ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% หวั่นเศรษฐกิจเริ่มเสี่ยงมากขึ้นจากปัจจัยภายในและภายนอก

กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% หวั่นเศรษฐกิจเริ่มเสี่ยงมากขึ้นจากปัจจัยภายในและภายนอก

5 สิงหาคม 2015


นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

วันที่ 5 สิงหาคม 2558 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 5/2558 ว่าที่ประชุมมีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากนโยบายการเงินช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติมจนอยู่ในระดับที่เพียงพอแล้ว โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าขึ้นเร็วและช่วยเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเมื่อดูข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. จะพบว่าอัตราแลกเปลี่ยนของไทยกับสหรัฐอเมริกาได้อ่อนค่าลงกว่า 2 บาทในช่วงเวลา 3 เดือน

ทั้งนี้ กนง. ได้แสดงความกังวลถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงข้างหน้าว่าเสี่ยงมากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกของไทย โดยก่อนหน้านั้นในช่วงปี 2553-2556 การส่งออกไปจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่งออกได้ 21,474, 26,250, 26,870 และ 27,233 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ และได้เริ่มลดลงในปี 2557 มีมูลค่าส่งออก 25,084 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใน 6 เดือนแรกของปี 2558 ไทยส่งออกสินค้าไปยังจีนคิดเป็นมูลค่า 11,496 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ภายในประเทศต้องเผชิญภาวะภัยแล้งที่ยังคงมีผล กระทบต่อระบบเศรษฐกิจอยู่ การใช้จ่ายภายในประเทศและการลงทุนที่ยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะมีภาคท่องเที่ยวและการเบิกจ่ายของรัฐเป็นแรงขับเคลื่อนอยู่แต่ไม่เพียงพอ

โดยที่การประชุมครั้งนี้ กนง. พิจารณาปรับเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีลงจากปัจจุบันที่ 3% รวมทั้งปรับประมาณการเงินเฟ้อจากปัจจุบันที่คาดติดลบ 0.5% โดยจะแถลงตัวเลขในวันที่ 25 กันยายนนี้

อัตราแลกเปลี่ยน

สำหรับประเด็นหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลัง กนง. ยังคงติดตามอยู่ แต่พบว่าระดับหนี้ครัวเรือนค่อนข้างมีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ไม่ได้มีความเป็นห่วงมากขึ้นนัก

ส่วนประเด็นเรื่องเงินเฟ้อที่ติดลบมา 7 เดือนติดต่อกัน นายเมธีกล่าวว่าเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งยังไม่พบว่ากระจายตัวไปสินค้าอื่นๆ โดยสินค้าหลายชนิดคนยังมองว่าแพงและต้องไปช่วยเหลือ ทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตของประชาชนยังอยู่ที่ 2% ตามเป้าหมาย

ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อในระยะต่อไปได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วและจะค่อยๆ ปรับตัวเป็นบวกช่วงท้ายปี โดยก่อนหน้านี้ ธปท. เคยระบุว่าจะติดลบตลอดครึ่งปีแรก ก่อนจะปรับตัวขึ้น แต่ในการพิจารณาล่าสุดคาดว่าจะติดลบไปอีก 1 ไตรมาส คือติดลบตลอดทั้ง 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 และทำให้เฉลี่ยทั้งปีน่าจะติดลบ ยกเว้นสถานการณ์เกิดเปลี่ยนแปลง เช่น มีการผลิตมากขึ้นจากหินดินดานของสหรัฐฯ หรือเลิกคว่ำบาตรอิหร่าน ส่วนเป้าเงินเฟ้อยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยน แม้ตามกฎหมายจะทำได้ เพราะคนจะสับสนการดำเนินนโยบายว่า ธปท. จะใช้เป้าหมายอะไร

“สำหรับการดำเนินนโยบายในอนาคต ต้องดูเป็นครั้งๆ ตอนนี้มองไปข้างหน้ามีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งเศรษฐกิจโลก จีน เอเชีย ของไทย มีภัยแล้ง เรื่องการส่งออก มีความเสี่ยง แต่ที่ผ่านมาอัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวช่วยเศรษฐกิจไปบ้าง เป็นการส่งผ่านนโยบายการเงินอีกทางหนึ่ง ไม่เฉพาะดอกเบี้ยอย่างเดียว แล้วตอนนี้ภาวะการเงินยังผ่อนคลายพอสมควร ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรของการฟื้นตัว เรื่องการดำเนินนโยบาย เราดูภาคเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ได้เจาะจงจะช่วยภาคเศรษฐกิจอะไร แต่การฟื้นตัวมันมาจากหลายปัจจัย จากต่างประเทศคงทำอะไรไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ นอกจากภาวะการเงิน อาจจะเป็นปัญหาโครงสร้าง ดังนั้นไม่ใช่นโยบายการเงินอย่างเดียวแก้ปัญหาได้” นายเมธีกล่าว

สำหรับมาตรการเสริมนอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ย นายเมธีกล่าวว่า กนง. ได้พิจารณามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเครื่องมือหลายด้านที่พร้อมจะดูแลเสถียรภาพทางการเงิน ขณะเดียวกันจะติดตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งจะส่งผลต่อความผันผวนของตลาด แต่ ธปท. เชื่อว่าความผันผวนจะมีไม่มากและจะจัดการได้

อ่านเพิ่มเติมบทวิเคราะห์ ธปท.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% มองเศรษฐกิจฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์