ThaiPublica > เกาะกระแส > กางงบธ.ก.ส.ปี 57/58 ยอดสะสมค้างจ่ายโครงการเกษตรภาครัฐเฉียด 8 แสนล้านบาท กว่าครึ่งจมอยู่กับ “จำนำข้าว”

กางงบธ.ก.ส.ปี 57/58 ยอดสะสมค้างจ่ายโครงการเกษตรภาครัฐเฉียด 8 แสนล้านบาท กว่าครึ่งจมอยู่กับ “จำนำข้าว”

14 สิงหาคม 2015


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” (ธ.ก.ส.) มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกร และเป็นอีกแหล่งเงินทุนสำคัญของรัฐในการขอกู้ยืมเพื่อนำมาช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล

ปลายปี 2557 เกิดวิกฤติโครงการรับจำนำข้าว ธ.ก.ส. ถือเป็นกำลังสำคัญที่เข้ามาช่วยทั้งรัฐบาลและเกษตรกร จากการตรวจสอบข้อมูลการใช้จ่ายเงินของ ธ.ก.ส. ไปในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลจากรายงานประจำปีของธนาคาร ปีบัญชี 2557 (1 เมษายน 2557 – 31 มีนาคม 2558) โดยวงเงินรวม ธ.ก.ส. จัดสรรมาสู่โครงการต่างๆ ของรัฐบาลและรอการชดใช้เกือบ 8 แสนล้านบาท เฉพาะวงเงินรอชดใช้ในโครงการรับจำนำข้าวอย่างเดียวอยู่ที่ 594,480.12 ล้านบาท (ตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าวปี2551-2557) ซึ่งเป็นส่วนที่แยกออกมาจากงบการเงินปกติของธนาคาร

จากข้อมูลแสดงผลประกอบการในระยะ 5 ปี ชี้ให้เห็นว่าอัตราค้างชำระของรัฐบาลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปีบัญชี 2553 วงเงินลูกหนี้รอการชดใช้จากโครงการนโยบายรัฐอยู่ที่ 126,049 ล้านบาท ปีบัญชี 2554 อยู่ที่ 156,812 ล้านบาท ปีบัญชี 2555 อยู่ที่ 187,654 ล้านบาท ปีบัญชี 2556 อยู่ที่ 235,110 ล้านบาท และปีบัญชี 2557 อยู่ที่ 249,456 ล้านบาท

รายการลูกหนี้รอการชดใช้โครงการนโยบายรัฐจากรายงานประจำปี ธ.ก.ส. ปีบัญชี 2557
รายการลูกหนี้รอการชดใช้โครงการนโยบายรัฐจากรายงานประจำปี ธ.ก.ส. ปีบัญชี 2557

โดยปี 2557 วงเงิน 249,456 ล้านบาท นั้นมีรายละเอียดดังตารางข้างต้น แบ่งเป็นส่วนที่รอการชดใช้จากโครงการในรัฐบาลอื่นๆ รวม 202,347.74 ล้านบาท ได้แก่

  • ส่วนที่รอการชดใช้ต้นเงินจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่ใช้ในโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร จำนวน 99,717.89 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดรอการชดใช้ตามรายโครงการดังนี้ คือ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 วงเงิน 19,718.65 ล้านบาท โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ปี 2554/25วงเงิน 9,864.33 ล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2555/2556 รอบ 2 วงเงิน 10,398.39 ล้านบาท โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ปี 2555/2556 วงเงิน 9,485.96 ล้านบาท และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2556/2557 วงเงิน 50,250.66 ล้านบาท
  • ส่วนที่รอการชดใช้จากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่ใช้ในโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร จำนวน 68,136.91 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดรอการชดใช้ตามรายโครงการ ดั้งนี้ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 วงเงิน 8,147.74 ล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/2555 วงเงิน 15,414.67 ล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555/2556 รอบ 2 วงเงิน 19,318.88 ล้านบาท และโครงการับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2556/2557 วงเงิน 25,255.62 ล้านบาท
  • ส่วนที่รอการชดใช้จากโครงการประกันรายได้เกษตรกร จำนวน 31,154.34 ล้านบาท เป็นยอดคงเหลือ ที่ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายให้กับเกษตรกรไปก่อน ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรปีการผลิต 2552/2553 และ 2553/2554 ซึ่งได้รับคืนต้นทุนเงินจากรัฐบาลมาแล้วส่วนหนึ่ง คงเหลืออีก 3,149.84 ล้านบาท และ 28,004.05 ล้านบาท ตามลำดับ
  • ส่วนที่รอการชดเชยดอกเบี้ยโครงการพักชำระหนี้ ปี 2555 จำนวน 3,337.95 ล้านบาท จากที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูและพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท เป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายและเพิ่มเติมการช่วยเหลือ ให้ลูกหนี้สถานะปกติของ ธ.ก.ส. เข้าร่วมโครงการพักหนี้ต่อเนื่องจากโครงการในปี 2554 โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี
  • ส่วนที่รอการชดเชยในโครงการรัฐบาลอื่นๆ อีกจำนวน 650,000 บาท
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการเริ่มจ่ายเงินให้กับชาวนาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใน 8 จังหวัด ในภาพที่จังหวัดลพบุรี
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการเริ่มจ่ายเงินให้กับชาวนาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใน 8 จังหวัด ในภาพที่จังหวัดลพบุรี

และส่วนที่รอการชดใช้จากรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาบริหารประเทศในปลายปี 2557 คิดเป็น 47,108.14 ล้านบาท ได้แก่

