ThaiPublica > เกาะกระแส > เผยโฉม “ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” เลาะ 4 จังหวัด 140 กม. – ใช้งบว่าจ้างศึกษากว่า 30 ล้านบาท ชูวิสัยทัศน์ “เชื่อมเมืองสู่แม่น้ำ อนุรักษ์ภูมิทัศน์วัฒนธรรม”

เผยโฉม “ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” เลาะ 4 จังหวัด 140 กม. – ใช้งบว่าจ้างศึกษากว่า 30 ล้านบาท ชูวิสัยทัศน์ “เชื่อมเมืองสู่แม่น้ำ อนุรักษ์ภูมิทัศน์วัฒนธรรม”

4 สิงหาคม 2015


เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2558 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดงานสัมมนาเผยแพร่ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น “โครงการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” หรือ โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 1

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากที่ สนข.ได้จัดจ้างที่ปรึกษามาศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสม เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและรูปแบบการก่อสร้างของโครงการในพื้นที่ต่างๆ ระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร รวม 2 ฝั่ง เป็นระยะทาง 140 กิโลเมตร เบื้องต้นพบว่าแต่ละพื้นที่มีชุมชนที่มีวิถีชีวิตหลายหลายมาก ทำให้ที่ปรึกษาต้องพยายามวางรูปแบบให้เข้ากับวิถีชีวิตของแต่ละชุมชนด้วย

ทั้งนี้ ในขั้นตอนของการรับฟังความเห็นต่อไป ทางที่ปรึกษาจะต้องออกไปรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มย่อยในลักษณะ Focus Group อีก 6 ครั้ง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่แต่ละแห่งได้รับรู้ว่าโครงการจะทำอะไรบ้าง รวมไปถึงรับฟังความคิดเห็นมาปรับปรุงโครงการต่อไปให้เหมาะสมกับความต้องการของชุมชนต่างๆ หลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในลักษณะสัมมนาอีกครั้ง โดยในครั้งนี้จะมีความชัดเจนเรื่องรูปแบบและหน้าตาของโครงการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ตามความเห็นที่ได้รับฟังมา ก่อนให้ประชาชนพิจารณาว่ามีความเหมาะสมตรงความต้องการเพียงใดและนำมาปรับปรุงครั้งสุดท้ายให้ตรงกับความต้องการของชุมชนมากที่สุด โดยกระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2558

หลังจากนั้น ทาง สนข. จะเลือกเป็นโครงการนำร่องบางพื้นที่ดำเนินการออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และก่อสร้างก่อน โดยที่ปรึกษาจะพิจารณาจากปัญหาอุปสรรคที่เผชิญและความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ว่าพื้นที่ไหนมีความพร้อมและเหมาะสมมากที่สุด เพื่อสร้างเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นเห็นภาพของโครงการอย่างชัดเจนมากขึ้น ด้านการบริหารโครงการทางสนข.ตั้งใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนท้องถิ่นของชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ และความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ว่าพื้นที่ไหนมีความพร้อมและเหมาะสมมากที่สุด เพื่อสร้างเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นเห็นภาพของโครงการอย่างชัดเจนมากขึ้น ด้านการบริหารโครงการทาง สนข. ตั้งใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนท้องถิ่นของชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ

โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ส่วนความคืบหน้าของโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม. ระยะทาง 7 กิโลเมตร รวม 2 ฝั่ง 14 กิโลเมตร กำลังออกแบบรายละเอียดอยู่ โดยจะไม่ทับซ้อนกับโครงการของ สนข. เนื่องจากโครงการของ สนข. จะเป็นโครงการที่ทำนอกเขตของ กทม. ขณะที่ในพื้นที่ของ กทม. ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กทม. จะต้องดำเนินการเอง อย่างไรก็ตาม ในบางส่วนที่ สนข. ศึกษาล้ำเข้าไปในเขตพื้นที่ของ กทม. จะสามารถส่งต่อให้ กทม. นำไปออกแบบรายละเอียดต่อได้

ผ่า 4 จังหวัด 15 พื้นที่ย่อย “ปทุมธานี-นนทบุรี-กทม.-สมุทรปราการ”

ด้านนายชเล คุณาวงศ์ สถาปนิกโครงการ กล่าวถึงภาพรวมโครงการว่ามีเป้าหมายที่เชื่อมต่อเมืองและประชาชนเข้ามาสู่พื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำ ตามวิสัยทัศน์ของโครงการว่า “เชื่อมเมืองสู่แม่น้ำ อนุรักษ์ภูมิทัศน์วัฒนธรรม” โดยจะแบ่งเป็น 8 โครงการใหญ่ 15 พื้นที่ย่อย ได้แก่

