ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มหากาพย์นำเข้ารถหรู (4): เปิดตำนาน “ซูเปอร์คาร์” 5 ปี ตรวจปล่อยรถยนต์หรูสำแดงราคาต่ำ 44,430 คัน

มหากาพย์นำเข้ารถหรู (4): เปิดตำนาน “ซูเปอร์คาร์” 5 ปี ตรวจปล่อยรถยนต์หรูสำแดงราคาต่ำ 44,430 คัน

28 กรกฎาคม 2015


จากกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจนเปิดช่องให้นายตรวจศุลกากรเลือกได้ “สงสัย” หรือ “ไม่สงสัย” ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ เป็น “ต้นตอของปัญหานำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำ” หากนายตรวจศุลกากร “สงสัย” กระบวนการตรวจสอบต้องให้ผู้นำเข้ารถหรูสำแดงราคาซื้อ-ขาย ต้องสั่งให้ผู้นำเข้านำหนังสือค้ำประกันจากธนาคารมาวางเป็นหลักประกันก่อนนำรถยนต์ออกจากด่านศุลกากร พร้อมกับเรียกเอกสารหลักฐานจากผู้นำเข้า เพื่อทำการทดสอบราคาตามหลักการของแกตต์จนครบ 6 วิธี ต้องใช้เวลาต่อสู้กับขบวนการนำเข้ารถหรูที่มีสายสัมพันธ์นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงบางคนของกรมศุลกากร ส่งผลให้นายตรวจศุลกากรทั่วประเทศ ทำการตรวจสอบ แต่ไม่มีนายตรวจศุลกากรคนไหน “สงสัย”

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กรมศุลกากรตรวจปล่อยรถหรูทั้งสิ้น 44,430 คัน โดยปราศจากข้อ “สงสัย” ตามคำสั่งศุลกากรที่ 317/2547 นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกกล่าวถึง

นอกจากระดับปฏิบัติการแล้วที่ไม่สงสัยแล้ว ขณะที่ระดับนโยบายตั้งแต่อธิบดีกรมศุลกากรและผู้บริหารระดับสูงของกรมศุลกากร แก้ปัญหานำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงกันอย่างไร จากกรณีการนำเข้ารถหรูเริ่มมีมากขึ้นในปี 2553 ตรงกับสมัยที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรสมัยแรก กรมศุลกากรตรวจพบผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ หรือที่เรียกว่า “เกรย์มาร์เก็ต” ประมาณ 110 ราย สำแดงราคารถยนต์นำเข้าต่ำผิดปกติเป็นอย่างมาก ทำให้ตลาดรถหรูขยายตัวอย่างรวดเร็ว (ดูจากตาราง)

ปริมาณการนำเข้ารถหรู

ช่วงกลางปี 2553 ตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากผู้ผลิตรถยนต์ (Authorized Dealer) ขายรถยนต์ไม่ได้ เพราะถูกเกรย์มาร์เก็ต 110 ราย สั่งรถหรูจากต่างประเทศมาขายตัดราคา จึงทำเรื่องร้องเรียนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) โดยขอให้กรมศุลกากรตรวจสอบราคาที่ “เกรย์มาร์เก็ต” สำแดงราคาต่อกรมศุลกากรว่าอาจจะต่ำกว่าราคาซื้อ-ขายจริง

นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากรขณะนั้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พบด่านศุลกากรทั่วประเทศ ตรวจปล่อยรถหรูรุ่นเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน ออกจากด่านศุลกากรในราคาที่แตกต่างกัน (ราคาศุลกากร) หรือที่เรียกว่า “ต่างคน ต่างตรวจปล่อย” โดยที่ไม่ทราบว่าด่านศุลกากรอื่นๆ ตรวจปล่อยรถหรูออกไปในราคาเท่าไหร่ เพราะไม่มีฐานข้อมูลกลางให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ นายสมชัยพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวโดยออกคำสั่งกรมศุลกากรที่ 150/2553 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำคู่มือแนวทางการกำหนดราคาศุลกากรสินค้ารถยนต์สำเร็จรูป เพื่อรวบรวมปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งในเรื่องของกฎระเบียบและกระบวนการทำงานที่มีปัญหา มาจัดทำเป็น “คู่มือในการกำหนดราคารถหรู” เพื่อให้นายด่านศุลกากรและนายตรวจศุลกากรตรวจปล่อยรถหรูออกไปในราคาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสอดคล้องกับมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีอากรและการค้า 1994 ของแกตต์

