ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ลดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์ มิติใหม่การคุ้มครองผู้บริโภค ถึงเวลา “สะกิด” โจทย์เรายืมโลกมาใช้จากรุ่นลูก ต้องมีพันธะต่อคนรุ่นหลัง

ลดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์ มิติใหม่การคุ้มครองผู้บริโภค ถึงเวลา “สะกิด” โจทย์เรายืมโลกมาใช้จากรุ่นลูก ต้องมีพันธะต่อคนรุ่นหลัง

8 สิงหาคม 2015


ปัจจุบัน ปัญหาบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เกินจริงเป็นเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยจะพบเห็นได้จากข่าวสาร ตลอดจนการแสดงข้อคิดเห็นจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับขนาดของบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน มีขนาดใหญ่เกินจริงเมื่อเทียบกับปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่บรรจุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค มีการศึกษาชี้ชัดว่าในประเทศไทยขนาดบรรจุภัณฑ์มีขนาดใหญ่กว่าปริมาณที่บรรจุประมาณ 20-40% ซึ่งพบได้ในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าพื้นฐานในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น แชมพู ยาสระผม น้ำยาล้างจาน เป็นต้น

จากการศึกษาข้อมูล พบว่า สถานการณ์ข้างต้นปรากฏขึ้นโดยทั่วไปในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยผู้บริโภคยังไม่ตระหนักถึงประโยชน์ของการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ประกอบในการเลือกซื้อสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีสัดส่วนพื้นที่ว่างมากเกินจำเป็นซึ่งสามารถสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้

ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ แคนาดา ประเทศเหล่านี้มีกฎหมายหรือข้อบังคับควบคุมบรรจุภัณฑ์ที่ครอบคลุมถึงหลักเกณฑ์ มาตรการ ข้อกำหนด และเงื่อนไขต่างๆ ที่รวมถึงการกำหนดพื้นที่ว่างอย่างเหมาะสมของบรรจุภัณฑ์แต่ละชนิด ซึ่งกฎหมายหรือข้อบังคับดังกล่าวนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์อีกด้วย

ลดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์ มิติใหม่การคุ้มครองผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และบริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด จัดเสวนาในหัวข้อ “ลดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์: มิติใหม่การคุ้มครองผู้บริโภค และทางออกการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอสถานการณ์ปัญหาพื้นที่ว่างของบรรจุภัณฑ์ และเพื่อร่วมกันหารือถึงแนวทางการร่วมมือเพื่อร่วมกันกำหนดขนาดที่เหมาะสมของขนาดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์ อันจะนำไปสู่การคุ้มครองผู้บริโภค และลดการเพิ่มขึ้นของขยะบรรจุภัณฑ์ต่อไป วิทยากรที่นำการเสวนาคือ ดร.ไชยยศ บุญญากิจ นักวิชาการอิสระ นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ และกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด นายวีระชัย ชมสาคร รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

นายวีระชัย ชมสาคร รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
นายวีระชัย ชมสาคร รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

นายวีระชัย ชมสาคร รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผย ว่า สถานการณ์บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดไม่เหมาะสมในประเทศไทยถือเป็นปัญหาสำคัญที่ได้รับการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาพบว่า มีมากในกลุ่มสินค้าอาหาร เช่น ขนมขบเคี้ยว รวมไปถึงสินค้าอุปโภค เช่น ยาสระผม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ โดยบรรจุภัณฑ์มีพื้นที่ว่างเฉลี่ยตั้งแต่ 15-35% ถึงแม้ว่าผู้ผลิตจะระบุน้ำหนักหรือปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่ข้างบรรจุภัณฑ์ก็ตาม

เพื่อเป็นการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. จึงเตรียมจะออกมาตรการควบคุมพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์ โดยงานเสวนาที่จัดขึ้นครั้งนี้ก็ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ ฯลฯ ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป

“ปัจจุบันหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ได้มีการออกกฎหมาย ข้อบังคับ ควบคุมบรรจุภัณฑ์ที่รวมถึงการกำหนดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งหากประเทศไทยทำได้ ถือเป็นเรื่องดีกับทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภคไม่เกิดความสับสนในเรื่องขนาดกับปริมาณ อีกทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ช่วยลดปริมาณขยะ ทางออกของการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายวีระชัยกล่าว

โจทย์ของโลกส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

ดร.ไชยยศกล่าวว่า ปัจจุบัน หากจะดูการบริโภคของคนว่าเยอะแค่ไหน ให้เอาของที่อยู่ในบ้านที่ซื้อมาบริโภคทุกชิ้นมากองหน้าบ้าน ซึ่งมีตัวอย่างของบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย ให้เห็นว่าประเทศไหนมีมากมีน้อยแค่ไหน

คนมักถามว่าโลกเรายั่งยืนไหม และทรัพยากรในโลกนี้มีเพียงพอไหม ประชากรโลกประมาณ 8,000 ล้านคน เมืองขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างรวด มีการบริโภค การก่อสร้าง การผลิตอาหาร การบริโภคต่อคนต่อวัน การใช้น้ำมีการใช้จำนวนมาก เพราะวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ป่าไม้ที่เป็นแหล่งธรรมชาติของโลกลดลงอย่างรวดเร็วเพราะต้องใช้เป็นพื้นที่รองรับการเติบโตของคน ของเมือง ของการผลิต

จะเห็นว่าโลกใบนี้มีความต้องการเพิ่มขึ้น จากที่บอกว่าความยั่งยืนนั้นมีต้นทางและปลายทาง นั่นคือคนเพิ่มขึ้น บริโภคมากขึ้น มีการคาดการณ์ว่า ปี 2010 เราต้องการโลกใบครึ่ง ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ปี 2050 เราต้องการโลก 2 ใบครึ่ง ตอนนี้เรามีคนเพิ่มขึ้น บริโภคมากขึ้น เราต้องพยายามอย่างไรที่จะให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง นี่คือโจทย์ของโลกว่าเราจะใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณภาพอย่างไรให้คุ้มค่า

“โดยมีความพยายามผลักดันในระดับโลก สิ่งที่เขาทำคือพยายามส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ทำอย่างไรให้มีการผลิตอย่างรับผิดชอบ มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อย และผู้บริโภค 8,000 ล้านคน คุณในฐานะส่วนหนึ่งสังคมโลกจะบริโภคอย่างไร การใช้ชีวิตอย่างไรให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง คีย์เวิร์ดคือเราต้องดูตั้งแต่การผลิต การได้มาซึ่งวัตถุดิบเป็นอย่างไร ระหว่างผลิต ระหว่างการใช้งานที่อยู่ในมือเราและทิ้ง นี่คือ life cycle เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือต่อไป ไม่ใช่โรงงานที่ผลิต ผู้บริโภคก็ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน”

“มีการผลักดันระดับสากล ทางการประชุมโลก ทำอย่างไรให้การจัดซื้อจัดจ้างที่มีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ให้ผู้บริโภคสามารถมีส่วนในการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำรายงานสิ่งแวดล้อม จะทำอย่างไรให้คนในโลกมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยลง ทำอย่างไรที่จะ decoupling ให้ได้”

นอกจากนี้ การจัดการสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนได้ ต้องดูตลอดวงจร ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ ได้มาอย่างไร การผลิตในหลายๆ ผลิตภัณฑ์มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมประมาณ 10-15% เช่น ไฟฟ้า รถยนต์ แต่ผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ที่การใช้งาน อยู่ในมือเรา ไม่เกี่ยวกับโรงงานผลิต เพราะตอนทิ้งก็อยู่ในมือเรา เพราะฉะนั้น การประเมินพวกนี้ต้องช่วยกันดูว่าบทบาทภารกิจของภาครัฐ ภาคผู้ผลิต ผู้บริโภค จะช่วยกันอย่างไร เพราะไม่สามารถแยกส่วนได้

