ThaiPublica > คนในข่าว > “วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์” เล่าวิถีประมงทะเลกรณี IUU (ตอนที่ 2): วิกฤติแรงงานประมงทะเล มีแต่ “ต่างด้าว-ป.4” บริหารเรือ 50 ล้าน

“วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์” เล่าวิถีประมงทะเลกรณี IUU (ตอนที่ 2): วิกฤติแรงงานประมงทะเล มีแต่ “ต่างด้าว-ป.4” บริหารเรือ 50 ล้าน

9 กรกฎาคม 2015


“วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์” กล่าวในตอนที่แล้วว่า “วันนี้เราไม่มีข้อมูลอุตสาหกรรมประมงทะเลมากพอที่จะจัดการทะเลได้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเรือทั้งหมด ประเภทเครื่องมือและขนาดที่ใช้ ปริมาณทรัพยากรที่มี มีอะไรบ้าง ที่ไหนอย่างไร ปริมาณแรงงาน วุฒิการศึกษา เป็นต้น แล้วเราจะจัดการกับอุตสาหกรรมประมงทะเลได้อย่างไร”

นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

“วิชาญ” เล่าต่อว่า ประมงทะเลวันนี้คนไม่ค่อยอยากเรียน เพราะทางก้าวหน้ามันน้อย รวมทั้งคนทำงานในทะเลต้องใช้คนที่รักทะเล ถามว่าคนอยากจะทำงานในทะเลอยากอยู่ทะเลตลอดไหม ไม่อยากอยู่หรอก วันนี้ประเทศที่ทำประมงทั้งหลายในโลก ไม่มีคนของตัวเองทำนะ แรงงานมีแต่คนแก่ อย่างญี่ปุ่น ชาวประมงท้องถิ่นโดยเฉลี่ยอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี เกาหลี ไต้หวัน ก็เช่นกัน ไม่มีคนหนุ่มสาวเข้ามาทำงาน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น

“เมื่อก่อนญี่ปุ่นเคยมีมหาวิทยาลัยด้านประมงประมาณ 20 แห่ง แต่วันนี้ไม่เหลือสักแห่ง วันนี้มหาวิทยาลัยที่เคยเปิดสอนก็ไปสอนอย่างอื่น ไปสอนวิทยาศาสตร์ทางทะเลบ้าง มหาวิทยาลัยประมงไม่มีแล้ว เหลือเพียงแผนกหนึ่งเท่านั้น แม้แต่เกาหลี ไต้หวัน ก็เช่นกัน ไม่มีคนทะเล ลูกเรือก็มาจากฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ อินโดนีเซีย”

ถามว่าวันนี้หยุดเรือนานๆ จะมีปัญหาแรงงานอย่างไร การทำประมงทะเล แรงงานส่วนหนึ่งไม่ใช่แรงงานไทย แต่อีกส่วนหนึ่งก็ยังเป็นแรงงานไทยอยู่ การหยุดเรือผลกระทบเกิดเป็นลูกโซ่ พอเรือจอดคนก็ว่างงาน แม้เจ้าของเรือยังจ่ายเงินเลี้ยงอยู่ ทีนี้อยู่ที่ว่าจะจอดนานแค่ไหน ถ้าเกินเดือนเขาก็ไม่อยากจ่าย ก็ต้องโละคนออก ก็มีทั้งคนไทย คนพม่า ทีนี้พอเรือจอด สะพานปลา ตลาดปลา แพปลา ไม่มีงานทำ

เรือประมงลำหนึ่ง หากให้ประเมินการจ้างงาน โดยมีการจ้างงานให้คนบนบกที่เป็นแพปลาอย่างน้อย 4-5 คน จากแพปลาไปตลาดสดขายปลา แม่ค้าพ่อค้าทั้งหลายไม่มีปลายจะขาย ไปร้านอาหารที่เอาปลาทะเลมาขาย อันนี้ไม่พูดถึงโรงงานที่ส่งออกที่ส่วนหนึ่งไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่มีล้งที่รับแล่ปลา มีคนงานเป็น 10-100 คน เพื่อส่งโรงงานซูริมิ โรงงานก็ไม่มีวัตถุดิบ ก็ไม่มีของจะส่งออก