วันที่ 29 มิถุนายน 2553 ที่ประชุมผู้บริหารกรมศุลกากร มีมติให้จัดตั้ง “ศูนย์ควบคุมมาตรฐานการสำแดงราคาและการประเมินภาษีอากรรถยนต์นำเข้ากรมศุลกากร” ซึ่งศูนย์ฯ ได้มีบันทึกที่ กค 0508 (ส) ศรก./4ลว ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2553 โดยมีความเห็นว่าระเบียบและคำสั่งที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2552, ระเบียบกรมศุลกากรที่ 2/2550, คำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 19/2548 และคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 ทั้งหมดมีรายละเอียดชัดเจนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสำแดงรายการในใบขนสินค้า การพิจารณากำหนดราคาศุลกากรจนถึงขั้นตอนการตรวจปล่อย หากมีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดสามารถใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบและยอมรับราคารถยนต์ได้ รวมทั้งใช้เป็นแนวทางในการตรวจปล่อยรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงเห็นควรให้เจ้าหน้าที่ยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งต่างๆ อย่างเคร่งครัด หากผู้ใดละเลยและทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการให้หน่วยงานต้นสังกัดรายงานให้กรมฯ ทราบเพื่อดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าว

2. อนุมัติในหลักการให้ใช้ Intranet เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลราคานำเข้ารถหรู โดยให้ทุกหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินราคารถยนต์ปฏิบัติตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 กล่าวคือให้ใช้ราคารถหรูที่เคยมีการนำเข้า และมีการยอมรับเป็นราคาศุลกากรไปแล้วในรอบ 30 วันที่ผ่านมา เป็น “ราคาอ้างอิง” หากผู้นำเข้ารถหรูสำแดงราคานำเข้ารถหรูไม่ต่ำกว่าเดิม ให้เจ้าหน้าที่ยอมรับราคาที่สำแดงเป็นราคาศุลกากร และให้บันทึกข้อมูลดังกล่าวลงในระบบ Intranet หน้าจอ “ข่าวประจำวัน” โดยใส่ชื่อเรื่องว่า “ข่าวศูนย์ควบคุมราคารถยนต์ – ผลการพิจารณาของสำนัก…..” ภายใน 5 วันทำการ นับแต่วันที่รับราคาตามสำแดง เพื่อให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องใช้เป็นฐานข้อมูลในการพิจารณากำหนดราคาศุลกากร พร้อมทั้งส่งสำเนาหลักฐาน แนวทางการพิจารณา และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ศูนย์ภายใน 5 วัน นับจากวันที่ยอมรับราคาที่สำแดงเป็นราคาศุลกากร

3. ให้ศูนย์ฯ จัดทำ/ปรับปรุง ฐานข้อมูลราคารถยนต์นั่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อ ทุกรุ่น แจ้งเวียนในระบบ Intranet หน้าจอ “ข่าวประจำวัน” โดยใส่ชื่อเรื่อง “ข่าวศูนย์ควบคุมราคารถยนต์ – ผลการพิจารณาของสำนัก…..” ทุกวันที่ 5 ของเดือน ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องใช้เป็นฐานข้อมูลในการพิจารณากำหนดราคาศุลกากร ตรวจปล่อยรถหรู โดยให้ดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2553

