ThaiPublica > คนในข่าว > “วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์” เล่าวิถีประมงทะเล กรณี IUU (ตอนที่1) : ฟันธงรัฐบาลแก้โจทย์ผิด

“วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์” เล่าวิถีประมงทะเล กรณี IUU (ตอนที่1) : ฟันธงรัฐบาลแก้โจทย์ผิด

7 กรกฎาคม 2015


ปีนี้นับเป็นปีของการรับผลจากกฏ “การกระทำ” และ “ไม่กระทำ” ของไทยในหลายๆ เรื่อง ในระดับมาตรฐานสากล ทำให้ประเทศไทยได้รับทั้งใบเตือนและติดธงเหลือง ธงแดง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานการค้างาช้าง มาตรฐานการบิน มาตรฐานการทำธุรกิจประมง นับเป็นสัญญาณการเตือนภัยครั้งสำคัญต่อความอยู่รอดและอนาคตของประเทศ

ล่าสุด ชาวประมงที่ผิดกฎหมายต้องจอดเรือไม่สามารถออกจับสัตว์น้ำได้ เพราะรัฐบาลโดยศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ออกคำสั่งมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ดำเนินการตามกฎหมายกับเรือประมงที่ผิดกฎหมายและไม่ผ่านการตรวจสอบเอกสาร 15 รายการ ซึ่งไม่สามารถออกทำการประมงได้ จึงมีเรือจอดเทียบท่าหลายพันลำทั่วประเทศ

ทั้งนี้เป็นผลมาจากสหภาพยุโรป (EU) ยื่นคำขาดให้ประเทศไทยปฏิรูปนโยบายเรื่องการประมงที่ผิดกฎหมาย ที่ไม่มีการรายงาน และที่ไม่มีกฎข้อบังคับ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) มิฉะนั้นจะถูกห้ามส่งออกอาหารทะเลไปยัง EU ภายในสิ้นปีนี้ เพราะความวิตกกังวลสำคัญของ EU คือการที่ประเทศไทยไม่สามารถให้การรับรองได้อย่างถูกต้องถึงแหล่งที่มาและความถูกต้องตามกฎหมายของอาหารทะเลที่ส่งออก

ปัญหาและยุทธวิธีแก้ไขปัญหาประมงทะเลของไทยได้มีการพูดถึงและเสนอแนะต่อรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2538 ว่าจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมประมงทะเลของไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมีทรัพยากรสัตว์ทะเลให้จับได้ตลอดไป

นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ต่อเรื่องนี้ นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ผู้ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมประมงทะเลมาตลอดชีวิต เจ้าของกลุ่มบริษัทศิริชัยการประมง ได้เขียนยุทธศาสตร์การประมงทะเลของไทย พร้อมข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ได้ให้ความเห็นต่อการแก้ปัญหาการทำประมงทะเลต่อกรณี IUU ว่า

“กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ที่กรมประมงไม่มีคนรู้เรื่องทะเลมาเป็นผู้บริหารกรมประมงเลย ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประมงน้ำจืด ด้านสิ่งแวดล้อม หรือมีก็มีไม่ครบ นี่คือปัญหาของกรมประมง”

ความไม่เข้าใจและการปล่อยปละละเลย

ฉะนั้น ถามว่าวันนี้ปัญหาตรงนี้มันคืออะไร ถ้าย้อนไปก่อนปี 2504 ตอนนั้นเป็นประมงพื้นบ้าน ประมงชายฝั่ง เพราะมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ หากินใกล้ฝั่ง ใครที่อยู่ริมๆ ทะเลก็มีกิน

แต่วันดีคืนดีปี 2504 ประเทศไทยไปร่วมมือกับประเทศเยอรมัน นำเทคนิควิธีการจับปลาด้วยอวนลากมาใช้ อวนลากนี้ก็คือว่ามีเรือแล่นอยู่ข้างหน้าอวนอยู่ข้างหลัง ลากไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ปลาที่มีอยู่ก็ติดขึ้นอวนมาเยอะแยะไหมด ก็จับปลาได้เยอะ

ในตอนนั้นเยอรมันได้บอกกับไทยอย่างชัดเจนหลังจากที่ได้มาทดลองแล้วว่า สิ่งที่คุณจะต้องทำคือการควบคุมจำนวนเรือประมง แต่ไทยก็ไม่ได้ทำ เพราะเห็นว่ามีทรัพยากรอยู่มากมาย และจำนวนเรือมีไม่มาก ก็ปล่อยให้ทำไป ใครอยากจะต่อเรือก็ต่อไป ใครมีเงินก็สามารถดัดแปลงเรือ ดัดแปลงเครื่องมือ ก็ไปจับปลา ซึ่งตอนนั้นก็มีการขอใบอนุญาตเรือ

จากนั้นไม่ถึง 10 ปี ปลาหมดทะเล ซึ่งถามว่าเราทำอะไรบ้างเพื่อแก้ปัญหา ก็ไม่ได้ทำอะไร

ไทยไม่ได้ทำอะไรกับปัญหาที่เกิดขึ้น จนเกิดเครื่องมือใหม่ๆ เมื่อปลาหน้าดินหมดเพราะเครื่องมืออวนลาก ก็เปิดเครื่องมือใหม่ อาทิ อวนลอย อวนล้อม ที่ใช้จับปลาผิวน้ำ เช่น ปลาทู ปลาอินทรีย์

ต่อมาวันดีคืนดีในปี 2523 รัฐบาลโดยกรมประมง ได้ออกมาตรการจำกัดเรืออวนลาก ให้จำกัดจำนวนเท่าที่มีอยู่ ไม่ให้เพิ่ม ซึ่งขณะนั้นมีเรืออวนลากประมาณ 3,000-4,000 ลำ ที่มีอาชญาบัตร

