ThaiPublica > เกาะกระแส > คพ. เริ่มแผนฟื้นฟูพื้นที่คลิตี้ต้นปี 2559 สร้างบ่อฝังกลบขนาด 50 ไร่ และสร้างฝายเพิ่ม 2 แห่งก่อนขนตะกอนปนเปื้อนตะกั่วไปฝังกลบ ใช้งบเกือบ 600 ล้าน

คพ. เริ่มแผนฟื้นฟูพื้นที่คลิตี้ต้นปี 2559 สร้างบ่อฝังกลบขนาด 50 ไร่ และสร้างฝายเพิ่ม 2 แห่งก่อนขนตะกอนปนเปื้อนตะกั่วไปฝังกลบ ใช้งบเกือบ 600 ล้าน

14 สิงหาคม 2015


คพ.ร่วมกับคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในห้วยคลิตี้สรุุปแผนงานฟื้นฟูพื้นที่คลิตี้สร้างบ่อฝังกลบแบบปลอดภัยที่บ่อหินผุ เพื่อรองรับตะกอนปนเปื้อนสารตะกั่วที่นำขึ้นมาจากลำห้วยคลิตี้ และตะกอนดินบนบกบริเวณโรงแต่งแร่รวมถึงตะกอนดินในหลุมฝังกลบเดิมที่อยู่ริมลำห้วยอีก 4 หลุม อีกทั้งสร้างฝายเพิ่ม 2 แห่ง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ต้นปี 2559 ในวงประมาณกว่า 500 ล้านบาท แบ่งแผนการฟื้นฟูเป็น 3 ปีระหว่างปี 2559-2561 โดยปีแรกได้รับเงินแล้ว 118 ล้านบาทสำหรับการสร้างบ่อฝังกลบแบบปลอดภัยและสร้างฝาย 2 แห่ง

เมื่อวันที่ 5-8 สิงหาคม 2558 กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) โดยนางสาวจงจิตร์ นีรนาทเมธีกุล รองอธิบดี คพ. และทีมงาน ร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่หมู่บ้านคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และร่วมประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อติดตามการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

หลังจากที่มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้ คพ. ต้องฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนสารตะกั่วเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 สุด คพ. ได้ทำแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วบริเณลำห้วยคลิตี้ประจำปี พ.ศ. 2559-2561 แล้วซึ่งประกอบด้วย 6 แผนงาน คือ 1. จ่ายเงินค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว 2. ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและแผนการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร 3. ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว 4. ป้องกันการปนเปื้อนสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยจากพื้นที่เสี่ยง 5. ปรับปรุงประสิทธิภาพฝายหินทิ้งและจัดการตะกอนดินหน้าฝาย และ 6. จัดการตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วในหลุมฝังกลบเดิมที่เหลืออีก 4 หลุม

ภาพรวมกิจกรรมฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ
ภาพรวมกิจกรรมฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ

นางสาวจงจิตร์ นีรนาทเมธีกุล รองอธิบดี คพ. กล่าวว่า ได้ตั้งงบประมาณฟื้นฟูคลิตี้ 593.14 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2559-2561 ประกอบด้วย 4 แผนงาน คือ ก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย ฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนบริเวณโรงแต่งแร่ ฟื้นฟูลำหัวยคลิตี้บริเวณที่มีความเสี่ยงสูง และก่อสร้างฝายดักตะกอนเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ทั้งนี้ ทางสำนักงบประมาณจัดสรรเงินให้เป็น 3 งวด โดยงวดแรกได้รับงบประมาณ 118 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย และก่อสร้างฝายดักตะกอนก่อน

“การดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณก้อนแรกนี้คาดว่าจะเริ่มได้ต้นปี 2559 โดยปัจจุบัน คพ. กำลังร่าง TOR เพื่อให้เอกชนเข้ามาประมูลราคา และสามารถจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จภายในธันวาคม 2558” รองอธิบดี คพ. กล่าว

