ThaiPublica > เกาะกระแส > “ตลาดสนามหลวง 2” ป่วน หลังสัญญาเช่าช่วง กทม. สิ้นสุด “ไทเทวราช” เรียกเก็บเงินล่วงหน้า 5 ปี พ่อค้าผวาไม่จ่ายภายใน 31 ก.ค .โดนตัดน้ำ-ไฟ-ยึดของ

“ตลาดสนามหลวง 2” ป่วน หลังสัญญาเช่าช่วง กทม. สิ้นสุด “ไทเทวราช” เรียกเก็บเงินล่วงหน้า 5 ปี พ่อค้าผวาไม่จ่ายภายใน 31 ก.ค .โดนตัดน้ำ-ไฟ-ยึดของ

4 สิงหาคม 2015


ตลาดธนบุรี หรือ ตบาดนัดสนามหลวง 2
ตลาดธนบุรี หรือตลาดนัดสนามหลวง 2

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2558 พ่อค้า แม่ค้า ตลาดธนบุรี หรือ “ตลาดสนามหลวง 2” ประมาณ 200-300 คน นัดชุมนุมประท้วง หลังจากบริษัทไทเทวราช ผู้บริหารตลาดกำหนดเวลาให้พ่อค้า แม่ค้าที่เป็นเจ้าของร้านค้า หรือ เจ้าของแผง มาทำสัญญาเช่า พร้อมกับชำระเงินค่าเซ้งร้านในราคาใหม่กว่าหนึ่งแสนบาทภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 หากไม่ดำเนินการตามข้อเสนอของบริษัทไทเทวราชภายในระยะเวลาที่กำหนดจะตัดน้ำ ตัดไฟ หรือตัดกุญแจ ยึดสินค้าของพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในร้าน

ต่อกรณีดังกล่าวนายประเสริฐ กล้าแห่งงาน เป็นหนึ่งในตัวแทนเจ้าของร้านตลาดสนามหลวง 2 เปิดเผยว่าถึงข้อพิพาทระหว่างเจ้าของร้านค้ากับบริษัทไทเทวราชว่าเดิมทีโครงการตลาดสนามหลวง 2 เจ้าของที่ดินแปลงนี้คือห้างหุ้นส่วนจำกัดสวนพฤกษาศาสตร์กรุงเทพ ได้ให้ทางบริษัทไทเทวราชเช่าที่ดิน เพื่อนำมาก่อสร้างตลาดสนามหลวง 2 แต่เนื่องจากที่ดินแแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่สีเขียว จึงมีเพียง กทม. เท่านั้นที่สามารถนำที่ดินมาพัฒนาได้ ดังนั้น บริษัทไทเทวราชจึงนำที่ดินแปลงนี้มาทำสัญญาเช่าช่วงต่อกับ กทม. เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยสัญญาระบุว่าบริษัทไทเทวราชต้องหาผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของร้านค้ามาทำสัญญาเช่าแผงกับ กทม. และเมื่อสิ้นสุดสัญญาการเช่า บริษัทไทเทวราชต้องยกกรรมสิทธิ์ตัวอาคารให้ กทม. จากนั้นบริษัทไทเทวราชได้เปิดรับสมัครผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของร้านค้าเป็นระยะเวลา 10 ปี หลังจากที่เจ้าของร้านค้าจ่ายเงินร่วมลงทุนก่อสร้างตลาด (ค่าเซ้งร้าน) แล้ว เจ้าของร้านค้าไปทำสัญญาเช่าแผงกับกทม.

กล่าวโดยสรุป ตลาดสนามหลวง 2 มีคู่สัญญาทั้งหมด 3 คู่ คือ 1. บริษัทไทเทวราช ทำสัญญาเช่าที่ดิน 30 ปี กับ หจก.สวนพฤกษาศาสตร์ 2. กทม. ทำสัญญาเช่าช่วงที่ดินต่อจากบริษัทไทเทวราชเป็นระยะเวลา 10 ปี และ 3. เจ้าของร้านค้าทำสัญญาเช่าแผงกับ กทม.