ประเด็นก็คือ การกำกับดูแลของไทยคือการไปคุมเรือตามอาชญาบัตร แต่ไม่คุมจำนวนเรือ ก็มีเรือจำนวนหนึ่ง เมื่อรัฐไม่ให้ใบอาชญาบัตร ก็ไม่ขออนุญาต ก็ทำการจับปลาไป จำนวนเรือเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้น ประกอบกับเรือเหล่านี้ส่วนหนึ่งออกไปจับปลาในต่างประเทศ และถูกจับก็วิ่งกลับมาจับปลาในบ้านเรา มีการพัฒนามาใช้ตาอวนที่เล็กลง ไปจับในพื้นที่หวงห้ามบ้าง ในพื้นที่ตื้นบ้าง จนเกิดปัญหา

ถามว่าเครื่องมือประมงที่ใช้อยู่ผิดกฎหมายหรือไม่ มันไม่ผิดกฎหมาย แต่มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งมีใบอนุญาต (อาชญาบัตร) ที่ถูกกฎหมาย และอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำประมงโดยไม่มีใบอนุญาต อันนั้นผิดกฎหมาย

วันนี้สังคมยังเข้าใจอยู่ว่าอวนลากผิดกฎหมาย จริงๆ ไม่ใช่ มันเป็นเครื่องมือที่อนุญาตให้ใช้ได้ และมีการผ่อนผันมา 2-3 รอบ คือนิรโทษกรรม อนุญาตให้จดทะเบียนใหม่ จนปี 2539 ที่มีการอนุญาตให้จดทะเบียน ซึ่งตัวเลขในปีนั้นมีเรืออวนลากอยู่ประมาณ 7,000-8,000 ลำ และเป็นปีสุดท้ายที่คุมทะเบียนเรือ

หลังจากปี 2539 จำนวนเรืออวนลากก็ลดลงมาเรื่อยๆ ก็มีทั้งเรือถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย บางคนไปขออนุญาตเครื่องมืออวนลากไม่ได้ เจ้าหน้าที่เองก็เป็นคนแนะนำให้ขอเครื่องมืออื่น บอกว่าถ้าอวนลากเขาไม่ให้ ก็ไปขอเป็นอวนลอยแล้วกัน มีใบอนุญาตอวนลอยแต่ทำอวนลาก และมีบางส่วนเมื่อไม่อนุญาตก็ไม่จดทะเบียนเลยสักอย่าง ทะเบียนเรือก็ไม่มี เพราะมาขออาชญาบัตรไม่ได้ จึงเป็นการทำประมงเถื่อน ก็ไม่มีใครไปดูแล ไม่มีใครไปจับ ไม่มีใครสนใจเขา ก็เหมือนกับพวกหาบเร่แผงลอย รถตู้ในกรุงเทพฯ ทั้งหลาย ที่วันดีคืนดีรัฐลุกขึ้นมาจัดระเบียบ และจับผู้ที่ทำผิดกติกา

เรือประมง-1

ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมประมงเองรุ่นหลังๆ ก็ไม่ได้มีความรู้ ก็คิดว่าเครื่องมืออวนลากนั้นจำเป็นจะต้องยกเลิก เพราะทำลายทรัพยากรมหาศาล คือด้วยความไม่เข้าใจ จริงๆ แล้วเครื่องมืออวนลาก ถามว่าวันนี้เป็นเครื่องมือประมงที่ยังใช้ได้ไหม ต้องไปดูที่ข้อตกลงองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) วันนี้ก็ยังมีเครื่องมืออวนลากอยู่ในทะเบียน ประเทศทั้งหลายในโลกที่ทำประมงก็ยังใช้เครื่องมืออวนลากอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ทุกประเทศที่มีทะเลก็มีเครื่องมืออวนลากทั้งนั้น

“ถามว่าแล้วเรือเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการทำลายหรือไม่ ใช่ มีศักยภาพในการทำลาย แต่มันก็มีวิธีการที่จะจำกัดการทำลายของมัน คืออะไรบ้าง 1. พื้นที่ที่มีปะการัง ก็ห้ามเข้า 2. ขนาดตาอวน ห้ามใช้ตาอวนขนาดเล็ก 3. มีเครื่องมือที่จะทำให้สามารถยกอวนโดยไม่ครูดไปตามหน้าดิน คือมีลูกบอลไปอยู่ข้างหน้า ในรุ่นใหม่ๆ ก็มีการออกแบบมา เรียก “ว่าว” เป็นตัวยกอวนให้อยู่เหนือพื้นดิน ก็จะไม่ทำลายหน้าดิน ก็จะมีระบบวิธีการที่จะดูแลจัดการเพื่อลดปัญหาการทำลายทรัพยากร ซึ่งเครื่องมืออวนลากนั้นยังจำเป็น เพราะเป็นเครื่องมือเดียวที่มีประสิทธิภาพในการจับปลาหน้าดิน ซึ่งจะใช้เครื่องมืออื่นก็ไม่มี”

ขึ้นบกทำประมงน้ำจืด -หยุดสร้างคนประมงทะเล

ประเด็นคือความไม่เข้าใจของรัฐ รัฐบาลทิ้งในเรื่องวิชาการเกี่ยวกับประมงทะเลมาไม่น้อยกว่า 30 ปี ไม่มีการสร้างคนด้วย เพราะสมัยอธิบดีกรมประมงคนสุดท้ายที่รู้เรื่องทะเลคือ นาวาโท สว่าง เจริญผล ในสมัยนั้นเขาบอกว่าประเทศไทยคงไม่มีอนาคตเรื่องประมงทะเลแล้ว จึงขึ้นบก หันมาเริ่มทำประมงน้ำจืด พอหันมาทำประมงน้ำจืด การพัฒนาคนทางด้านทะเลจึงหยุด ทั้งที่เคยส่งคนไปเรียนต่างประเทศทางด้านการประมงทะเลทั้งในญี่ปุ่น ยุโรป อังกฤษ อเมริกา ทั้งหลายก็หยุดหมด