  • ส่วนที่รอชดเชยต้นทุนเงิน จำนวน 384.55 ล้านบาท จากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ปีการผลิต 2557/2558 วงเงิน 306.06 ล้านบาท จากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ปีการผลิต 2557/2558 วงเงิน 41.16 ล้านบาท จากโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง วงเงิน 37.33 ล้านบาท
  • ส่วนที่รอชดเชยดอกเบี้ยโครงการพักชำระหนี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 97.26 ล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยเงินต้นไม่เกิน 200,000 บาท ในอัตรา MRR-1.5 มีจำนวนผู้ร่วมโครงการ 62,000 ราย คิดเป็นต้นเงินจำนวน 6,000 ล้านบาท กำหนดพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี 3 เดือน
  • ส่วนที่มาจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ปีการผลิต 2557/2558 จำนวน 38,890.87 ล้านบาท โดยให้ความช่วยเหลือครอบครัวชาวนาที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. จำนวนไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ วงเงินสูงสุดไม่เกินครอบครัวละ 15,000 บาท โดยใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อนภายในวงเงิน 45,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. จ่ายไปจำนวนเท่าใดให้ขออนุมัติในงบประมาณรายจ่ายประจำปีในปีถัดไป พร้อมดอกเบี้ยชดเชย อัตรา FDR+1
  • ส่วนที่มาจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ปีการผลิต 2557/2558 จำนวน 7,704.92 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. ได้ให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางในพื้นที่สูงสุด 15 ไร่ ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท โดยใช้เงินทุน ธ.ก.ส. ภายในวงเงิน 8,200 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายชดเชยต้นทุนคืนให้ ธ.ก.ส. อัตรา FDR+1

นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่รอการชดใช้ในโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร ที่แยกออกมาจากงบการเงินปกติของธนาคาร เป็นจำนวน 640,895.85 ล้านบาท แบ่งออกเป็น โครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร ปีการผลิต 2551/2552 ปีการผลิต 2554/2555 ปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557 ซึ่ง ธ.ก.ส. ต้องแยกบัญชีและงบการเงินของโครงการออกจากการดำเนินงานปกติ เป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA) และบันทึกเป็นภาระผูกพันนอกงบประมาณ

ตามรายงานของ ธ.ก.ส. ระบุว่า ในโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร ปีการผลิต 2551/2552 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 ให้ ธ.ก.ส. กู้เงินด้วยการออกตั๋วสัญญาตามแผนการใช้จ่ายเงินของโครงการในวงเงินไม่เกิน 110,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันและรัฐบาลรับภาระชำระคืน ต้นเงิน ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงิน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง ในวงเงิน 3,932.70 ล้านบาท

ธ.ก.ส. ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) เพื่อนำไปจ่ายเงินกู้ให้แก่เกษตรกร ในโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตรตามมติ ครม. ดังกล่าวข้างต้น เป็นภาระผูกพัน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 จำนวน 25,874.71 ล้านบาท มีลูกหนี้จากการกู้ยืมเงินดังกล่าวคงเหลือในโครงการ จำนวน 25,779.07 ล้านบาท มีเงินกู้เหลือจ่าย จำนวน 95.64 ล้านบาท

ส่วนการดำเนินโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตร ปีการผลิต 2554/2555 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 กำหนดกรอบวงเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก รวมจำนวน 410,000 ล้านบาท เป็นเงินทุนของ ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท และเงินกู้จากสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนอีกจำนวน 320,000 ล้านบาท (คลิกภาพเพื่อขยาย)

ธกส. รายงานกิจการประจำปี ปีบัญชี 2557

ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ปรับลดวงเงินกู้เหลือ 269,160 ล้านบาท วงเงินหมุนเวียนที่ได้รับนอกจากใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแล้ว มติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 ให้นำไปใช้ในโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง และโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางด้วย

เมื่อระยะเวลาโครงการรับจำนำ ผลิตผลการเกษตร ปีการผลิต 2554/2555 สิ้นสุดลง ครม. อนุมัติให้ดำเนินโครงการรับจำนำ ข้าวเปลือกต่อในปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557 โดยกรอบวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้หมุนเวียนทั้ง 2 ปีการผลิต ต้องไม่เกิน 410,000 ล้านบาท และเงินทุนของ ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท

ต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือที่ คสช. (สล)/1 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ให้ ธ.ก.ส. กู้เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/2557 ในวงเงินไม่เกิน 92,431 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันจนกว่าจะมีการชำระต้นเงินกู้เสร็จสิ้น และรัฐบาลรับภาระชำระคืนต้นเงิน ดอกเบี้ย จากการกู้ยืมเงิน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงรวมทั้งผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการทั้งหมด

ทั้งนี้ รัฐได้ดำเนินภาระผูกพันในโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมด ที่ค้างจ่ายอยู่ตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 ปีการผลิต 2554/2555 ปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557 รวมทั้งสิ้น 485,874.71 ล้านบาท โดยอาศัยแหล่งเงินทุนจาก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารแห่งโตเกียวมิตซูบิชิ, การออกพันธบัตร และเงินกู้ Term Loan

หากรวมหนี้คงเหลือทั้งหมดของโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นบัญชีแยกจากบัญชีปกติ จะมีจำนวนทั้งสิ้น 640,895.85 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นส่วนของโครงการรับจำนำข้าว 594,480.12 ล้านบาท ที่เหลือคือส่วนของโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ และเมื่อรวมเข้ากับหนี้ในโครงการของรัฐบาลจากบัญชีปกติแล้ว ยอดเงินทั้งหมดสูงถึง 750,363.32 ล้านบาท

ดูรายงาน ธ.ก.ส. ฉบับเต็ม