ThaiPublica > เกาะกระแส > โครงการเอสซีจี “ต้นกล้าชุมชน” สร้างเยาวชนนักพัฒนาท้องถิ่นรุ่นใหม่

โครงการเอสซีจี “ต้นกล้าชุมชน” สร้างเยาวชนนักพัฒนาท้องถิ่นรุ่นใหม่

5 กรกฎาคม 2015


มูลนิธิเอสซีจีริเริ่มโครงการสนับสนุนนักพัฒนารุ่นใหม่ 9 คน 9 ต้นกล้า ในโครงการ “ต้นกล้าชุมชน” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนพัฒนาท้องถิ่นของตนเองใน 4 ด้าน คือ สืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การศึกษา และการพัฒนาอาชีพชุมชน

นางสาวสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี พร้อมกับต้นกล้าและพี่เลี้ยงทั้ง 8  คู่
นางสาวสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี พร้อมกับต้นกล้าและพี่เลี้ยงทั้ง 8 คู่

เมื่อวันที่ 25-26 มิถุนายน 2558 มูลนิธิเอสซีจีเปิดตัวโครง “ก้าวที่กล้า…ต้นกล้าชุมชน” ณ จังหวัดน่าน โครงการต้นกล้าชุมชน โดยนางสาวสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า มูลนิธิเอสซีจีเปิดพื้นที่ให้นักพัฒนารุ่นใหม่ได้มีโอกาสเสนอโครงการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภูมิลำเนาของตนเองในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมูลนิธิฯ จะสนับสนุนเบี้ยยังชีพ ค่าจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ รวมถึงจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของต้นกล้าตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำเนินโครงการ และน้องๆ เยาวชนจะมีพี่เลี้ยงซึ่งทำงานและมีประสบการณ์ในพื้นที่จริงเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้ต้นกล้าสามารถสืบทอดแนวคิดและวิธีปฏิบัติในการทำงานชุมชนได้เป็นอย่างดี และเป็นนักพัฒนารุ่นใหม่ที่เป็นมืออาชีพในอนาคต

โครงการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นางสาวเมติมา ประวิทย์ หรือต้นกล้าเม เจ้าของโครงการพัฒนาห้องเรียนชุมชนคลองยัน ในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้สภาเด็กและเยาวชนภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเรียนรู้ถึงทรัพยากรอันมีค่าในท้องถิ่นของตนเอง นั่นคือ คลองยัน ซึ่งเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตและเป็นแหล่อาหารของชุมชน โดยมีเป้าหมายใหญ่คือผลักดันความรู้ที่มีในชุมชนเข้าสู่หลักสูตรในโรงเรียนของชุมชนกว่า 10 แห่ง ซึ่งอาจเป็นวิชาเลือกหรือวิชาเสริมที่ทำให้เยาวชนรุ่นต่อๆ ไปได้รู้จักและปกป้องรักษาทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง

นางสาวเมติมา ประวิทย์ (เม) เจ้าของโครงการพัฒนาห้องเรียนชุมชนคลองยัน ในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้สภาเด็กและเยาวชนภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี
นางสาวเมติมา ประวิทย์ (เม) เจ้าของโครงการพัฒนาห้องเรียนชุมชนคลองยัน ในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้สภาเด็กและเยาวชนภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี

สำหรับกิจกรรมของโครงการประกอบด้วยการสำรวจระบบนิเวศตลอดคลองยันเพื่อเก็บเป็นฐานความรู้ และกำหนดให้วังปลา 18 จุด ซึ่งมีความยาวต่อเนื่อง 300 เมตรเป็นเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำโดยให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลเฝ้าระวังจากความยาวตลอดคลองยัน 70 กิโลเมตร การวัดคุณภาพน้ำในคลองยันผ่านกิจกิจกรรมนักสืบสายน้ำของเยาวชนในท้องถิ่นและกิจกรรมสานต่อประเพณีสืบชะตาแม่น้ำ เป็นกุศโลบายที่ทำให้ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์คลองยัน เนื่องจากชาวบ้านจะกลัวไสยศาสตร์มากกว่ากฎระเบียบของหมู่บ้านหรือกฎหมาย นอกจากกิจกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วยังมีเกษตรพึ่งตนเอง การสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างลิเกป่า รวมทั้งการตั้งศูนย์ในฝัน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนด้วย

