เป็นเกราะกำบัง ในขณะที่เด็กทารกที่คลอดแล้วนั้นมีศีรษะบาง

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การปล่อยคลื่นสัญญาณโทรศัพท์จากสถานีฐานนั้น เครื่องรับส่งสัญญาณจะอยู่ที่ด้านบนสุดของเสา ซึ่งระยะห่างจากเสามีผลต่อระดับกำลังคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ใช้รับ-ส่งสัญญาณระหว่างโทรศัพท์มือถือกับเสาสัญญาณ โดยถ้าอยู่ใกล้เสา โทรศัพท์ก็จะใช้กำลังน้อยกว่าเมื่อโทรศัพท์อยู่ไกล แต่ก็จะไม่เกินกำลังสูงสุดที่กำหนดไว้ของอุปกรณ์ คือ กรณีโทรศัพท์ระบบ GSM มีกำลังสูงสุด 2 วัตต์ ก็จะส่งสัญญาณไปยังเสาสัญญาณได้สูงสุดที่ 2 วัตต์ แต่หากอยู่ใกล้ๆ เสาสัญญาณก็จะใช้กำลังส่งคลื่นไม่ถึง 2 วัตต์ ซึ่งทำให้ประหยัดแบตเตอรี่ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มักกลัวเสาส่งสัญญาณที่มีขนาดใหญ่มากกว่ากลัวคลื่นจากเครื่องรับ-ส่งสัญญาณ ซึ่งความจริงคือเครื่องรับ-ส่งสัญญาณมีขนาดไม่ใหญ่ ติดตั้งอยู่ที่จุดบนสุดของเสา แต่ที่ต้องสร้างเสาสัญญาณขนาดใหญ่เพราะต้องการให้เครื่องส่งรับ-ส่งสัญญาณอยู่สูงๆ เพื่อที่จะได้ส่งสัญญาณได้ไกล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญไชย ไทยเจียม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญไชย ไทยเจียม

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า อันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีต่อร่างกาย ขึ้นอยู่กับอัตราการดูดกลืนพลังงานจําเพาะ (Specific Absorption Rate หรือ SAR ซึ่งเป็นอัตราที่พลังงานถูกดูดกลืนโดยเนื้อเยื่อของร่างกาย มีหน่วยเป็นวัตต์ต่อกิโลกรัม (W/kg) ที่เป็นหน่วยการวัดปริมาณการได้รับรังสีซึ่งใช้กันทั่วไปสําหรับการวัดการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในย่านความถี่สูงกว่า 100 กิกะเฮิร์ต (kHz)

“ถ้ากลัวว่าโทรศัพท์มือถือจะอันตรายต่อสุขภาพ ก็จำกัดการใช้ โดยใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ใช่เสพติดโทรศัพท์มือถือ รวมถึงอย่าให้เด็กเล็กๆ ใช้โทรศัพท์ และในผู้ใหญ่ก็ควรเก็บโทรศัพท์มือถือให้ห่างตัวอย่างน้อย 20 เซนติเมตร หรือหากสามารถปิดเครื่องเวลานอนได้ก็จะดี นอกจากนี้ไม่ควรพยายามใช้โทรศัพท์มือถือในที่อับสัญญาณ เช่น ลิฟต์ เพราะจะทำให้โทรศัพท์ใช้กำลังส่งคลื่นสูงสุด ทำให้เกิดความร้อนสูงและเปลืองแบตเตอรี่ด้วย ที่สำคัญต้องเลือกใช้สินค้าที่มีค่า SAR ต่ำๆ เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญไชยกล่าว