ThaiPublica > คอลัมน์ > มหากาพย์วิกฤติกรีซ

มหากาพย์วิกฤติกรีซ

8 กรกฎาคม 2015


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ช่วงนี้คงไม่มีข่าวเศรษฐกิจไหนได้รับความสำคัญเท่าปัญหากรีซอีกแล้วครับ เรามาไล่กันดีกว่าครับ ว่ากรีซมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร กำลังเกิดอะไรขึ้น และน่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้เมื่อสามปีก่อน อย่างที่ผมเดาว่าอาจจะเกิดขึ้น กำลังเริ่มเกิดขึ้นจริงๆ (แต่ตอนนั้น ผมบอกว่าอาจจะเกิดภายในหกเดือน แต่นี่มันสามปีมาแล้ว แหะๆ) แปลว่าปัญหาที่เคยพูดถึงกันเมื่อสามปีก่อนยังไม่ได้หายไปไหน และกำลังกลับมาหลอกหลอนกรีซและประเทศเจ้าหนี้อีกรอบ

เรามาถึงตรงนี้ได้อย่างไร

เมื่อสี่ปีก่อนกรีซเผชิญปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว เกือบจะผิดนัดชำระหนี้ไปรอบนึง จนต้องขอร้องเชิงบังคับให้เจ้าหนี้ภาคเอกชนลดหนี้ไปกว่า 70% ก่อนที่ประเทศในยุโรป ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะเข้าให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม แลกกับคำสัญญาจากรัฐบาลกรีก ว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เจ้าหนี้แน่ใจได้ว่ากรีซจะมีเงินกลับมาจ่ายคืนเจ้าหนี้ ซึ่งหลักๆก็คือ มาตรการรัดเข็มขัด (austerity measures) ที่รวมถึงการเพิ่มดุลการคลัง (ตัดรายจ่าย, ขึ้นภาษี) ขายสินทรัพย์ (แปรรูปรัฐวิสาหกิจ) และใช้นโยบายปฏิรูประบบเศรษฐกิจ (เช่น ทำให้ตลาดแรงงานมีความคล่องตัวมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพของระบบภาษีให้คนจ่ายภาษีตามกฎมากขึ้น หรือปฏิรูประบบสวัสดิการต่างๆ) ซึ่งแน่นอนนโยบายเหล่านี้ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของประชาชนเป็นแน่

นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา กรีซเข้าสู่โครงการรับความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้แล้วสองรอบ ได้เงินช่วยเหลือไปกว่า 2.4 แสนล้านยูโร ปัจจุบันยอดหนี้รัฐบาลของกรีซสูงกว่า 3 แสนล้านยูโร หรือคิดเป็นเกือบๆ 180% ของ GDP ซึ่งไม่ได้ลดลงจากเมื่อสามปีก่อนเลย ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของกรีซ (GDP ของกรีซหายไปเกือบ 25% ตั้งแต่ปี 2008)

หลังจากรัฐบาลของนาย Samaras ทนเป็นเด็กดีรัดเข็มขัดมานานหลายปี ประชาชนก็เริ่มทนไม่ไหว จนทำให้แพ้การเลือกตั้ง และพรรคฝ่ายซ้ายที่นำโดยนาย Tsipras ขึ้นมาทำหน้าที่แทนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งนายกคนนี้ชูนโยบายต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด และสัญญากับประชาชนว่าจะขอเจรจาใหม่กับเจ้าหนี้ ขอผ่อนคลายมาตรการทั้งหลาย และสัญญาว่าจะอยู่ในยูโรโซนต่อไป

ตลอดเวลาสี่ห้าเดือนที่ผ่านมา ก็พิสูจน์แล้วว่ากรีซเจรจากับเจ้าหนี้ไม่รู้เรื่อง ทั้งๆที่ทุกฝ่ายก็รู้ว่าทางออกแบบประนีประนอมที่เหมาะสมกับสถานการณ์ คือการที่เจ้าหนี้ลดภาระหนี้ให้กรีซ และกรีซทำตามมาตรการที่สัญญาไว้ แต่ก็ขอคลายเข็มขัดให้หายใจได้บ้าง

แต่ดูเหมือนการเมืองทั้งฝั่งกรีซและฝั่งเจ้าหนี้จะรุนแรงจนการประนีประนอมเกิดขึ้นไม่ได้ ฝั่งกรีซก็ออกตัวเอี้ยด สัญญากับประชาชนไว้เยอะไปหน่อย ฝั่งประชาชนเจ้าหนี้ก็คงยอมไม่ได้ที่รัฐบาลจะเอาเงินไปอุ้มกรีซแบบสบายๆ ทั้งคู่เลยเจรจาแบบถือไพ่เด็ดกันคนละใบ
ฝั่งเจ้าหนี้คิดว่ากรีซสุดท้ายแล้วคงต้องยอมกลับมาทำตามสัญญา เพราะทางออกอีกทางคือการออกจากยูโรโซนไป ที่คงโหดร้ายและรุนแรงต่อประชาชนมากทีเดียว ส่วนกรีซก็คิดว่าเจ้าหนี้คงไม่กล้าเตะกรีซออกแน่ๆ เพราะถ้ากรีซออกจากยูโรไปจริงๆ คงเกิดความวุ่นวายกันน่าดู และอาจจะสร้างความปั่นป่วนถ้าปัญหาลามไปประเทศอื่นๆในยุโรป จนทำให้เงินยูโรพังทลายไป หรืออาจจะพาลออกจาก NATO ไปร่วมกับวายร้ายในสายตาตะวันตกอย่างรัสเซียก็เป็นได้