ทั้งนี้ สัญญาเช่าอาคารและที่ดิน ระหว่างบริษัทไทเทวราชกับ กทม. สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 และทาง กทม. ไม่ต่อสัญญากับบริษัทไทเทวราช โดยได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้าให้บริษัทไทเทวราชรับทราบไม่น้อยกว่า 1 ปี ตามที่กำหนดในเงื่อนไขสัญญา ขณะที่ กทม. ไม่ได้แจ้งบอกเลิกสัญญากับเจ้าของร้านค้ากว่า 3,000 ราย ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าแผงกับ กทม. โดย กทม. นำสัญญาเช่าร้านค้า พร้อมกับอาคารตลาดส่งให้บริษัทไทเทวราช ทั้งที่เจ้าของร้านค้าไม่ใช่คู่สัญญากับบริษัทไทเทวราช

นายประเสริฐ กล้าแห่งงาน ตัวแทนเจ้าของร้านตลาดสนามหลวง 2 เจรจากับนายทหาร
นายประเสริฐ กล้าแห่งงาน ตัวแทนเจ้าของร้านตลาดสนามหลวง 2 เจรจากับนายทหาร

นายประเสริฐกล่าวต่อว่า “ประเด็นที่เป็นปมปัญหาคือหลังสัญญาเช่าช่วงต่อครบกำหนด 10 ปี ตัวที่ดินเป็นของบริษัทไทเทวราช ส่วนตัวอาคารและร้านค้าเป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม. ตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าช่วง ดังนั้น ในกรณีที่บริษัทไทเทวราชมาเรียกเก็บเงินค่าเซ้งร้าน ทางเจ้าของร้านค้าทั้งหมดไม่มีความมั่นใจว่าบริษัทไทเทวราชยังมีกรรมสิทธิ์ในตัวอาคารร้านค้าหรือไม่”

นอกจากนี้ บริษัทไทเทวราชถูกฟ้องศาลประมาณ 3-4 คดี ส่วนใหญ่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว เหลืออีก 1 คดี คือ หจก.สวนพฤกษาศาสตร์กรุงเทพ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ฟ้องยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัทไทเทวราช ถามว่าบริษัทไทเทวราชยังมีกรรมสิทธิในการบริหารจัดการตลาดอยู่หรือไม่ ซึ่งคิดว่ายังมีสิทธิอยู่ แต่เจ้าของร้านค้าก็มีกรรมสิทธิ์ในร้านค้าเช่นกัน ประการแรก กทม. ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญากับเจ้าของร้านค้า ประการที่สอง ในใบเสร็จหรือบิลที่เจ้าของร้านค้าจ่ายค่าเซ้งสิทธิให้กับบริษัทไทเทวราช ระบุว่า “เจ้าของร้านค้าคือผู้ร่วมลงทุนก่อสร้าง” เราไม่ใช่ผู้เช่า หรือผู้เซ้ง

“เมื่อสัญญาเช่าที่ดินระหว่างบริษัทไทเทวราชกับ กทม. สิ้นสุด บริษัทไทเทวราชบังคับให้เราออกจากพื้นที่ แถมข่มขู่อีกว่า หากเราไม่ออก เขาจะเอาคนมาล็อกกุญแจ หรือตัดกุญแจ ยึดขนของหรือสินค้าของพวกเรา เป็นปัญหาที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ที่ผ่านมาเงื่อนไขที่บริษัทไทเทวราชยื่นข้อเสนอกับพ่อค้าแม่ค้าที่สนามหลวง 2 เช่น ขอให้เจ้าของร้านค้าบางรายมาต่อสัญญาเช่า 3 ปีบ้าง บางรายก็ 5 ปี บางรายขอให้จ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน ขึ้นอยู่กับบริษัทไทเทวราชจะเรียกร้อง” นายประเสริฐกล่าว

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 1-2 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา เจ้าของร้านค้าสนามหลวง 2 นัดร่วมตัวและร่วมกันลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้บริษัทไทเทวราช เปิดเจรจากับเจ้าของร้านค้าในตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขดังนี้

1. ขอให้เชิญผู้กำกับสถานีตำรวจศาลาแดง และผู้บังคับการทหารในเขตพื้นที่ ร่วมเป็นสักขีพยาน

2. การเจรจาจะมีขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อบริษัทไทเทวราชหยุดข่มขู่ คุกคาม

3. ขอให้บริษัทไทเทวราชแสดงเอกสารสิทธิ์ยืนยันว่ายังมีสิทธิการเช่าตลาดอย่างถูกต้อง ทั้งนี้เนื่องจากในสัญญาเช่าตลาดระหว่างบริษัทไทเทวราชกับ กทม. สิ้นสุดลง ตามเงื่อนไขของสัญญาระบุว่า “บริษัทไทเทวราชต้องยกกรรมสิทธิ์อาคารร้านค้าให้ กทม. หากบริษัทไทเทวราชไม่ประสงค์จะทำตลาดอีกต่อไปต้องรื้ออาคารออกจากที่ดินแปลงนี้ แต่ถ้าบริษัทไทเทวราช ต้องการดำเนินกิจการตลาดต่อไป (ไม่รื้ออาคาร) ต้องจ่ายเงินชดเชยค่าอาคารให้ กทม.”

นายประเสริฐกล่าวต่อว่า ล่าสุด กทม. ประเมินมูลค่าตัวอาคารประมาณ 400 ล้านบาท บริษัทไทเทวราชขอต่อรองราคาเหลือ 60 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทไทเทวราชต้องเจรจากับ กทม. เองไม่เกี่ยวกับพวกเรา แต่ประเด็นที่พวกเราเดือดร้อน คือ เมื่อสัญญาเช่าช่วงสิ้นสุด กทม. ไม่ต่อสัญญาให้บริษัทไทเทราช ตอนนี้ถือว่าตัวอาคารร้านค้ายังเป็นสมบัติของ กทม. และเจ้าของร้านค้าในฐานะผู้ร่วมลงทุนก่อสร้างตลาด ขอยึดพื้นที่ไว้ก่อน หากบริษัทไทเทวราชขอคืนร้านค้าหรือแผง ต้องมาเจรจากันตามเงื่อนไขที่ตัวแทนร้านค้านำเสนอ หากบริษัทไทเทวราชมั่นใจว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตัวอาคาร ขอให้ฟ้องแพ่ง หรือฟ้องขับไล่พวกเรามา

4. หากผลการเจรจาได้ข้อสรุปว่าทางบริษัทไทเทวราช ตกลงต่อสัญญาเช่าให้เจ้าของร้านค้า พวกเราขอนำเงินค่าเช่า หรือค่าเซ้งร้าน และค่าธรรมเนียมต่างๆ ไปวางไว้ที่ศาล หรือขอให้ศาลพิทักษ์ทรัพย์ หากพิสูจน์ได้ว่ากรรมสิทธิ์ในสัญญาเช่าตลาดเป็นของบริษัทไทเทวราชถูกต้อง บริษัทสามารถเบิกเงินที่ศาลได้ ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันเจ้าของร้านค้ายังเป็นคู่สัญญาเช่าแผงกับ กทม. ซึ่งทาง กทม. ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญากับพวกเรา แต่ กทม. บอกเลิกสัญญากับบริษัทไทเทวราชไปแล้ว

5. กรณีศาลแพ่งตัดสินให้ หจก.สวนพฤกษาศาสตร์ฯ เจ้าของที่ดินเป็นผู้ชนะคดี ยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัทไทเทวราช ข้อตกลงระหว่างเจ้าของร้านค้ากับบริษัทไทเทวราชเป็นอันยกเลิก และพวกเราขอคืนเงินที่วางต่อศาล

ด้านนายพรชัย สรวงษ์ ตัวแทนผู้ค้าตลาดสนามหลวง 2 เปิดเผยว่า หลังจากสัญญาเช่าช่วงระหว่าง กทม. กับบริษัทไทเทวราชสิ้นสุดลง ทางบริษัทไทเทวราชได้แจ้งให้เจ้าของร้านค้าทั้งหมดทำสัญญาเช่าและชำระค่าเซ้งร้านค้า ห้องละ 180,000 บาท หรือห้องคู่ 360,000 บาท แต่ถ้าเป็นห้องใหญ่ ห้องละ 650,000 บาท หรือห้องคู่ 1,300,000 บาท โดยมีอายุสัญญา 5 ปี ซึ่งต้องยอมรับสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ไม่ดี ที่ผ่านมา ตลาดสนามหลวงไม่บูม ขายของไม่ดี สาเหตุที่ตลาดไม่บูม เพราะผู้บริหารของ กทม. และไทเทวราชเก็บเงินค่าเช่าเพียงอย่างเดียว ไม่มีการพัฒนาตลาด