ด้านการสร้างหลุมฝังกลบอย่างปลอดภัย กําหนดใช้พื้นที่บริเวณบ่อหินผุทางเข้าเหมืองบ่องาม ซึ่งมีขนาดประมาณ 70 ไร่ แต่จะใช้จริงประมาณ 50 ไร่ตามที่ออกแบบไว้ คือหลุมลึก 3 เมตร สูง 2 เมตร สามารถบรรจุดินที่ปนเปื้อนได้ไม่น้อยกว่า 90,000 ลูกบาศก์เมตร และกําหนดวิธีบริหารจัดการหลุมฝังกลบฯ เป็น 2 ระยะ หรือ 2 ส่วนโดยทำคันกั้นระหว่างหลุม สำหรับระยะที่ 1 จะใช้สำหรับฝังกลบตะกอนจากลําห้วยคลิตี้และตะกอนจากพื้นที่โรงแต่งแร่และพื้นที่ใกล้เคียง แล้วปิดกลบหลุมส่วนแรก ส่วนระยะที่ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหลือนั้นจะรอฝังกลบตะกอนดินที่ขุดลอกจากหน้าฝายทั้ง 4 แห่งในอนาคต

พื้นที่บ่อหินผุ
พื้นที่บ่อหินผุ

ส่วนความปลอดภัยของบ่อออกแบบไว้ให้ก้นหลุมมีการบดอัดดินเหนียวและปูแผ่น HDPE เพื่อป้องกันรั่วซึมพร้อมวางระบบท่อระบายน้ำ รวมแล้วหนาประมาณ 1 เมตร หลังจากนั้นจึงนำตะกอนมาใส่ ซึ่งตะกอนดินที่นำมานั้นจะต้องให้แห้งหรือแข็งก่อนนำฝังกลบด้วย โดยเฉพาะตะกอนดินท้องน้ำที่ดูดมาจากลำห้วย สำหรับการปิดทับหลุมฝังกลบจะปิดทับด้วยดินดีหน้าประมาณ 0.30 เมตรกรณีปิดหลุมถาวร และใช้ผ้าใบหรือผ้ายางปิดหลุมไว้ในกรณีชั่วคราวที่อยู่ระหว่างลำเลียงตะกอนมาฝังกลบ

ทั้งนี้ ดินที่ขุดออกเพื่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัยที่บ่อหินผุนี้ คพ. จะนำไปสร้างถนนเชื่อมระหว่างคลิตี้บนและคลิตี้ล่างให้ดีขึ้น เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่าดินไม่ปนเปื้อนสารตะกั่ว ซึ่งขณะนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อนุญาตให้ คพ. ใช้พื้นที่บ่อหินผุสร้างหลุมฝังกลบได้แล้ว เหลือกรมป่าไม้ที่อยู่ระหว่างประสานงานเพื่อขออนุญาต คาดว่าจะไม่ติดปัญหาใด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ค่อนข้างโล่งและมีต้นไม้น้อย ต่างจากบริเวณเหมืองบ่องามที่ คพ. จะใช้ในตอนแรกแต่กรมอุทยานฯ ไม่อนุญาตเพราะมีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก

การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

รองอธิบดี คพ. กล่าวว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2556-2557 คพ. โอนงบประมาณ 5.5 ล้านบาท ให้กับกรมทรัพยากรน้ำเพื่อก่อสร้างปรับปรุงฝายหินทิ้งเดิมจํานวน 2 แห่ง คือฝาย KC4 และ KC4/1 โดยช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีตะกอนดินท้องน้ำสะสมอยู่หน้าฝายดักตะกอน KC4 หนา 0.28–0.75 เมตร คิดเป็นปริมาณตะกอนท้องน้ำหน้าฝายรวม 125.24 ลูกบาศก์เมตร หรือ 266.76 ตัน และมีระดับการปนเปื้อนตะกั่วในตะกอนดินอยู่ในช่วง 1,565-183,360 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) ส่วน KC4/1 พบตะกอนดินท้องน้ำหนา 0.21–0.73 เมตร คิดเป็นปริมาณตะกอนท้องน้ำหน้าฝายรวม 104.98 ลูกบาศก์เมตร หรือ 223.62 ตัน และมีระดับการปนเปื้อนตะกั่วในตะกอนดินอยู่ในช่วง 2,466–135,820 มก./กก.