“เดิมทีไม่ชอบงานด้านสังคมเลย เพราะเห็นพ่อเป็นแกนนำต้านการสร้างเขื่อนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วรู้สึกว่างานนี้ทำให้ครอบครัวไม่สมบูรณ์เพราะพ่อไม่มีเวลาให้อีกทั้งยังขาดแม่แต่เด็ก จึงตั้งใจว่าจะไม่เป็นอย่างพ่อเด็ดขาด และโตมาเป็นเด็กเกเรจนกระทั่งถูกไล่ออกจากโรงเรียนตอนมัธยมปลาย ทำให้ต้องกลับมาอยู่ที่บ้านเฉยๆ พ่อจึงเข้ามาสอนงานให้ ทุกครั้งที่พ่อทำกิจกรรมอะไรก็พาไปด้วยเสมอจนเกิดความผูกผันกับงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและทำมาตลอด ซึ่งปัจจุบันก็นานกว่า 12 ปี แต่ช่วงเวลาที่ออกจากโรงเรียนแล้วมาเริ่มโครงการนี้อย่างจริงจังนั้นต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองกว่า 2 ปี ถึงทำให้คนในชุมชนยอมรับในตัวเราและไม่มองว่าเราเป็นเด็กเศษเดน” นางสาวเมติมากล่าว

โครงการด้านพัฒนาอาชีพชุมชน

นายโชคชัย มัยราช (เจมส์) เจ้าของโครงการอาสาปศุสัตว์ (หมูหลุม) พัฒนาชุมชน ในเขตพื้นที่ศูนย์เรียนรู้โจ้โก้ จ.น่าน
นายโชคชัย มัยราช (เจมส์) เจ้าของโครงการอาสาปศุสัตว์ (หมูหลุม) พัฒนาชุมชน ในเขตพื้นที่ศูนย์เรียนรู้โจ้โก้ จ.น่าน

นายโชคชัย มัยราช หรือต้นกล้าเจมส์ เจ้าของโครงการอาสาปศุสัตว์ (หมูหลุม) พัฒนาชุมชน ในเขตพื้นที่ศูนย์เรียนรู้โจ้โก้ จ.น่าน กล่าวว่า หลังจากเรียนจบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สาขาวิชาสัตวศาสตร์ ก็ไปทำงานเป็นปศุสัตว์ที่ราชบุรีอยู่หลายปี จนกระทั่งอายุ 26 ปี รู้สึกว่าอยากกลับมาอยู่บ้านและอยากหาอาชีพที่ตัวเองถนัดทำ จึงกลับมาเลี้ยงหมู โดยเลี้ยงแบบหมูหลุม คือ ไม่ทำคอกเทพื้นซีเมนต์ แต่ให้หมูอยู่กับดินที่ผสมแกลบ ขี้เลื่อย ซังข้าวโพด ซึ่งเป็นวิธีเลี้ยงที่ทำให้ลดกลิ่นเหม็นและยังได้ปุ๋ยเพื่อขายหรือใส่บำรุงต้นไม้ในสวนของตนเอง ส่วนคอกของแม่พันธุ์พื้นครึ่งหนึ่งจะเทซีเมนต์เพื่อใช้สำหรับเวลาคลอดลูก

สำหรับการเลี้ยงหมูหลุมนี้ เป็นการแบ่งพื้นที่ในขนาดที่เหมาะสมมาเลี้ยงหมูบางส่วน ส่วนที่เหลือก็เพาะปลูกเกษตรกรรมอื่นๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่งและจูงใจให้ลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดเนื่องจากมีรายได้ดีกว่า โดยจะรวมกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงหมูและให้ความรู้และความช่วยเหลือด้านการผสมเทียม การทำคอกหมู การเลี้ยงหมูหลุม ฯลฯ

“การเลี้ยงหมูหลุมใช้พื้นที่น้อยและใช้เวลาเลี้ยงเพียง 4 เดือนก็สามารถส่งขายได้แล้ว และสามารถเลี้ยงได้ทั้งปี ซึ่งตอนนี้ผมก็พยายามส่งต่อความรู้ที่มีให้เกษตรกรคนอื่นๆ หันมาเลี้ยงหมูหลุมมากขึ้น” นายโชคชัยกล่าวและว่า ชีวิตเติบโตมาผูกผันกับชุมชนมาก และอยากจะทำงานที่ได้อยู่ที่บ้านและช่วยพัฒนาชุมชน ซึ่งโชคดีที่พ่อแม่ไม่เคยกดดันเลยว่าอาชีพที่ดีต้องไปทำงานไกลบ้าน พ่อแม่ขอเพียงให้ลูกอยู่ที่ไหนก็ได้ที่ลูกมีความสุข

