ThaiPublica > เกาะกระแส > “ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปประเทศไทย” (2): โครงสร้างใหม่ต้องเปิดเผยข้อมูลตามกฏหมายเทียบเท่าบจ. เน้นโปร่งใสตรวจสอบได้

“ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปประเทศไทย” (2): โครงสร้างใหม่ต้องเปิดเผยข้อมูลตามกฏหมายเทียบเท่าบจ. เน้นโปร่งใสตรวจสอบได้

23 กรกฎาคม 2015


เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนา “ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีวิทยากรคือ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งวิทยากรทั้งสามเป็นกรรมการคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ดำเนินรายโดย ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ

ในตอนที่ 1 ได้นำเสนอว่าทำไมต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยนายบรรยง พงษ์พานิช ไปแล้ว ส่วนหลักการกฏหมายใหม่ โครงสร้างรัฐวิสาหกิจ องค์กรกำกับดูแล บทบาทและหน้าที่จะเป็นอย่างไร นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้กล่าวว่า “อย่างที่คุณบรรยงได้กล่าวถึงสาเหตุ ทำไมต้องปฏิรูป แม้ว่าทุกวันนี้เรามีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทำหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้นแทนกระทรวงการคลัง ส่วนใหญ่เราทำหน้าที่ได้เพียงแค่หน่วยงานที่ปรึกษา ในการที่จะเสนอไปว่าเรื่องนี้ทำแบบนี้ เรื่องนี้ไม่ควรทำอย่างนี้ แต่ว่าอำนาจส่วนใหญ่ยังอยู่ที่กระทรวงเจ้าสังกัด ถ้าเขาไม่เห็นด้วยเขาก็เดินหน้าต่อไป เช่น ก่อสร้างทางหรือทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเผื่อเราบอกว่าเราน่าจะให้ทำแบบนั้นแบบนี้ เขาก็บอกว่าต้องการเดินหน้าต่อไป เขาก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จึงเป็นที่มาของการแยกการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล การเป็นเจ้าของ และการเป็นผู้ประกอบการ ออกมาให้ชัดเจนขึ้นตามกฎหมายใหม่ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มีการประชุมไปเมื่อวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2558″

ในหลักการจะมีกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ พ.ศ… ซึ่งจะมีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งคือคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือที่เรียกว่าซูเปอร์บอร์ด แต่ปัจจุบันซูเปอร์บอร์ดตรงนี้มีกรรมการที่มาจากฝั่งรัฐมนตรี 10 คน จากทุกกระทรวงเลย มีข้าราชการอย่างผมมาร่วม มีภาคเอกชนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญ

“แต่ระบบใหม่เราจะกำหนดว่าจะมีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมาจากตัวแทนทางการเมือง แน่นอนว่าทางการเมืองเขาคงจะต้องมาส่งต่อนโยบาย การจะกันไม่ให้มายุ่งในการกำหนดนโยบายเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าในอนาคตมีการเลือกตั้งจะต้องมีการหาเสียง พรรคที่ชนะเลือกตั้งจะต้องนำนโยบายที่หาเสียงมากำหนดมาเป็นนโยบายรัฐบาล เมื่อกำหนดเป็นนโยบายแล้วก็จะต้องให้กลไกดำเนินการ”

ตัวกลไกที่ดำเนินการ ได้กำหนดให้ส่งผ่านให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ โดยส่งผ่านคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะมีตัวแทนจากการเมือง 5 คน นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีที่แต่งตั้งมา 4 คน ข้าราชการมี 5 คน อาทิ ปลัดกระทรวงคลัง เลขาธิการสภาพัฒน์ เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา ผอ.สคร. เป็นเลขานุกรรมการ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญ จะมีกรรมการมาสรรหามานั่งในกรรมการชุดนี้ 5 คน รวม 15 คน เป็นคณะกรรมการชุดใหญ่

ภายใต้กฏหมายใหม่ ก็จะมีแบ่งเป็น 2 ฟาก ฟากหนึ่งเป็นบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ จะเอารัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นเป็นบริษัทมีทุนเรือนหุ้น ไม่ว่าจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อาทิ ธนาคารกรุงไทย ปตท. อสมท การบินไทย และที่เป็นบริษัทมหาชนแม้จะไม่ได้อยู่ในตลาด TOT CAT และบริษัทต่างๆ ที่เป็นบริษัทจำกัดต่างๆ ได้แก่ บริษัทขนส่งจำกัด บริษัทไปรษณีย์ไทย บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ บริษัทอู่กรุงเทพ บริษัทสหโรงแรมไทย รวมทั้งหมด 12 แห่ง จะมาอยู่ภายใต้บรรษัทวิสาหกิจ ซึ่งคุณรพีจะอธิบายกลไกการทำงานต่อไป

นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายจัดตั้งอีก 40 กว่าแห่ง เช่น การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การเคหะแห่งชาติ จะอยู่กับ สคร. ต่อไป

ประชาชนอาจจะบอกว่า เมื่อสักครู่บอกว่า สคร. เป็นหน่วยงานที่ปรึกษา แล้วอีก 40 กว่าแห่งนี้มาอยู่ด้วย แล้วจะได้ประโยชน์อะไร ตรงนี้จะมีการปรับเปลี่ยนด้วย แม้ว่ารัฐวิสาหกิจที่ตั้งโดยกฎหมายจัดตั้งยังอยู่ภายใต้ สคร. อยู่ แต่เราจะปรับเอาระบบ corporate governance ธรรมาภิบาลมาใช้กับทุกรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งที่มีอยู่ เริ่มตั้งแต่เรื่องการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ จะต้องเอานโยบาย เอาแผนพัฒนาฉบับที่ 12 ต่างๆ เหล่านี้มาจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ ทิศทางการดำเนินงานของตัวเองในระยะ 5 ปีข้างหน้า ขึงเป็นแผนใหญ่ก่อนว่าทิศทางที่เราต้องการเห็นรัฐวิสาหกิจพัฒนาในแต่ละเซกเตอร์ควรจะไปในทางไหน และจากนั้นรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะเอาแผนใหญ่มาทำเป็นแผนกลยุทธ์ของตนเอง รวมทั้งแผนดำเนินงานประจำปีที่สอดคล้องกับแผนใหญ่ โดยมี สคร. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเป็นผู้รวบรวม

อันที่ 2 คือกรรมการหรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทุกวันนี้ภาคการเมืองหรือกระทรวงจะเป็นคนตั้งไม่ได้อีกแล้ว ทำหน้าที่ได้แค่เสนอชื่อเข้ามา ทาง คนร. จะตั้งกรรมการสรรหามาชุดหนึ่ง ประกอบด้วยอดีตข้าราชการ เป็นปลัดกระทรวงการคลัง เป็นเลขาสภาพัฒน์ เป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตเลขา ก.ล.ต. ที่เป็นอดีตทั้งหมดเข้ามาคัดเลือดบอร์ดรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง

นอกจากนี้ จะต้องดู skill matrix (การกำหนดสมรรถนะที่จำเป็น) ด้วย คือต้องดูว่าแต่ละแห่งต้องการ skill matrix แบบไหนมาเป็นบอร์ด อย่าง ปตท. ต้องการ skill matrix ประเภทไหนที่เข้ามาเป็นบอร์ด การเคหะแห่งชาติต้องการคนที่มีความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่นาย ก. นาย ข. ใครก็ได้เข้ามาเป็น ต้องกำหนด skill matrix ก่อนว่าต้องมีความรู้ด้านไหน แล้วก็กำหนดให้กระทรวงเสนอได้ รัฐวิสาหกิจเสนอได้ ประชาชนทั่วไปที่สนใจหรือผู้มีประสบการณ์ต่างๆ สามารถเสนอได้

พอได้รายชื่อมาแล้ว คณะกรรมการสรรหาจะคัดเลือกเข้ามาเป็นบอร์ดได้ เพราะฉะนั้นจะต่างจากของเดิม โดยของเดิมการเมืองส่งนาย ก. เข้ามา เช่น ให้นายกสมาคมผู้ปลูกมะพร้าวแห่งประเทศไทย เข้ามานั่งอยู่ในบอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ ก็เคยมีแล้ว ไม่ได้พูดเล่น ต่อไปจะไม่มีแบบนี้อีกต่อไป จะมีการคัดเลือกที่เหมาะสม

ในเรื่องของการกำกับดูแลที่ดี ก็ต้องให้รัฐวิสาหกิจมีระบบบริหารความเสี่ยง ระบบการควบคุมภายใน และการเปิดเผยข้อมูลที่อย่างน้อยๆ ทัดเทียมตามแบบ 56-1 ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเปิดเผยข้อมูล