“เรามาพัฒนาเรื่องการเพาะเลี้ยง เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องอะไรต่างๆ แทน ซึ่งอยู่ในช่วงปี 2524-2525 เพราะว่าสอดรับกับตอนนั้นที่มีกฎหมายทะเล 1982 เข้ามาพอดี คือกฎหมายอนุญาตให้ประเทศต่างๆ ขยายเขตทะเลออกไปจาก 12 ไมล์ทะเล เป็น 200 ไมล์ทะเล เป็นส่วนของเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเรื่องการทำประมง IUU ที่จะกล่าวต่อไป” (อ่านเพิ่มเติม…ข้อเท็จจริง ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหาของการประมงทะเลของไทยทั้งระบบ)

“เมื่อไม่มีการสร้างคน ถามว่ากรมประมงวันนี้มีองค์ความรู้ที่จะดูแลจัดการทะเลไหม ก็ไม่มี ผมเคยเสนอไปบอกว่าตราบใดที่ประเทศไทยยังมีทะเลอยู่ มีทรัพยากรมูลค่านับแสนล้านต่อปี ถามว่าทำไมเราไม่ตั้งกรมประมงทะเล แต่เรามีกรมหม่อนไหม ทั้งที่วันนี้มูลค่าไหมหลักแค่พันล้าน เรายังมีการตั้งกรมขึ้นมา 1 กรม เพื่อดูแลผลประโยชน์ตรงนั้น ถามว่าทะเลเรามีผลประโยชน์เป็นแสนล้านบาท ทำไมจึงไม่มีกรมทะเล แล้วตั้งแล้วดูแลจัดการเรียบร้อยแล้ว ไม่มีความจำเป็นแล้วก็สามารถยุบได้ เหมือนกับข้าวสมัยหนึ่งมีกรมการข้าว แล้ววันดีคืนดีรัฐบาลก็ยุบกรมการข้าว แล้วในวันนี้เห็นความสำคัญก็มีการตั้งกรมการข้าวขึ้นมาใหม่ การตั้งไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่รัฐก็ตอบไม่ได้ คือด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ คิดว่าช่างมัน ไม่สนใจมัน เราก็ปล่อยประมงทะเลทิ้ง”

เรือประมง-6

ความเข้าใจเรื่อง IUU-มาตรการ EU คนละเรื่องเดียวกัน

เรื่องของประมง IUU ถามคนไทยในวันนี้ว่าเขาใจ IUU ว่าอย่างไร สังคมและรัฐบาลเองก็เข้าใจว่า IUU คือกติกาที่ EU ตั้งขึ้นมา เพื่อจะบังคับให้ประเทศต่างๆ ที่ส่งอาหารทะเลเข้าไปขายใน EU นั้นต้องปฏิบัติตาม ไม่ผิดกฎหมาย มีการควบคุม มีการรายงาน จริงๆ แล้วมันไม่ใช่

IUU นั้นเป็นพัฒนามาจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 เป็นกติกาสากลที่ UN เขียนขึ้นมา เพื่อเป็นการดูแลความสมดุลทางทะเล

อันนี้ได้มีการยกร่างเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 1982 คือปี 2525 ที่จริงแล้วไทยควรจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ลงนามในสัตยาบัน เพราะในสมัยนั้นพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ นั่งเป็นประธานในที่ประชุมของสหประชาชาติเรื่องกฎหมายทะเล

เมื่อมีการยกร่างเสร็จ ประเทศไทยก็มีการเตรียมการลงนาม บินไปนิวยอร์ก แต่ถึงเวลา สหรัฐอเมริกาบอกไม่ลงนาม วันนี้ก็ยังไม่ลงนาม ถามว่าทำไม่เขาไม่ลงนาม เพราะสหรัฐอเมริกาเขาเห็นว่า 1. เขาเป็นมหาอำนาจ กำปั้นเขาใหญ่ใครจะไปวุ่นวายกับเขาก็ไม่ง่าย 2. เขามองว่าภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้ มีกติกาที่ว่าด้วยเรื่อง พื้นดินใต้ทะเล (sea-bed) ซึ่งมีผลประโยชน์เรื่องแร่ธาตุ และอะไรต่างๆ อยู่จำนวนมาก และประเทศอื่นๆ ไม่สามารถแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่จะทำการสำรวจพื้นดินใต้ท้องทะเลกับสหรัฐอเมริกาได้ ดังนั้น หากเข้าเป็นภาคี ส่วนนี้ก็จะเป็นการจำกัดสิทธิที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าไปใช้ประโยชน์หรือทำการสำรวจทั้งหลาย สหรัฐอเมริกาจึงไม่ลงนาม

แต่ไทยเองไม่เข้าใจ สมัยนั้นไทยเดินตามก้นอเมริกา เมื่ออเมริกาไม่ลงนามไทยก็ไม่ลงนามด้วย แต่ปัญหาคือไทยไม่ได้มีศักยภาพเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา เราไม่รู้ ไม่ลงนาม แต่ปัญหาคือ พอไม่ลงนาม ไทยก็ไม่ได้สนใจกฎหมายฉบับนี้

กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่แค่ออกกฎหมายมาแล้วจะหยุดอยู่แค่นั้น แต่กฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิประเทศชายฝั่งทุกประเทศ สามารถที่จะขยายทะเลออกไปจาก 12 ไมล์ทะเล เป็น 200 ไมล์ทะเลได้ เป็นสิทธิทางเศรษฐกิจ เรียกว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะ แต่ก็มีสิทธิหน้าที่ คือเขาให้สิทธิทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้ให้สิทธิ์เด็ดขาด แล้วก็ไม่ใช่ว่าให้สิทธิ์เฉยๆ เขาให้รัฐมีหน้าที่ด้วย มีหน้าที่อะไร ยกตัวอย่าง กรมประมง ที่มีหน้าที่ต้องจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืน เป็นเงื่อนไขที่ต้องทำ แล้วทรัพยากรตรงนี้เป็นทรัพยากรของมนุษยชาติ ถ้าคุณไม่ใช้ ก็ต้องให้ประเทศอื่นเขามาใช้ ให้คนอื่นมีสิทธิ์ใช้ด้วย ซึ่งแม้แต่รัฐที่ไม่ติดทะเล ก็มีสิทธิที่เดินเรือออกทะเลได้