4. หากหน่วยงานใดกำหนดราคาศุลกากรในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 ซึ่งมีผลให้ราคาศุลกากรตำกว่าราคาตามที่กล่าวในข้อ 2 ให้เสนอผู้อำนวยการสำนักฯ พิจารณาอนุมัติ จากนั้นเมื่ออนุมัติแล้วให้บันทึกข้อมูลใน Intranet หน้าจอ “ข่าวประจำวัน” โดยใส่ชื่อเรื่องว่า “ข่าวศูนย์ควบคุมราคารถยนต์ – ผลการพิจารณาของสำนัก…..” ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่อนุมัติ เพื่อให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องนำเหตุผลและแนวทางการพิจารณาของผู้อนุมัติไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการกำหนดราคาศุลกากร สำหรับรถยนต์ยี่ห้อและรุ่นเดียวกัน พร้อมกับจัดส่งสำเนาหลักฐาน แนวทางพิจารณาและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ศูนย์ฯ ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่อนุมัติ

5. หากหน่วยใดยอมรับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงหรืออนุมัติราคา โดยไม่สอดคล้องกับแนวทางตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 แล้วไม่นำข้อมูลราคาดังกล่าวบันทึกในระบบ Intranet หรือไม่ส่งข้อมูลดังกล่าวให้ศูนย์ฯ ถือว่าเป็นการปกปิดข้อมูล และให้หน่วยงานต้นสังกัดพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดทางวินัยราชการ ตามมาตรา 83 (1) 84 และ 85 (7) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 หรือไม่

6. ให้ศูนย์ฯ ทำการวิเคราะห์ราคาศุลกากรที่ผู้นำเข้าสำแดง รายใดมีเหตุอันควรให้สงสัยว่าสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงให้แจ้งสำนักสืบสวนและปราบปรามเข้ามาตรวจสอบร่วมกันหรือรายงานให้กรมศุลกากรทราบ เพื่อมอบหมายให้สำนักตรวจสอบอากรเข้าตรวจสอบเอกสารของผู้นำเข้าต่อไป

รถหรูไฟไหม้ ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com
รถหรูไฟไหม้ ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทางสำนักมาตรฐานราคาศุลกากร (สมพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการพิจารณาราคาศุลกากร ได้ทำบันทึกที่ กค 0519 (ส)/950 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2553 เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เสนอให้กรมศุลกากรอนุมัติ โดยจัดทำราคาทดสอบรถยนต์ยี่ห้อ Mercedes Benz แล้วพบว่า ราคารถยนต์ที่ตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์มีราคาสูงกว่าเกรย์มาร์เก็ตอย่างมาก จึงทำเรื่องเสนอกรมศุลกากรให้ดำเนินการดังนี้

1. ให้ใช้ราคาตัวแทนจำหน่ายของบริษัท Mercedes Benz (Thailand) ซึ่งเป็นราคาที่น่าเชื่อถือที่สุด เป็นฐานข้อมูลราคา
2. กรณีของเกรย์มาร์เก็ต เห็นควรให้บริษัทที่มีการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทำการตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักสืบสวนและปราบปราม โดยตรวจสอบการสำแดงอุปกรณ์ (Accessories) ให้ถูกต้องครบถ้วนอย่างละเอียด เมื่อตรวจสอบแล้วถูกต้องตามสำแดงให้ร่วมกันลงชื่อรับรองการตรวจปล่อยรถ
3. ขออนุมัติกรมศุลกากรให้จัดทำรายงานราคาทดสอบ สำหรับรถยนต์ทุกยี่ห้อ ทุกรุ่นต่อไป

ผลปรากฏว่า ช่วงเดือนกันยายน 2553 นายสมชัยมีคำสั่งย้ายออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร โfpกระทรวงการคลังแต่งตั้งนายประสงค์ พูนธเนศ มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรแทน ทำให้การแก้ไขปัญหารถยนต์ต้องหยุดชะงัก ยอดนำเข้ารถหรูเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2553 (30 กันยายน 2553) อยู่ที่ 6,708 คัน สิ้นปีงบประมาณ 2554 เพิ่มเป็น 11,025 คัน สิ้นปีงบประมาณ 2555 เพิ่มเป็น 12,831 คัน

ทำไมนายสมชัย สัจจพงษ์ ถูกสั่งย้ายพ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร? ติดตามมหากาพย์นำเข้ารถหรู ตอนที่5

ป้ายคำ :