โครงการ 1 (3 พื้นที่) 1) พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำจากสะพานปทุมธานี 1–วัดโพธาราม 2) ฝั่งตะวันตก วัดโสภาราม-วัดตลาดใต้ และ 3) ชุมชนอุตสาหกรรมบางกะดี-สุดเขตปทุมธานี

โครงการ 2 (3 พื้นที่) 1) ฝั่งตะวันตก วัดตลาดใต้-สุดเขตปทุมธานี 2) ฝั่งตะวันออก นนทบุรี–แนวเดียวกับเขตปทุมธานี ฝั่งตะวันตก และ 3) ทั้งสองฝั่งแนวเดียวกับปทุมธานี–สะพานพระราม 4

โครงการ 3 (1 พื้นที่) 1) ทั้งสองฝั่งทั้งเกาะเกร็ดและปากเกร็ด

โครงการ 4 (2 พื้นที่) 1) ฝั่งตะวันตกจากคลองเกร็ดน้อย–สะพานนนทบุรี 1 2) ฝั่งตะวันออก กรมชลประทาน–สะพานนนทบุรี 1

โครงการ 5 (2 พื้นที่) 1) ฝั่งตะวันตก สะพานนนทบุรี 1–สะพานพระราม 5 2) ฝั่งตะวันออก สะพานนนทบุรี 1–สะพานพระราม 5

โครงการ 6 (2 พื้นที่) 1) ฝั่งตะวันตก สะพานพระราม 5–สะพานพระราม 7 2) ฝั่งตะวันออก สะพานพระราม 5–รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

โครงการ 7 (2 พื้นที่) 1) ทั้งสองฝั่งของกรุเทพมหานคร 2) ทั้งสองฝั่งสุดเขตกรุงเทพมหานคร–คลองลัดโพธิ์

โครงการ 8 เป็นการพัฒนาพื้นที่ของบางกระเจ้า

ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา2

นายชเลกล่าวต่อถึงสภาพปัญหาปัจจุบันที่เผชิญของพื้นที่เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จนนำไปสู่ความจำเป็นของการพัฒนาโครงการไว้ 4 ประการ ได้แก่

1) ปัญหาด้านการสัญจรและการเดินทาง แบ่งเป็นประเด็นย่อย 3 ประเด็น คือ หนึ่ง การเข้าถึงพื้นที่ (Accessibility) ริมฝั่งแม่น้ำยังมีข้อจำกัด ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าถึงโดยถนนหรือซอยไปยังท่าเรือ สวนสาธารณะ และพื้นที่ใต้สะพาน แม้จะมีการเข้าถึงโดยตรง แต่ยังเป็นช่วงระยะทางสั้นๆ เท่านั้น สอง โครงข่ายสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถูกออกแบบไว้สำหรับการเดินทางโดยรถยนต์ แต่ยังไม่อำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางด้วยเท้าและไม่สามารถใช้เป็นทางจักรยานร่วมกับทางเดินเท้าได้ เพราะไม่ได้ออกแบบบันไดเผื่อไว้ สาม ขาดการวางแผนเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยากับระบบขนส่งสาธารณะในปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำที่มีความเหมาะสมให้เป็นพื้นที่สาธารณะ

2) พื้นที่สวนและชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ริมแม่น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการพัฒนาเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดไปจากเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ตามผังเมืองรวม ส่งผลต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังเมือง และคุณภาพชีวิต

3) การสร้างโครงสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมสำหรับชุมชนบริเวณริมแม่น้ำ บดบังมุมมองทัศนียภาพของชุมชน สร้างปัญหาให้กับทิศทางการระบายลม สร้างปัญหาน้ำเน่าเสีย ทำให้พื้นที่สาธารณะและนันทนาการลดลง

4) ปัญหาการรุกล้ำแม่น้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีความละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบต่อชุมชนริมน้ำโดยตรง

“เหล่านี้เป็นปัญหาที่เราคิดว่าเราจะต้องทำการศึกษา ทำให้เกิดเป้าหมายของการพัฒนาโครงการ คือการส่งเสริมเครือข่ายทางสัญจรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่สอดคล้องกับการพัฒนาของเมือง และส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ริมน้ำสาธารณะของประชาชน นำมาซึ่งการพัฒนาเมืองที่มีความน่าอยู่และยั่งยืน มีสมดุลของสังคม ผู้คนมีความสุข สิ่งแวดล้อมที่ดี” นายชเลกล่าว

นายชเลกล่าวถึงกรอบการทำงานและกรอบเวลาของโครงการว่า บริษัทที่ปรึกษา 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอ 21 คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท องศาสถาปนิก จำกัด ได้ลงนามสัญญากับ สนข. มาตั้งแต่ 31 มีนาคม 2558 เริ่มลงมือสำรวจมาตั้งแต่เดือนเมษายน และจะแล้วเสร็จทั้งหมดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 รวมระยะเวลาทั้งหมด 270 วัน หรือ 9 เดือน โดยจะต้องดำเนินงานด้านต่างๆ 5 ส่วน ได้แก่ 1) งานทบทวน รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ 2) งานศึกษาความเหมาะสม 3) งานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) 4) งานออกแบบทางสัญจรเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา และ 4) งานการมีส่วนร่วมของประชาชนและประชาสัมพันธ์โครงการ