ตลาดร้าง

ย้ายร้านหนี

“เมื่อ 10 ปีก่อน ผมเคยจ่ายค่าเซ้งร้าน 2 ห้อง เป็นเงิน 700,000 บาท วันนี้ครบสัญญา 10 ปีแล้ว เงินที่นำมาลงทุนไปยังไม่ได้คืนเลย เจ้าของร้านค้าบางรายนำบ้านไปจำนองแบงก์เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าเซ้งร้าน ขายของไม่ดีบ้านถูกยึด บางคนก็เป็นข้าราชการเกษียณ นำเงินบำเหน็จมาลงทุนเซ้งร้าน ยังไม่ได้ทุนคืนเช่นกัน สาเหตุเพราะ กทม. ไม่ดูแล บริหารจัดการตลาด ปล่อยให้บริษัทไทเทวราช นำผู้ค้ารายเล็กๆ มาเปิดทางขายของแบกับดิน ขายสินค้าแข่งกับเจ้าของร้านค้าที่จ่ายเงินค่าเซ้งร้านรายละหลายแสนบาท เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุด ก็เรียกเก็บเงินจากเจ้าของร้านค้าอีก การต่อสัญญาเช่าครั้งนี้มีระยะเวลา 5 ปี ผมคำนวณดูแล้ว แพงกว่าสัญญาเดิมมาก”นายพรชัย กล่าว

นายพรชัยกล่าวต่อว่า และที่สำคัญที่สุดคือ บริษัทไทเทวราชถูกศาลพิพากษาเป็นคดีแดงไปแล้วหลายคดี ดังนี้ 1. บริษัทไทเทวราชถูกบริษัทเด่นศรี 39 จำกัด ฟ้องล้มละลาย ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 2. หจก.สวนพฤกษาศาสตร์ ฟ้องยกเลิกสัญญาเช่าที่ดิน ซึ่งศาลนัดอ่านคำพิพากษาเร็วๆ นี้ 3. บริษัทไทเทวราชนำสัญญาเช่าที่ดินกับ หจก.สวนพฤกษาศาสตร์ฯ เป็นหลักประกันในการกู้กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) แต่บริษัทไม่ชำระหนี้กับ ธพว. จึงถูกศาลแพ่งตัดสินให้ยึดทรัพย์บริษัทไทเทวราชเป็นจำเลยที่ 1 นายเอธัส มนต์เสรีนุสรณ์ เป็นจำเลยที่ 2 และ น.ส.นวลวรรณ กิจพจน์ เป็นจำเลยที่ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดี 4.บริษัทไทเทวราชถูก กทม. ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 237 ล้านบาท พร้อมกับดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

“คดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับบริษัทไทเทวราช เจ้าของร้านค้าทุกรายทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าของร้านค้าไม่มั่นใจว่าบริษัทไทเทวราชยังมีฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตัวอาคารตลาดและที่ดินแปลงนี้อยู่หรือไม่ ขณะที่ผู้บริหารของบริษัทไทเทวราช ก็ออกมาข่มขู่เจ้าของร้านค้าสารพัดรูปแบบ เช่น ตัดน้ำ ตัดไฟฟ้า เอากุญแจมาล็อกห้อง หรือตัดกุญแจของเจ้าของร้านค้า ยึดสินค้าไว้เป็นประกัน ทางเจ้าของร้านค้าจำนวนมากจึงทยอยขนของหนี ด้านในของตลาดจึงมีสภาพเป็นตลาดร้าง พวกเราเป็นคนทำมาหากิน ไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้สังคม อยากจะขอความเป็นธรรม และเรียกร้องให้รัฐบาลหรือผู้มีหน้าที่เข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน” นายพรชัยกล่าว