สำหรับการขุดลอกตะกอนหน้าฝายจะไม่ปล่อยให้สะสมสูงเกินกว่า 0.5–1 เมตร โดยจะเริ่มดําเนินโครงการในปี 2559 หลังจากก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัยแล้วเสร็จ เพื่อนำตะกอนหน้าฝายไปฝังกลบบริเวณหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย นอกจากนี้ คพ. ยังสร้างฝายดักตะกอนเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ ด้านบนของต้นลำห้วยที่บริเวณป่าช้ามอญใกล้กับจุด KC3 และด้านท้ายลำห้วยใต้ฝาย KC4/1 ที่บริเวณก่อนถึงโบสถ์คลิตี้ล่าง

แนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จุดเก็บตัวอย่างของ คพ.   ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ
แนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จุดเก็บตัวอย่างของ คพ. ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ

ด้านการขุดลอกลำห้วยคลิตี้ ล่าสุดได้สรุปแผนการฟื้นฟูลำห้วยโดยแบ่งเป็น 7 ช่วงตลอดลำห้วยตั้งแต่โรงแต่งแร่จนถึงจุดบรรจบลำคลองงู โดยแต่ละช่วงมีการฟื้นฟูที่แตกต่างกัน ดังนี้

ช่วงที่ 1 บริเวณสะพานหลังบ้านผู้ใหญ่ถึงบริเวณโรงแต่งแร่คลิตี้ ไม่ขุดลอกแต่ติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพบการปนเปื้อนต่ำจึงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพต่ำ

ช่วงที่ 2 บริเวณโรงแต่งแร่ ถึงบริเวณป่าช้ามอญ ใช้แนวทางดูดตะกอนทั้งช่วงและก่อสร้างฝายเพิ่มเติม 1 ฝาย เพื่อดักตะกอนและดูดตะกอนบริเวณตะกอนหน้าฝายไปกําจัด เนื่องจากพบว่ามีความเสี่ยงสูง

ช่วงที่ 3 บริเวณป่าช้ามอญถึงฝายดักตะกอนแห่งที่ 1 (โพธิ์ใหญ่หรือ KC4) พบว่ามีความเสี่ยงปานกลาง จึงพิจารณาให้ดูดตะกอนบริเวณหน้าฝายไปกําจัด

ช่วงที่ 4 บริเวณฝาย KC4 ถึงฝายดักตะกอน แห่งที่ 2 (เหมืองสังกะสีหรือ KC4/1) พบว่ามีความเสี่ยงปานกลาง จึงพิจารณาใช้ดูดตะกอนบริเวณหน้าฝาย KC4/1 ไปกําจัด

ช่วงที่ 5 บริเวณฝาย KC4/1 ถึงโบสถ์คลิตี้ล่าง เนื่องจากมีความเสี่ยงปานกลาง จึงก่อสร้างฝายเพิ่มเติม 1 ฝาย บริเวณโบสถ์คลิตี้ล่าง เพื่อดักตะกอนและดูดตะกอนบริเวณหน้าฝายไปกําจัด

ช่วงที่ 6 บริเวณโบสถ์คลิตี้ล่าง ถึงน้ำตกท้ายหมู่บ้าน พบว่ามีความเสี่ยงสูง จึงพิจารณาให้ดูดตะกอนทั้งช่วง ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการดูดตะกอนในลำห้วยคลิตี้

ช่วงที่ 7 บริเวณน้ำตกท้ายหมู่บ้านจนถึงจุดบรรจบลําคลองงู พบว่ามีการปนเปื้อนต่ำ จึงกําหนดให้ติดตาม ตรวจสอบการปนเปื้อนของตะกอนตะกั่วอย่างต่อเนื่อง