จริงๆ ซูเปอร์บอร์ดมีมติเมื่อเดือนธันวาคม 2557 แล้วขอให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการเปิดเผยข้อมูลให้ทัดเทียมตามแบบ 56-1 ซึ่งรัฐวิสาหกิจได้ทำ เปิดเผยอยู่ในเว็บไซต์ของตัวเอง บรรจุไว้ในรายงานประจำปี และผมได้ให้ สคร. ตรวจสอบ ปรากฏว่า 40 กว่าแห่งทำถูก แต่อีก 10 กว่าแห่งข้อมูลยังไม่เป็นปัจจุบัน เป็นข้อมูลปี 2554 ปี 2555 บ้าง พวกนี้ก็จะกำกับให้ทำ แล้วก็ออกกฎหมายบังคับให้ทำด้วย ในเรื่องตรวจสอบสามารถจะให้คนนอกเข้ามาสอบทานได้ ควบคู่ไปกับ สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน)

ส่วนเรื่องการประเมินผล จะมีคณะกรรมการประเมินผลมาประเมินผลบอร์ดรัฐวิสาหกิจและตรวจสอบรัฐวิสาหกิจ ทางฝั่งบรรษัทวิสาหกิจจะมีคณะกรรมการประเมินผลที่คณะกรรมการบรรษัทฯ ตั้งขึ้นมา อันนี้จะมานั่งดูเรื่องของการประเมินผล เพื่อให้ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า มาดูผลที่สะท้อนจริงๆ ก็จะปรับจากระบบปัจจุบันที่ตอนนี้เอกสารรายงานหนามาก เยอะมาก แล้วบางทีไม่ได้บอกอะไร อันนี้จะมีการปรับให้สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงด้วย

เสร็จจากตรงนี้จะมีเรื่องแผนการฟื้นฟูกิจการ ปรับปรุงกิจการ ถ้าเผื่อรัฐวิสาหกิจไหนมีปัญหา จะเปิดโอกาสให้ตั้งคณะกรรมการเข้ามา หรือเปลี่ยนบอร์ด หรือให้ คนร. ส่งคนเข้าไปดูแล อันนี้จะเป็นเรื่องกว้างๆ ของกฎหมายที่กำลังจะออกมา

แม้ว่า สคร. จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ปรึกษา เราจะปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรเจ้าของกลายๆ ในแง่ที่ว่ากระทรวงเจ้าสังกัดกำหนดนโยบายไป จะเข้ามายุ่งอะไรตรงนี้ไม่ได้ และแม้ว่าจะต้องทำตามนโยบายรัฐบาล แต่รัฐบาลจะต้องบอกจุดจบที่ชัดเจนว่า ถ้าดำเนินการไปตรงนี้ ถึงจุดๆ หนึ่งต้องหยุดนะ จะเกินต่อไปไม่ได้ เพราะว่าต้องบอกเลยว่าจะตั้งงบประมาณชดเชยให้เท่าไร ในปีไหน เท่าไร เป็นเงินจำนวนเท่าไร ตั้งเงินออกมาจากงบกลาง เพื่อดำเนินการตามนโยบาย

“ที่ผ่านมา อย่างกรณีจำนำข้าว ดำเนินการไป ทาง ธ.ก.ส. เอาทุนของตัวเองออก แล้ววันหนึ่งรัฐบาลจะใช้ให้นะ ธ.ก.ส. ก็ควักทุนของตนเองเข้ามาใส่ในโครงการ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้บอกชัดว่าจะใช้คืนเมื่อไร ถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้ใช้คืน ต่อไปหากต้องทำ รัฐบาลต้องบอกให้ชัดเจนว่าให้ ธ.ก.ส. ทำจำนำข้าวเหมือนเดิม แต่ทำในปี 2560 เป็นจำนวนเท่าไร ถึงเป้าหมายแล้วหยุด รัฐบาลตั้งงบประมาณให้ เหมือนจ้าง ธ.ก.ส. ทำ แต่ไม่ใช่ให้ ธ.ก.ส. ควักทุนของตัวเอง อันนี้ก็จะเป็นการเปลี่ยนระบบใหม่ เป็นการหยุด มันจะต้องเป็นปลายปิด ไม่ใช่ปลายเปิดว่าทำอะไรเท่าไรก็ได้ นี่เป็นการปรับเปลี่ยนที่สำคัญของกฎหมาย”

(ตอนที่ 3 นายรพี สุจริตกุล ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ พ.ศ. ….)