ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > แบงก์ชาติเปิดตัวเลขหนี้ผิดนัดชำระ 1-3 เดือนทะลุกว่า 3 แสนล้านบาท – แบงก์พาณิชย์โปะสำรองเพิ่มกว่า 2 หมื่นล้าน

แบงก์ชาติเปิดตัวเลขหนี้ผิดนัดชำระ 1-3 เดือนทะลุกว่า 3 แสนล้านบาท – แบงก์พาณิชย์โปะสำรองเพิ่มกว่า 2 หมื่นล้าน

12 สิงหาคม 2015


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถานบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 2 ปี 2558 ว่ามียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น 13,300 ล้านบาท จาก 298,300 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2558 เป็น 311,600 ล้านบาทในไตรมาสนี้ โดยมีสาเหตุหลักจากธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ธุรกิจภาคพาณิชย์ และธุรกิจภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมแล้ว หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นจาก 2.29% เป็น 2.38% เท่านั้น ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่ก็ตาม

ทั้งนี้ เมื่อเทียบมาตั้งแต่ปี 2557 พบว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 279,800 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2557 จากนั้นปรับขึ้นตลอดมาเป็น 283,700 ล้านบาท, 294,100 ล้านบาท 277,200 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2 3 4 ของปี 2558 ตามลำดับ และในไตรมาสแรกของปี 2558 จำนวน 298,300 ล้านบาท

ขณะที่หนี้จัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ หรือเอสเอ็ม (SM: Special Mention Loan) หรือหนี้ที่ผิดชำระหนี้ตั้งแต่ 1-3 เดือน ได้เริ่มปรับตัวลดลงจาก 366,200 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2558 เหลือเพียง 355,600 ล้านบาทในไตรมาสนี้ และเมื่อเทียบย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2557 พบว่าระดับของหนี้เอสเอ็มยังอยู่ในระดับสูง จากเดิมที่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 – ไตรมาส 4 ของปี 2557 มีระดับหนี้เอสเอ็มที่ 295,600 ล้านบาท, 288,600 ล้านบาท, 298,700 ล้านบาท และ 319,800 ล้านบาท ก่อนจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในไตรมาสแรกของปี 2558 เป็น 366,200 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 5 หมื่นล้านบาท

นายจาตุรงค์กล่าวถึงแนวโน้มของหนี้เสียในอนาคตว่า ถ้าดูจากที่ผ่านมาจะพบว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อยู่ที่ 2.2% กว่าๆ ซึ่งเป็นการปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ในปัจจุบันทางธนาคารพาณิชย์เองได้มีความพยายามที่จะดูแลลูกหนี้เป็นพิเศษอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการโอนหรือตัดขายออกไป ซึ่งจะสะท้อนอยู่ในผลประกอบการของธนาคาร แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่ายังไม่ได้มีผลกระทบมาก โดยกำไรของธนาคารได้ลดลงประมาณ -10.9% ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการกันสำรองเพิ่มมากขึ้นด้วย

“แนวโน้มของหนี้เสียตอบยาก เพราะมันขึ้นอยู่กับการจัดการของแบงก์เยอะพอสมควร ถ้าไปดูเดือนธันวาคมปีที่แล้วมันลดลงเยอะ เพราะแบงก์มีการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การตัดขายหรือโอนหนี้ไป แต่ตอนนี้ถ้าเอามารวมอาจจะวิเคราะห์ลำบาก เพราะบางส่วนก็กลับมาเป็นหนี้ดีด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่อยากจะสรุปว่ามากน้อยแค่ไหน กำลังดูอยู่” นายจาตุรงค์กล่าว(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

หนี้ถูกจัดชั้นพิเศษ

นายจาตุรงค์กล่าวต่อว่า เมื่อดูฐานะของระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันยังถือว่ามีความเข้มแข็งอยู่ แม้ว่าหนี้เสียจะเพิ่มมากขึ้น โดยมีการกันสำรองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 165.1% ของเงินสำรองพึงกัน โดยในไตรมาส 2 ของปี 2558 ได้กันสำรองเพิ่มขึ้นจาก 405,400 ล้านบาทเป็น 424,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ล้านบาทภายใน 1 ไตรมาส ขณะที่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกันจาก 383,500 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 397,800 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557

ด้านภาพรวมการปล่อยสินเชื่อไตรมาส 2 ปี 2558 ยังขยายตัวได้ 4.6% ใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัว 4.3% และคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 4.4% หากการปล่อยสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียง 330,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับปัจจุบัน

ทั้งนี้ สินเชื่อที่ขยายตัวน้อยที่สุดคือ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขยายตัว 0.7% ชะลอลงจาก 2.6% ในไตรมาสก่อนจากการชำระหนี้คืนของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจการพาณิชย์ที่หันไประดมทุนโดยการออกหุ้นกู้แทน ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัว 5.2% เพิ่มขึ้นจาก 4.4% ในไตรมาสก่อน ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคทรงตัวที่ 7.8% ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตชะลอลงมาอยู่ที่ 8.1% และสินเชื่อรถยนต์หดตัวที่ 3.7%