ฉะนั้น การจอดเรือ ถ้าเราจอด 5,000 ลำ ทั้งประเทศ เฉลี่ยเรือ 1 ลำ มีแรงงาน 10 คน ก็ 50,000 คน แต่ถ้าเรือขนาด 30 ใช้แรงงานประมาณ 35-40 คน แพปลา สะพานปลาทั่วประเทศ 22 จังหวัด เฉลี่ยคนงานที่แพปลาจังหวัดละ 200 คน (4,400 คน) โรงงานแปรรูปแล่ปลา 100 แห่ง เฉลี่ย 100 -200 คน (10,000-20,000คน) โรงน้ำแข็ง 200 โรง โรงละ 10 คน (2,000คน) ห้องเย็น 200 แห่ง แห่งละ 100 คน (20,000คน) นี่ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม ไม่รวมแม่ค้าปลาอีกเท่าไหร่ รถขนปลาอีกเป็นพันคันที่วิ่งจากทั่วประเทศมาตลาดปลาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เป็นต้น

วันนี้ถามเจ้าหน้าที่ว่าแรงงานในอุตสาหกรรมประมงทะเลมีเท่าไหร่ ไม่มีข้อมูล ทั้งคนไทย คนต่างด้าว ไม่รู้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ อย่างแรงงานต่างด้าว ถ้าจะกำกับดูแลคุมไม่ยาก หากเข้าใจระบบ สามารถพัฒนาเครื่องมือมาควบคุมได้ เรื่องคน แรงงาน เรื่องค้ามนุษย์ ถ้าถามว่าเรือประมง 50,000–60,000 ลำ มีโอกาสค้ามนุษย์แค่ 200-300 ลำเท่านั้นเอง แต่วันนี้รัฐบาลไปออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องค้ามนุษย์มาบังคับเรือ 5-6 หมื่นลำ แต่เรือ 200-300 ลำ ที่เขาสร้างปัญหา เขาไม่ได้สนใจและรัฐบาลไม่ได้ไปจัดการอะไรเขา แต่คน 5-6 หมื่นลำ เดือดร้อนจากกติกาของรัฐ นี่คือการแก้ปัญหา

เรือประมง
เรือประมง

นี่คือผลกระทบที่มันไปไกลมากกับการไม่เข้าใจและแก้ปัญหาไม่ถูกจุดของรัฐบาล อย่างที่บอกว่าวันนี้ถ้ารัฐบาลไปเจรจากับอียู เปิดโต๊ะเจรจา โดยแยกส่วนการส่งออกสินค้าประมงทะเลให้ชัดเจนว่า มูลค่า 35,000 ล้านบาทนั้นมีสินค้าประมงอะไรบ้าง ซึ่งก็มีกุ้ง ปลาทูน่า ปลาทะเล ถ้าตัดกุ้งซึ่งเพาะเลี้ยง และทูน่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เอา 2 ส่วนนี้มูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท ออกไป เหลือปลาทะเลจริงๆ ประมาณ 5,000 ล้านบาท ก็เจรจาเฉพาะในส่วนนี้ ยืดเวลา รัฐบาลก็มาจัดการภายใน คิดว่าไม่เกิน 2 ปี จะเรียบร้อย

วันนี้ข้อมูลเรือที่แท้จริงก็ไม่มีใครรู้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สนใจที่จะเก็บข้อมูลให้ถูกต้อง วันนี้กรมประมง กรมเจ้าท่า ข้อมูลเรือใช้คนละฐาน กรมเจ้าท่าบอกว่าเขาเก็บข้อมูลเรือ ใช้หน่วย “ตันกรอส” แต่เรือเล็กๆ ต่ำกว่า 5 ตัน ไม่อยู่ในทะเบียนของกรมเจ้าท่า ที่จริงแล้วแม้จะต่ำกว่า 5 ตัน มันต้องจดทะเบียนทั้งหมด วันนี้กรมเจ้าท่าก็มีข้อมูลไม่ครบ

ส่วนกรมประมง ใช้ขนาดความยาวเรือเป็นตัวหลัก…หน่วยราชการต้องปรับฐานการเก็บข้อมูลให้เหมือนกันก่อน

หรืออาชญาบัตรเป็นใบอนุญาตทำประมง ตอนนี้มาขอที่กรมประมง จะเป็นผู้กำหนดเครื่องมือในพิกัด ถ้าเป็นนอกพิกัดก็ไม่ต้องขออนุญาต ที่จริงโดยหลักการต้องขอใบอนุญาตหมด แต่วันนี้กรมประมงยังแบ่งอยู่ ด้วยความที่ไม่มีองค์ความรู้เรื่องประมงทะเล ดังนั้นความยั่งยืนของอุตสาหกรรมประมงทะเลจึงไม่เกิดขึ้นหรอก