ในมาตรฐาน CSR 26000 มีเรื่องของ core subject เรื่องของผู้บริโภค บอกว่าผู้ผลิตต้องผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในอียูปี 2030 ระบุให้สินค้าป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่จะวางขายในอียูได้ เขาพยายามผลักดันเรื่องนี้ หากไม่ทำตอนนี้ก็ต้องหาโลกใหม่อยู่

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทป่าสาละ จำกัด
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทป่าสาละ จำกัด

เรายืมโลกมาใช้จากรุ่นลูก เรามีพันธะต่อคนรุ่นหลัง

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า ยูนิลีเวอร์เรียกได้ว่าเป็นผู้นำที่ประกาศเป้าหมายและวิธีการที่ชัดเจนที่จะเป็นผู้นำเรื่องของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน สำหรับในเรื่องการบริโภคที่ยั่งยืน เราจะเห็นว่า Sustainable Consumption & Production: SCP (การผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน) เขาพูดเป็นประโยคเดียวกันเดียวทั้ง Comsumption-Production เป็นไปไม่ได้ที่จะพูดฝั่งเดียว ที่จะไปเรียกร้องให้ผู้ผลิตต้องผลิตอย่างยั่งยืน แต่ไม่ได้เรียกร้องผู้บริโภคด้วย เพราะต่อให้ผู้ผลิตเปลี่ยนกระบวนการให้เข้มแข็งมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ลดการใช้ทรัพยากรลงไปได้ขนาดไหนก็ตาม หากฝั่งผู้บริโภคยังใช้ของอย่างสิ้นเปลือง ก็ไม่มีประโยชน์

“หากเทียบง่ายๆ ถ้าเราไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อ หากเราชอบกล่อง หรือห่อที่ดูใหญ่ๆ พองๆ หากบอกว่าถุงเล็กลงเราจะไม่ซื้อ เพราะฉะนั้น ความพยายามของภาครัฐและเอกชนที่จะพยายามลดพื้นที่ว่างในบรรจุภัณฑ์ ลดขนาด ก็จะไม่มีประโยชน์”

นางสาวสฤณีกล่าวต่อว่า หากจะกล่าวถึงนิยามการบริโภคที่ยั่งยืน จะเห็นว่าทุกอย่างจะล้อไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีการบัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 1987 คือการบริโภคทั้งสินค้าและบริการ ในทางที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานและปรับปรุงคุณภาพชีวิต การบริโภคในทางที่ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และต้องลดการปล่อยของเสียและสารพิษตลอดวงจรชีวิตของบริการหรือผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้คนรุ่นหลังไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ด้อยไปกว่าเรา เพื่อส่งต่อโลกไปให้คนรุ่นหลัง

“มีสุภาษิตในหลายชาติที่ว่า จริงๆ แล้วเราไม่ได้รับโลกมาเป็นมรดกจากพ่อแม่ แต่ว่าเรายืมโลกมาใช้จากรุ่นลูก เป็นการพูดให้ชัดว่าเรามีพันธะต่อคนรุ่นหลังอย่างไร”

หากจะพูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคที่ยั่งยืน sustainable consumption กับการผลิตที่ยั่งยืน sustainable production จะชอบภาพนี้ เอามาจก UNEP ถ้าดูจากวงกลมสีฟ้า เริ่มที่การจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน พอหมุนมาสู่ขั้นตอนการผลิต ก่อนอื่นต้องออกแบบเพื่อความยั่งยืนก่อน เช่น หลายบริษัท อาทิ ไนกี้ จะออกแบบรองเท้า ไนกี้บอกว่าตั้งแต่การออกแบบรองเท้าจะทำอย่างไรให้ใช้วัสดุต่างๆ ให้น้อยชิ้นที่สุด ให้ลดการใช้สารพิษในการประกอบขึ้นมาเป็นรองเท้า นี่คือการคำนึงถึงความยั่งยืนตั้งแต่กระบวนการดีไซน์ออกแบบ พอมาสู่กระบวนการผลิต บอกว่าเราจะต้องผลิตโดยให้สะอาดที่สุด และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้ได้มากที่สุด

การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption & Production: SCP) แยกขาดจากกันไม่ได้ ที่มา : UNEP
การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption & Production: SCP) แยกขาดจากกันไม่ได้ ที่มา: UNEP

พอผลิตออกมาจากโรงงาน ก็ต้องขนส่งไปสู่ร้านค้าต้องใช้การขนส่งที่ยั่งยืน พอหมุนต่อมา การติดฉลากให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ หมุนต่อไปตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง อย่าง ยูนิลีเวอร์ มีซัพพลายเชนที่ยาว เพราะบริษัทไม่ได้ทุกกิจกรรมด้วยตัวเองต่อไป อาศัยคู่ค้าเยอะแยะ ดังนั้น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างก็ต้องยั่งยืน ส่วนกระบวนการตลาดก็ต้องยั่งยืน แล้วก็มาถึงตัวเรา ผู้บริโภค ก็มีคำว่า sustainable life style เกิดขึ้น เราต้องมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืนด้วย เพราะเราใช้ของ เราต้องทิ้ง ขั้นตอนการทิ้ง waste management จะทำอย่างไรที่จะจัดการของเสียอย่างยั่งยืน แน่นอนเป้าหมายปลายทางคือ zero waste ให้ได้มากที่สุด ไม่ให้ขยะไปสู่ที่ทิ้งขยะ (landfill) เลย

“จะเห็นว่ามันเป็นวงกลม เพราะมีทั้งสองด้าน ด้านการผลิตและการบริโภค แล้วในกระบวนการต่างๆ หากแยกขั้นตอนออกมาจะมีมากมาย”

ตอนนี้มีความพยายามระดับโลก Millennium Development Goals: MDG เป็นเป้าหมายที่สหประชาชาติประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2000 ที่พยายามให้ทุกประเทศในโลกมุ่งไปสู่เป้าหมายบางอย่างด้วยกัน MDG จะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้ เราจะมีชุดตัวชี้วัดใหม่ที่เขาใช้คำว่า Sustainable Development Goals: SDG หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ความแตกต่างของสองตัวนี้คืออะไร หลายคนมองว่า MDG ที่ผ่านมาเน้นประเทศที่ยากจนเป็นหลัก เพราะตัวชี้วัดเกินครึ่งเป็นเรื่องการกำจัดความยากจน เพราะฉะนั้นเป็นเหมือนความคาดหวังให้ประเทศร่ำรวยช่วยเหลือประเทศยากจน ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ก็เหมือนไม่ต้องทำอะไรมาก

แต่ SDG จะแตกต่างออกไป จะเป็นตัวที่ทุกประเทศที่ยูเอ็นคาดหวังว่าจะต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน จะมีการประชุมในเดือนกันยายนนี้ ที่องค์กรสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก ประเทศไทยต้องเข้าร่วมด้วย ซึ่งผลการเจรจาก็อาจจะนำไปเจรจาเรื่องโลกร้อนที่ปารีสในปลายปีนี้

เป้าหมายของ SDG มี 17 ข้อ ในข้อ 12 เป็นเรื่องการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน เขียนชัดเจน ทุกประเทศต้องขับเคลื่อนไปสู่การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

SDG

ในรายละเอียดการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน มีความหวังมากมาย ยกตัวอย่างมาเป็นบางข้อ เช่น ภายในปี 2030 อีก 15 ปีนับจากนี้ เราจะต้องสามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ และอีกข้อบอกว่าภายในปีเดียวกันต้องลดของเสียในภาคอุตสาหกรรมอาหารต่อหัวลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง แล้วพูดถึงระดับการบริโภค รวมทั้งลดของเสียหายในการรั่วไหลตลอดซัพพลายเชนของการผลิตอาหาร จะเห็นว่าเขาพูดสองฝั่ง ฝั่งการบริโภคและการผลิต