ด้านนางสาวหยาดรุ้ง ภูมิดง หรือต้นกล้ารุ้ง อายุ 22 ปี เจ้าของโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชน เพื่อการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ในพื้นที่ โรงเรียนชุมชนชาวนา ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม กล่าวว่า เติบโตและเรียนหนังสือใกล้บ้านมาโดยตลอด จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามจึงต้องไปอยู่หอพักในตัวเมืองจังหวัดซึ่งตอนแรกคิดว่าจะเรียนสนุก แต่เรียนได้เพียงเทอมเดียวก็ลาออกเพราะไม่ชอบการเรียนท่องจำที่นั่งอยู่แต่ในห้อง พอออกจากห้องก็ลืมแล้ว และคิดถึงบ้านด้วยจึงกลับมาเรียนในมหาวิชชาลัยสาขาผู้ประกอบการทางสังคมในหมู่บ้าน

นางสาวหยาดรุ้ง ภูมิดง (รุ้ง) เจ้าของโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชน เพื่อการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ในพื้นที่ โรงเรียนชุมชนชาวนา ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม
นางสาวหยาดรุ้ง ภูมิดง (รุ้ง) เจ้าของโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชน เพื่อการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ในพื้นที่ โรงเรียนชุมชนชาวนา ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ที่มหาวิชชาลัยเป็นการเรียนรู้จากภูมิปัญญาของชุมชน ทุกๆ พื้นที่สามารถเรียนรู้ได้ และเมื่อได้เรียนก็จะไม่ลืมเพราะว่าเราสามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งภูมิปัญญาที่สำคัญของชุมชนก็คือเรื่องผ้าฝ้าย แต่เริ่มเลือนหายไปจากชุมชน อีกทั้งยังเป็นอาสาสมัครสมาคมไทบ้าน และได้เรียนรู้ค้นคว้าวิธีการทำผ้าฝ้ายตั้งแต่การเก็บดอกฝ้ายมาทำทอเป็นผืน โดยการพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีองค์ความรู้และพัฒนาเป็นอาชีพทอผ้าให้กับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อทดแทนการนำเข้าผ้าเพื่อทำผ้ามัดย้อมซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน และส่งเสริมอาชีพให้คนในชุมชนพึ่งตนเองได้ นอกจากการฟื้นความรู้เรื่องการทอผ้าฝ้ายแล้ว ยังมีโครงการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชให้สีเพื่อนำมาใช้ทำผ้ามัดย้อมด้วย

นางสาวหยาดรุ้งกล่าวต่อว่า การเรียนรู้ที่วิชชาลัยทำให้ค้นพบว่าความสะดวกสบายซื้อความสุขไม่ได้ ที่บ้านเราเห็นบริบทชุมชน เห็นต้นไม้ ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความรู้แก่กัน ชุมชนเป็นทั้งที่ให้เราเติบโตและเรียนรู้วิถีของตนเองอย่างลึกซึ้ง และวันนี้เราได้สืบทอดภูมิปัญญาเรื่องผ้าฝ้ายแก่เยาวชนรุ่นหลังให้มีความรู้ มีอาชีพ มีรายได้ และยังมีสุขภาพที่ดี เพราะสินค้าจากฝ้ายนั้นเป็นสารธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยวันนี้เราก็ได้ดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนเล็กๆ ของเรา และขยายเป็นชุมชนใหญ่ๆ ต่อไปในอนาคต

“รุ้งเรียนหนังสือเหมือนนักศึกษาทั่วๆ ไป แต่ได้มารับใช้ชุมชนของตัวเองด้วย เพื่อให้ชุมชนของตัวเองอยู่ดีกินดี ซึ่งเงินสนับสนุนที่ได้จากโครงการต้นกล้านี้ทำให้รุ้งสามารถซื้อและซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ทอฝ้ายเพื่อใช้สอนเยาวชนคนอื่นๆ ในชุมชนต่อไป นอกจากนี้ รุ้งยังช่วยจัดกิจกรรมให้เด็กในชุมชนได้แสดงวัฒนธรรมต่างๆ ในงานของชุมชน เช่น การฟ้อนรำ” นางสาวหยาดรุ้งกล่าว

