ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อจีนเข้าสู่สงครามค่าเงิน (อีกรอบ)

เมื่อจีนเข้าสู่สงครามค่าเงิน (อีกรอบ)

12 สิงหาคม 2015


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

เป็นเรื่องเกือบช็อคในโลกเลยทีเดียว เมื่อจีนออกมาประกาศปรับค่าอ้างอิงของค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงไป 1.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการขยับค่าเงินของจีนที่ใหญ่และสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในรอบกว่ายี่สิบปี และเรียกได้ว่าจีนกระโดดเข้าสู่เวทีสงครามค่าเงินกับเขาด้วยคน หลังจากที่ยอมให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้นมากว่าสิบปี เกิดอะไรขึ้น และมีผลกระทบอย่างไร ขอชวนคิดหน่อยครับ

ก่อนหน้านี้เรื่อง “สงครามค่าเงิน” กลายเป็นประเด็นที่ระดับโลก เมื่อเศรษฐกิจภายในของหลายประเทศเข้าสู่ภาวะชะงักงันพร้อมๆกัน ทั้งจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการพิมพ์เงินและนโยบายดอกเบี้ยต่ำทั่วโลกที่เริ่มจะหมดเรี่ยวแรง พร้อมๆกับปัญหาหนี้ที่เริ่มจะก่อตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายที่เคยเป็นตัวสร้างรายได้ของผู้ส่งออกโลหะ น้ำมัน และสินค้าเกษตร (โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา) กลับดิ่งลงเหวพร้อมๆกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น และปริมาณการผลิตส่วนเกินที่เกิดทั้งจากความต้องการที่ลดลง และการผลิตที่เพิ่มขึ้น

เมื่อรายได้จากเศรษฐกิจในประเทศหายากขึ้น หลายประเทศจึงเลือกใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบอยากให้ค่าเงินอ่อน (ทั้งแบบจงใจและไม่จงใจ) เพื่อสร้างความได้เปรียบจากการส่งออก เพราะเมื่อค่าเงินของตัวเองอ่อน ราคาสินค้าส่งออกย่อมถูกลงในสายตาประเทศคู่ค้า และสินค้านำเข้าแพงขึ้น เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งจากการค้าระหว่างประเทศและหวังว่าเศรษฐกิจนอกประเทศน่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังอ่อนแอ

ที่มาภาพ : http://citraindonesia.com/wp-content/uploads/2015/02/uang-yuan-cina-670.jpg
ที่มาภาพ : http://citraindonesia.com/wp-content/uploads/2015/02/uang-yuan-cina-670.jpg

การทำเช่นนั้น ก็พอทำได้อยู่ถ้าเราเป็นประเทศเล็กๆที่เจอปัญหา แต่ถ้าประเทศใหญ่ๆและประเทศคู่แข่งของเราทำกันหมด การอ่อนค่าของค่าเงินเราคงมีประโยชน์น้อยลง สังเกตว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เคยอ่อนค่าตอนสหรัฐทำ QE เริ่มกลับมาแข็งค่า โดยเฉพาะเทียบกับค่าเงินยูโร เยนญี่ปุ่น ที่เขาหันมาพิมพ์เงินบ้าง

เหมือนเรากำลังแย่งส่วนแบ่งของขนมเค้ก คนที่ทำให้ค่าเงินอ่อนก็น่าจะชิงเค้กได้ชิ้นใหญ่ขึ้น แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อขนาดของเค้กเริ่มหดลง และทุกคนพยายามขยายขนาดของเค้กของตัวเองพร้อมๆกัน คนที่อยู่เฉยๆก็เห็นเค้กของตัวเองหดไปอย่างรวดเร็ว ต้องลุกขึ้นมาเรียกส่วนแบ่งตัวเองบ้าง

ค่าเงินหยวนของจีน (CNY หรือ RMB)

คนไทยรู้จักเงินสกุลของจีนในนาม “หยวน” หรือ yuan (CNY) ซึ่งเป็นหน่วยของค่าเงิน แต่ชื่ออย่างเป็นทางการของเงินสกุลของจีนคือ เหรินหมินปี้ หรือ renminbi (RMB) ซึ่งใช้แทนกันได้