นี่คือสิ่งที่โลกกำลังขับเคลื่อนไป และยูเอ็นก็จะมีผลการเจรจา ตัวชุด SDG ให้ออกมาในเดือนกันยายน

กลับมาที่ผู้บริโภค แน่นอน จำเป็น มีการศึกษาว่าหากเราเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคได้โดยไม่ต้องพูดถึงเทคโนโลยีฝั่งการผลิต หากเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคได้ เราจะสามารถลดการใช้ทรัพยากรถึง factor 4 คือเพิ่มประสิทธิภาพสองเท่า ใช้ทรัพยากรน้อยลงสองเท่า นี่คือเรื่องที่ทรงพลังมาก ถ้าสามารถทำได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ทำอย่างไรในสังคม ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ต้องการใช้ของกล่องที่ดูใหญ่ๆ กล่องพองๆ หลักการตลาด ผู้บริโภคทุกคนคิดว่าตัวเองมีอำนาจตัดสินใจ ไม่อยากให้ใครบังคับเวลาเราซื้อของ เราเอาแต่ใจ อยากทำ อยากซื้ออะไรที่ตอบสนองตัวเอง และสุดท้ายเราจะซื้ออะไร คิดเป็นนิสัย ไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วน ว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง เราชินกับการซื้อแบบนี้ ก็ซื้อต่อไป เป็นอัตโนมัติ”

ทีนี้ มีดุลการตัดสินใจ มีวิธีมองหลายแบบ การตัดสินใจคือชั่งใจในความปรารถนา ความจำเป็นของเขาเอง อีกฝั่งคือตัวราคา สินค้าที่จะต้องซื้อ การชั่งใจๆๆๆ จุดที่เราส่งอิทธิพลต่อผู้บริโภคได้ ถ้าสมมติเป็นภาครัฐ ถ้าเป็นจุดราคา ก็อาจจะมีกลไกเรื่องภาษี เช่น รัฐบาลเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งมีผลต่อราคา หรือเรื่องเงินอุดหนุน

ส่วนเรื่องรสนิยม หรือความต้องการผู้บริโภค จะทำอย่างไร อาจจะเป็นเรื่องวิธีการประชาสัมพันธ์ การโฆษณา การทำการตลาด การให้การศึกษากับผู้บริโภค ทั้งหมดอาจจะส่งต่ออิทธิพลความต้องการหรือรสนิยมของผู้บริโภคได้

กลยุทธ์การสะกิดเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค

“มีตัวอย่างที่จะเล่า ตอนนี้มีเรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ซึ่งน่าสนใจเพราะมีการเอางานวิจัยไปใช้จริงและได้ผลในหลายๆ เรื่อง สิ่งที่เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมบอกเราคือ คนเรามักมีการตัดสินใจหลายอย่างเป็นแบบอัตโนมัติ ไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วน ทีนี้มีวิธีที่เราจะสะกิด (nudge) หากเราสะกิดถูกวิธีเราอาจจะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ อยู่ที่การตีกรอบการตัดสินใจของคนเพื่อให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีกว่าเดิมได้”

ตัวอย่างเช่น เรื่องพลังงาน บริษัท Opower ผู้ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับผู้ผลิตพลังงานในสหรัฐอเมริกา ใช้ส่วนผสมระหว่างไอที, big data และเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม กระตุ้นให้ผู้บริโภคประหยัดพลังงาน เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตพลังงานกับผู้บริโภค

