ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มลภาวะโลก ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (ตอนที่14) : ความแปรปรวน ร้อนสุด หนาวสุด มาตรการจำกัดการใช้น้ำ

มลภาวะโลก ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (ตอนที่14) : ความแปรปรวน ร้อนสุด หนาวสุด มาตรการจำกัดการใช้น้ำ

21 กรกฎาคม 2015


รายงาน..อิสรนันท์

แม้ว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ จะตื่นจากหลับไหลหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมโลก ท่ามกลางคำเสียดสีของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ให้ความเห็นว่าออกจะช้าเกินไปสักนิด แต่ก็ยังดีกว่าที่ไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร

ล่าสุด กระทรวงต่างประเทศอังกฤษและเครือจักรภพอังกฤษได้นำเสนอรายงานผลการศึกษาร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ อังกฤษ อินเดีย และจีน ที่เตือนว่าปัญหาโลกร้อนเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศและต่อสุขอนามัยพอๆ กับสงครามนิวเคลียร์

ในรายงานชิ้นนี้ระบุว่า จากการศึกษาพบว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้อุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส และมีความเป็นไปได้เช่นกันว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียสในอีกราว 130 ปีข้างหน้าหรือไม่เกินปี 2693 ผลร้ายแรงตามมาก็คือจะทำให้ผลผลิตทางเกษตรลดลงอย่างน่าตกใจ อันเนื่องจากเกิดภัยแล้งรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว โดยเฉพาะภัยแล้งในพื้่นที่เพาะปลูกทางเกษตรในสหรัฐฯ และเอเชียใต้ที่เพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในทวีปแอฟริกาคาดว่าอาจจะประสบภัยแล้งมากขึ้น 3 เท่าตัว

ผลการศึกษาร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์ 4 ประเทศ ยังได้ข้อสรุปว่าอาจจะเกิดปัญหาอุทกภัยร้ายแรงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 100 ปี ขึ้นประมาณ 40 ครั้ง ที่นครเซี่ยงไฮ้ 200 ครั้ง ในนครนิวยอร์ก และ 1,000 ครั้ง ในนครโกลกัตตาหรือกัลกัตตา ประเทศอินเดีย จากผลพวงที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 1 เมตร คล้ายคลึงกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นที่ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกและบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง หลังจากระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นเฉลี่ย 7 นิ้ว ตลอดช่วงหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

ในรายงานสรุปชิ้นนี้ย้ำว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ แม้ว่าประเทศต่างๆ จะตกลงกันได้ว่าจะช่วยกันป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษที่ 20 แต่ในความเป็นจริงกลับไม่สามารถป้องกันไม่ให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราว 1 เมตรได้

ช่วงเดียวกันนี้ คณะกรรมาธิการวุฒิสภาฝรั่งเศสได้นำเสนอรายงานชิ้นหนึ่งประเมินความเสียหายจากภาวะมลภาวะในอากาศว่า ในแต่ละปี ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในกรุงปารีสและเมืองใหญ่น้อยทั่วประเทศ สร้างความเสียหายมหาศาลราว 100,000 ล้านยูโร (หรือราว 3,630,000 ล้านบาท) ไม่ว่าจะเรื่องของสุขภาพที่ได้ผลกระทบมากที่สุด โดยในแต่ละปี จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลรวมกันราว 68,000-97,000 ล้านยูโร ตั้งแต่การรักษาอาการที่ไม่ร้ายแรงมากนักอย่างโรคหอบหืด ไปจนถึงโรคมะเร็งอันเนื่องจากอากาศเป็นพิษ หรือผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุเมื่อพนักงานขอลาป่วยจากมลภาวะในอากาศ ทำให้ผลประกอบการพลอยลดลงตามไปด้วย เช่นเดียวกับผลผลิตทางเกษตรที่มีแต่ลดลง ขณะที่ต้องเสียงบประมาณก้อนโตในการทำความสะอาดอาคารบ้านเรือนให้พ้นจากคราบฝุ่นจับหนาคิดเป็นเงินปีละประมาณ 4,300 ล้านยูโร

แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามลดระดับของมลภาวะในอากาศลง โดยเฉพาะบริวณรอบๆ เขตอุตสาหกรรม แต่ระบบขนส่งและระบบทำความร้อนกลับจะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อทำให้เกิดมลภาวะภายในอาคารบ้านเรือนมากกว่าแต่ก่อน

