ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > คลังทำงบขาดดุลต่อเนื่องมา 10 ปี คาดปี’64 หนี้ชนเพดาน 60% ถ้าเศรษฐกิจโตไม่ถึง 5% เตรียมรื้อกรมภาษีชุดใหญ่เพิ่มการจัดเก็บ ยันปีนี้ไม่มี “ถังแตก” แต่มอนิเตอร์กระแสเงินสดเป็นรายวัน

คลังทำงบขาดดุลต่อเนื่องมา 10 ปี คาดปี’64 หนี้ชนเพดาน 60% ถ้าเศรษฐกิจโตไม่ถึง 5% เตรียมรื้อกรมภาษีชุดใหญ่เพิ่มการจัดเก็บ ยันปีนี้ไม่มี “ถังแตก” แต่มอนิเตอร์กระแสเงินสดเป็นรายวัน

9 สิงหาคม 2015


จากที่รัฐบาลมีรายจ่ายประจำและรายจ่ายในการชำระคืนต้นเงินกู้เพิ่มขึ้นทุกปี และเพื่อรักษาสัดส่วนของงบลงทุนให้มีวงเงินเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จำเป็นต้องมีการจัดทำงบประมาณแบบ “ขาดดุล” อย่างต่อเนื่อง ขณะที่กรอบวินัยทางการคลัง กำหนดให้มีการจัดทำงบสมดุลภายในปี 2560 ปรากฏว่าปี 2559 รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งงบขาดดุลสูงถึง 390,000 แสนบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 140,000 ล้านบาท การจัดงบฯ ขาดดุลมาอย่างต่อเนื่องจะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตหรือไม่

งบขาดดุล 10ปี

ปี 2564 หนี้สาธารณะพุ่งชนเพดาน 60% ของจีดีพี

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 กระทรวงการคลังเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ อาทิ สำนักงบประมาณ, สภาพัฒน์, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อประเมินความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต 4-5 ปีข้างหน้า คาดว่าปีงบประมาณ 2564 สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศจะอยู่ที่ระดับ 60% ของจีดีพี เพิ่มจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 47% หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 5% ต่อปี ก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่เศรษฐกิจไม่ดี คงต้องเตรียมแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เริ่มตั้งแต่เรื่องการปรับโครงสร้างกรมสรรพากร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดเก็บภาษีให้กับรัฐบาล โดยการดึงนักบริหารมืออาชีพจากภาคเอกชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่บริหารการจัดเก็บภาษี เหมือนกับกรมสรรพากรของประเทศสิงค์โปร์ หรือนิวซีแลนด์ (ดูเพิ่มเติม “New normal” เศรษฐกิจไทยจากที่เคยโตเฉลี่ย 5% ในทศวรรษนี้จะโตเฉลี่ยเหลือ 3% ต่อปีเท่านั้น )

หนี้สาธารณะต่อGDP

“ช่วงที่ผมทำงานอยู่ที่กรมสรรพากร เคยมีการนำแผนการปรับโครงสร้างกรมสรรพากรให้กับรัฐบาลขณะนั้นพิจารณา โดยโครงสร้างใหม่นั้น กรมสรรพากรจะไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล แต่จะได้รับส่วนแบ่งจากการจัดเก็บภาษีให้กับรัฐบาล 2% ของภาษีที่จัดเก็บได้ ยกตัวอย่าง เก็บภาษีได้ 2 ล้านล้านบาท จะได้รับส่วนแบ่ง 40,000 ล้านบาท เป็นค่าบริหารจัดการของกรมสรรพากร เช่น เงินเดือนของบอร์ด ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สรรพากร รวมไปถึงเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีด้วย หากกรมสรรพากรเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า บอร์ดที่ทำหน้าที่บริหารการจัดเก็บภาษีต้องลาออก ปรากฏว่ารัฐบาลขณะนั้นไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว เรื่องนี้จึงไม่มีความคืบหน้า” นายรังสรรค์กล่าว

ยันฐานะการคลังปี’58 ไม่มี “ถังแตก” สั่งบัญชีกลาง-สบน. มอนิเตอร์รายวัน

นายรังสรรค์กล่าวต่อว่า การดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง เดิมทีกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณตั้งเป้าหมายที่จะจัดทำงบฯ สมดุลปี 2560 แต่เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศชะลอตัวลงด้วย ปีงบประมาณ 2558 คาดว่ากรมสรรพากรจะเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 1.6 แสนล้านบาท