Opower ทำแพลตฟอร์มหรือใช้ไอทีให้คนประหยัดพลังงานมากขึ้น คือให้ผู้ใช้ตามบ้านประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นข้อค้นพบจากเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม โดยออกแบบ บิลค่าไฟที่เราได้แต่ละเดือน บอกเราว่าเราใช้ไฟแค่ไหน เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านแถวนี้ เพื่อให้คะแนนเรา ทำได้ดีกว่าเพื่อนบ้านหรือว่าทำได้แย่กว่าเพื่อนบ้าน และเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านที่ทำได้ดีที่สุดในการใช้พลังงาน นี่เป็นตัวอย่างของการวางกรอบให้คนรู้สึกว่าต้องแข่งกับเพื่อนบ้าน

และเขามีการทำแคมเปญ อยากเชิญชวนให้มาร่วมกันประหยัดพลังงานในวันนี้ตั้งแต่เวลาเท่านั้นเท่านี้ จากนั้นทำการจัดอันดับให้เห็นว่าจากสถิติเราที่ผ่านมาเราอยู่ระดับเท่าไหร่ เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน ก็จะเป็นการสะกิดวิธีหนึ่ง

บริษัทนี้ก่อตั้งปี 2007 สามารถประหยัดพลังงานไปแล้วประมาณ 8,000 ล้าน คิดเป็นเงินประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีลูกค้าที่เป็นบริษัทไฟฟ้าอยู่ 95 แห่งทั่วประเทศ

อีกบริษัท Gym Pact คนเราจะมีปัญหาเวลาไปออกกำลังกาย หลายแห่งเก็บค่าสมาชิกแรกเข้า เราจ่ายไปก้อนเป็นเงินก้อนใหญ่ จากนั้นหลายคนไม่ไป ขี้เกียจ ไม่มีเวลา เงินก็เสียไป เขาก็คิดวิธีใหม่ บอกว่าเขาจะจ่ายให้ ก่อนอื่นเขาเชิญชวนว่าให้สัญญามาเลยว่าอาทิตย์หนึ่งคุณจะมาออกกำลังกี่ชั่วโมง เขาก็จะติดตามว่าทำจริงไหม หากเราทำได้ตามสัญญาเขาจะจ่ายเงินให้เรา ซึ่งเงินที่จ่ายเงินให้เรา แน่นอนมาจากสมาชิกที่ทำไม่ได้ เป็นการเอาเรื่องการค้นพบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้กับธุรกิจ ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายค่อนข้างเยอะ และขยายไปให้บริการกับบริษัทต่างๆ เพราะบริษัทต่างๆมีแพคเกจการประกันสุขภาพให้พนักงาน บริษัทไม่ต้องการจ่ายค่าประกันสุขภาพเยอะ บริษัทก็คิดว่าถ้าพนักงานออกกำลังกายมากขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น บริษัทก็ประหยัดค่าประกันสุขภาพได้ นี่คือเหตุผลจูงใจให้ตอนนี้บริษัทสนใจเข้ามาเป็นสมาชิกPact

แต่ว่าไม่ได้ใช้ได้ในทุกกรณี มันมีข้อจำกัดเหมือนกัน สิ่งที่ค้นพบคือ กลยุทธ์การสะกิด จริงๆนักการตลาดใช้มาตลอด เพียงแต่ไม่ได้พูดให้เป็นทฤษฎีหรือเป็นระบบนัก และใช้ได้ดีในกรณีที่คนคิดอะไรเป็นนิสัย ไม่ได้ทำอะไรอย่างถี่ถ้วน ตัดสินใจแบบไม่ได้ตั้งใจเท่าไหร่ ทำไปด้วยความเคยชิน กรณีแบบนี้ใช้วิธีสะกิดได้ค่อนข้างดี

ในแง่ของเครื่องมือเชิงนโยบาย มันจะอยู่ตรงกลาง ระหว่างการออกกฎเกณฑ์กฎหมายของรัฐ กับการให้การศึกษา การพยายามอธิบาย จะอยู่ตรงกลาง เพราะว่ามันแทรกแซงมากกว่าการให้การศึกษา มันเป็นการเข้าไปแทรกแซงพื้นที่ส่วนตัว แน่นอน ความท้าทาย จะใช้กับวิธีไหนได้บ้างที่ทำให้ไม่รู้สึกว่า เขาถูกหลอก เพราะในแง่หนึ่งก็คล้ายๆ การหลอก แต่ว่าเป็นการหลอกในทางที่เป็นผลดีกับสังคมสิ่งแวดล้อม ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