ค่าเงินหยวนของจีนมีประวัติศาสตร์ในการผูกค่าเงินติดกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐค่อนข้างยาวนาน ก่อนปี 1997 จีนพยายามผูกค่าเงินไว้กับดอลลาร์ แต่ก็มีการลดค่าเงินมาตลอดทางเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แต่ระหว่างปี 1997-2005 จีนสามารถรักษาค่าเงินหยวนให้อยู่นิ่งที่ 8.27 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐได้เกือบสิบปี พร้อมๆกับการเกินดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จีนสะสมทุนสำรองหว่างประเทศได้อย่างมหาศาล จนเริ่มถูกเพ่งเล็งจากทางการสหรัฐที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มกล่าวหาว่าจีนจงใจทำให้ค่าเงินอ่อนกว่าความเป็นจริง หรือ currency manipulator มีคนพูดว่าจีนกำลังทำสงครามค่าเงินกับสหรัฐ โดยเกาะดอลลาร์ไว้ไม่ปล่อยทั้งๆที่เกินดุลสหรัฐเป็นปริมาณมหาศาล

จนจีนเริ่มปล่อยให้ค่าเงินค่อยๆแข็งค่าขึ้นเพื่อลดแรงกดดันทางเมืองและเศรษฐกิจ (เพราะการคงค่าเงินไว้ในขณะที่เศรษฐกิจร้อนแรงอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้) แต่จีนยังคงใช้นโยบายควบคุมความผันผวนของค่าเงิน โดยประกาศค่ากลางกับดอลลาร์สหรัฐ (daily fixing) และอนุญาตให้ค่าเงินเคลื่อนไหวได้ในกรอบที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ตั้งแต่ปล่อยค่าเงินให้ขยับได้ตั้งแต่ปี 2005 ค่าเงินหยวนแข็งมีแนวโน้มแข็งค่าเงินเกือบตลอด อาจจะมีบางช่วงที่รักษาค่าเงินให้คงที่เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกในช่วงปี 2008 บ้าง หรือเริ่มปล่อยให้ค่าเงินอ่อนตัวลงบ้างในระยะปีสองนี้ แต่ค่าเงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้นเกือบ 30% ในรอบเกือบสิบปีที่ผ่านมา

จนมีคนคิดว่าการลงทุนในจีนเป็น one-way bet มีการกู้เงินดอลลาร์ไปฝากเงินในจีนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันและได้กำไรกันอย่างมโหฬาร

แต่ดูเหมือนแนวโน้มเริ่มจะกำลังเปลี่ยนทางแล้วเมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่มแผ่วแรง

ค่าเงินหยวน

เศรษฐกิจจีนโตในอัตรากว่าร้อยละสิบต่อปีเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน ซึ่งต้องถือว่าเป็นความมหัศจรรย์อันหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก จีนใช้เวลาเกือบประมาณเกือบสามสิบปี ในการก้าวจากประเทศที่มีรายได้ต่อหัวประมาณหนึ่งในสามของไทย จนแซงนำหน้าไทยไปแล้ว โอกาสที่จีนจะสามารถโตได้ปีละ 8-10% คงเป็นไปได้ยาก จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเห็นเศรษฐกิจจีนชะลอลง (แต่จะลงแบบ hard landing หรือ soft landing ยังถกเถียงกันได้อยู่)

และจีนได้กลายเป็นผู้เล่นหลักในการค้าโลก (วันนี้เราจะหาสินค้าอะไรที่ไม่ได้ Made in China คงยากอยู่) รายได้จากการส่งออกจึงเป็นส่วนสำคัญในเศรษฐกิจของจีน

ที่ผ่านมาการที่จีนยึดค่าเงินตัวเองไว้กับดอลลาร์สหรัฐ ที่มีแนวโน้มแข้งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ทำให้จีนเสียความสามารถในการแข็งขันให้กับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง โดยเฉพาะญี่ปุ่นและยุโรป

มีคนคาดการณ์ไว้พอสมควรว่าจีนคงต้องปรับค่าเงินในอ่อนลงในที่สุด แต่อาจจะไม่ได้คิดว่าเร็วขนาดนี้

ค่าเงินจีนแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งและคู่ค้า
ค่าเงินจีนแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งและคู่ค้า

ฟางเส้นสุดท้าย น่าจะเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนที่ออกมาแย่ลงเรื่อยๆ ทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรม และล่าสุดการส่งออก ที่หดตัวไปกว่า 8% ที่คงทำให้ทางการจีนตกใจ จนต้องออกมาลดค่าเงินแบบช็อคโลก