ไม่ใช่คุณบอกว่า นี่เป็นประเทศคุณ สมมุติว่า บนบกมีถนน ใครที่จะขับรถผ่านถนนของเรานั้นเราสามารถปฏิเสธได้ โดยต้องผ่านข้อจำกัดต่างๆ เช่น เป็นรถทะเบียนไทย อะไรต่างๆ แต่ทะเลนั้น ไม่ใช่ เขามีสิทธิของเขา ในเรื่องของประมงนั้น เขาก็ให้สิทธิเราในการครอบครอง แต่ขณะเดียวกันเขาก็ให้ภาระเราในการจัดการให้เกิดความยั่งยืน อันนี้คือหลักของกฎหมาย

เมื่อมาถึงจุดนี้ ทางองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ก็มาพัฒนาต่อว่าทำอย่างไรจะจัดการให้เกิดความยั่งยืน FAO ก็มีการประชุมอย่างต่อเนื่องและได้มีข้อตกลงเกิดขึ้นมากมาย โดยประเทศต่างๆ ไปร่วมประชุมและพัฒนาออกมาเป็นจรรยาบรรณว่าด้วยการทำประมงอย่างรับผิดชอบ (Code of Conduct for Responsible Fisheries: CCRF) เมื่อประมาณ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2538 และพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง จากการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable Fishing) มาสู่การทำประมงอย่างรับผิดชอบ (CCRF)

จากนั้นก็มาพัฒนาเครื่องมือที่จะกำกับการทำประมงอย่างรับผิดชอบ คือ การพัฒนาแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศเพื่อขัดขวาง ยับยั้ง และลดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU ก็คือว่า หากทำประมงด้วยความรับผิดชอบจะต้องไม่เป็น IUU นี่คือมาตรการที่ FAO พัฒนาต่อจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่ากฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หรือเรียกง่ายๆ ว่า “กฎหมายทะเล 1982” (United Nations Convention on the Law of the sea 1982: UNCLOS) ขึ้นมา ไม่ใช่มาตรการของอียู

เมื่อมาถึงจุดนี้เขาก็มีการพัฒนาอีกขั้นหนึ่ง คือ International Plans of Action (IPOAs) เพื่อเป็นมาตรการในการกำกับ IUU อีกทีหนึ่ง และ IPOA นี้ก็จะมีอยู่ 4 ตัว ที่เป็นตัวกำกับเรื่องประมง IUU และ FAO ก็หยุดอยู่แค่นี้ และให้ประเทศต่างๆ นำหลักการนี้ไปใช้

เรือประมง-3

อียูชดเชยแสนล้านบาทรับกฎ IUU

ประเทศไทยก็ไม่สนใจ และหลายๆ ประเทศก็ไม่สนใจ แต่มีอียูที่เป็นพระเอกนำไปพัฒนาในบ้านเขา นำไปใช้กับการทำประมงให้ไม่เป็น IUU

วิธีการที่อียูทำ ก็มีการสำรวจทรัพยากรทางทะเล สมัยก่อนแต่ละประเทศมีทะเลเป็นของตัวเอง เมื่ออียูตกลงรวมเป็นสหภาพยุโรปก็รวมพื้นที่ทางทะเลด้วย จากนั้นก็แบ่งสันปันส่วนในการจับสัตว์น้ำว่าใครสามารถจับได้เท่าไร ต้องมีเรือกี่ลำ เรือแต่ละลำมีโควตาจับได้กี่ตันต่อปี

เมื่อเขาพัฒนาเสร็จ ก็พบปัญหาว่ามีเรือเกินทรัพยากรที่มีอยู่ โดยอียูใช้เงินเกือบ 1 แสนล้านบาท ในการซื้อเรือ จ่ายชดเชยให้กับเรือ เพื่อให้ออกจากธุรกิจประมง เขาใช้เวลาเกือบ 10 ปี ในการที่จะจัดการให้เกิดความเรียบร้อย เมื่อเขาจัดการเสร็จ ก็ไปทำ National Plans of Action (NPOA) ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องรับกับ IPOA เป็นมาตรการเฉพาะของกลุ่มประเทศอียูด้วยกัน ในการดูแลกำกับไม่ให้ประมงในกลุ่มประเทศของเขาเป็นประมง IUU

และมีอยู่ข้อหนึ่งในเรื่องของมาตรการในการกำกับ ในฐานะที่ตนเองเป็นรัฐที่ซื้ออาหารทะเล ฉะนั้น ใครที่ส่งของไปขายอียูก็ต้องไม่เป็น IUU ด้วย ตรงนี้เองที่เมื่อมีผลบังคับเขาก็จะไปบังคับประเทศที่ส่งออกสินค้าไปให้เขาว่า หากคุณต้องการส่งสินค้ามาให้ฉัน จะต้องไม่เป็น IUU

อียูส่งสัญญาณมา 10 ปี – กรมประมงทำเอง IUU ตัวจริง

อียูส่งสัญญาณมาประเทศไทย ประมาณ 10 ปีได้แล้ว แต่ประเทศไทยก็ไม่สนใจ จนวันหนึ่งเขาบอกว่าจะเอาจริง รัฐบาลไทยทำอย่างไร กรมประมงด้วยความที่ไม่เข้าใจว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร จึงมองว่าอียูตั้งมาตรการนี้ขึ้นมา โดยมองว่าเป็นมาตรการของอียู แต่ไม่ได้มองว่าเป็นของมาตรฐาน UN มาตรฐาน FAO จึงไปตอบสนองอียู โดยการทำเอกสารหลอกอียู ก็คือ สมมุติว่า ผมเป็นคนส่งออกปลาไปอียู กรมประมงก็บอกว่าในฐานะผู้ส่งออกคุณต้องทำเอกสารว่าไปซื้อปลามาจากใคร ไปซื้อปลามาจากนาย ก. นาย ก. เป็นเจ้าของเรือก็ต้องกรอกเอกสารแบบฟอร์มว่าตนเองมีใบอนุญาตทำประมง ทำประมงไม่ผิดกฎหมาย มีการรายงานต่างๆ แล้วก็ส่งไปให้อียู