“จนถึงตอนนี้ทีมที่ปรึกษาได้ทำงานในส่วนแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงงานส่วนที่ 2 ในส่วนแรกคือการสำรวจ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนวิเคราะห์และคัดเลือกมาออกแบบทางสัญจร เป็นแบบร่างขั้นต้น โดยระหว่างทางจะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีงานประชาสัมพันธ์และรับฟังความเห็นต่างๆ ควบคู่กันไป สุดท้ายจะนำมาจัดทำเป็นงานออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) ในตอนจบ” นายชเลกล่าว

ขณะที่ความกังวลเรื่องการรุกล้ำแม่น้ำของโครงการ นายชเลกล่าวว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะแม่น้ำเจ้าพระยามีความกว้างประมาณ 350-400 เมตร ขณะที่การเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันใช้พื้นที่เพียงประมาณ 240 เมตรเท่านั้น ไม่ว่าจะในการเดินเรือและกลับลำเรือ ดังนั้นจะยังมีพื้นที่เหลือให้สร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาได้ในกรณีที่ต้องรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำ นอกจากนี้ การออกแบบเบื้องต้นส่วนใหญ่ได้พยายามเลี่ยงการรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำ มีเพียงบางส่วนที่อาจจรุกล้ำเข้าไปบ้างแต่ไม่มาก

การสัญจรน้อย- ระบบขนส่งเน้น “เดิน-จักรยาน”

ด้านนายสุรศักดิ์ ทวีศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจำลองขนส่ง กล่าวถึงการวางแผนระบบขนส่งของโครงการเพื่อเชื่อมโยงกับระบบขนส่งของเมืองโดยรวมว่า เบื้องต้นควรเป็นระบบเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorized Transport) เช่น การเดินเท้า จักรยาน ท่าเรือ เป็นต้น โดยจะต้องมีการเชื่อมโยงเข้ากับระบบรถไฟฟ้าซึ่งเป็นระบบขนส่งหลัก มีการเชื่อมต่อกับถนนสายหลักเพื่อเพิ่มการเข้าถึงของประชาชน มีการสร้างสะพานเฉพาะคนเดินข้ามแม่น้ำ มีการอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อและเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง เช่นลานจอดเล็กขนาดเล็ก พื้นที่สำหรับจอดรับส่งระยะสั้น ท่าเทียบเรือ เป็นต้น

เนื่องจากการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ริมแม่น้ำที่พบว่า 45% จะเดินทางระยะสั้นภายในชุมชนไม่เกิน 5 กิโลเมตร แสดงให้เห็นว่าประชาชนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน จักรยานจึงเป็นรูปแบบที่เหมาะสมโดยใช้เวลาสูงสุดประมาณ 15 นาทีเท่านั้น ขณะที่ประชาชนกลุ่มอื่นจะเป็นลักษณะเดินทางเข้าเมือง หรือการเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และเมื่อประกอบกับแผนแม่บทในอนาคตที่จะสร้างรถไฟฟ้าในกทม.และปริมณฑล ซึ่งคาดว่าจะดึงปริมาณการโดยสารไปกว่า 20% ของปริมาณโดยสารเดิมทั้งหมด และมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีกกว่า 11 สะพาน ทำให้รูปแบบโครงการน่าจะออกแบบให้เป็นระบบขนส่งเสริม (Feeder line) มากกว่าที่จะเป็นระบบขนส่งหลัก

“จากการศึกษาความต้องการการเดินทางมันไม่มาก ใช้ระบบเล็กๆแบบจักรยานหรือเดินดีกว่า มันไม่ใช่ระบบคมนาคมหลักของเมือง ในแง่คมนาคมโครงการนี้เป็นการเอาคนในชุมชนไปสู่ระบบหลักได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงไปมาหาสู่เล็กๆน้อยๆง่ายๆ พอเป็นแบบนี้โครงการของเราแคบสุดที่เราต้องการคือ 3.6 เมตร มีทางจักรยาน มีทางคนเดิน อาจจะมีสวนหย่อม ม้านั่ง ออกไปอีกไม่น่าจะเกิน 10 เมตร และไม่จำเป็นต้องสร้างทั้งสองข้าง แล้วที่คนเป็นห่วงว่าจะสร้างถนน 4 เลน 6 เลน คือในภาษาไทยมันมีแค่ถนน แต่ในภาษาอังกฤษมันมีหลายคำ อย่าง street จะเป็นถนนขนาดเล็กใช้ร่วมกันกับคนเดิน จักรยาน เป็นถนนชุมชน มี Road อย่างสุขุมวิท พระราม 4 มีรถวิ่งเป็นหลักมากขึ้น และก็ Highway เช่น ถนนพหลโยธินวิ่งไปเชียงใหม่ เป็นถนนข้ามจังหวัด เป็นถนนขนาดใหญ่ ซึ่งจริงๆแล้วโครงการนี้แนวคิดจะออกเป็นลักษณะ street มากกว่า เป็นถนนชุมชนมากกว่า”

นายสุรศักดิ์ ยังกล่าวถึงงบประมาณการใช้จ่ายของโครงการอีกว่ายังต้องใช้เวลาศึกษาอีกนาน เนื่องจากโครงการนี้เป็นการศึกษาแนวคิดเบื้องต้น เพื่อดูในภาพรวมว่าพื้นที่ควรสร้างรูปแบบไหน ต้องมีการก่อสร้างอะไรบ้าง ให้เห็นรูปร่างคร่าวๆ แต่เมื่อตัดสินใจว่าจะทำตามแนวคิดดังกล่าวจะต้องให้แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบลงไปศึกษาออกแบบในรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนการจ้างที่ปรึกษามาศึกษาครั้งนี้ใช้งบประมาณ 30 กว่าล้านบาท ซึ่งถึงว่าไม่มากเมื่อเทียบกับระยะทางที่ศึกษา

“ประชาชน-สถาปนิก” ห่วงน้ำท่วม-ทำลายวิถีชีวิต-ขาดความร่วมมือ

ทั้งนี้ ในที่ประชุม ซึ่งมีผู้เข้ารวมประมาณ 130 คน ได้มีการแสดงความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่และสถาปนิกอิสระในหลายประเด็น โดยประชาชนหลายคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยป้องกันน้ำท่วมได้มากน้อยเท่าใด จะสร้างขึ้นมาสูงเพียงใด ขณะที่บางคนกังวลว่าโครงการจะสะท้อนความต้องการของชุมชนได้จริงหรือไม่ เนื่องจากมีการจัดสัมมนาเพียง 2 ครั้งและลงพื้นที่อีกเพียง 6 ครั้งเท่านั้น รวมไปถึงการใช้งบประมาณที่ไม่ได้ชี้แจงว่ามีเท่าไรและดำเนินการใช้จ่ายอย่างไร

ด้านสถาปนิกอิสระรายหนึ่งได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับโครงการว่าการนำเสนอยังขาดประเด็นด้านผังเมือง วัฒนธรรม และชุมชน ว่าประเด็นเหล่านี้จะเข้ามามีส่วนอย่างไรในการกำหนดทิศทางของโครงการ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก เนื่องจากโครงการเป็นโครงการขนาดใหญ่และจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนริมแม่น้ำ รวมไปถึงเรื่องประวัติศาสตร์ของแม่น้ำเจ้าพระยาไปทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีประเทศไหนทำโครงการระยะทางยาวขนาดนี้มาก่อน ดังนั้นการศึกษาในเบื้องต้นจะต้องบอกให้ได้ว่าโครงการจะมีผลกระทบต่อชุมชน ครัวเรือน ประชาชนทั้งหมดเท่าไรและอย่างไร

“โครงการนี้ควรจะเกิดจากความต้องการของประชาชน ไม่ใช่เกิดจากความต้องการของผู้ที่อยากทำโครงการ อันนี้จำเป็นมากที่จะต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ และจากประสบการณ์ที่ไม่เยอะมาก พอบอกได้ว่าผลกระทบที่มีมหาศาลกว่าที่เราคิด การทำโครงการนี้จึงอยากให้พิจารณาให้ดี และการทำหรือไม่ทำโครงการจะส่งผลต่อโครงการในแผนแม่บทที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ของกทม.เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ยังโต้เถียงว่ามันใช้ได้หรือไม่” สถาปนิกรายหนึ่ง กล่าว

สำหรับประเด็นปัญหาน้ำท่วมที่กังวลควรจะหาทางแก้ไขแยกต่างหากจากการสร้างถนน ไม่ควรรวมเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะการนำถนนไปไว้ในแม่น้ำเป็นเรื่องที่อันตราย เนื่องจากระดับน้ำของแต่ละวันมีความแตกต่างกันมาก ถ้าสร้างไว้ต่ำเกินไปเมื่อถูกน้ำท่วม ถนนจะเสียหายจนใช้การไม่ได้อีก ขณะที่ถ้าสร้างถนนให้สูงกว่ารับน้ำมากจะทำลายวิถีชุมชนริมน้ำได้

ดูเพิ่มเติมเว็บไซต์ข้อมูลโครงการและช่องทางรับฟังความเห็น

CRT Seminar#1 Present 030815-2