แล้วปัญหาเกิดจากอะไร?

หลายคนคงยังสงสัยว่าปัญหาของกรีซคืออะไร บางคนบอกว่าเป็นเรื่องคอร์รัปชัน ประชานิยม ใช้เงินเกินตัว แม้กระทั่งโทษเรือดำน้ำ! แต่ผมว่าปัญหาใหญ่ๆ อันนึงคือการนำประเทศที่มีความแตกต่างกันมากทางเศรษฐกิจมาใช้เงินสกุลเดียวกัน ซึ่งหมายถึงการยอมทิ้งนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของตัวเองไป

ถ้าดูภาพข้างล่าง ในอดีตก่อนจะใช้เงินยูโร ค่าเงินของเกือบทุกประเทศมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินมาร์คเยอรมัน เพราะความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งกว่าของเยอรมัน

กรีซ

และอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวปรับชดเชยความแตกต่างระหว่างประเทศ ประเทศไหนส่งออกได้มากกว่า ค่าเงินก็แข็งทำให้ความสามารถในการแข่งขันกลับมาเท่าๆกับคนอื่น

ประเทศที่มักจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างกรีซ โปรตุเกส อิตาลี สเปน ค่าเงินเลยอ่อนเอาอ่อนเอา

หลังพอใช้เงินยูโร ไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ความแตกต่างของความสามารถในการแข่งขันไปโผล่ที่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของของประเทศที่แข็งแกร่ง (อย่างเยอรมัน) เหมือนดูดเศรษฐกิจออกจากประเทศอ่อนแอ (เช่นกรีซ) ไปเรื่อยๆ

เมื่อเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ กรีซที่ไม่มีนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน จึงขาดนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำได้ทางเดียว คือการก่อหนี้การคลังเพิ่ม จนนำไปสู่ภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว และติดกับดักของตัวเอง เมื่อต้องรัดเข็มขัดเพื่อหาเงินมาคืนเจ้าหนี้ เศรษฐกิจก็โดนรัดติ้วจนขยับไม่ได้

ทางออกของกรีซ

ผมมองว่าทางออกของกรีซในตอนนี้มีแค่สองทาง หนึ่งคือ เจรจากับเจ้าหนี้ให้รู้เรื่อง คงต้องยอมรัดเข็มขัดแบบพอประมาณให้เจ้าหนี้พอใจ เจ้าหนี้อาจจะใจดีลดหนี้ให้บ้าง (เพราะทุกคนรู้ว่ากรีซไม่มีทางจ่ายคืนหนี้ 180% ของ GDP ในชาตินี้ได้) แต่ตัวเองก็ยังอยู่ในยูโรโซนต่อไป ซึ่งคงเป็นทางที่เจ้าหนี้ต้องการ

สองคือเบี้ยวหนี้แล้วออกไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ อาจจะต้องหมายถึงการออกจากยูโรโซนไปใช้เงินสกุลอื่น คงเจ็บปวดแสนสาหัสในระยะแรก (ลองนึกถึงประเทศไทยปี 97 ที่ธนาคารล้มกันละเนละนาด เงินฝากธนาคารของหลายคนหายไป หรือถูกแช่แข็งอยู่หลายปี) แต่ก็อาจจะมีโอกาสกลับมาดีขึ้นในระยะยาว เมื่อสามารถลดค่าเงินตัวเองได้ (นึกถึงเมืองไทยปี 97 อีกครั้ง)

นึกภาพว่าเราจะเลือกนั่งรัดเข็มขัดจนหายใจไม่ออก แต่อยู่ในห้องแอร์เย็นๆ หรือจะคลายเข็มขัดเดินออกไปข้างนอก ที่ต้องผ่านกองไฟ แต่มีทุ่งหญ้าสีเขียวรออยู่…….

แต่สิ่งที่รัฐบาลของนายก Tsipras สัญญากับประชาชน คือมีทางเลือกที่สาม คือคลายเข็มขัด แล้วนั่งสบายๆอยู่ในห้องแอร์ต่อไป
แต่เจ้าหนี้คงไม่ยอมทางนั้นง่ายๆแน่ๆ

แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป?

