ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มหากาพย์นำเข้ารถหรู (5): เบื้องหลังขบวนการนำเข้ารถหรู วงจรอุบาว์ทที่ไม่มีวันตาย

มหากาพย์นำเข้ารถหรู (5): เบื้องหลังขบวนการนำเข้ารถหรู วงจรอุบาว์ทที่ไม่มีวันตาย

1 สิงหาคม 2015


หากย้อนกลับไปกรณีการโยกย้ายสับเปลี่ยนนายสมชัย สัจจพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรสมัยแรก แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรกล่าวว่า จริงๆ แล้วเป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์จากการนำเข้ารถหรู ระหว่างขั้วอำนาจเก่า กับขั้วอำนาจใหม่ ที่มาของความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากนายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ อดีตประธานและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เอส.อี.ซี.กรุ๊ป หรือ เจ้าพ่อเกรย์มาร์เก็ตรายใหญ่ หลบหนีคดี ยักยอกเงินบริษัทเกือบ 400 ล้านบาท ไปอยู่ต่างแดน “เสี่ยบอย” ซึ่งเป็นมือขวา “เสี่ยสมพงษ์” ลาออกจาก เอส.อี.ซี.กรุ๊ป มารวมกับ “เสี่ยเป๊ก” เอเย่นต์ขายรถเบนซ์เกาหลี เปิดบริษัทนำเข้ารถหรู

เสี่ยเป๊ก เป็นคนมีสี รู้เส้นสนกลในกรมศุลกากรเป็นอย่างดี จึงทำหน้าที่นายหน้า ประสานงานกับผู้มีตำแหน่งสูงในกรมศุลกากร เสี่ยเป๊กแนะนำให้เสี่ยบอยรู้จักกับผู้บริหารระดับสูงหลายคน โดยเฉพาะที่ด่านศุลกากรแหลมฉบัง สนิทสนมกันจนถึงขั้นที่อนุญาตให้เสี่ยบอยนำรถหรูมาตรวจปล่อยกันที่คลังสินค้าแห่งหนึ่งที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมฟรีโซน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของด่านศุลกากรแหลมฉบัง

ปลายปี 2552 เริ่มมีการสั่งรถหรูจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก ขณะที่ราคา CIF รถหรูที่สำแดงต่อกรมศุลกากรลดต่ำตกลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ตัวแทนจำหน่ายรถหรูที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขายรถไม่ได้ ทำเรื่องร้องเรียนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากรขณะนั้น ทราบเรื่องเข้า จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบข้อเท็จริง พบว่ามีบริษัทเกรย์มาร์เก็ตเกิดขึ้นมาเป็นกว่า 100 ราย นำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงผ่านทางท่าเรือและที่ด่านศุลกากรหลายแห่ง นายสมชัยจึงออกมาตรการชุดใหญ่มาอุดช่องโหว่ ดังกล่าว

ปรากฏว่าฝ่ายการเมืองทราบข่าวเข้า แทนที่จะหาทางสกัดขบวนการนำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำ กลับเรียก “เสี่ยบอย” เข้ามาหารือ พร้อมกับกำหนดกติกากันใหม่ว่า การนำเข้ารถหรูต่อจากนี้ต่อไป ไม่ต้องไปผ่าน “เสี่ยเป๊ก” แต่ให้มาผ่านหน้าห้องรัฐมนตรีแทน เสี่ยเป๊กจึงถูกเขี่ยออกยุทธจักรนำเข้ารถหรูไปอย่างบอบช้ำ

หลังจากที่ฝ่ายการเมืองเคลียร์ผลประโยชน์ลงตัว ซึ่งเป็นช่วงที่นายสมชัยกำหนดมาตรการแก้ปัญหารถหรูเสร็จเรียบร้อย แต่ยังไม่ทันได้ลงมือปฏิบัติ วันที่ 28 กันยายน 2553 ที่ประชุม ครม. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีมติสั่งย้ายนายสมชัย สัจจพงษ์ พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และย้ายนายประสงค์ พูนธเนศ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง มาเป็นอธิบดีกรมศุลกากรแทน

ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นธรรมเนียม หลังจากนายประสงค์เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรได้ไม่นาน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 นายประสงค์ลงนามในคำสั่งกรมศุลกากรที่ 17/2554 ลว. แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและพิจารณาแนวทางการกำหนดราคาศุลกากรสินค้ารถยนต์สำเร็จรูปให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยคณะทำงานชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