“การจัดทำงบฯ สมดุลในปี 2560 คงจะลืมไปได้เลย ถามว่าอันตรายไหม ขณะนี้ผมได้สั่งการให้กรมบัญชีกลางและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะคอยติดตามเป็นรายวัน ยืนยันเรื่องการบริหารกระแสเงินสดของรัฐบาล ไม่ต้องห่วงว่าจะมีปัญหา” นายรังสรรค์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ณ ขณะนี้ สถานการณ์ทางการคลังเป็นอย่างไร นายรังสรรค์กล่าวว่า “ไม่ต้องห่วง ถึงแม้ปีนี้รัฐบาลเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท มีงบประมาณค้างท่ออีก 1 แสนล้านบาท แต่ในขณะนี้รัฐบาลมีเงินคงคลังคงค้างกว่า 2 แสนล้านบาท และยังมีวงเงินกู้เหลือเพียงพอที่จะใช้ในการเบิกจ่ายงบฯ ปี 2558 ถามว่างบประมาณจะเข้าสู่จุดสมดุลได้เมื่อไหร่ เจ้าหน้าที่ที่ศึกษาเรื่องนี้คาดว่าปี 2564 น่าจะจัดทำงบฯ สมดุลได้ แต่เศรษฐกิจไทยต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี”

ผู้สื่อข่าวถาม ปี 2560 รัฐบาลไม่สามารถจัดทำงบฯ สมดุลในตามเป้าหมาย ต้องออกพันธบัตรมากู้เงินมาทำงบขาดดุลต่อไปอีกจะทำให้เกิดวิกฤติทางการคลังหรือไม่ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า “การบริหารการคลังของประเทศ เปรียบเสมือนการทำธุรกิจของภาคเอกชน นักธุรกิจส่วนใหญ่ต้องกู้เงินมาขยายกิจการ ดังนั้น หากต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็ต้องกู้เงิน แต่ที่สำคัญมีวงเงินกู้เท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น อย่างในงบประมาณปี 2559 วงเงิน 2.7 ล้านล้านบาท รัฐบาลกู้เงินมาใช้เป็นงบลงทุนได้แค่ 543,000 ล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจก็มีงบลงทุนประมาณ 5-6 แสนล้านบาทเท่านั้น”

สำหรับมาตรการขยายฐานหรือเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีในอนาคต นายรังสรรค์กล่าวว่า ในส่วนของกรมสรรพสามิต ก็จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ขยายฐานการจัดเก็บภาษีจากหน้าโรงงาน ไปเก็บภาษีจากราคาขายปลีกธุรกิจรถยนต์ ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จัดตั้งบริษัทขึ้นมาทำหน้าที่รับซื้อรถจากโรงงานขายให้กับดีลเลอร์หรือตัวแทนจำหน่าย ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ยกตัวอย่าง รถยนต์ราคา 1 ล้านบาท ออกจากโรงงานเสียภาษีสรรพสามิตที่ราคา 5 แสนบาท บริษัทกลางรับรถไปส่งให้ดีลเลอร์ราคา 9 แสนบาท หลังจากรถยนต์ออกจากโรงงานไปแล้วกรมสรรพสามิตไม่มีอำนาจตามกฎหหมายที่จะไปเก็บภาษีบริษัทกลางที่ทำหน้าที่ส่งรถให้ดีเลอร์ หาก พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ในอนาคตกรมสรรพสามิตก็จะเก็บภาษีจากราคาขายปลีกหักถอนกลับไปหาราคาต้นทุน ซึ่งอาจจะคำนวณภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ราคา 9 แสนบาท

นอกจากนี้ก็ยังมีแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสุรา ปัจจุบันทั่วประเทศมีสุราชุมชนเป็นจำนวนมาก ปรากฏว่ามีโรงงานผลิตสุราชุมชนขนาดใหญ่ใช้เครื่องจักรเกิน 5 แรงม้า จะมาขอใบอนุญาตผลิตสุรากับกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ เพราะไม่เป็นไปตามนโยบายและหลักการของกฏหมาย ล่าสุดตนได้สั่งการให้กรมสรรพสามิตเก็บภาษีตามปริมาณการผลิตที่เกิดขึ้นจริง ส่วนเรื่องใบอนุญาตเป็นหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ในส่วนของกรมสรรพากร ก็มีภาษีการรับมรดก ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และกำลังจะมีผลบังคับใช้อีก 180 วัน ระหว่างนี้กรมสรรพากรต้องออกกฎหมายลูก เพื่อกำหนดระเบียบและวิธีปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีตามมาในเร็วๆ นี้

ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ประชุมร่วมกับกรมสรรพากร เพื่อติดตามการจัดเก็บภาษี E-Commerce เจ้าหน้าที่สรรพากรรายงานให้ทราบว่าใช้เจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลจากเว็บไซด์ แต่ยังไม่ได้ขยายฐานเจาะลึก หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าธุรกิจ E-Commerce มีสต็อกสินค้าในประเทศหรือสั่งซื้อตรงจากต่างประเทศ รวมทั้งวิธีการชำระเงินค่าสินค้า ผ่านช่องทางใด ซึ่งในบางกรณีเจ้าของสินค้าไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าโดยตรง แต่ให้บริษัทอื่นรับเงินค่าสินค้าแทน

“ผมจึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปขยายฐานภาษี E-Commerce เชิงลึก ทำบัญชีเป็น 2 ฝั่ง คือประเภทที่มีสต็อกสินค้าในประเทศ กับสั่งซื้อสินค้าส่งตรงมาจากต่างประเทศ ส่วนนี้ให้ไปเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลกรมศุลกากรที่ดูแลการนำเข้าสินค้าผ่านทางท่าเรือและท่าอากาศยาน นำข้อมูลเหล่านี้บันทึกในโปรแกรมคอมพิวเตอร์กรมสรรพากร พร้อมกับเส้นทางเดินเงิน เพื่อตรวจสอบภาษี ดูความเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ E-Commerce ทั้งสาย ที่ผ่านมากรมสรรพากรแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ศุลกากรเป็นเจ้าพนักงานประเมิน แต่ไม่ใด้ดูข้อมูลผู้เสียภาษี ถือเป็นความลับ กรณีส่งออกได้รับยกเว้นภาษี กรมศุลกากรก็ไม่สนใจ ไม่ได้ส่งข้อมูลส่วนนี้ให้สรรพากร ซึ่งนำไปใช้ในการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาได้ สรรพสามิตก็ไม่ให้ข้อมูลสูตรการผลิตให้ศุลกากรหรือสรรพากรตรวจสอบต้นทุนของสินค้า ถือเป็นความลับ ในอนาคตงานตรวจสอบภาษีต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณการ” นายรังสรรค์กล่าว

ส่วนการเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณนั้น รัฐบาลกำลังแก้ไขกฏหมายงบประมาณ เพื่อบังคับให้หน่วยงานของรัฐที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐสภาแล้วไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ ถึงสิ้นปีงบประมาณมาขอกันไว้ใช้จ่ายต่อปีหน้าเป็นงบฯ เหลื่อมปี งบประมาณประเภทนี้จะต้องถูกโอนไปให้โครงการลงทุนที่มีความพร้อม ไม่มีการกันงบฯ ไว้ใช้ปีหน้าอีกต่อไป คาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้สิ้นปี 2559 นี้

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง

ปลัดคลังแจงผลงานก่อนเกษียณ

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2558 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงกรอบการดำเนินงานตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2558–2559 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งประกอบด้วย 6 มาตรการหลัก ดังนี้

1. การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐต่อรัฐและการเข้าร่วมลงทุนของภาคเอกชนที่มีความพร้อมในการดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2558-2559 ภายในกรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.95 ล้านล้านบาท โดยเป็นวงเงินกู้ประมาณ 0.92 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ การติดตามความก้าวหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในปี 2557 มีการเบิกจ่าย 906 ล้านบาท โดยภายในปี 2558 จะเบิกจ่ายได้ทั้งหมด 108,318 ล้านบาท

2. การส่งเสริมการลงทุน โดยเร่งรัดโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว เช่น การส่งเสริมการลงทุนทั่วไป และการส่งเสริมการลงทุนที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เศรษฐกิจดิจิทัล และกิจการที่เกี่ยวกับการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ [กิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) และกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ)] เป็นต้น โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 มูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อยู่ที่ 71,140 ล้านบาท และมูลค่าการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 412,690 ล้านบาท โดยโครงการที่ขอรับการส่งเสริมส่วนใหญ่เป็นกิจการเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เช่น นโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เงินลงทุน 14 ล้านบาท นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล เงินลงทุน 1,855 ล้านบาท และนโยบายส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เงินลงทุน 817 ล้านบาท (กิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ 457 ล้านบาท และกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ 210 ล้านบาท)

3. มาตรการการเงินการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย 6 มาตรการย่อย ได้แก่

3.1 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย ประกอบด้วย 1. มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เช่น การให้ความช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท และ โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ 1,000 บาท 2. มาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาตรการช่วยเหลือประชาชนรายย่อย โดยธนาคารออมสิน และมาตรการสินเชื่อเพื่อชำระหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) นอกจากนี้ มีโครงการที่อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ได้แก่ โครงการปรับโครงสร้างการผลิตในพื้นที่เขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา การพัฒนาแหล่งอาหารของชุมชน สร้างรายได้ และพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางการเกษตรจากความแห้งแล้ง และการช่วยเหลือและเยี่ยมเยียนเกษตรกร โดยศูนย์ช่วยเหลือเกษตรกรประจำตำบล (ศชก.) และคลินิกเกษตรเคลื่อนที่