โครงการด้านสืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

นายชิตนุสันต์ ตาจุมปา (อาร์ต) เจ้าของโครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ในพื้นที่บ้านดงหลวง ต.วังผาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน
นายชิตนุสันต์ ตาจุมปา (อาร์ต) เจ้าของโครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ในพื้นที่บ้านดงหลวง ต.วังผาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน

นายชิตนุสันต์ ตาจุมปา หรือต้นกล้าอาร์ต เจ้าของโครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ในพื้นที่บ้านดงหลวง ต.วังผาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน กล่าวว่า นับวันประเพณีวัฒนธรรมล้านนายิ่งจะเลือนหายไปพร้อมๆ กับงานประเพณี รวมถึงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนบ้านดงหลวงก็เริ่มห่างเหินต่อกันด้วย ดังนั้น ในฐานะนักพัฒนารุ่นใหม่จึงรวบรวมความรู้ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม ทั้งเรื่องดนตรีและการแสดง เช่น กลองสะบัดชัย กลองมองเซิง ฟ้อนพื้นเมือง กล๋ายลาย รวมถึงเครื่องสักการะต่างๆ เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมเหล่านี้ขึ้นอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังเผยแพร่ความรู้ด้านวัฒนธรรมดังกล่าวไปยังเยาวชนรุ่นหลัง ผ่านการจัดกิจกรรมค่ายเรียนรู้ถ่ายทอดความรู้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งเยาวชนคนใดสนใจและต้องการที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมด้านใดก็สามารถเลือกเรียนตามความสนใจ ซึ่งนอกจากจะช่วยสืบทอดวัฒนธรรมล้านนาให้คงอยู่ต่อไปแล้ว ยังทำให้เยาวชนรุ่นหลังไม่ลืมรากเหง้าของตนเองด้วย

ด้านนางสาวอิสรีย์ พรายงาม หรือต้นกล้าก้อย เจ้าของโครงการสืบทอดและฟื้นฟูภูมิปัญญาไทดำบ้านไทรงามและบ้านทับชันสามัคคี ในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาไทดำ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในชุมชนเป็นคนไทดำ แต่ว่าตนเองเลิกเรียนและออกไปหางานทำที่สงขลาตั้งแต่อายุ 15 ปี เนื่องจากฐานะทางบ้านยากลำบาก ผ่านไป 15 ปี จึงกลับมาที่บ้านอีกครั้งหลังจากที่ฐานะทางบ้านดีขึ้นเนื่องจากหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวแทนปลูกพืชล้มลุก หลังจากนั้นจึงได้เข้ามาช่วยชุมชนทำงานเพื่อสร้างชุมชนให้ดีขึ้น โดยเริ่มจากการเป็นอาสาสมัคร เป็นแกนนำเยาวชน จัดค่าย เพื่อให้เยาวชนเรียนรู้วัฒนธรรมตนเอง

นอกจากนี้ยังสานต่องานวิจัยในท้องถิ่นเรื่องภูมิปัญญาไทดำ เพื่อมุ่งหวังจัดทำเป็นคู่มือว่าด้วยวัฒนธรรมและพิธีกรรมต่างๆ ของไทดำเพื่อให้คนรุ่นหลังสามารถปฏิบัติได้ โดยศึกษาทั้งการแต่งกาย ภาษาพูด ภาษาเขียน และพิธีกรรมต่างๆ จากทั้งคนในชุมชนและไทดำในพื้นที่อื่นๆ โดยนำความรู้นั้นมาสอนต่อเยาวชนภายในชุมชน และได้สอนวิชาไทดำนี้ในโรงเรียนของชุมชนด้วยโดยสอนสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงในวิชากิจกรรมให้กับนักเรียนชั้น ป. 4-6 รวมประมาณ 40 คน ซึ่งจนถึงทุกวันนี้สอนมากว่า 2 ปีแล้ว

นางสาวอิสรีย์ พรายงาม (ก้อย) เจ้าของโครงการสืบทอดและฟื้นฟูภูมิปัญญาไทดำบ้านไทรงามและบ้านทับชันสามัคคี ในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาไทดำ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
นางสาวอิสรีย์ พรายงาม (ก้อย) เจ้าของโครงการสืบทอดและฟื้นฟูภูมิปัญญาไทดำบ้านไทรงามและบ้านทับชันสามัคคี ในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาไทดำ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