1. รวบรวมข้อมูลและศึกษาวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและอุปสรรคในด้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้านระเบียบและด้านกระบวนงานที่มีผลกระทบต่อการกำหนดราคาศุลกากรสินค้ารถยนต์นั่งสำเร็จรูป
2. พิจารณากำหนดแนวทางการกำหนดราคาศุลกากรสินค้ารถยนต์นั่งสำเร็จรูป นำเสนออธิบดีกรมศุลกากรอนุมัติ เพื่อให้ท่าที่นำเข้าหรือด่านศุลกากรกำหนดราคาศุลกากรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงอธิบดีกรมศุลกากรครั้งนี้ ทำให้แนวทางการแก้ไขปัญหารถหรูสำแดงราคาต่ำ ขาดความต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่นายประสงค์นั่งอยู่ในตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร ถือเป็นยุคทองของเกรย์มาร์เก็ต การแก้ปัญหานำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นแต่อย่างใด กลุ่มเกรย์มาร์เก็ตนำเข้ารถหรูเข้ามาเป็นจำนวนมาก สิ้นปีงบประมาณ 2554 มีการนำเข้ารถหรู 11,025 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 39.15% จากปีงบประมาณ 2553 มีการนำเข้ารถหรูทั้งสิ้น 6,708 คัน

ปริมาณการนำเข้ารถหรู

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล วันที่ 6 กันยายน 2554 ที่ประชุม ครม. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติย้ายนายประสงค์ออกจากอธิบดีกรมศุลกากรไปนั่งในดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สคร. พร้อมกับย้ายนายสมชาย พูลสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ลูกหม้อกรมศุลกากรกลับมานั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรแทน

นายสมชายมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น วันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 จึงลงนามในคำสั่งกรมศุลกากรที่ 285/2554 ลว. แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางในการประเมินราคาสินค้ารถยนต์ ไวน์ บุหรี่ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

1. รวบรวมข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนะแนวทางการประเมินราคาสินค้ารถยนต์ ไวน์ บุหรี่ ให้สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากร

2. พิจารณากำหนดมาตรการในการประเมินราคาสินค้า รถยนต์ ไวน์ และบุหรี่ ให้เหมาะสม ถูกต้อง และเป็นธรรม เสนออธิบดีพิจารณาอนุมัติ

คณะทำงานชุดนี้จัดให้มีประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 โดยที่ประชุมได้กล่าวถึงที่มาของคำสั่งสืบมาเนื่องจากนโยบายของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อครั้งที่มาตรวจเยี่ยมกรมศุลกากรได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดในการตรวจรับราคารถยนต์นำเข้าเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะกรณีการนำเข้ารถหรูของกลุ่มเกรย์มาร์เก็ต และมีการกล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้งในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการงบประมาณ ทั้งในกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการศึกษางบประมาณ วุฒิสภา โดยระบุว่า กรมศุลกากรยอมรับราคารถหรูที่นำเข้าโดยกลุ่มเกรย์มาร์เก็ตต่ำกว่าตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หรูที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อย่างมาก และมีการร้องเรียนประเด็นนี้ต่อวุฒิสภา นอกจากรถหรูแล้ว ยังมีเรื่องการนำเข้าไวน์และบุหรี่สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย

ดังนั้น นายธีระชัยจึงสั่งการให้นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมศุลกากร เร่งหามาตรการมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว นำเสนอกระทรวงการคลังภายในวันที่ 7 ธันวาคม 2554

วันที่ 2 ธันวาคม 2554 คณะทำงานฯ สรุปมาตรการแก้ปัญหารถหรูสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โดยทำบันทึกที่ กค.0501/10 ลว. เสนออธิบดีกรมศุลกากรอนุมัติมีรายละเอียดดังนี้

1. ระเบียบ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาศุลกากรมีความครบถ้วนและเหมาะสมแล้ว เห็นควรให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาศุลกากรอย่างเคร่งครัดและเข้มงวด รวมทั้งคำสั่ง ระเบียบ กฎหมายเฉพาะสินค้า อาทิ รถยนต์ ไวน์ บุหรี่ด้วย

2. ให้สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร (สมพ.) จัดทำฐานข้อมูลราคาสินค้ารถยนต์ยี่ห้ออื่นๆ เพิ่มเติมจากเดิม ซึ่งกรมศุลกากรจัดทำฐานข้อมูลแนวโน้มราคารถนำเข้าเฉพาะบางรุ่น เช่น Mercedez Benz ช่วงเดือนสิงหาคม 2553 และยี่ห้อ BMW ช่วงเดือนพฤษภาคม 2554 เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ ช่วงเดือนตุลาคม 2553 กรมศุลกากรเคยสั่งให้คณะทำงาน (มีเจ้าหน้าที่ สมพ. อยู่ในคณะทำงานชุดนี้ด้วย) รวบรวมข้อมูลและสรุปราคานำเข้ารถหรูที่ผ่านการตรวจปล่อยจากท่าเรือหรือด่านศุลกากรทั่วประเทศเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาประเมินราคา แต่ สมพ. ไม่ได้นำเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