รายงานผลการศึกษาชิ้นนี้ได้เสนอแนะให้รัฐบาลเร่งจัดทำแผนงบประมาณเพื่อกระตุ้นให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้อากาศสะอาดบริสุทธิ์มากขึ้น เรื่อยไปจนถึงการกระตุ้นให้การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจังและได้ผลมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มี.ค. รัฐบาลได้ออกมาตรการบังคับให้รถที่จะแล่นในปารีสในช่วงที่เกิดหมอกควันพิษรุนแรงให้สลับวันวิ่งตามป้ายทะเบียนรถที่เป็นเลขคู่หรือเลขคี่

ที่มาภาพ : http://ichef-1.bbci.co.uk/news/560/media/images/82213000/jpg/_82213191_82213134.jpg
ที่มาภาพ : http://ichef-1.bbci.co.uk/news/560/media/images/82213000/jpg/_82213191_82213134.jpg

ด้านคณะกรรมการโลกว่าด้วยเศรษฐกิจและภูมิอากาศได้นำเสนอรายงานฉบับล่าสุดเมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาย้ำว่ารัฐบาลและภาคธุรกิจสามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตัวการก่อปัญหาโลกร้อนได้ พร้อมกับให้รายละเอียดของแผนปฏิบัติการ 10 ข้อ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงเหลือในระดับ 40-42 จิกะตันภายในปี 2030 เพื่อให้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอยู่ในระดับไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ตามที่สหประชาชาติกำหนดกรอบไว้

ในรายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมการโลกว่าด้วยเศรษฐกิจและภูมิอากาศได้สรุปผลการประเมินการสร้างโลกเขียวในเมืองต่างๆ กว่า 80 เมืองทั่วโลกว่ามีนโยบายล้ำหน้าไปแล้วในเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อน พร้อมกับเสนอแนะให้ช่วยกันอัดฉีดเงินอีกหนึ่งล้านล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือทางด้านเทคนิกแก่เมืองใหญ่น้อยกว่า 500 เมือง ให้สามารถจัดทำเค้าโครงการลดโลกร้อนด้วยตัวเองและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 3.7 จิกะตันภายในปี 2030

ในส่วนของป่าไม้ แม้ว่าในรายงานชิ้นนี้จะชี้ว่าทวีปแอฟริกาและละตินอเมริกาไม่มีปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ก็มีปัญหาในเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า คณะกรรมการฯ จึงเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามในการลดการตัดไม้ทำลายป่าลง 6.2 จิกะตันภายในปี 2030

ด้านพลังงานสะอาดนั้น หากสามารถอัดฉีดเงินปีละหนึ่งล้านล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ก็จะสามารถลดปฏิกริยาเรือนกระจกลง 6.5 จิกะตันภายในปี 2030 ขณะเดียวกันการรณรงค์ส่งเสริมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ปีละ 5.7 จิกะตันภายในปี 2030 นอกจากนี้ โลกยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 4.2 จิกะตัน หากมีการกำหนดราคาก๊าซคาร์บอน ส่วนอีก 4.1 จิกะตัน สามารถรักษาได้ผ่านข้อตกลทางธุรกิจการเดินเรือและการบิน

ยกเครื่องตลาดคาร์บอนในสหภาพยุโรปใหม่

เมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้ลงมติอนุมัติแผนยกเครื่องตลาดคาร์บอนในสหภาพยุโรปใหม่ อันจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะลดปัญหาการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ต้นเหตุของภาวะโลกร้อนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยการยกเครื่องนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 4 ปีข้างหน้าหรือในปี 2562 เพื่อให้ยุโรปสามารถจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงเหลือไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2533

แทบไม่น่าเชื่อว่าขณะที่ภาครัฐมีความตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องของภาวะโลกร้อน แต่ประชาชนในประเทศอุตสาหกรรม 14 ประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ กลับไม่ค่อยเชื่อเรื่องของสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเฉพาะชาวออสเตรเลียที่ไม่เชื่อว่ามีปัญหาโลกร้อนอยู่จริงมากถึง 1 ใน 5

วารสารการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมโลกได้ตีพิมพ์ผลการสำรวจความเห็นประชาชน 20,000 คน ใน 14 ประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยทาสมาเนีย ผสมผสานกับข้อมูลที่โครงการสำรวจทางสังคมระหว่างประเทศได้รวบรวมไว้เมื่อปี 2553 และ 2554 พบว่ามีชาวออสเตรเลีย 17 เปอร์เซ็นต์ ไม่เชื่อเรื่องสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ตามด้วยนอร์เวย์ที่ไม่เชื่อเรื่องนี้ 15 เปอร์เซ็นต์ นิวซีแลนด์ 13 เปอร์เซ็นต์ และชาวอเมริกัน 12 เปอร์เซ็นต์

ผลการวิจัยชิ้นนี้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าประชาชนในประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง (ซีโอทู) อาทิ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และนอร์เวย์ มีแนวโน้มสงสัยมากเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ชายใน 12 ประเทศจาก 14 ประเทศที่สำรวจมีแนวโน้มไม่เชื่อเรื่องภาวะโลกร้อนมากกว่าผู้หญิง เช่นเดียวกับพวกหัวเอียงขวาหรือพวกอนุรักษนิยมที่ไม่เชื่อในเรื่องนี้มากกกว่าพวกหัวเอียงซ้าย

ในตอนท้ายของงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า ความเชื่อนี้เป็นไปตามบริบททางการเมืองและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ทั้งๆ ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายที่ยืนยันว่ากำลังเกิดภาวะโลกร้อนขึ้นก็ตาม

ที่มาภาพ : https://news-images.vice.com
ที่มาภาพ : https://news-images.vice.com

งานวิจัยตอบข้อสงสัย

ในส่วนของแดนมังกรจีนนั้น เมื่อกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา จดหมายเหตุวิจัยเชิงธรณีฟิสิกส์ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาวิจัยของคณะเชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศและมลภาวะในอากาศทั้งชาวจีน อเมริกัน และอิสราเอล ภายใต้การนำของฟ่าน จี้เหวิน ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันเชื้อสายจีนเพื่อทดสอบสมมุติฐานว่าต้นเหตุของอุทกภัยครั้งใหญ่ที่มณฑลเสฉวนเมื่อกลางปี 2556 หลังจากมีฝนตกกระหน่ำติดต่อกันถึง 5 วัน 5 คืน ด้วยปริมาณฝน 730 มิลลิเมตร โดยวันที่ตกหนักมากที่สุดมีปริมาณฝนสูงถึง 290 มิลลิเมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากภาวะน้ำท่วมและดินถล่มมากถึง 200 คน ไร้ที่อยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 300,000 คน เป็นผลพวงจากมลภาวะในอากาศที่เลวร้ายที่สุดจากผลการเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมในมณฑลนี้

คณะผู้เชี่ยวชาญชุดนี้ได้ช่วยกันสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ขึ้น 2 แบบ แบบแรกอาศัยข้อมูลสภาวะของมลภาวะในอากาศย้อนหลังไปเมื่อ 40 ปีก่อนหน้าที่จีนจะเปิดประเทศและเศรษฐกิจในช่วงนั้นยังไม่เฟื่องฟู ส่วนแบบจำลองแบบที่สอง ใช้สถิติข้อมูลมลภาวะในอากาศที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผลการวิจัยได้ข้อสรุปที่น่ากลัวว่ามลภาวะนั้นส่งผลร้ายแรงกว่าที่คิดกันไว้มาก

ศาตราจารย์ฟ่าน จี้เหวิน ได้สรุปในตอนท้ายว่า อุทกภัยร้ายแรงอันเนื่องจากมลภาวะในอากาศจากอุตสาหกรรมหนักสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่ที่เป็นแอ่งกะทะ รายล้อมด้วยเทือกเขาสูงเหมือนที่เสฉวน และด้วยสมมุติฐานนี้ จึงเชื่อว่าอุทกภัยร้ายแรงในปากีสถานที่เกิดขึ้นหลังมหาอุทกภัยที่เสฉวนเพียงเดือนเดียวก็มาจากสาเหตุเดียวกันคือจากมลภาวะในอากาศ