เงินหยวนจะโกอินเตอร์

แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือจีนมีความพยายามต้องการให้เงินหยวนมีการใช้ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อพัฒนาภาคการเงินของจีนเอง ลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ (และความจำเป็นต้องมีทุนสำรองปริมาณมหาศาล) และเสริมฐานะของจีนในการเป็นผู้เล่นสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก

หนึ่งในความพยายาม คือการนำเงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าเงินของ IMF ที่เรียกว่า Special Drawing Rights หรือ SDR ซึ่งเป็นเงินสกุลทางการของ IMF ที่ทำขึ้นสมัยมีความพยายามทำระบบค่าเงินคงที่ทั่วโลกตั้งแต่สมัย Bretton Woods ปี 1969 นู้น (ปัจจุบัน IMF จะทำบัญชี จัดสรรหุ้นให้ประเทศต่างๆ และคิดโควต้าและสิทธิในการกู้เงินในหน่วย SDR ที่ไม่มีใครใช้จริงๆในโลกแล้ว) ซึ่งในปัจจุบันตะกร้านี้มีเงินอยู่ 4 สกุล คือ ดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์สหราชอาณาจักร เยนญี่ปุ่น และเงินยูโร แม้ SDR จะไม่ได้มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลกเท่าไรนัก แต่ก็มีความเชื่อว่าถ้าเงินหยวนเข้าสู่ SDR ได้ ประเทศต่างๆคงอยากถือเงินหยวนเป็นหนึ่งในเงินสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น

เงื่อนไขในการเข้า SDR มีแค่สองข้อใหญ่ คือ “ขนาด” และ “ใช้ได้อย่างเสรี” จีนในฐานะประเทศที่มี GDP อันดับสองของโลก ผ่านเงื่อนไขเรื่องขนาดแบบไม่ต้องสงสัย แต่เรื่องการใช้เงินได้อย่างเสรียังเป็นประเด็นอยู่ แม้จีนจะมีการค้าขายระหว่างประเทศแบบมหาศาล ในปี 2013 เงินหยวนแซงหน้าเงินยูโร กลายเป็นเงินที่ถูกใช้มากที่สุดเป็นอันดับสองในธุรกรรมการค้าขายระหว่างประเทศ (trade finance) ในขณะที่ดอลลาร์ยังคงนำโด่งแบบไม่เห็นฝุ่น

แต่เป็นอันดับประมาณสิบ ในแง่การใช้โดยรวม เพราะปริมาณธุรกรรมด้านการเงินมีมากกว่าธุรกรรมด้านการค้าอย่างมหาศาล
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนมีการผ่อนคลายข้อจำกัดในการใช้เงินหยวนทั้งด้านการค้าและการลงทุน ตอนนี้มีหลายธนาคารในไทยสามารถเคลียร์เงินหยวนนอกประเทศจีนได้แล้ว และนักลงทุนสามารถเชื่อมต่อการลงทุนระหว่างจีนกับฮ่องกงได้เสรีมากขึ้น

แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าเงินหยวน ผ่านเงื่อนไขที่สองหรือไม่ เพราะตลาดและเครื่องมือการลงทุนเงินสกุลหยวนมีอย่างจำกัด ถ้ามีธนาคารกลางอยากถือเงินหยวนจริงๆ คงซื้อสินทรัพย์เงินสกุลหยวนไม่ง่ายเท่าดอลลาร์หรือเงินสกุลอื่นแน่ๆ แม้แต่ IMF ล่าสุดยังขอชะลอการตัดสินใจนี้ออกไปอีกปี เพราะยังไม่กล้าฟันธง

The impossible trinity

มีหลักเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญอยู่อันนึง ที่รู้จักกันในนาม The impossible trinity ที่บอกว่าประเทศใดๆก็ตาม ไม่สามารถทำสามอย่างได้ในเวลาเดียวกัน คือ หนึ่ง การมีค่าเงินคงที่ สอง การมีนโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นของตัวเอง และสาม ปล่อยการเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นอย่างเสรี (ถ้าใครจำได้ ไทยเกิดวิกฤตตอนปี 2540 ก็เพราะพยายามมีทั้งสามข้อนี้แหละครับ)