“แต่จริงๆ แล้วถูกกฎหมายหรือเปล่าไม่รู้ ก็ทำมาเช่นนี้ ทางอียูเขาก็รู้ว่านี่คือการหลอก ฉะนั้น เมื่ออียูเขาไม่เอาด้วย จึงให้ใบเหลืองมา เราก็เต้น ทีนี้พอเต้น ด้วยความเข้าใจของกรมประมง ของประเทศไทยทั้งหมด ก็มองว่านี่คือมาตรการอียู จึงพยายามตอบสนองอียูโดย IUU มีอยู่ 3 ข้อ คือ Illegal, Unreported และ Unregulated ซึ่ง Illegal คือ เรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาต ไม่มีทะเบียนเรือ เรือผิดกฎหมายต่างๆ ก็มาจัดการ สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือมาตรการที่รัฐบาลจัดการ เพื่อตอบสนอง EU- IUU”

“จริงๆ แล้วถามว่าถูกไหม คำตอบคือผิด ผิดเพราะอะไร เพราะว่าไม่ได้ไปดูถึงพัฒนาการว่าเขาต้องการตั้ง IUU ขึ้นมาโดย FAO เพื่อให้เกิดการทำประมงด้วยความรับผิดชอบ ทำประมงด้วยความยั่งยืน ประเด็นคือวันนี้เราไปจัดการสั่งให้เรือจอด เพราะไม่มีใบอนุญาตนั้นมันตอบรับกับการทำประมงด้วยรับผิดชอบ ด้วยความยั่งยืนหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่”

นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

รัฐบาลแก้โจทย์ผิด-ต้องนับหนึ่งที่ข้อมูลเพื่อความยั่งยืนประมงทะเล

ถ้าจะทำประมงให้เกิดความยั่งยืน ต้องไปเริ่มที่กฎหมายทะเล 1982 เขาให้เราขยายทะเลจาก 12 ไมล์ทะเล เป็น 200 ไมล์ เราก็ต้องรับผิดชอบด้วย คือจัดการให้เกิดความยั่งยืน เราก็ต้องกลับไปดูว่า เขาให้เราขยายทะเล เราขยายแล้ว วันนี้มีเท่าไร เรามีน่านน้ำไทยประมาณ 350,000 ตามรางกิโลเมตร

เมื่อเรามีน่านน้ำ 350,000 ตารางกิโลเมตร เราต้องมีการสำรวจ มีการศึกษา มีการประเมินว่ามีปลาอยู่ที่ไหน จำนวนเท่าไร อย่างไร อันดับแรกต้องไปตั้งหลักตรงนั้นก่อน ประเมินว่ามีทรัพยากรเท่าไร แค่ไหน แล้วตรงนั้นก็จะไปกำหนดจำนวนว่าเราจะให้จับเท่าไร มันจึงจะสามารถออกลูกออกหลานให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนได้ คือมีปลาให้จับตลอดไป

สมมุติว่าผลสำรวจออกมาแล้ว ไทยมีปลาประมาณ 3 ล้านตัน/ปี ในอาณาเขตทะเล 350,000 ตารางกิโลเมตรนั้น ใน 3 ล้านตันนั้นให้จับหมดไม่ได้ ให้จับเพียงครึ่งหนึ่ง คือ 1.5 ล้านตัน ก็ต้องมาออกแบบว่าใน 1.5 ล้านตันนี้มีปลาอยู่ตรงไหนบ้าง จะใช้เครื่องมืออะไรจับ จำนวนเท่าไร แล้วถึงจะมาออกใบอนุญาต มันจึงจะสามารถแก้ตัว I (ผิดกฎหมาย) ใน IUU ได้ แต่ปัญหาคือเราไม่ได้แก้ทำในสิ่งเหล่านี้เลย มีการสำรวจไหม ก็มีการสำรวจ แต่เป็นในลักษณะการสำรวจเป็นครั้งคราว ที่จริงจะต้องมีการทำตลอดทั้งปี และทำทุกปี แล้วก็ทำทุกเครื่องมือ ทำทุกพื้นที่

แต่เราไม่ได้ทำ เราทำอยู่เครื่องมือเดียว คือ อวนลาก เป็นหลัก และก็ทำเป็นครั้งคราวอย่างที่บอก และตัวเลขที่ออกมาบอกว่าชาวประมงเคยจับปลาได้ 297 กิโลกรัม ในปี 2504 แต่มาวันนี้เหลือเพียง 15 กิโลกรัม 12 กิโลกรัม อะไรก็ว่าไป ซึ่งมันไม่ใช่ มันต้องทำข้อมูลใหม่ทั้งหมด แล้วจึงมาประเมิน มากำหนดโควตา แล้วจึงให้ใบอนุญาต พร้อมทั้งออกมาตรการกำกับดูแลว่าจะควบคุมอย่างไร จะให้รายงานอย่างไร

เรือทุกประเภททำลายทรัพยากรหมด

วันนี้เรามาทำเรื่องใบอนุญาต เรื่องการควบคุม ทำเรื่องการรายงาน แต่มันไม่ตอบสนองเรื่องความยั่งยืนของประมงเลย

ถามว่าวันนี้เราแก้ปัญหาถูกทางไหม ไม่มีทางหรอก มันก็ไปต่อไม่ได้ หากไม่เริ่มกลับไปนับหนึ่งที่การประเมินทรัพยากร นับสองที่การกำหนดโควตาการทำประมง และนับสาม คือต้องมีการจดทะเบียนเรือทุกลำ ทุกเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นเรือเล็กเรือน้อย เรือพายเรือแจวทุกอย่างที่ทำประมง