บริเวณน้ำตกท้ายลำห้วยซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่จะดูดตะกอน
บริเวณน้ำตกท้ายลำห้วยซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่จะดูดตะกอน

ทั้งนี้ ในระยะแรก คพ. จะเริ่มต้นดูดตะกอนในช่วงที่ 2 ก่อนเพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเริ่มดําเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และในระยะที่ 2 จะดูดตะกอนในช่วงที่ 6 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยหากพบว่ามีผลกระทบในการดําเนินการในบ้านคลิตี้บนก็ให้ปรับแผนการดําเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม การดูดตะกอนในลําห้วยคลิตี้ต้องระมัดระวังบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ เพราะอาจจะทำให้ต้นไม้และตลิ่งที่รากต้นไม้ยึดพังได้

สำหรับการขุดลอกหรือดูดตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้นั้นตอนนี้ยังไม่ได้สรุปว่าจะใช้วิธีการใด ที่เท่าที่มีคนเสนอคือการใช้เรือหรือแพขนาดเล็กล่องไปตามลำห้วยแล้วดูดในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งปัญหาสำคัญคือตะกอนที่ดูดขึ้นมาจะผสมน้ำจำนวนมาก ดังนั้นจึงคิดขจัดน้ำออกจากตะกอนดินไว้ 2 ทาง คือ 1. นำตะกอนมาพักไว้ที่บ่อซึ่งขุดเตรียมไว้แล้วที่ข้างลำห้วยใก้กับฝาย และ 2. นำตะกอนใส่ถุงจีโอเทกซ์ไทล์ซึ่งมีความละเอียดสูงจึงยอมให้น้ำผ่านได้แต่ตะกอนดินผ่านไม่ได้ แล้วปิดปากถุงตั้งรอให้น้ำซึมออกจนแห้ง แล้วจึงนำไปฝังกลบทั้งถุง “ใจจริงไม่อยากทั้งขุดหรือดูดตะกอนเนื่องจากสภาพพื้นที่มีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก แต่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยและมีคำสั่งศาลออกมาแล้วเราก็ต้องปฏิบัติตาม” รองอธิบดีกล่าว

สภาพพื้นที่บ่อพักตะกอนที่อยู่ริมลำห้วย ณ ฝาย KC4
สภาพพื้นที่บ่อพักตะกอนที่อยู่ริมลำห้วย ณ ฝาย KC4

การฟื้นฟูพื้นที่บริเวณโรงแต่งแร่และพื้นที่ใกล้เคียง

ด้านการฟื้นฟูพื้นที่บริเวณโรงแต่งแร่และพื้นที่ใกล้เคียง คพ. และคณะอนุกรรมการฯ มีมติใช้ค่าเป้าหมายที่ปริมาณตะกั่วพื้นฐานที่ 821 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อัยและเกษตรกรรมตามประกาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2547 ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 400 มก./กก. และพื้นที่ทั่วไปไม่เกิน 750 มก./กก. แต่เนื่องจากพื้นที่คลิตี้ทั้งหมดคุณภาพเกินเกณฑ์ดังกล่าว แต่จากการวิเคราะห์ทางสถิติของพื้นที่พบว่าค่า 821 มก./กก. นั้นไม่ทำให้ค่าตะกั่วในเลือดของเด็กสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานที่ 10 ไมโครกรัม/เดซิลิตร

สำหรับพื้นที่โรงแต่งแร่เดิมทั้งบ่อกักเก็บตะกอนหางแร่เดิมและบริเวณลานกองแร่เดิม จะปิดคลุมด้วยดินที่ไม่ปนเปื้อนสารตะกั่วจากภายนอกมากลบทับหนาประมาณ 0.60 เมตร หลังจากนั้นจะล้อมรั้วกั้นไม่ให้ผู้ใดบุกรุก ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เคยดำเนินการปิดทับด้วยดินที่ไม่ปนเปื้อนสารตะกั่วมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงปี 2542-2543 หลังจากที่สั่งปรับและปิดกิจการโรงแต่งแร่ดังกล่าว