สังเกตว่าที่ผ่านมา จีนมีอัตราดอกเบี้ยเป็นของตัวเอง ไม่ได้เท่ากับดอกเบี้ยของสหรัฐ แต่จีนพยายามให้ค่าเงินค่อนข้างคงที่กับดอลลาร์สหรัฐ โดยหลีกหนีจาก the impossible trinity โดยการมีข้อจำกัดไม่ให้เงินทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี

ข้อสรุปสำคัญคือ ถ้าจีนพยายามโกอินเตอร์โดยการผ่อนคลายข้อจำกัดของการเคลื่อนย้ายเงินทุน (ส่วนหนึ่งเพื่อทำให้เข้าเงื่อนไขของ SDR) และยังอยากมีอัตราดอกเบี้ยเป็นของตัวเองอยู่ แปลว่า จีนก็ต้องปล่อยค่าเงินของตัวให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะไปตรึงค่าเงินไว้กับดอลลาร์แบบในอดีตคงไม่ได้แล้ว

ดังนั้น ถ้าจีนมีเป้าหมายให้เงินหยวนถูกใช้มากขึ้นในตลาดโลก ทั้งเพื่อการค้าและการลงทุน ความผันผวนที่มากขึ้นของค่าเงินจีน คงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

แนวโน้มปัจจุบันที่จีนกำลังชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ต้องการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ย่อมทำให้แนวโน้มที่ค่าเงินจีนจะอ่อนลงในระยะสั้นมีความเป็นไปได้มาก แม้ว่ามีหลายคนบอกว่าในอนาคตจะมีความต้องการเงินหยวนเพื่อเป็นเงินสำรองมากขึ้นก็ตาม

และมันกระทบเราอย่างไร?

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดโลก และกับไทยโดยตรง จีนเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญของไทย จีนเป็นศูนย์รวมสำคัญในกระบวนการผลิตของสินค้าไทย เราส่งออกสินค้าประมาณ 12% ไปจีนโดยตรง และมากกว่านั้นถ้านับสินค้าที่เราส่งไปประเทศอื่นๆที่ถูกส่งออกไปจีนอีกรอบ นักท่องเที่ยวจีนมีความสำคัญอันดับหนึ่งต่อการท่องเที่ยวไทย นอกจากนี้จีนยังผลิตสินค้าหลายชนิดที่แข่งกับสินค้าไทยโดยตรง

นอกจากนี้ การอ่อนตัวของค่าเงินหยวน อาจมีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆด้วย เพราะจีนในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่ อาจจะอยากจ่ายน้อยลงในรูปดอลลาร์สหรัฐ เพราะราคามันแพงขึ้นในรูปเงินหยวน

การอ่อนค่าของค่าเงินหยวนเท่ากับว่าจีนได้เปรียบในด้านราคากับไทยและประเทศอื่นๆ การส่งออกของเราที่แย่อยู่แล้วก็อาจโดนกระทบต่อเนื่องได้ เหมือนกับยักษ์ใหญ่ที่ยอมทนเจ็บมานาน และเริ่มสะบัดแข้งสะบัดขาพร้อมกระโดดลงมาในสงครามค่าเงินแบบเต็มตัว

ถ้าเงินหยวนอ่อนลง ก็คงปฏิเสธผลกระทบต่อเราไม่ได้ เงินบาทไทยที่เริ่มอ่อนยวบในหลายเดือนที่ผ่านมา ก็มีโอกาสอ่อนลงได้อีกพร้อมๆกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

แต่อย่างไรก็ตาม เรายังมีปัจจัยพื้นฐานที่เป็นบวกเหลืออยู่สองสามข้อที่ไม่น่าจะทำให้ค่าเงินบาทไทยไหลไปไกลนัก (แต่ก็มีโอกาสไหลบ้าง) คือหนึ่ง เรายังน่าจะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ ถ้าการส่งออกเราไม่แย่แบบกู่ไม่กลับ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (ทั้งจากการท่องเที่ยวและการนำเข้าที่ลดลง) น่าจะพอสนับสนุนค่าเงินบาทอยู่ และสองคือเรามีเงินทุนสำรองขนาดใหญ่ที่พอจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และสามารถนำมาใช้เพื่อแทรกแซงถ้ามีการเคลื่อนไหวแบบหวือหวาได้อยู่

แต่ก็คงนิ่งนอนใจไม่ได้นะครับ เมื่อยักษ์ตื่น หญ้าแพรกอย่างเราจะทำไงดี ได้เวลาสุมหัวช่วยกันคิดอีกแล้วครับ