ไปดูเมืองนอกในบางประเทศ ชาวบ้านธรรมดา นักตกปลาสมัครเล่น วันนี้อยากจะไปตกปลาทะเลก็ต้องไปซื้อใบอนุญาตนะ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะเอาเบ็ดไปยืนริมตลิ่งแล้วก็ตกได้ เมืองนอกในหลายประเทศเขาบังคับว่า คุณจะต้องมาซื้อใบอนุญาต แล้วในใบอนุญาตก็จะกำหนดว่าวันนี้คุณจะตกกี่ตัว เราบอกว่าจะขอตกปลา 5 ตัว เราก็ซื้อใบอนุญาตขอตกปลา 5 ตัว พอตกครบแล้วก็ต้องเลิกกลับบ้าน จะจับเกิน 5 ตัวไม่ได้

ส่วนหนึ่งเป็นจิตสำนึกเขาเอง แล้วก็มีเงื่อนว่าห้ามจับปลาตัวเล็ก คุณก็ต้องปล่อย นี่คือการกำกับ เป็นกติกาในการควบคุม

“แต่ไทยไม่เคยทำเลย และในวันนี้เราก็พยายามควบคุมเฉพาะเรือพาณิชย์ที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป แต่ถามว่าแล้วเรือเล็กกว่านั้นล่ะ มันควรต้องคุมหมด เพื่ออะไร เพราะในวันนี้ถามว่าประมงพื้นบ้านถามว่าทำลายไหม ก็ทำลายไม่แพ้เรือประมงพาณิชย์หรอก เพราะประมงพื้นบ้านเรือลำหนึ่ง อย่างสมัยก่อนเรืออวนลอย มีอวนลอยยาวประมาณ 50-100 เมตร แต่วันนี้เรือประมงพื้นบ้านมีการขยายอวนยาวเป็นกิโลฯ และประมงพื้นบ้านบางส่วนก็ใช้อวนตาถี่ เขามีหมดทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้านก็ทำลายทรัพยากร ก็ทำลายเหมือนกันหมด แต่ด้วยความไม่เข้าใจ ตอนนี้เราจะมาเร่งจัดระเบียบกับเรือประมงทางพาณิชย์อย่างเดียว มันไม่ใช่”

เรือประมง-4

รัฐต้องกางมูลค่าส่งออก 35,000 ล้านให้ชัด แยกกุ้ง-ทูน่า-ปลาทะเล แล้วเจรจาใหม่

วันนี้วิธีการที่ถูกต้องที่รัฐบาลต้องทำ อันดับแรก ต้องไปคุยกับอียู เปิดโต๊ะเจรจา ต้องถามอียูว่าคุณต้องการจะจัดการเรื่อง IUU กับประมงทะเล หรือว่าต้องการกีดกันทางการค้า เอาให้ชัดเจนว่าเพราะอะไร วันนี้หากเราเอา “ปลา” ที่ส่งไปอียู มูลค่าประมาณ 35,000 ล้านบาท เอามาแยกจะมี 3 ส่วน คือ กุ้ง ทูน่า และปลาทะเล

ในส่วนของ “ปลาทะเล” นี้มีมูลค่าไม่เกิน 5 พันล้าน ที่เหลืออีก 3 หมื่นล้าน มาจากกุ้งกับทูน่า ถามว่ากุ้งกับทูน่าเป็น IUU ตรงไหน เพราะกุ้งก็เพาะเลี้ยง และทูน่าก็นำเข้าจากต่างประเทศ

“ฉะนั้น ถามว่าทำไมรัฐบาลไม่เจรจา เพราะด้วยความที่ไม่รู้ เวลาไปเจรจากับเขา คุณก็รับมาหมด ทำไมคุณไม่บอกว่าคุณ (อียู) ต้องแยกสินค้าที่ส่งออก ไม่อย่างนั้นคุณ NTB (Non Tariff Barriers) เป็นการกีดกันทางการค้า คุณก็เอา 2 ส่วนนี้ (กุ้งกับทูน่า) ที่ไทยส่งออก แยกออกไปต่างหาก แล้วเหลือปัญหาปลาทะเล 5,000 ล้านบาท ที่ไทยต้องจัดการ ไม่ใช่ 30,000 ล้านบาท”

“วันนี้รัฐบาลตื่นเต้นเพราะอะไร เพราะ 35,000 ล้านบาท โอ้โห เศรษฐกิจกำลังแย่อยู่แล้ว รัฐบาลก็กลัวว่าจะแย่ไปอีก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เกี่ยวเลย”

เมื่อเจรจาแล้ว จากนั้นการเจรจาว่าในการแก้ปัญหา IUU ของคุณ (อียู) ใช้เวลาเท่าไร 10 ใช่ไหม ใช้เงิน 1 แสนล้านบาทใช่ไหม แล้วคุณให้เวลาไทยเพียง 6 เดือนในขณะที่ไทยไม่มีเงินเลย ถามว่าแฟร์ไหม

จริงอยู่ เขาเตือนและให้เวลาเรานานแล้ว ส่วนนี้เราก็ผิดจริง แต่เราก็จะแก้ไขใหม่ คุณจะต้องให้เวลาเราทำ ไม่ใช่ว่าให้ 6 เดือน เพราะ 6 เดือนทำไม่ได้ เพราะการสำรวจทรัพยากร 6 เดือนสำรวจได้ไหม ก็ไม่ได้ อย่างน้อยเป็นปี แล้วจึงมากำหนดเงื่อนไข คำนวณอะไรต่างๆ ว่าประเทศไทยในอาณาเขต 350,000 ตารางกิโลเมตรนั้น จะมีปลาเท่าไร แล้วให้จับได้เท่าไรจึงจะเกิดความยั่งยืน โจทย์ตัวนั้นต้องใช้เวลาในการทำวิจัย ในการศึกษาต่างๆ

สำรวจทรัพยากร-จัดสรรโควตา-ตั้งกองทุนชดเชย

“ฉะนั้น วันนี้เราก็ต้องขอเวลากับอียูแบบแฟร์ๆ กับเขาว่านี่คือข้อเท็จจริง หรือหากจะแบน ก็แบนเฉพาะส่วนส่งออกมูลค่า 5,000 ล้านบาท แต่ไม่ใช่ 30,000 ล้านบาท คุณอย่ามายุ่ง ซึ่งต้องเอาข้อมูลอย่างนี้ไปเจรจากับเขา แล้วจึงจะมาดูเรื่องการจัดการ ทำการสำรวจจำนวนเรือ สำรวจทรัพยากร สำรวจว่าใครอยู่ที่ไหนอย่างไรบ้าง แล้วก็มาจัดสรร สมมติถ้าเรามีเรือ 20 ลำ เกินมา 15 ลำ ทำอย่างไรจะจัดการเรือ 15 ลำออก เราก็ต้องไปตั้งกองทุนมารองรับ จะซื้อเรือ จะลดเรือ จะซื้อเครื่องมือ จะทำอะไรก็ว่ากันไป ประเทศไทยมี 350,000 ตารางกิโลเมตร บอกว่าให้เรือเท่าไร ผมเองก็เคยคำนวณมาในหนังสือ บอกว่าไม่ควรมีเรือประมงเกิน 30,000 ลำในประเทศไทย”

ตอนนี้ไทยมีเรือประมง 60,000 ลำ ต้องเอาออกไปครึ่งหนึ่ง ผมเคยคำนวณในปี 2544 บอกว่าใช้เงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งวันนี้อาจจะไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาทหรอก แค่ 1 หมื่นล้านบาท เราก็ทำได้แล้ว ถามว่า 1 หมื่นล้านบาท มากไหม ก็มาก แต่ถามว่ายุโรปเขาใช้เป็นแสนล้านบาท ก็บอกว่ายุโรปรวย ไทยจน ก็ไม่เป็นไร แต่เวียดนามจนกว่าเราไหม เขาทำมากว่า 10 ปีแล้ว เอาแนวคิดที่ผมเคยไปคุยกับเขาอยู่หลายปี จนกระทั่งเขาเห็นว่าเข้าท่า เขาเอาไปทำ โดยเขามีเรือประมงอยู่ 70,000 ลำ ใช้เงินไปประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดจาก 70,000 ลำ เหลือ 35,000 ลำ เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวันทุกประเทศทำหมดแล้ว

“ญี่ปุ่นเมื่อสมัย 20 ปีที่แล้ว มีเรืออวนลอย ทำการประมงในทะเลหลวง ใช้อวนยาวประมาณ 100 กิโลเมตร ไปขึงขวางทะเล แล้วปลาก็ว่ายมาชน ว่ายมาติด ปลาทูน่า มีโลมา รวมไปถึงนกที่ติดเข้าไปในอวนเพราะนกลงไปโฉบกินปลา ไปเจออวนก็ติดอวน ยูเอ็นบอกว่าไม่ได้หรอกความยาว 100 กิโลเมตร คุณกู้อวนตอนเช้ากว่าจะกู้เสร็จตอนเย็น แล้วพวกโลมาและนกทั้งหลายติดอวนเข้าไปก็ตาย คุณไม่ได้จับปลาทูน่าอย่างเดียว คุณทำลายโลมา ทำลายนกด้วย ยูเอ็นตั้งข้อกำหนดให้ใช้อวนความยาวไม่เกิน 2.5 กิโลเมตร”

ญี่ปุ่นทำอย่างไร เมื่อเป็นกติกาสากล เขามีเรือทำประมงแบบนี้อยู่ 400 ลำ 1 ลำมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท เขาก็ตั้งกองทุนขึ้นมาซื้อเรือทั้งหมด 400 ลำ เอาไปตัดเศษเหล็ก เพราะว่ามันเป็นกติกาสากล นี่คือทุกประเทศเขาทำ เขาแก้ปัญหา

“แต่เราปล่อย เราไม่สนใจ เพราะรัฐบาลบอกว่ารัฐบาลไม่มีเงิน ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถกู้เงินมาได้ และทรัพยากรที่เรามีหากจัดการดีๆ ที่เพิ่มขึ้นมา ก็คุ้มกับเงินที่เรากู้มา มันเป็นผลประโยชน์ชาติแต่รัฐบาลบอกว่าไม่ทำ และบอกว่าชาวประมงคุณผิดกฎหมาย ชาวประมงคุณเอารัดเอาเปรียบสังคม หากรัฐคิดอย่างนั้นก็แก้ไม่ได้หรอก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น”

ฉะนั้นถ้าเราลองไปขอเวลาอียูมา 2 ปีได้ไหม เราจะจัดการเรือ 5,000 ลำ ที่เป็นประมง IUU ให้หมดไปเลย อย่างนั้นเราก็ทำได้ แต่ไม่ใช่ทำอย่างวันนี้

อย่าลืมว่าเรือประมงวันนี้ สำหรับเรืออวนลาก มีจำนวนน้อยกว่าปี 2539 อีก เมื่อปี 2539 ไทยเคยคุมว่าให้มีเพียง 8,000 ลำ วันนี้อาจจะมีเพียงแค่ 5,000 ลำเท่านั้น แล้วทำไมไม่ออกใบอนุญาตให้เขาล่ะ เพราะอะไรเพราะวันนี้กรมประมงเองก็ไม่มีตัวเลขอะไรสักอย่าง จะบอกว่ามีการใช้ทรัพยากรเกินไป 25% อย่างที่ออกข่าว ถามว่าคุณเอาตรงไหนมาคิด เพราะคุณยังไม่มีองค์ความรู้ว่าวันนี้มีปลาเท่าไรในทะเลไทย คุณมีแต่สถิติที่ไปสำรวจมาว่า ณ วันนี้ ถ้าลงแรง 1 ชั่วโมง จับปลาได้ 15 กิโลกรัม แต่ชาวประมงบอกว่า 15 กิโลกรัม เขาจะอยู่ได้อย่างไร