“เป้าหมายต่อไปของโครงการคือเรื่องความยั่งยืนของวัฒนธรรมโดยให้เยาวชนสืบสานภูมิปัญญาไทดำต่อไป รวมถึงพัฒนาลายผ้าของไทดำให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อผลิตเป็นสินค้าแบรนด์ตัวเองที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน สำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้เยาวชนรุ่นใหม่เริ่มฟังภาษาไทดำเข้าใจ จากเดิมที่รู้กันเฉพาะในวัยผู้ใหญ่เท่านั้น” นางสาวอิสรีย์กล่าว

ด้านนายธนวรรษ อินทร์สุวรรณ์ หรือต้นกล้านะโม เจ้าของโครงการรักษ์ถิ่นเรียนรู้บ้านเกิด ในพื้นที่ชุมชนตำบลประศุก ต.ประศุก อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า เป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ต่อมาก็ได้เข้าร่วมกับกลุ่มรักเขาชะเมาและเรียนรู้กระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนจึงตั้งใจและคิดว่าวันหนึ่งจะกลับไปทำงานเพื่อชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งมูลนิธิเอสซีจีเป็นโอกาสที่ทำให้ได้กลับไปทำงานเพื่อชุมชนในปี 2557

“กระบวนการแรกที่เริ่มทำในชุมชนคือการสร้างกลุ่มเยาวชน “เมล็ดพันธุ์ประศุก” เพื่อให้เกิดการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เก็บข้อมูลวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชุมชน การพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อสืบค้นบริบทชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชน ประวัติครูภูมิปัญญา วัฒนธรรมพื้นบ้าน การทำแผนที่ชุมชน การจักสาน ซึ่งทั้งหมดนี้ จะใช้กิจกรรมเป็นตัวกลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนทุกช่วงอายุ อาทิ เวทีทำความเข้าใจ“จุดประกาย สร้างการมีส่วนร่วม” จัดค่ายรักถิ่นเรียนรู้บ้านเกิด และจัดค่ายพัฒนาศักยภาพเรียนรู้แบบสืบค้น ฯลฯ

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การทำงานในบ้านตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย จากที่คิดว่าทุกคนในชุมชนจะร่วมมือและสนับสนุนโครงการเต็มที่นั้นไม่จริง เพราะชาวบ้านยังไม่รู้ว่าทำแล้วได้อะไร อย่างพาลูกเขาทำกิจกรรมมากๆ ผู้ปกครองบางคนก็ไม่ชอบเพราะอยากให้เรียนหนังสือมากกว่า แต่ผ่านมา 1 ปีแล้วชาวบ้านทุกคนก็มีทัศนคติที่ดีขึ้นกับโครงการ เพราะเริ่มมีเสียงสะท้อนด้านบวกจากเยาวชนไปสู่คนในครอบครัวของเขา แต่ผู้ปกครองก็ยังไม่กล้าสนับสนุนเต็มที่เหมือนรอดูก่อนว่าโครงการนี้จะสร้างอะไรต่อไป

นายธนวรรษ อินทร์สุวรรณ์ (นะโม) เจ้าของโครงการรักษ์ถิ่นเรียนรู้บ้านเกิด ในพื้นที่ชุมชนตำบลประศุก ต.ประศุก อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
นายธนวรรษ อินทร์สุวรรณ์ (นะโม) เจ้าของโครงการรักษ์ถิ่นเรียนรู้บ้านเกิด ในพื้นที่ชุมชนตำบลประศุก ต.ประศุก อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

“ทุกวันนี้แม้ว่าเยาวชนสนใจยังไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นมากนัก แต่เยาวชนก็ค่อยๆ ซึมซับสิ่งที่เรียนรู้ไปเรื่อยๆ เช่น เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม การลดใช้สารเคมี งานประเพณีพื้นบ้าน ซึ่งต่อไปมีเป้าหมายจะนำองค์ความรู้ในชุมชนรวมเป็นห้องเรียนเรียนวัฒนธรรมไว้ในโรงเรียนของชุมชน เพื่อหวังให้เยาวชนเรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเองแล้วกลับมาพัฒนาชุมชนของตัวเอง แต่ถึงไปอยู่ที่ชุมชนอื่นก็จะสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนนั้น” นายธนวรรษกล่าว