ส่วนพื้นที่ใกล้เคียงโรงแต่งแร่ ด้านบ่อกักเก็บที่อยู่ห่างจากโรงแต่งแร่เดิมมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 500 เมตร และพื้นที่ใกล้ถนนทางเข้าโรงแต่งแร่เดิมที่นำกากแร่มาถมนั้นจะแก้ไขโดยปิดคลุมด้วยดินจากภายนอกมากลบทับหนาประมาณ 1 เมตร ด้านกองกากแร่ที่กระจายภายนอกโรงแต่งแร่เดิมจํานวน 3 กอง จะแก้ไขโดยการขุดหรือตักดินจนถึงระดับดินเดิมออกมาจะปรับเสถียรก่อนที่จะนําไปฝังกลบที่บ่อหินผุ แล้วเติมหลุมที่ขุดไปด้วยดินจากภายนอกที่ไม่ปนเปื้อนสารตะกั่ว สำหรับบ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะต้องปกคลุม คพ. จะเทพื้นซีเมนต์ให้แทนพื้นดิน

ด้านหลุมฝังกลบตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วเดิมที่เหลืออีกจํานวน 4 หลุม คพ. จะขุดหรือตักดินจนถึงระดับดินเดิมและนําดินจากภายนอกมากลบทับ ส่วนดินที่ขุดออกมานั้นจะปรับเสถียรก่อนที่จะนำไปฝังกลบที่บ่อหินผุ ทั้งนี้ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงว่าจะรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย เช่นบริเวณสนามเด็กเล่นโรงเรียนบ้านคลิตี้ล่าง หากมีค่าตะกั่วเกินมาตรฐานจะนำดินสะอาดมาปิดคลุม

พื้นที่โรงแต่งแร่และบริเวณใกล้เคียง ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ
พื้นที่โรงแต่งแร่และบริเวณใกล้เคียง ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ

แผนการติดตามตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

นางสาวจงจิตร์กล่าวว่า คพ. กําหนดแผนเก็บตัวอย่างคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้ง น้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำครอบคลุมทุกฤดูกาลรวม 4 ครั้งต่อปี โดยเก็บตัวอย่าง สิ่งแวดล้อมทั้งหมด 11 จุด ในปี 2556–2558 ได้เก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมจํานวน 10 ครั้ง คือ มีนาคม มิถุนายน กันยายน ธันวาคม 2556 มีนาคม มิถุนายน กันยายน ธันวาคม 2557 และ มีนาคม มิถุนายน 2558 ซึ่งครั้งล่าสุดอยู่ ระหว่างรอผลการวิเคราะห์

ด้านผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมเดือนมีนาคม 2558 พบว่า ค่าตะกั่วในน้ำทั้งหมดอยู่ในช่วง 0.01–0.034 มิลลิกรัมต่อลิตร (มก./ล.) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในตะกอนดินท้องน้ำมีค่าตะกั่วสูงมากเฉลี่ยที่ 30,344 มก./กก. และบางจุดสูงกว่า 200,000 มก./กก. เกินเกณฑ์มาตรฐานดินของ คพ. ที่กำหนดไว้ 35.8 มก./กก. ด้านปริมาณตะกั่วในดินธรรมชาติพบว่า ดินบริเวณโรงแต่งแร่มีตะกั่วสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานในช่วง 350-1,200 มก./กก.สำหรับพืชผักที่ตรวจพบตะกั่วเกินค่ามาตรฐานคือ กะเพรา ข่า

ส่วนสัตว์น้ำทั้งปลา กุ้ง หอย ปู นั้นมีสัดส่วนเกินค่ามาตรฐานร้อยละ 26 40 86 และ 56 ตามลำดับของจำนวนตัวอย่างที่เก็บได้ นั่นคือมีเพียงบางจุดของลำห้วยเท่านั้นที่สามารถบริโภคสัตว์น้ำได้บางชนิด เช่น ปลาเวียนบางจุดสามารถบริโภคได้แต่เฉพาะเนื้อตัวปลาเท่านั้น

สำหรับผลการวิเคราะห์ที่ได้ คพ. จะจัดทำเป็นโปสเตอร์และปิดประกาศไว้ที่จุดศูนย์กลางของหมู่บ้าน เช่น ที่องค์การบริหารส่วนตำบลชะแล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านคลิตี้ ที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ และวัดคลิตี้ล่าง

จุดเก็บตัวอย่างของ คพ.   ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ
จุดเก็บตัวอย่างของ คพ. ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ

การช่วยเหลืออื่นๆ-ตรวจสุขภาพ

ด้านการตรวจเลือดชาวบ้านคลิตี้ ที่ผ่านมาชาวบ้านคลิตี้ชี้แจ้งว่าการตรวจเลือดแต่ละครั้งไม่เคยได้รับผลตรวจเลือดเลยจึงทำให้ไม่ต้องการเลือดเลือดในครั้งต่อๆ มา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมตำบลชะแล สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี (สสจ.) ได้จำนวนตัวอย่างเลือดน้อย ในประเด็นดังกล่าวนายแพทย์ ดร.อนุพงศ์ สุจริตกุล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 อ.เมือง จ.ราชบุรี กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาสาธารณสุขขาดความพร้อมเรื่องอุปกรณ์และเครื่องมือการตรวจตะกั่วในเลือด ทำให้เกิดอุปสรรคในการวินิจฉัย แต่ปัจจุบันได้ซื้อเครื่องมือมาพร้อมแล้ว และล่าสุดได้เก็บตัวอย่างเลือดชาวบ้านไปประมาณ 1,900 คนซึ่งอยู่ระหว่างวิเคราะห์ผลเลือด

ส่วนกรณีการรายงานผลตรวจเลือดแก่ชาวบ้านนั้น ทำไม่ได้เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย อีกทั้งการตรวจเลือดครั้งแรกเป็นเพียงการตรวจเบื้องต้นเท่านั้นซึ่งทางการแพทย์จะไม่ยืนยันผลให้เพราะผลอาจคลาดเคลื่อนได้ ต้องไปตรวจซ้ำอีกครั้งที่โรงพยาบาลถึงออกใบรับรองผลการตรวจให้ ทั้งนี้การร้องขอให้ตรวจเลือดชาวบ้านคลิตี้ทุกคนนั้นตอนนี้เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสูงที่ตัวอย่างละ 300 บาท ซึ่งที่ผ่านมา สสจ. ใช้งบประมาณตรวจปีละ 6-7 แสนบาท อีกทั้งโรงพยาบาลทองผาภูมิซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบคลิตี้ใช้งบอีกปีละประมาณ 1 แสนบาท

แต่อย่างไรก็ตามทาง สสจ. รับทราบแล้วว่าชาวบ้านคลิตี้ต้องการทราบผลเลือดเป็นตัวเลขค่าสารตะกั่ว ไม่ใช่เพียงบอกว่าเกินหรือไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งจะนำข้อมูลนี้ไปแจ้งให้ผู้บริหารรับทราบและดำเนินการแก้ไขต่อไป

ด้านสาธารณูปโภค เรื่องไฟฟ้าปัจจุบันทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจัดสรรงบประมาณให้ 40 ล้านบาทเพื่อติดตั้งไฟฟ้าให้กับหมู่บ้านคลิตี้ แต่การดำเนินการยังอยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมอุทยานฯ ทั้งนี้ทาง คพ. จะช่วยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมอุทยานฯ ให้อีกทางหนึ่ง ส่วนเรื่องน้ำอุปโภคกรมทรัพยากรน้ำโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 กำลังทำประปาภูเขาให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างประกวดราคาซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ นอกจากนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลโดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 2 ได้เจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่คลิตี้ล่าง 1 บ่อบริเวณโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งติดตั้งเครื่องสูบไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากยังไม่มีไฟฟ้าจึงยังไม่สามารถใช้งานได้