“จริงๆมีตัวอย่างของยูนิลีเวอร์ คือสินค้าที่ทำวิจัยมา 10 ปี ลดขนาดของแพคเกจจิ้ง เฉพาะสเปรย์ระงับกลิ่น ซึ่งไม่ได้ง่ายเพราะมีก๊าซเหลว มีเรื่องเคมี แต่เขาใช้เวลาศึกษาวิจัย 10 ปี สามารถลดขนาดแพคเกจจิ้งลงได้ 50% ขณะที่แคมเปญโฆษณา ยูนิลีเวอร์ต้องโฆษณาตัวใหญ่ๆเลย บอกว่าขวดเล็กลงจริง แต่ปริมาณของเท่าเดิม แน่นอนผู้บริโภคหากไม่ทราบอย่างนี้ ก็รู้สึกได้ว่าได้ของน้อยลง กรณีนี้น่าสนใจที่เป็นกรณีที่ประสบความสำเร็จ ในแง่ของการลดต้นทุน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดรอยเท้าคาร์บอนได้เยอะ ลดการใช้วัสดุ แล้วนอกเหนือจากนั้นทำรายได้มากขึ้น ปีแรกที่ทำขายได้ 12 ล้านขวด บรรลุเป้าก่อนกำหนด ที่น่าสนใจคือขวดเล็กลง ส่งผลบวกเช่นรถบรรทุกที่ขนสินค้านี้ไปขาย ก็สามารถบรรจุได้มากขึ้น ลดจำนวนเที่ยวในการขน ก็ช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนจากการขนส่งด้วย ดังนั้นถือว่าการออกแบบเป็น sustainable design ตั้งแต่ต้น ที่นำไปสู่ sustainable production และนำไปสู่ความ sustainable transport แล้ววิธีการสื่อสาร วิธีการทำการตลาด พอไปถึงมือผู้บริโภคอยากซื้อ ก็อยากซื้อ แลผลของตัวผลิตภัณฑ์เองช่วยผู้บริโภคลดขยะ นี่เป็นตัวอย่างของวงจรที่เรยกว่า sustainable consumption and production เกิดขึ้น จะเห็นว่าตัวอย่างยูนิลีเวอร์ กรณีการสะกิด ไม่ได้ทำในระดับเอกชน ในต่างประเทศหลายรัฐบาลเริ่มคิดหาวิธีเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเราได้อย่างไร”

เสวนา “ลดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์: มิติใหม่การคุ้มครองผู้บริโภค และทางออกการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
เสวนา “ลดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์: มิติใหม่การคุ้มครองผู้บริโภค และทางออกการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

ใครจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงลดขนาดบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับขนาดสินค้า

เมื่อถามว่าใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงลดขนาดแพคเกจจิ้งให้ได้ขนาดที่เหมาะสม นางสาวสฤณีกล่าวว่าต้นทุนในการเปลียนแปลงมันต้องรับไปทุกฝ่าย แต่ว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ผลิต และถ้าผู้ผลิตเดินหน้าลงทุนเรื่องการวิจัยพัฒนา และอยู่ในสังคมที่ผู้บริโภคยังไม่สนใจและภาครัฐไม่ได้ให้ความสนใจ ในความเป็นจริงผู้ผลิตรายนั้นก็อาจจะเสียเปรียบคู่แข่ง เพราะผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีแพคเกจจิ้งที่ใหญ่ๆเหมือนเดิม แต่ถ้าภาครัฐมีบทบาททำได้ เช่น กฏเกณฑ์ สามารถกำหนดขนาดได้ หรือต้นทุนในการให้ความรู้หรือสะกิดผู้บริโภค หากมองว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ตรงนี้เป็นสิ่งที่รัฐบวกับภาควิชาการสามารถทำได้ สุดท้ายทุกฝ่ายต้องเดินไปพร้อมกันๆ หากให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งกระโดดออกมาทำ เขาเสี่ยง คนอื่นได้เปรียบโดยที่เขาไม่ได้ส่วนแบ่งตลาดขึ้นมา