หลังจากคุยกันไม่รู้เรื่องมาหลายเดือน ผ่านเส้นตายมาหลายเส้น และหลอกคนดูว่าจะมีดีลกันหลายครั้ง นายก Tsipras ก็ล้มโต๊ะเจรจา ขอไปฟังเสียงประชาชน ซึ่งทางเจ้าหนี้ก็ตอบโต้ด้วยการบีบกล่องดวงใจของกรีซ ไม่เพิ่มวงเงินให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ธนาคารของกรีซ

ตั้งแต่มีปัญหารอบนี้ ผู้ฝากเงินของกรีซก็ทยอยถอนเงินออกจากธนาคารกรีซอย่างต่อเนื่อง ใครจะทนฝากไหวละครับ ถ้ามีความเสี่ยงว่ากรีซอาจจะไม่ใช่เงินยูโรแล้ว การโอนเงินออกไปต่างประเทศ หรือถอนเอาเงินมากอดไว้เฉยๆดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

และทางธนาคารกลางยุโรปก็ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินไปแล้วเกือบเก้าหมื่นล้านยูโร

ที่มาภาพ : http://assets.bwbx.io/images/iUcuUb1Lkpmo/v3/628x-1.jpg
ที่มาภาพ : http://assets.bwbx.io/images/iUcuUb1Lkpmo/v3/628x-1.jpg

แค่หยุดให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม แบงก์ของกรีซก็เปิดไม่ได้ เพราะขืนเปิดคนคงแห่มาถอนเงินจนแบงก์เจ๊งกันจริงๆ จนทางการต้องสั่งปิดธนาคารมาเกือบสองสัปดาห์ และเริ่มใช้มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงิน

และนี่คือจุดสำคัญที่สุดในวิกฤตครั้งนี้ ถ้าเปิดธนาคารไม่ได้ คนไม่มีเงินใช้ เศรษฐกิจของกรีซคงต้องพังพินาศกันจริงๆ ลองนึกภาพเราที่ไม่สามารถกด ATM เงินเดือนจ่ายไม่ได้ การนำเข้าส่งออกหยุดชะงักทั้งหมด และทำธุรกรรมทางการเงินใดๆไม่ได้สักสองสัปดาห์ ธุรกิจและชีวิตคนทั่วไปจะดำเนินไปอย่างไร เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะพังทลายในไม่ช้า เริ่มมีข่าวแล้วด้วยว่ายารักษาโรคและเครื่องใช้จำเป็นที่ต้องนำเข้าเริ่มขาดแคลน

แม้ว่า ประชาชนกรีซจะลงคะแนนด้วยเสียง 61% ไม่รับข้อเสนอจากทางเจ้าหนี้ และรัฐบาลกรีซประกาศว่านี่คือชัยชนะของประชาชน แต่ถ้าเจ้าหนี้ยังไม่ยอมปล่อยกล่องดวงใจ กรีซก็คงดิ้นไม่ได้ง่ายๆ ต้องกลับไปนั่งโต๊ะเจรจากันอีกรอบ

ถ้าเจรจากันไม่รู้เรื่อง และแบงก์ก็เปิดไม่ได้ เงินยูโรก็ขาดแคลน กรีซคงต้องพิมพ์เงินใช้เอง (อาจจะใช้เงิน Drachma ซึ่งเป็นเงินสกุลเก่าของกรีซ) เพื่อจ่ายบิลของรัฐ เงินเดือนข้าราชการ และเงินบำนาญ เพื่อทำให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ แต่นั้นคือการเริ่มต้นของกระบวนการออกจากยูโรโซน

แต่ลองนึกถึงความวุ่นวายนะครับ สินทรัพย์ และสัญญาทุกอย่างที่เคยเป็นเงินสกุลยูโร คงต้องถูกแปลงเป็นเงินสกุลใหม่ ที่ไม่มีใครต้องการ และมูลค่าของมันคงลดลงอย่างรวดเร็ว เงินฝากของประชาชนคงด้อยค่าไปอย่างรวดเร็ว ความเดือดร้อนคงมีอย่างมหาศาล แต่ก็ไม่แน่นะครับ ความโหดร้ายในระยะสั้น อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ดีกับกรีซในระยะยาวก็ได้

ก็หวังนะครับ ว่าทั้งสองฝ่ายคงสามารถหาทางออกได้โดยเร็ว บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล และเกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด กลัวว่าทั้งสองฝ่ายจะเอาประชาชนเป็นตัวประกันแล้วลากวิกฤตนี้ให้ยาวออกไป

มาถึงวันนี้ต้องยอมรับครับ ว่าโอกาสที่กรีซจะออกจากยูโรโซนมีสูงมากขึ้น ไม่ใช่รอบนี้ก็คงเป็นรอบหน้า

สุดท้ายรัฐบาลของกรีซคงต้องเลือกละครับ เจ็บน้อยเจ็บนาน หรือเจ็บลึกเจ็บเร็ว ทางที่ไม่เจ็บเลยคงมาได้ยากครับ