ติง อ้ายจุน ศาสตราจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยนานกิงให้ความเห็นเสริมว่า ผลการทดลองของศาตราจารย์ฟ่าน จี้เหวิน นั้นน่าเชื่อถือได้ และสอดคล้องกับประสบการณ์จริงจากการเฝ้าสังเกตของตัวเองเมื่อกลางปี 2555 ที่สังเกตเห็นว่าเกิดฝนตกหนักผิดปรกติหลังจากเกษตรกรแถบนอกเมืองนานกิงได้ลงมือเผาไร่นาจำนวนมากหลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวแล้ว ทำให้เกิดหมอกควันลอยโขมงไปปกคลุมทั่วเมืองผสมผสานกับหมอกควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม จึงทำให้เกิดฝนตกหนักกว่าที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้ล่วงหน้า

ที่มาภาพ : http://apps.startribune.com/blogs/user_images/pauldouglas_1432831002_7.jpg
ที่มาภาพ : http://apps.startribune.com/blogs/user_images/pauldouglas_1432831002_7.jpg

คลื่นความร้อนและภัยแล้ง

ผลการวิจัยชิ้นล่าสุดนี้มีขึ้นขณะที่ลมฟ้าอากาศในหลายประเทศเกิดวิปริตผิดปรกติไปตามๆ กัน จากคลื่นความร้อนในอินเดียและปากีสถานที่คร่าชีวิตประชาชนรวมกันแล้วหลายพันคน ยังลามไปถึงภาคตะวันออกของยูเครนซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบยืดเยื้อมานานกว่าปี ที่ต้องเผชิญทั้งคลื่นความร้อนและภัยแล้ง กระทั่งองค์การยูนิเซฟเตือนว่าจะมีประชาชนกว่า 1.3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ด้วย ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มน้ำบริโภคอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ คลื่นความร้อนอันเนื่องจากอิทธิพลของลมร้อนที่พัดมาจากทวีปแอฟริกาได้แผ่ปกคลุมทวีปยุโรปเกือบทั้งทวีปถึง 2 ระลอก จนอุณหภูมิพุ่งสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ตั้งแต่สเปน โปรตุเกส ไปจนถึงอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ภาคใต้ของสวีเดน โปแลนด์ และอีกหลายประเทศในยุโรปกลาง

เฉพาะที่แดนกระทิงดุสเปน สำนักงานพยากรณ์อากาศแห่งชาติได้ยกระดับเตือนภัยเป็นสีแดงอันเป็นระดับเตือนภัยขั้นสูงสุด ซึ่งหมายถึงสภาพอากาศก่อความเสี่ยงต่อสุขภาพมากที่สุดในหลายพื้นที่ที่อุณหภูมิพุ่งสูงแตะ 44 องศาเซลเซียส นานติดต่อร่วม 2 สัปดาห์ ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องหาทางคลายร้อนด้วยการลงเล่นน้ำที่น้ำพุกลางเมือง หรือไปชายหาดต่างๆ ตามแถบชายฝั่งทางใต้จนแออัดไปทั่ว ขณะที่เทศบาลมหานครมาดริดได้เตือนประชาชนให้หมั่นจิบน้ำบ่อยๆ อย่างน้อยๆ 3 ลิตรต่อวันและหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

ผลจากคลื่นความร้อนทำให้เกิดไฟป่าลุกลามในหลายพื้นที่ในแคว้นอารากอน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ห่างจากกรุงมาดริดไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 375 กิโลเมตร จนต้องสั่งอพยพประชาชนกว่าพันคนใน 5 หมู่บ้าน โฆษกกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมของสเปนแถลงว่า ไฟป่าได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ป่าในแคว้นนี้ไปแล้วเกือบ 19,770 เอเคอร์

ส่วนที่โปรตุเกสก็เผชิญกับอากาศร้อนระอุเช่นกัน โดยอุณหภูมิพุ่งแตะ 41 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังเกิดไฟป่าใกล้เมืองอัลโกเบร์ตาส ห่างจากกรุงลิสบอนไปทางตอนเหนือไม่มากนัก ทางการต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงกว่า 100 คน เข้าไปช่วยกันดับไฟป่า