3. ให้ส่วนควบคุมทางศุลกากรของแต่ละสำนักจัดเก็บทำหน้าที่ตรวจร่วมสินค้ารถยนต์แทนเจ้าหน้าที่ ของสำนักสืบสวนและปราบปราม

4. จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่จัดเก็บภาษีให้มีความรู้ความเข้าใจการประเมินราคาตามระเบียบปฏิบัติและแนวทางที่กรมศุลกากรกำหนด รวมทั้งหลักเกณฑ์การตรวจปล่อย เพื่อให้การปฏิบัติทุกสำนักจัดเก็บภาษีถูกต้องและเป็นแนวทางเดียวกัน

5. ให้สำนักตรวจสอบอากรดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการ กลุ่มเกรย์มาร์เก็ต

วันที่ 8 มีนาคม 2555 นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมศุลกากร ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า ขณะนี้กรมศุลกากรอยู่ระหว่างจัดทำราคาทดสอบ ซึ่งจะเป็นราคากลางที่ใช้ในการเทียบเคียง สำหรับคำนวณราคารถยนต์หรูของผู้นำเข้าอิสระ (เกรย์มาร์เก็ต) เนื่องจากที่ผ่านมากรมศุลฯ ได้รับการร้องเรียนว่ามีผู้นำเข้าบางราย บางยี่ห้อ สำแดงราคาต้นทุนคลาดเคลื่อนไปจากราคาทดสอบ ซึ่งกรมศุลกากรก็ดูว่ามีช่องว่างของคำสั่งบางคำสั่ง ทำให้การสำแดงราคาไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2555 ราคารถหรูบางรุ่นน่าจะเรียบร้อย

ก่อนหน้านี้กรมศุลกากรเคยปรับราคาประเมินรถหรูมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนตุลาคม 2554 ปรับขึ้นคันละ 1.5 แสนบาท และครั้งที่สองช่วงระยะเวลาใกล้ๆ ปรับขึ้นอีกคันละ 1.7 แสนบาท พอถึงกำหนดวันที่ 15 มีนาคม 2555 กรมศุลกากรปรับราคานำเข้ารถหรูเป็นครั้งที่ 3 รถยนต์หรูยี่ห้อ Mercedes-Benz ถูกปรับราคาสำแดงเพิ่ม 10% BMW และ Lexus ปรับเพิ่มอีก 15%

นายสมชายยอมรับว่า “ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการแฮปปี้มาก แต่ถ้าเรามีหลักฐานว่าสำแดงไม่ถูกต้อง เขาก็ต้องชดใช้ แต่ถ้าตรวจแล้วไม่ผิดก็แล้วไป ขณะนี้กรมศุลกากรได้ตรวจสอบเกรย์มาร์เก็ตไปแล้ว 35 บริษัท เบื้องต้นพบว่ามีการกระทำผิด หรือหลีกเลี่ยงประมาณ 1-2 ราย โดยกรมจะดำเนินการเรียกให้มาชำระอากรให้ครบตามอัตราที่ต้องเสีย พร้อมกับปรับ 2 เท่าของอากร”(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

การนำเข้ารถหรูแต่ละยี่ห้อ

ผลจากการดำเนินมาตรการแก้ปัญหานำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำอย่างเข้มงวด รวมทั้งมีการปรับราคานำเข้ารถหรูขึ้นไป 3 ครั้ง ทำให้ราคานำเข้ารถหรูที่เกรย์มาร์เก็ตสำแดงราคาต่ำมานานเกือบ 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ดูจากกราฟเปรียบเทียบราคานำเข้ารถหรูแต่ละยี่ห้อที่นำมาแสดง จะเห็นว่านับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 เป็นต้นไป ราคานำเข้ารถหรูทุกยี่ห้อปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงปี 2553 – เดือนพฤศจิกายน 2554 เป็นอย่างมาก

มาตรการแก้ไขปัญหารถหรูสำแดงราคาต่ำกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี ปรากฏว่ามีหนังสือร้องเรียนถึง พ.ต.อ. ดุษฎี อารยวุฒิ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ขณะนั้น โดยขอให้ ป.ป.ท. เข้ามาตรวจสอบขบวนการนำเข้าหรูสำแดงราคาต่ำในกรมศุลกากรจนกลายเป็นศึกข้ามกระทรวง (ติดตามมหากาพย์นำเข้ารถหรู ตอนที่ 6)