“เรือ 1 ลำ สมมติลงทุนลำละ 1 ล้านบาท ออกเรือต่อครั้งมีค่าน้ำมัน ค่าคนงาน ค่าอะไรเบ็ดเสร็จ ใช้เงินประมาณ 1 แสนบาท/เดือน แต่ถ้าข้อมูลของกรมประมงที่บอกว่าจับปลาได้ 15 กิโลกรัมต่อชั่วโมง สมมติว่าออกเรือไป 24 ชั่วโมง ได้ไม่เกิน 500 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 30 บาท รวมๆ ได้ทั้งหมดไม่เกินวันละ 15,000 บาท เดือนหนึ่งประมาณ 300,000 บาท เพราะทำจริงๆ วันหนึ่งไม่ถึง 24 หรอก อย่างมากไม่เกิน 8 ชั่วโมง ดังนั้นที่บอกว่า 15 กิโลกรัมต่อชั่วโมง มันไม่คุ้มหรอก …”

ฉะนั้น ชาวบ้านเขาก็ไม่ยอมรับข้อมูล เขาจับได้วันหนึ่งอย่างน้อยที่สุด 400-500 กิโลกรัมต่อการลงอวน 1 ครั้ง นี่คือข้อมูลที่เราไม่มีพอ ที่จะใช้เป็นเครื่องมือที่จะมาจัดการกับทะเล จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด

เรือประมง-5

คำถาม คุณรู้หรือไม่ว่าทะเลมีปลาเท่าไร อยู่ตรงไหนบ้าง

ปัญหาคือ วันนี้คุณรู้หรือเปล่าว่าทะเลมีปลาเท่าไร อยู่ตรงไหนบ้าง มันออกลูกออกหลานยังไง นี่คือสิ่งที่กรมประมงจะต้องรู้ แต่เขาก็ไม่มีข้อมูล ก่อนจะไปถึงจำนวนเรือ

ปัจจุบันเทคโนโลยีทันสมัยในการติดตาม ถึงแม้จะไม่มีเทคโนโลยี แต่ส่วนใหญ่เรือทุกลำจะอยู่ในแม่น้ำ สำนักงานประมงจังหวัดอย่างน้อยมี 5-6 คน ส่ง 2-3 คน ผลัดกันไปนั่งเฝ้าปากแม่น้ำ เพราะเรือต้องวิ่งเข้า–ออก ก็จะเห็น สามารถเช็คจำนวนได้

หรือกรณีกรมเจ้าท่า ประเด็นที่ว่าชาวประมงต่อเรือแล้วไม่มาขออนุญาต เจ้าหน้าที่บอกไม่รู้เรื่อง ผมบอกได้ว่าการต่อเรือประมงนั้นไม่ได้ต่อเสร็จในวันเดียว ลำหนึ่งใช้เวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อย แล้วอู่ต่อเรือในจังหวัดหนึ่งมีไม่ถึง 10 อู่หรอก ใน 6 เดือน ถ้าเจ้าหน้าที่เดินไป 10 อู่ ถ้าเห็นว่ามีเรือมาต่อใหม่ ไปถามได้เลยว่าคุณมีใบอนุญาตไหม มันคุมได้ แต่ปัญหาคือเจ้าหน้าที่ไม่สนใจ ปล่อยปละละเลย

จริงอยู่ชาวบ้านทำประมงผิดกฎหมาย แต่คุณมีหน้าที่กำกับ คุณต้องตรวจสอบดูแล ไม่ใช่ไม่สนใจ ต้องรอให้เขามาแจ้งแล้วค่อยไปจับ คุณต้องไปตรวจสอบเขา ป้องกันป้องปรามเขา ไม่ใช่มีหน้าที่จับอย่างเดียว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ทำ แต่ไปโทษชาวบ้าน

“ทรัพยากรทางทะเลนั้นเป็นทรัพยากรที่ทดแทนได้เร็ว ปิดอ่าว 1-2 เดือน ปลาเกิดขึ้นมหาศาล หากหยุดสัก 2 เดือน ออกไปนี่ชาวประมงรวย เพราะมันเกิดเร็วมาก อย่างปลาทู ขนาดยาว 1 ฝ่ามือ ใช้เวลา 2 เดือนในการเติบโต แต่ปัญหาคือต้องการการจัดการ”

“อย่างที่มีการปิดอ่าวครั้งที่ผ่านมา เพิ่งจะเปิดอ่าวเมื่อ 15 พฤษภาคม 2558 ตอนนี้ไม่มีปลาแล้ว หมดแล้ว จับกันหมด”

“วันนี้เขาไม่มีองค์ความรู้ไง จริงๆ แล้วหากฤดูนี้เป็นฤดูวางไข่ เราบอกว่าปิดอ่าว 2 เดือน ให้ปลาวางไข่แล้วก็จะมีแม่ปลาที่วางไข่แล้ว ออกลูกแล้ว ฉะนั้น หากจะให้ทำประมงในระหว่างเปิดอ่าวก็ต้องมีการกำหนดให้ใช้อวนตาใหญ่เพื่อจับเฉพาะแม่ปลาไป ไม่ใช่เคยใช้อวนเท่าไรก็ยังใช้เท่านั้น ใช้อวนตาเดิมก็จับปลาเล็กไปด้วย เรื่องอย่างนี้ กรมประมงไม่ทำ”

หากย้อนกลับไปดู ปลาบางชนิดหายไปกับทะเลแล้ว เช่น ปลาญวน ปลาใบขนุน ปลาครก ตอนนี้หายไปแล้วต้องนำเข้าหมด ปลาเต๋าเต้ยก็เคยหายไปกว่า 10 ปี จับจนไม่เหลือพันธุ์ แต่บังเอิญปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2540 ก็มีการพาปลาจากเวียดนามเข้ามา และโชคดีที่ช่วงนั้นไทยมีการสร้างปะการังเทียมต่างๆ ขั้นมา ปลาก็หลบซ่อนได้ก็กลับมาใหม่ รวมทั้งกุ้งบางประเภทที่เคยมีในอ่าวเยอะๆ ก็หายหมด คือเพราะเราจับจนไม่เหลือพันธุ์