อย่างไรก็ตามในวงเสวนาได้มีการให้ความเห็นว่าปัจจุบันบรรจุภัณฑ์หลายตัวทำให้ใหญ่โตและราคาดูเหมือนเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันแล้วถูกกว่า ผู้บริโภคซื้อไปใช้เหมือนกับถูกหลอก แต่การจะไปร้องเรียนเมื่อเทียบกับมูลค่าของที่ซื้อมาแล้วไม่ได้มีราคามากนัก เพราะต้นทุนในการเรียกร้องสูงกว่า ก็เลยปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยทางสคบ.บอกว่าทางสคบ.เองได้ทำหน้าที่ป้องกันด้วย เมื่อใดที่ตรวจพบสินค้าบางตัวที่บรรจุภัณฑ์ใหญ่เกินจริง ส่งผลกระทบกับความเข้าใจผิดว่าต้องมีขนาดเยอะตามไปด้วย ก็ต้องทำร่วมกับภาคเอกชนที่ไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกหลอก ผิดหวัง บางตัวเขียนไว้ว่ามีขนาดเท่านี้ เราก็คาดหวังว่ามันจะได้ในระยะเวลาเท่านี้ แต่เอาเข้าใจมันน้อยกว่าความเป็นจริง กรณีอย่างนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในแง่การขับเคลื่อนของสคบ.ถ้ากระบวนการนี้เป็นประโยชน์โดยรวม ก็จะเชิญบริษัทอื่นๆให้ใช้วิธีสะกิดให้เขารู้สึกสำนักรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เพราะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ผู้เข้าร่วมเสวนาบางรายกล่าวว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคมองอว่าเป็นเรื่องไกลตัว หากจะสะกิดให้ผู้บริโภคตระหนัก มันต้องมีกติกา มีเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับผู้ผลิต ขณะที่ผู้ผลิตก็มีต้นทุนในการเปลี่ยน เพราะถ้าเปลี่ยนขนาดบรรจุภัณฑ์นั่นหมายถึงยอดขายต้องเพิ่มด้วย หากทำไปโดยที่ผู้บริโภคยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมก็มีความเสี่ยง ดังนั้นภาครัฐเป็นผู้นำในการเชิญผู้ประกอบมาหารือกันถึงแนวทางที่ทำร่วมกันในเรื่องการลดขนาดบรรจุภัณฑ์ที่ควรจะเป็นที่เหมาะสมได้อย่างไร เพราะถ้าดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐในการออกนโยบาย/มาตรการส่งเสริมในการดูแลผู้บริโภค ดูแลสิ่งแวดล้อม ประชาชนจะฟังมากกว่า แต่ทั้งนี้การออกเกณฑ์ลดขนาดบรรจุภัณฑ์จำเป็นต้องให้ระยะเวลาสำหรับภาคเอกชนในการปรับตัว เพราะการผลิตสินค้าหรือแพคเกจจิ้งอันหนึ่งใช้เวลาพัฒนาประมาณ 1-2 ปี ในพัฒนาเครื่องจักร/แม่แบบการผลิต แม้ว่าเรื่องการลดขนาดบรรจุภัณฑ์อาจจะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่สิ่งสำคัญในการส่งสัญญาณกับตลาดคือมีการเริ่มต้นที่จะทำแล้ว หลายบริษัทเห็นด้วยที่จะทำ แต่ยังไม่มีใครกระโดดลงมาทำ ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องออกมาเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน

Calling Card 20pp_TH