โครงการด้านการศึกษา: ครูพันธุ์ใหม่

นางสาวชมเดือน คายันต์ หรือต้นกล้าเดือน เจ้าของโครงการอาสาเป็นครูพันธ์ุใหม่ ในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน ต.เบือ อ.เชียงกลาง จ.น่าน กล่าวว่า ชุมชนห้วยพ่านอยู่ในหุบเขาห่างจากปากทางเข้าหมุ่บ้าน 7 กิโลเมตรซึ่งเป็นทางลัดเลาะขึ้นลงภูเขาตลอด ส่วนโรงเรียนที่ใกล้สุดก็อยู่ห่างออกไป 10 กิโลเมตร ซึ่งการเดินทางยากลำบากและในช่วงที่ฝนตกเด็กๆ ต้องหยุดเรียนเป็นสัปดาห์เพราะเส้นทางสัญจรไม่ได้ ดังนั้นชุมชนจึงช่วยกันสร้างศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติขึ้นในปี 2556 ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนแห่งแรกของไทยที่สร้างโดยชุมชน และได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในปี 2557

สำหรับโรงเรียนแห่งนี้สอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 แต่จะแบ่งเป็น 2 ช่วงชั้นคือ ป. 1-3 มีครู 1 คน และ ป. 4-6 มีครู 1 คน ซึ่งรวมแล้วมีนักเรียนประมาณ 10 คน โดยช่วงเช้าจะสอนวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ส่วนช่วงบ่ายจะสอนวิชาโครงงาน โดย 1 โครงงานใช้เวลาเรียนประมาณ 10 สัปดาห์ โดยครูจะจูงใจให้เด็กอยากเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา เริ่มจากการสอนทฤษฎี และลงพื้นที่ปฏิบัติจริงนอกห้องเรียน เช่น การทดลองปลูกข้าวชนิดต่างๆ กว่า 100 พันธ์ุ ซึ่งการทำงานโครงงานนี้มีรายละเอียดหลายส่วนที่ประยุกต์ใช้จริงจากสาระการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น การวัดพื้นที่

“การเรียนนี้ไม่มีการสอบ แต่ครูจะประเมินเด็กเป็นรายวัน ทั้งพฤติกรรมการเรียน ความสัมพันธ์กับเพื่อน ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีศักยภาพไม่เท่ากัน เช่น บางคนสมาธิสั้น บางคนเรียนรู้ช้า แต่ว่านักเรียนทั้งช่วงชั้นต้องเรียนไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นครูก็ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับเด็กแต่ละคนด้วย ทั้งนี้ ครูอาสาไม่ใช่อาชีพหลักเพราะว่าไม่มีรายได้ ดังนั้นเราจึงต้องสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้ตัวเองด้วย นั่นคือการปลูกพืชผสมผสาน” นางสาวชมเดือนกล่าว

นางสาวชมเดือน คายันต์ (เดือน) เจ้าของโครงการอาสาเป็นครูพันธ์ใหม่ ในพื้นที่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน ต.เบือ อ.เชียงกลาง จ.น่าน
นางสาวชมเดือน คายันต์ (เดือน) เจ้าของโครงการอาสาเป็นครูพันธ์ใหม่ ในพื้นที่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน ต.เบือ อ.เชียงกลาง จ.น่าน

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ทุกวันนี้เด็กๆ ชอบมาโรงเรียนเพราะกิจกรรมต่างๆ เหมือนอยู่บ้านมากกว่ามาโรงเรียน และปัจจุบันมีนักเรียนจบ ป. 6 แล้ว 1 คน ก็สามารถไปเรียนต่อในโรงเรียนอื่นๆ ได้ไม่มีปัญหา โดยต่อไปโรงเรียนอยากจะขยายสู่ระดับมัธยมศึกษาด้วย แต่ต้องดูมติของชาวบ้านก่อน เรื่องนอกงบประมาณและศักยภาพของครูเป็นส่วนสำคัญ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ไม่ได้คิดว่าจะกลับบ้านมาเป็นครู แต่ช่วงนั้นพ่อป่วยจึงกลับมาและหลังจากได้ทำงานช่วยเหลือชุมชนมากขึ้นจึงสนใจมาเป็นครูอาสาในปัจจุบัน