ขณะที่ชาวกรุงปารีส ในฝรั่งเศส ก็ต้องรับมือกับอุณหภูมิที่พุ่งแตะระดับ 39.7 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงเป็นอันดับสองนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติตั้งแต่ปี 2416 นอกจากนี้ ยังเกิดไฟฟ้าดับ ทำให้บ้านเรือนราว 6 แสนหลัง ตกอยู่ในความมืด ทางการต้องเร่งติดตั้งเครื่องปรับอากาศตามสถานที่สาธาณะต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้คลายร้อน เพราะไม่อยากเป็นวัวหายล้อมคอกเหมือนเมื่อปี 2546 คราวที่ยุโรปเผชิญกับคลื่นความร้อนผิดปรกติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้มีคนเสียชีวิตจากอากาศร้อนจัดเกือบ 70,000 คน โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศสซึ่งมีผู้เสียชีวิตราว 20,000 คน

ด้านสนามบินฮีทโธรว์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีอุณหภูมิสูงสุดถึง 36.7 องศาเซลเซียส ถือว่าร้อนเป็นประวัติการณ์ของเดือน ก.ค. เท่าที่เคยบันทึกสถิติมา

ที่มาภาพ : http://apmobile.images.worldnow.com/images/8350158_G.jpg
ที่มาภาพ : http://apmobile.images.worldnow.com/images/8350158_G.jpg

เยอรมนีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนมากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลบันทึกสถิติเมื่อปี 2424 เป็นต้นมา โดยเฉพาะที่เมืองคิตซิงเงน ทางตอนเหนือของแคว้นบาวาเรีย โดยสำนักงานบริการข้อมูลสภาพอากาศแห่งชาติ ระบุว่า สามารถตรวจวัดอุณหภูมิสูงสุดได้ถึง 40.3 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดที่เคยแตะที่ 40.2 องศาเซลเซียส ที่เมืองคาร์ลสรูห์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศที่มีการบันทึกไว้เมื่อปี 2546

กระทั่งองค์การอนามัยโลกและองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้ร่วมกันกำหนดแนวทางให้ประเทศต่างๆ เตรียมพร้อมรับมือกับคลื่นความร้อนที่จะมีผลต่อสุขภาพของประชาชน หนึ่งในมาตรการเตรียมพร้อมก็คือการสร้างระบบเตือนภัยคลื่นความร้อนที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะนี้มีฝรั่งเศสเพียงประเทศเดียวในยุโรปที่มีมาตรการเตือนภัยนี้ ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่ได้ติดตั้งระบบเตือนภัยนี้ รวมไปถึงการแนะนำประชาชนว่าควรจะทำเช่นใดเพื่อปกป้องตัวเองจากคลื่นความร้อนนี้ นอกเหนือจากการสั่งให้โรงพยาบาลเตรียมพร้อมรับมือกับผู้ป่วยที่จะทะลักเข้ามาจนล้นโรงพยาบาล อีกทั้งยังย้ำเป็นพิเศษให้ต้องดูแลคนชราและเด็กในเมืองใหญ่ๆ มากเป็นพิเศษ เพราะมีแนวโน้มว่าจะตกเป็นเหยื่อกลุ่มแรกของคลื่นความร้อนในเมืองที่จะร้อนกว่าชนบท

ในรายงานของทั้ง 2 องค์การโลกย้ำว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดคลื่นความร้อนถี่ขึ้นและช่วงเวลานานขึ้นเท่านั้น แต่ก็ยังก่อหายนภัยจากคลื่นความร้อนด้วย ซึ่งเท่ากับเตือนว่าในหลายพื้นที่ที่ไม่เคยประสบกับภัยคลื่นความร้อนมาก่อนก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

ช่วงไล่เลี่ยกัน สำนักงานป่าไม้สหรัฐฯ แถลงว่า เกิดไฟป่าบริเวณเชิงเขาในเทศมณฑลซานเบอร์นาดิโน ตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งกำลังประสบภัยแล้งจนต้องมีมาตรการประหยัดน้ำขนานใหญ่ ปรากฏว่าภายในไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ไฟได้ลุกลามถึงทางหลวงระหว่างรัฐหมายเลข 15 ซึ่งเชื่อมระหว่างตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียกับนครลาสเวกัส เผาไหม้อาคารบ้านเรือนและรถยนต์กว่า 20 คัน

