ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สรรพากรตรวจพบ”ขรก. ตำรวจ-ทหาร-ครู-อปท.” บางหน่วยงานไม่เสียภาษี ออกจดหมายจี้อธิบดีกรมบัญชีกลาง – ล่าสุดมูลนิธิสำนักงานสลากฯ หักเงินพนักงานจ่ายภาษีแล้ว

สรรพากรตรวจพบ”ขรก. ตำรวจ-ทหาร-ครู-อปท.” บางหน่วยงานไม่เสียภาษี ออกจดหมายจี้อธิบดีกรมบัญชีกลาง – ล่าสุดมูลนิธิสำนักงานสลากฯ หักเงินพนักงานจ่ายภาษีแล้ว

1 กรกฎาคม 2015


นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ผลจากการนำฐานข้อมูลการเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการทั่วประเทศมาสอบยันฐานข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากร พบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีส่วนราชการหลายแห่ง อาทิ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย เงินเดือนข้าราชการ นำส่งกรมสรรพากร ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด จากนั้นกรมสรรพากรนำข้อมูลดังกล่าวมาขยายผลการตรวจสอบในเชิงลึก พบว่ามีข้าราชการจำนวนมากที่ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และกลุ่มนี้ยังไม่มายื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90-91) กับกรมสรรพากรอีกด้วย

ดังนั้น เพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตนจึงทำหนังสือถึงนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชี โดยขอให้กรมบัญชีกลางออกหนังสือเวียนแจ้งให้ฝ่ายการเงินและการคลังของส่วนราชการทุกแห่ง หักภาษี ณ ที่จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประเภทเงินเดือนและเงินพิเศษอื่นๆ นำส่งกรมสรรพากรทุกเดือน โดยให้ส่วนราชการทุกแห่งบันทึกข้อมูลรายการดังกล่าวลงในระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) หากส่วนราชการแห่งใดไม่ดำเนินการให้กรมบัญชีกลางทำรายงานต่อคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาครัฐ (คตร.)

ส่วนกรณีมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่นำรายได้จากการขายสลากเดือนละ 7 ล้านบาท ส่งให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อจัดสรรเป็นเงินเดือนพนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, ลูกจ้างชั่วคราว และลูกจ้างของบริษัท (Outsource) เป็นประจำทุกๆ วันที่ 15 ของเดือน ต่อเรื่องนี้นายประสงค์เปิดเผยว่าหลังจากกรมสรรพากรส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบภาษีมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ในเบื้องต้นได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าทางมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ยอมหักภาษี ณ ที่จ่าย และได้มีการโอนเงินค่าภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากรเข้ามาแล้ว

แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสรรพากรกล่าวว่าก่อนนี้ในช่วงปี 2554 กรมสรรพากรตรวจสอบภาษีครูทั่วประเทศพบว่ากระทรวงศึกษาไม่ได้หักภาษีณที่จ่ายเงินค่าวิทยฐานะและไม่นำเงินรายได้ส่วนนี้มารวมเพื่อจ่ายภาษี จึงได้ส่งจดหมายให้เสียภาษีให้ถูกต้อง ทำให้ครูต้องเสียภาษีย้อนหลัง จากนั้นกรมสรรพากรได้ขยายผลไปยังหน่วยงานอื่นๆพบว่าข้าราชการระดับสูงเช่น ครู อบต.ตำรวจ ทหาร อัยการ(หน่วยงาน) โดยที่ฝ่ายการเงินของหน่วยงานนั้นไม่หักภาษีณ ที่จ่ายจากเงินเดือนนำส่งกรมสรรพากร ส่วนหนึ่งมาจากข้าราชการระดับสูงที่มีอำนาจสั่งการบอกไม่ให้หักภาษี ด้วยเหตุนี้ทางอธิบดีกรมสรรพกรจึงขอความร่วมจากอธิบดีกรมบัญชีให้ดำเนินการหักภาษีณ ที่จ่ายจากเงินเดือนข้าราชการทุกคนแล้วให้ลงบันทึกในระบบGFMIS

แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสรรพากรกล่าวว่า สำหรับหลักการจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายมีดังนี้ 1. กรณีมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี เช่น มีเงินได้เดือนละ 20,000 บาท หรือ ปีละ 240,000 บาท ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษี ซึ่งส่วนราชการมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ส่งกรมสรรพากร ทุกๆ วันที่ 7 ของเดือน โดยแจ้งกรมสรรพากรว่าข้าราชการรายนี้มีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องชำระภาษี ส่วนข้าราชการถึงแม้จะมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี เช่น มีเงินได้ปีละ 50,000 บาท ก็ต้องนำเงินได้ไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.90-91

2. กรณีมีเงินได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี เช่น มีเงินได้เดือนละ 25,000 บาท เสียภาษีปีละ 6,000 บาท หาร 12 เดือน ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งสรรพากร เดือนละ 500 บาท และต้องนำเงินได้ตลอดทั้งปีมายื่นแบบ ภ.ง.ด.90-91 ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกๆ ปี หากนำเงินได้ตลอดทั้งปีมาคำนวณภาษี (หักค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อน-ยกเว้นภาษีเงินได้สุทธิ 1.5 แสนบาทแรก) มีภาระภาษีที่ต้องชำระให้กรมสรรพากรน้อยกว่ายอดรวมภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะได้เงินคืนภาษี แต่ถ้าคำนวณแล้วมีภาระภาษีที่ต้องจ่ายมากกว่ายอดรวมภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่หักไว้ก็จ่ายเพิ่ม เป็นต้น