นอกจากนี้ เรือที่ไม่มีอาชญาบัตร เหตุผลส่วนหนึ่งเคยไปจดทะเบียนเจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้จดทะเบียน วันนี้ผ่านมา 10 ปี บอกว่าให้มาจดทะเบียนใหม่ ตอนนี้ยอมให้จดทะเบียนแล้ว กรมเจ้าท่าบอกว่าเรือคุณเป็นเรือไม้ใช่ไหม ไปหาใบเสร็จค่าซื้อไม้ที่นำมาต่อเรือมาแสดง หรือไปหาใบเสร็จซื้อเครื่องจักรมาแสดง ถามว่าเขาซื้อของพวกนั้นมา 10 ปี แล้วจะไปหาที่ไหน ถ้าร้านที่ไปซื้อของเขาหยุดกิจการไปแล้วเขาก็จดทะเบียนไม่ได้ ผมบอกว่าง่ายนิดเดียว เขาอยู่หมู่บ้านไหน ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รับรองได้ไหม ว่าเรือลำนี้เป็นของนาย ก. เอาใบรับรองมาจดทะเบียนก็จบ หรือให้สมาคมประมงรับรองได้ไหม หากมีคนมาแย้งภายหลังก็ถอนการรับรองได้ ไม่ได้ว่าจะต้องรับรองตลอดไป ให้แล้วก็ถอนได้ แล้วไปฟ้องไล่เบี้ยเอา แต่เจ้าหน้าที่เอากติกาเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ปรับให้เข้ากับสภาพข้อเท็จจริง ชาวบ้านก็ไม่สนใจ ไม่ให้จดทะเบียนก็ไม่จด นี่คือที่มาของการทำผิดกฎหมายส่วนหนึ่ง ที่รัฐบาลไม่มองว่าทำไมผิดกฎหมาย ไม่ใช่อยู่ๆเขาทำผิดกฎหมาย เขาก็อยากทำให้ถูก แต่ทำไม่ได้ แล้วจะให้เขาเอาเรือไปเผาทิ้งหรือ

“แม้แต่บางเรื่องง่ายๆ นอกจากต้องไปจดทะเบียนเรือ ขอใบอนุญาตใช้เรือที่กรมเจ้าท่าแล้ว คนขับเรือต้องมีใบขับขี่ ช่างเครื่องต้องมีใบควบคุมเครื่อง โดยกรมเจ้าท่ากำหนดคุณสมบัติว่าถ้าเป็นเรือขนาดใหญ่ จะต้องมีความรู้พื้นฐานว่าต้องจบ ม.6 ถามว่าวันนี้จะไปหาที่ไหน ตอนนี้ในทะเลมีแต่ ป.4 ทั้งนั้น มีแต่คนงานพม่า จะเอาพม่าไปขอใบอนุญาต ขอไม่ได้ จะเอา ป.4 ไปขอใบอนุญาตก็ไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร”

“เรือก็เลยไม่ขออนุญาต คือกติกาวันนี้มันไม่เหมาะสมแล้ว ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ตามข้อเท็จจริง ถามว่าเรื่องอย่างนี้แก้ปัญหาได้ไหม แก้ไม่ยาก วันนี้นักธุรกิจต่อเรือประมงลำหนึ่งประมาณ 50 ล้านบาท ถามว่าเจ้าของเรืออยากจะจ้างคนมาเป็นไต้ก๋ง (ผู้จัดการ) ที่มีความรู้ไหม มีใบอนุญาตไหม เราก็อยากได้ เหมือนเรามีโรงงาน เราจ้างดอกเตอร์มาเป็นผู้จัดการโรงงาน ซึ่งมีเยอะแยะให้เลือก จะจบสาขาไหน แต่ธุรกิจประมงมันไม่มีคน แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องเอา ป.4 มาดูแลเรือราคา 50 ล้าน ลอยเท้งเต้งในทะเล เวลาเขาออกทะเล ให้ไปเลย อิสระ ไปไหนไม่รู้เลย เทียบกับโรงงาน เรายังไปเดินดูได้ แต่นี่ยกให้ไปเลย ถามว่าถ้ามีทางเลือก เราเอาไหม”

เรือประมง
เรือประมง

นี่คือเรื่องง่ายๆ ที่กรมเจ้าท่าต้องปรับวิธีการ วิธีการแก้ปัญหา เช่น ทำไมไม่เอา ป. 4 มาฝึกอบรมแล้วให้ใบอนุญาตใช้กับเรือประมงได้ แต่ใช้กับเรือพาณิชย์ เรือสินค้าไม่ได้ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า ทำไม่ได้เพราะมีกฎระเบียบอยู่ ถามว่าแก้กฎระเบียบยากไหม ไม่ยาก แค่เข้า ครม. แก้กฎกระทรวง ก็จบแล้ว

นอกจากนี้ เรือที่ออกทะเลไม่ได้วันนี้ เพราะแรงงานขึ้นทะเบียนไม่ครบ เขาต้องการจดทะเบียนเพิ่มแต่กรมแรงงานไม่ให้จดทะเบียนเพิ่มให้ วันนี้แรงงานต่างด้าว เมื่อเขาทำงานประมงไม่ได้ เขาก็ไปทำอาชีพอื่น พอประมงจะออกเรือก็ต้องไปหาคนใหม่ และคนใหม่จดทะเบียนไม่ได้ ก็ผิดกฎหมาย ผลที่ตามมาเมื่อแรงงานไม่ครบก็ออกเรือไม่ได้ จะเป็นปัญหาลูกโซ่ไปเรื่อยๆ

ดังนั้น วันนี้ รัฐต้องจดทะเบียนเรือทั้งหมดทุกประเภททุกขนาด จากนั้นรัฐต้องมาดูว่าในพื้นที่ทะเล 350,000 ตารางกิโลเมตร มีทรัพยากรเท่าไหร่ จะให้มีเรือกี่ลำ เรือขนาดไหน เครื่องมือแบบไหน จับปลาตรงไหน จับเดือนไหน เดือนไหนห้ามจับ รัฐบาลต้องกฎกติกาออกมาให้ชัดเจน สมมติว่าให้มีอวนลาก 5,000 ลำ ถ้าปัจจุบันมี 6,000 ลำ ที่เกิน 1,000 ลำ ต้องออกไป ให้มีอวนลอย 2,000 ลำ ถ้ามีอยู่ 2,500 ลำ 500 ลำต้องออกไป เรือเล็ก ประมงพื้นบ้าน ต้องมาขึ้นทะเบียน ถ้าต้องมีแค่ 20,000 ลำ แต่ถ้ามีเรือพื้นบ้านอยู่ 30,000 ลำ อีก 10,000 ลำ ก็ต้องออกไป ต้องจัดการทั้งหมดทุกประเภท

ส่วนการติดระบบ VMS ในการติดตามเรือ นายวิชาญกล่าวว่า “ยัง เรือเขาหยุด ยังไม่ออกทะเลเขาจะติดทำไมล่ะ เสียเงินลำละ 20,000 – 30,000 บาท คนที่ได้ประโยชน์คือคนขายเครื่องมือ ถ้าติด 5,000 ลำ เป็นเงินเท่าไหร่ ไม่ใช่แค่เรืออวนลากนะ เรือทุกประเภทที่มีขนาด 30 ตันขึ้นไปมีประมาณ 10,000 ลำ คูณเข้าไปราคาเท่าไหร่ ประมาณ 300 ล้านบาท แล้วยังต้องรายเดือน เดือนละ 1,000 บาท เป็นค่าใช้ระบบของเขา”

รัฐบาลไม่ได้มองเลยว่าใครได้ประโยชน์ จริงๆ การติดเครื่องมือ VMS ไม่ต้องเป็นเรือขนาด 30 ตัน ควรจะเป็น 60 ตันขึ้นไปดีไหม ถ้าขนาดต่ำว่า 60 ตันกรอส เรามีระบบอื่นมาแทนได้ไหม เพราะเรือขนาดดังกล่าวออกไปไม่ไกลฝั่งมาก เดี๋ยวนี้มีระบบของมือถือติดตามได้ ไม่ต้องใช้ VMS ทั้งหมด เมืองนอกใช้เป็นปาล์ม ลงข้อมูลจดแจ้งว่าทำอะไร อยู่ที่ไหน จับปลาเท่าไหร่ ถามว่าวันนี้คนพม่า ป.4 จะไปจด logbook (ล็อกบุ๊ก: สมุดจดบันทึกการทำประมง) อย่างไร พม่าลงภาษาไทยไม่ได้ ก็ต้องทำล็อกบุ๊กภาษาพม่าให้เขาลงอีก นี่คือความไม่เข้าใจ

ถามว่าปัญหาแก้ได้ไหม แก้ได้ อยู่ที่ระบบจัดการ แต่ก่อนอื่น ถามว่ามีความรู้พอไหมที่จะไปจัดการ เมื่อวันนี้หน่วยราชการยังไม่มีความรู้ ขณะที่คนที่เขารู้ก็ไม่ให้เขาเข้ามาให้ข้อมูล รัฐก็แก้งูๆ ปลาๆ ไปเรื่อยๆ วันนี้เราแก้ปัญหาด้วยความไม่รู้และบอกว่าไม่มีเงิน