มาตรการจำกัดการใช้น้ำ

ขณะที่ชาวแคลิฟอร์เนียซึ่งถูกมาตรการจำกัดน้ำของผู้ว่าการรัฐก็พยายามดิ้นรนเอาตัวรอด โดยเฉพาะนักธุรกิจรายเล็กๆ ที่มีรายได้จากการให้เช่าเครื่องซักผ้าหรือห้องน้ำเคลื่อนที่ ปรากฏว่าไม่มีคนไปใช้บริการเพราะขาดน้ำ ส่งผลให้ชาวบ้านทั่วไปต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ อาทิ ต้องหันไปใช้ถ้วยชามพลาสติกซึ่งใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อประหยัดน้ำล้างถ้วยชาม ผลตามมาก็คือขยะกลับกองท่วมสูง ขณะที่การอาบน้ำก็ขลุกขลักต้องปั๊มน้ำขึ้นไปบนหลังคาปล่อยให้น้ำไหลลงมาขณะอาบน้ำ หลายคนก็เอาตัวรอดด้วยการไปขออาบน้ำที่บ้านเพื่อนหรือญาติๆ

ด้านเกษตรกรต้องเอาตัวรอดด้วยการขุดบ่อน้ำใหม่ ซึ่งหมายถึงต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 35,000 ดอลลาร์ แต่หลายครั้งก็สูญเปล่า เนื่องจากน้ำที่ได้นั้นเป็นน้ำพิษไม่สามารถใช้ได้ มีรายงานว่าประชาชนกว่า 5,000 คนในบางชุมชนไม่มีแม้กระทั่งน้ำสะอาดสำหรับดื่ม

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มิ.ย. กระทรวงสิ่งแวดล้อมชิลีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในกรุงซันติอาโกเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี อันเป็นระดับเตือนภัยสูงสุดนับจากปี 2542 หลังจากค่ามลภาวะในอากาศแตะระดับอันตรายอันเนื่องจากอากาศแห้งที่สุดในรอบ 40 ปี ประกอบกับอากาศในหุบเขาซันติอาโกไม่หมุนเวียนเท่าที่ควร จึงยิ่งเพิ่มความหนาแน่นของมลภาวะในอากาศ จากมาตรการฉุกเฉินนี้ ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจอื่นๆ ราว 3,000 แห่งในเมืองหลวง ต้องระงับทำการชั่วคราว ขณะที่ยวดยาน 40 เปอร์เซ็นต์ จาก 1.7 ล้านคัน ถูกห้ามวิ่งบนถนน

ทั้งนี้ กรุงซันติอาโกติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดเมืองหนึ่ง โดยเฉพาะในฤดูหนาวเนื่องจากมีการจุดไฟเผาฟืนเพื่อความอบอุ่น ยิ่งทำให้คุณภาพอากาศย่ำแย่ลง สถานการณ์ในปีนี้ยิ่งหนักหนาสาหัสกว่าอดีตมาก อันเนื่องจากฝนน้อยและไม่มีลม

ตรงข้ามกับมหานครเซี่ยงไฮ้ที่กลับเผชิญกับฤดูร้อนที่ “หนาว” ที่สุดในรอบ 112 ปี เหมือนกับที่ประเทศไทยเพิ่งมีประสบการณ์เมื่อต้นปีนี้ เมื่อฤดูหนาวได้ยาวต่อเนื่องมาถึงเดือนเมษายน ทั้งๆ ที่ปรกติแล้วเป็นฤดูร้อน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาเซี่ยงไฮ้รายงานว่าเมื่อปลายเดือน มิ.ย. อุณหภูมิในมหานครแห่งนี้ลดวูบลงเหลือแค่ 21.2 องศาเซลเซียส ในบางเขตอย่างเขตอุตสาหกรรมผูตง อุณหภูมิดลดลงจนอยู่ระดับ 18.2 องศาเซลเซียส ถือว่ามีอุณหภูมิต่ำสุดในรอบ 112 ปี รองจากช่วงไล่เลี่ยกันของเมื่อปี 2446 ซึ่งในครั้งนั้นอุณหภูมิลดลงไปแตะที่ 20.9 องศาเซลเซียส

ผิดกับที่นครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ที่อากาศร้อนอบอ้าวผิดปรกติโดยอุณหภูมิพุ่งไปแตะที่ระดับกว่า 36 องศาเซลเซียส กระทั่งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูหัวจงกว่าพันคนต้องหอบที่นอนหมอนมุ้งไปนอนที่โรงยิมของมหาวิทยาลัยเพื่อรับแอร์เย็นฉ่ำ นักศึกษาบางรายเปิดเผยว่าอากาศร้อนอบอ้าวจนหายใจแทบไม่ออก