3.2 มาตรการการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น เช่น 1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/2558 และ 2. โครงการสร้างรายได้และพัฒนาเกษตรกร และการจ้างงานของกรมชลประทานในภัยแล้ง ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/2559

3.3 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) (Soft Loan) ประกอบด้วย 1. โครงการ Policy Loan โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และ 2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เช่น โครงการค้ำประกันสินเชื่อลักษณะ PGS สำหรับผู้ประกอบการ OTOP และวิสาหกิจชุมชน โครงการค้ำประกันสินเชื่อลักษณะ PGS สำหรับผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs และโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up)

3.4 มาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วย
1) การปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (ระยะที่ 1)
2) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC)
3) มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา
4) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสนับสนุนการลงทุนของนิติบุคคลในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
5) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ
6) ขยายระยะเวลาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7%
7) มาตรการปรับเกณฑ์การเสียภาษีสรรพสามิต ECO Car เครื่องยนต์ดีเซล

3.5 มาตรการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Business หรือ Social Enterprises) เช่น มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคเพื่อสังคม

3.6 อื่นๆ เช่น (1) มาตรการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย (Nano-Finance) โดยตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2558 จนถึงปัจจุบัน (วันที่ 29 กรกฎาคม 2558) มีผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จำนวน 20 บริษัท และมีบริษัทเปิดให้บริการแล้ว 4 ราย และ (2) การจัดตั้งนิติบุคคลร่วมลงทุน (Venture Capital Company: VCC) ระยะเวลาการจดทะเบียน ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559

4. การกระตุ้นโครงการที่มีอยู่ในงบประมาณประจำปี เช่น 1. งบประมาณรายจ่ายที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2559 (วงเงินปี 2558 เท่ากับ 157,423.95 ล้านบาท) และ 2. โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน (ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2) วงเงินอนุมัติ 77,096 ล้านบาท (แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระยะเร่งด่วน ประจำปีงบประมาณ 2558 (เพิ่มเติม) 37,603 ล้านบาท และแผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท 39,493 ล้านบาท)

5. การให้ความช่วยเหลือของกองทุนหมุนเวียนและกองทุนหมู่บ้าน ปัจจุบัน (ณ ไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2558) มีการใช้จ่ายเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 114 กองทุน/เงินทุน มีการเบิกจ่ายแล้ว 354,371.30 ล้านบาท หรือร้อยละ 58.44 ของแผนการใช้จ่ายเงิน จำนวน 606,374.73 ล้านบาท ในส่วนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 200,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง ให้เกิดพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ยังพบปัญหาของกองทุนบางแห่ง ได้แก่ การบริหารงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง มีการบริหารงานขาดประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส สมาชิกของกองทุนฯ มีหนี้ค้างชำระ และไม่มีการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานของกองทุนให้มีประสิทธิภาพ

6. การปรับปรุงระบบการบริหารสหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงาน (Roadmap) เป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การพัฒนาฐานรากการกำกับดูแลสหกรณ์ (เดือนมิถุนายน–กันยายน 2558) ระยะที่ 2 การสร้างระบบและเครื่องมือในการกำกับดูแลสหกรณ์ (เดือนตุลาคม 2558 – กันยายน 2559) ระยะที่ 3 การเสริมสร้างไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน (เดือนตุลาคม 2559 – กันยายน 2560) ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายสหกรณ์ทั้งในเรื่องของการจำแนกประเภทสหกรณ์ให้ชัดเจนการจัดเกรดสหกรณ์ การทบทวนอำนาจนายทะเบียน การระดมทุน และการบริหารจัดการ

ส่วนความคืบหน้าของโครงการสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อยหรือนาโนไฟแนนซ์ นายรังสรรค์กล่าวว่า “ปัจจุบัน นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ไปแล้ว 12 ราย ได้แก่ 1. บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด 2. บริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด 3. บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท สหไพบูลย์ (2558) จำกัด 5. บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท เมืองไทยลิสซิ่ง จำกัด 7. บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด (ศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ) 8. บริษัท ไมด้าลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) 9. บริษัท โดเมสติค แคปปิตอล 2015 จำกัด 10. บริษัท อินเทลลิเจนท์ ทีที พาวเวอร์ จำกัด 11. บริษัท ทีเค เงินทันใจ จำกัด และ 12. บริษัท เจ เอ็ม ที พลัส จำกัด ในจำนวนนี้ มีจำนวน 3 บริษัทที่ให้สินเชื่อแล้ว ได้แก่ 1. บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด 2. บริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด และ 3. บริษัท เมืองไทยลิสซิ่ง จำกัด ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าแล้วประมาณ 600 ราย หรือคิดเป็นสินเชื่อประมาณ 10.9 ล้านบาท”