ด้านนางสาววันวิสา แสงสี หรือต้นกล้าเจี๊ยบ เจ้าของโครงการหัตถกรรมพอเพียงโลกเย็น ในพื้นที่โรงเรียนโคกขาม (นาคพัฒนา) ต.โบสถ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตั้งใจเรียนสายอาชีพสาขาการบัญชีเพื่อที่จะได้ไปทำงานในเมือง แต่แม่อยากให้ทำงานช่วยเหลือชุมชนจึงให้ลองมาเรียนรู้กับอาศรมพลังงานดูก่อน ซึ่งได้เรียนรู้ในโครงการการศึกษาตื่นรู้โรงเรียนคาร์บอนต่ำ ต่อมาจึงได้สร้างแผนงานการทำธุรกิจเพื่อสังคมให้กับชุมชนผ่านกิจกรรมหัตถกรรมโลกเย็น โดยให้ชุมชนเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ เช่น มะกรูด มะขาม เพื่อมาผลิตสินค้าออแกนิกแปรรูปต่างๆ เช่น ยาสระผมมะกรูด สครับถั่วเขียว สบู่มะขามน้ำผึ้ง ซึ่งรวมประมาณ 12-13 ชนิดแบ่งเป็นกลุ่มอาหาร ความงาม และการเกษตร

สำหรับด้านการผลิตนั้นจะใช้การผลิตแบบดั้งเดิม คือ ใช้เตาถ่านและกระทะทองเหลืองกวนผสมผลิตภัณฑ์ เพราะใช้พลังงานน้อยให้ทำให้เนื้อผลิตภัณฑ์สีสวยขึ้น แล้วนำมาใส่บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม และหาช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าในร้านค้าหรือกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการ farmer market ร้านเดลี่โฮมและร้านช็อกโกแลตแฟคทอรี่ที่สระบุรี ร้านสวนเงินมีมา และห้างสรรพสินค้าเควิจเลจ โดยรายได้จากการขายสินค้านั้นก็จะกลับคืนสู่ชุมชน

“นอกจากนำวัตถุดิบจากชุมชนมาแปรรูปเป็นสินค้าที่สร้างรายได้แล้ว ยังพัฒนาสินค้าให้มีอายุใช้งานนานขึ้น เช่น เติมเกลือ รวมถึงเข้าไปสอนการทำสินค้าชุมชนในโรงเรียนของชุมชนด้วยทุกสัปดาห์มานาน 3 ปีแล้ว และทุกวันนี้เปลี่ยนใจไม่อยากไปทำงานในเมืองแล้ว เพราะวันหนึ่งเมื่อแก่ตัวลงก็ต้องกลับบ้านอยู่แล้ว ก็กลับเสียแต่ตอนนี้ที่เราได้เริ่มต้นช่วยเหลือคนในชุมชนให้มีรายได้แล้ว และอีก 3 ปีหลังจากเรียนจบปริญญาตรีก็กลับบ้านไปสร้างฐานการผลิตสินค้าออร์แกนิกนี้ที่บ้านเกิดของตนเองอย่างเต็มตัว” นางสาววันวิสากล่าว

นางสาววันวิสา แสงสี (เจี๊ยบ) เจ้าของโครงการหัตถกรรมพอเพียงโลกเย็น ในพื้นที่โรงเรียนโคกขาม (นาคพัฒนา) ต.โบสถ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา  และพี่เลี้ยงนายชาญชัย ลิมปิยากร ผู้อำนวยการอาศรมพลังงาน
นางสาววันวิสา แสงสี (เจี๊ยบ) เจ้าของโครงการหัตถกรรมพอเพียงโลกเย็น ในพื้นที่โรงเรียนโคกขาม (นาคพัฒนา) ต.โบสถ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา และพี่เลี้ยงนายชาญชัย ลิมปิยากร ผู้อำนวยการอาศรมพลังงาน

ด้านนายเฉลิมศักดิ์ สิทธิสมบัติ หรือต้นกล้าอาร์ท เจ้าของโครงการพลังงานทดแทน ในพื้นที่ โรงเรียนโคกขาม (นาคพัฒนา) ต.โบสถ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ได้นำความรู้เรื่องการใช้พลังงานทดแทนเข้าไปใช้ในหลักสูตรการเรียนโดยเน้นการทำเกษตรตามธรรมชาติ ให้กับเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อให้เด็กๆ สามารถนำความรู้กลับไปใช้ที่บ้านของตนเองได้ เช่น การเผาถ่าน การใช้ประโยชน์จากน้ำสมควันไม้ การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำหมักจากเศษอาหาร เป็นต้น