ThaiPublica > เกาะกระแส > “ยาบ้า” ปีศาจที่ถูกสร้าง? โทษทัณฑ์ร้ายแรงสำหรับคนจนกับสภาพคุกใกล้แตก

“ยาบ้า” ปีศาจที่ถูกสร้าง? โทษทัณฑ์ร้ายแรงสำหรับคนจนกับสภาพคุกใกล้แตก

25 กรกฎาคม 2015


มุทิตา เชื้อชั่ง

11157094_1099890350036866_307415715_o

“รักในหลวง ห่วงลูกหลาน ร่วมกันต้านยาเสพติด”

“ยาเสพติด เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม”

“ยาเสพติด คนกินตาย คนขายติดคุก”

ฯลฯ

คำขวัญเหล่านี้เป็นสิ่งคุ้นหูราวกับเพลงชาติไทยก็ว่าได้ เพราะปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่มายาวนาน รัฐบาลหลายชุดตลอดหลายทศวรรษต่างมีความพยายามจัดการปัญหาด้วยความเด็ดขาดขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

ผลลัพธ์อีกด้านที่เราอาจมองข้ามไปคือ เรือนจำซึ่งต้องรองรับผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่เพิ่มขึ้นมหาศาลจากมาตรการทางกฎหมายที่เข้มข้น ตัวเลขนักโทษไม่มีทีท่าลดลงขณะที่ยาเสพติดก็ยังแพร่ระบาดเช่นเดิม

ท่านทราบหรือไม่ว่าปัจจุบัน สภาพในเรือนจำของประเทศไทยนั้นแออัดเป็นอันดับ 6 ของโลก คุกไทยมีขีดความสามารถที่จะรองรับนักโทษได้ราว 160,000 คนแต่ปัจจุบันมีนักโทษทั้งหมดเกินกว่า 300,000 คนแล้ว ในจำนวนนี้ 60-70% เป็นคดียาเสพติด เป็นเช่นนี้ทั้งคุกหญิงคุกชาย และความแออัดยัดทะนานนั้นเองทำให้คุณภาพชีวิตผู้ต้องขังตกต่ำอย่างมาก

“มันยิ่งกว่าปลากระป๋องอีก มันหมดศักดิ์ศรีความเป็นคน มันแย่ยิ่งกว่าแมวกว่าหมาที่เราเลี้ยงไว้ในบ้าน” จรัญ ภักดีธนากุล กล่าวเปรียบเทียบไว้ในงานประชุม “จากวาทกรรมยาเสพติดกับการผลิตซ้ำ…สื่อมวลชนกับทางทางออกปัญหาคนล้นคุก”

งานประชุมนี้อยู่ภายใต้โครงการกำลังใจของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา โครงการกำลังใจทำหลายอย่างเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต เน้นที่ผู้ต้องขังหญิงเป็นหลัก หนึ่งในสิ่งที่พยายามผลักดันคือ การจัดการกับผู้ต้องขังยาเสพติด มีการสัมมนามาแล้ว 7 ครั้งโดยเฉพาะในหมู่ผู้พิพากษา ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยทางโครงการนำสื่อมวลชนจากหลายพื้นที่ไปสัมมนาและเข้าเยี่ยมคุกหญิงที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาร่วมกัน

ตุลาการ และ แพทย์ เป็นสองส่วนที่ให้มุมมองใหม่และข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งอาจทำให้เราโยนทิ้งความเข้าใจเดิมเกี่ยวกับ “ยาเสพติด” และ “นักโทษคดียาเสพติด”

บางทีบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้เสพติดยาแต่เสพติดความรุนแรง

11147925_1099890356703532_1918297388_o

จรัญ ภักดีธนากุล ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้เรามีนโยบาย ‘สงครามยาเสพติด’ แต่ก็เป็นเพียงการสยบปัญหา พอสถานการณ์ปกติยาเสพติดก็ขยายตัวอีกครั้งและบางทีอาจจะมากกว่าเดิม มีการประมาณการณ์กันว่าผู้ติดยาในปี 2557 มีราว 1.8 ล้านคน หากดูคดีที่เข้ามาสู่ศาลพบว่า ปี 2556 มีคดียาเสรพติดถึง 327,000 คดี ขณะที่ 2558 ไม่ถึงครึ่งปีก็มีคดียาเสพติดถึง 350,000 คดีแล้ว นี่คือภาระอันนหนักอึ้งของผู้พิพากษา และผู้พิพากษาก็ต้องตัดสินตามกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัดแม้ว่าเนื้อหาของกฎหมายที่ใช้บังคับดูจะไม่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงและลงโทษหนักเกินไปก็ตาม เมื่อหันมองดูผู้ต้องขังหญิงคดียาเสพติด พบว่ามีอยู่ราว 45,000 คน โทษเฉลี่ยคือ 2 ปี หมายความว่าคนส่วนใหญ่เป็นผู้ค้ารายย่อย คนส่งยา ผู้เสพ ขณะเดียวกันระบบบำบัดฟื้นฟูก็ใช้ได้น้อย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่คัดกรองเข้าสู่ระบบ

“ผู้ต้องขังหญิง 45,000 คนมันหมายถึง 45,000 ครอบครัวที่ต้องล่มสลาย และปัญหาสังคมอีกร้อยแปด”

“คนในระบบราชการช่วยไม่ได้ ถ้าไมได้รับความร่วมมือจริงจังจากสื่อ เพื่อให้เกิดกระแสบังคับในการผลักดันนโยบายและการแก้กฎหมาย ที่ผ่านมาเราใช้แหตาถี่จับตัวเล็กตัวน้อยมามาก แต่ตัวใหญ่จับไม่ได้ นโยบายที่ผ่านมาก็มองด้านเดียว และเน้นสร้างผลกระทบแบบฉับพลันทันที กฎหมายแข็งอย่างเดียว ย่อหย่อนด้านการป้องกัน ส่วนนโยบายบำบัดรักษาก็มีแต่คำพูด” จรัญแสดงความคิดเห็น

นวรัตน์ กลิ่นรัตน์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา เล่าถึงประวัติศาสตร์ความล้มเหลวในการต่อสู้กับปัญหายาเสพติดโดยเฉพาะกับ ‘ยาบ้า’ ว่า ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากอเมริกา ทำให้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 กำหนดให้ ‘การนำเข้า’ มีโทษจำคุกตลอดชีวิต ‘การผลิต’ และ ‘การนำเข้าเพื่อจำหน่าย’ มีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต โดยให้ ป.ป.ส.เป็นผู้กำหนดนิยาม ทั้งที่แต่ก่อนนั้นยาบ้าก็คือยาม้า หรือยาขยัน เป็นของบริษัทเวลคัม มีจำหน่ายทั่วไปในร้านขายยา นักศึกษาเวลาจะสอบหลายคนก็ซื้อมารับประทานเพื่ออ่านหนังสือเตรียมสอบได้มากๆ

ต่อมาในปี 2539 มีการเปลี่ยนคำจาก ยาม้า เป็น ยาบ้า นำโดยเสนาะ เทียนทอง และยาบ้ากลายเป็นยาเสพติดประเภทที่ 1 ซึ่งโทษหนักขึ้นมาก การจำหน่าย, จ่ายแจก, ให้ โทษจำคุก 5 ปีจนถึงประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเรื่องการลงโทษอยู่มาก เช่น หากจำหน่าย 20,000 เม็ด 1 กรรม การลงโทษจะเบากว่าการจำหน่าย 20 เม็ด แต่แบ่งเป็น 3 กรรม เพราะศาลต้องลงโทษไล่ตามกรรมเป็นหลัก

“ผลของการมีกฎหมายที่ลงโทษหนัก ทำให้เข้าถึงยาเสพติดได้ยากขึ้น มูลค่าของมันก็เพิ่มขึ้นอีก” นวรัตน์กล่าว

“กฎหมายตอนนี้ล็อคคอตีเข่าศาลจริงๆ แม้ว่าตอนนี้ศาลอุทธรณ์จะตีความแบบคลายตัวลงมากแล้ว แต่ผู้ต้องหาหลายคนก็ไม่ได้สู้คดี คดีจบตั้งแต่ชั้นต้น ดังนั้น ให้ดีที่สุดคือแก้กฎหมยให้เอื้อต่อศาล พวกคดีเล็กน้อยจะได้ไม่ต้องลงโทษ และสร้างระบบ harm reduction ขึ้นมา” นวรัตน์กล่าว

ด้านกำจัด พ่วงสวัสดิ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า เรื่องยาเสพติดรัฐไทยดำเนินการในแนวทางที่ผิดมาโดยตลอด นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้ยังสร้างปัญหาใหม่ๆ ในเรือนจำ

“ผิดตั้งแต่กฎหมายทั้งฉบับ ผิดตั้งแต่นิยามยาเสพติด นิยามการจำหน่าย นำเข้า เพราะเราถูกทำให้กลัวเกินเหตุ” จำกัดกล่าว

“ผมได้ตามพระองค์ภาฯ ไปคุกแล้วถึงรู้ว่า เหมือนเราถูกหลอก ผิดตั้งแต่วิธีคิด ทำให้อาชญากรรมกับยาเสพติดเป็นเรื่องเดียวกัน” จำกัดกล่าว

จำกัดกล่าวถึงความไม่สมเหตุสมผลของกฎหมายยาเสพติดว่า ในโลกนี้เขาหัวเราะเยาะเมืองไทยในการจัดการกับคดียาเสพติด เพราะฆ่าคนตาย โทษจำคุก 15-20 ปี หรือตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ขณะที่คนเอายาบ้าเขามา 1 เม็ดครึ่งต้องจำคุกตลอดชีวิตอย่างเดียว หากรับสารภาพก็ลดครึ่งหนึ่งเหลือ 25 ปี

“ท่านว่ามันตลกไหม เขาเป็นคนเสพแท้ๆ แต่อยากได้ของถูก เลยข้ามไปซื้อฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน เพียงเท่านี้ก็เข้าข่าย นำเข้า ซึ่งโทษหนักแล้ว” จำกัดกล่าว

“บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมใช้กฎหมายตามลายลักษณ์อักษรมากไปไหม ไม่ดูผลกระทบต่อสังคมเลยใช่ไหม เราใช้กฎหมายอาญามากเกินไปแล้ว จับแบบนี้คุกมากแค่ไหนก็คงไม่พอ งบประมาณถึง 10% ที่ต้องใช้ในการดูแลตรงนี้แทนที่จะได้เอาไปทำอย่างอื่น”

“บางทีบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้เสพติดยา แต่เสพติดความรุนแรง” จำกัดกล่าวทิ้งท้าย

กินให้ถูกต้องก็ไม่มีปัญหาอะไร

อภิชัย มงคล อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิตและอดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่นำเสนอข้อมูลให้พิจารณาในอีกด้านหนึ่งว่า

ตอนนี้มีความรู้ใหม่ในวงการแพทย์ที่ขัดกับสิ่งที่เรารู้มาเกี่ยวกับยาเสพติดเกือบทั้งหมด เมื่อก่อนยาบ้า ถูกเรียกว่า ยาขยันหรือยาม้า เคยถูกนำมาใช้ลดความอ้วน เพราะรับประทานแล้วไม่อยากอาหาร หรือเอามาใช้สำหรับผู้ต้องทำงานหนัก เพราะรับประทานแล้วจะไม่ง่วงนอน แต่ในช่วงปี 2539-2540 เกิดเหตุคนขับรถสิบล้อขับชนนั่นชนนี่ มีการจับตัวประกัน ทำให้ผู้ร้ายที่สังคมประณามคือแอมเฟตามีน ทั้งที่จริงๆ แล้วผู้ที่จับตัวประกันนั้นเป็นคนไข้ที่มีอาการหวาดระแวงอยู่แล้ว เขามีแนวโน้มเช่นนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่แอมเฟตามีนไปทำให้เขาไม่นอน ปัญหาเกิดขึ้นเพราะการไม่ได้นอนนั่นเอง เรื่องเหล่านี้เมื่อเกิดซ้ำๆ ก็เกิดกระแสต่อต้านและกระทรวงสาธารณสุขนี่เองที่ได้เปลี่ยนแอมเฟตามีน จากวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 (โทษจำคุกสูงสุด 20 ปี) เป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ซึ่งโทษสูงขึ้นมาก

อันที่จริงแอมเฟตามีน มีต้นทุนการผลิตต่ำมากเพราะเป็นสารสังเคราะห์ ไม่เหมือนเฮโรอีนหรือกัญชา ราคาต้นทุนการผลิตไม่ถึง 50 สตางค์ แต่ขายกันเม็ดละ 350 บาทเพราะถูกทำให้ผิดกฎหมาอย่างรุนแรง ในอเมริกา แอมเฟตามีนมีขายในนามยารักษาสมาธิสั้น แปลว่า ถ้ากินให้ถูกต้องก็ไม่มีปัญหาอะไร

“แอมเฟตามีนเป็นปัญหา เนื่องจากคนไม่ได้นอน ไม่ใช่คนทั่วไปเสพแล้วจะมีปัญหา หมอบางคนคิดว่าเหล้ายังเป็นปัญหาเยอะกว่าอีก” อภิชัยกล่าว

“เมทแอมเฟตามีน อันที่จริงก็เหมือนแอมเฟตามีน หมอหลายคนบอกว่าเสพแล้วสมองจะเสีย แต่ปรากฏว่า ความจำดีขึ้น สมาธิดีขึ้น มีงานวิจัยรองรับชัดเจน คนวิจัยได้เงินจาก NIDA สถาบันนโยบายยาเสพติดของสหรัฐ ทำให้ในช่วง 6 ปีมานี้ พรรคเดโมแครตยกเลิกนโยบายสงครามยาเสพติด ทั้งที่ก่อนหน้านี้เน้นการปราบปราม ไทยก็ติดเชื้อเน้นปราบปรามด้วย แต่ตอนนี้หัวขบวนเขาเลิกปราบแล้ว เราจะเลี้ยวตามเขาด้วยไหม” อภิชัยกล่าวและว่าอังกฤษก็มีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายยาเสพติดตามสหรัฐอเมริกาแต่ยังไม่สามารถทำได้เพราะโดนสื่อวิพากษ์วิจารณ์ยอย่างหนัก

“ปัญหาแท้จริงคือ คนด้อยโอกาส คนยากจนไม่มีทางเลือกในชีวิต สมองคนเราต้องการความสุข ความสนุก เมื่อไม่มีเงินมาก็เลือกยาเสพติด อันที่จริงมันไม่ได้เสพติดร้ายแรง ความร้ายแรงที่เกิดขึ้นเพราะคณะกรรมการยาเสพติดของสหรัฐทำให้มันน่ากลัวเกินไป มันไม่ได้ทำลายสมองอย่างที่ว่า ถ้าเราเปลี่ยนนโยบายด้านนี้ จะไม่มีปัญหาเหมือนปี 2539 เพราะตอนนี้มีกฎหมายด้านสุขภาพจิต ที่ อสม.จะช่วยดูแลและสามารถอันเชิญแกมบังคับผู้ที่มีแนวโน้มหวาดระแวงต่างๆ ไปรักษาได้ทันทีที่พบเห็น” อภิชัยกล่าว

ข้ามราชฯ – 9 เม็ด จำคุก 25 ปี

11153594_1099890466703521_105186830_o

ไม่เพียงวงเสวนาที่เข้มข้นเท่านั้น โครงการรนี้ยังนำสื่อหลายสำนักชมเรือนจำหญิงจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีความแออัดเป็นอันดับต้นของประเทศ เพราะมีพื้นที่เพียง 1 ไร่เศษแบ่งพื้นที่อยู่ในรั้วเดียวกับเรือนจำชาย รองรับผู้ต้องขังหญิงกว่า 600 คน ผู้ต้องขังที่เข้ามามากที่สุดคือคดียาเสพติด ผู้บัญชาการเรือนจำระบุว่าหากตัดรายเล็กรายน้อยที่โดนข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่ายให้ได้รับการลงโทษแบบอื่นหรือเข้ารับการบำบัดแทนการติดคุก จะทำให้จำนวนผู้ต้องขังหญิงอุดรฯ ลดลงทันที 40%

วาสนา อินทอินดา หรือแม่วาด หญิงชาวลาววัยใกล้ 60 ปี และพิศมัย ชินนอก หรือองุ่น วัย 40 กว่าปีเป็นตัวแทนบอกเล่าที่มาที่ไปของคดีและความรู้สึกนึกคิดที่มี

แม่วาดเป็นคนลาว ได้รับโทษจำคุก 25 ปี อยู่มาแล้ว 3 ปี ข้อหาคือนำเข้าและจำหน่าย มียาบ้าในครอบครอง 9 เม็ด เหตุที่โทษหนักเนื่องจากเป็นกรณี “ข้ามราช” ภาษาชาวคุกเรียกเช่นนั้น ซึ่งหมายถึงการนำเข้ายาเสพติดข้ามราชอาณาจักรเพื่อมาจำหน่ายในไทย

แม่วาดเล่าว่าลูกสาวถูกจับที่ฝั่งไทย แต่ไม่ใช่กรณี “ข้ามราช” ตำรวจบอกว่าถ้าสามารถนำคนจากฝั่งลาวที่มียามาได้ก็จะปล่อยตัวลูกสาวไป ลูกสาวไม่รู้จะล่อใครมาเลยโทรบอกให้แม่เอายามาให้ สุดท้ายตำรวจจับแม่แล้วปล่อยลูก ปัจจุบันเธอไม่มีญาติหรือลูกมาเยี่ยม

“ตอนแรกก็โกรธอยู่ แต่พวกที่ถูกจับทีหลังที่อยู่บ้านเดียวกันก็มาเล่าว่าลูกสาวกับพ่อเลี้ยงก็ได้กันแล้ว เขาไม่มาเยี่ยม ไม่ส่งข่าวเลย ก็ทำใจแล้วเพราะไม่รู้จะทำยังไง ตอนนี้รับจ้างซักเสื้อผ้า รับจ้างนวด ซักผ้าเดือนละ 250 บาท นวดก็ชั่วโมงละ 40 บาท พอได้อยู่ได้กิน เพราะกับข้าวในนี้มันก็ลำบากจริงๆ” แม่วาดเล่าด้วยภาษาลาวต้นฉบับ โดยมีองุ่นคอยแปลให้ฟัง

ส่วนองุ่นนั้นเป็นคนอุดรธานี มีลูก 3 คน อายุ 16, 10, 9 ปีตามลำดับ องุ่นจบการศึกษาชั้น ป.6 และหลังจากเลิกกับสามีก็ดูแลลูกเองทั้งสามคน โดยยึดอาชีพเดินเอกสารและพาคนข้ามไปเล่นคาสิโนที่ฝั่งลาวมาได้ 7-8 ปีก่อนถูกจับ เธอเคยเล่นยาสมัยเป็นวัยรุ่นและกลับมาเล่นอีกเมื่อทำงานนี้ เธอว่ามันทำให้เธอมีแรงทำงานดี

เธอถูกจับที่ด่านจังหวัดหนองคาย มียาบ้าในกระเป๋า 20 เม็ด โดนข้อหา “ข้ามราช” เหมือนกันกับแม่วาด ศาลลงโทษจำคุก 25 ปี ปัจจุบันอยู่ในเรือนจำอุดรฯ มาแล้ว 2 ปี

“ยาตัวนี้ (ยาบ้า) เราซื้อมาเพื่อเสพแต่มาโดนจับ ซื้อมาเม็ดละ 80 บาท โดนโทษ 25 ปี อยู่มาจะครบ 2 ปีแล้ว เราไม่คิดว่ายาที่เราถือมา โทษจะร้ายแรงถึง 25 ปี เพราะเราเป็นคนเล่นยา เราไม่ใช่คนค้า มันคิดไม่ถึงเลยจริงๆ” องุ่นกล่าวทั้งน้ำตา

11154100_1099890453370189_727075878_o

“ฝั่งนู้นถูกกว่า แล้วเราไม่อยากมายุ่งกับทางเมืองไทย เพราะมันมีสเต็ปว่า เราไปซื้อเราก็โดนชิ่ง เราหาเงินเอาไปซื้อแท้ๆ เอาเงินให้เขาแล้วไม่ได้ของ แต่ที่ฝั่งนู้นมันได้เลย แล้วก็ถูกกว่ามาก เม็ดละ 80 บาท แต่บ้านเราเม็ดละ 300-400 บาท ถูกจับหน้าด่านหนองคายเลยเพราะไม่รู้กฎหมายว่านำยาเข้าราชอาณาจักรเม็ดเดียวก็โดน 25 ปี เราทำงานตรงนั้นเรารู้แค่ว่าบุหรี่เอามากี่คอทตอน เหล้าเอามากี่ขวด เราไม่รู้กฎหมายเรื่องยา ถ้ารู้ก็คงไม่ถือมาหรอกพี่ เราแค่เสพ ไม่ได้ค้า แล้วต้องมาโดนมันไม่คุ้มนะพี่กับ 25 ปี ครอบครัวเราที่ต้องอยู่ข้างหลังอีก”

“คนลาวที่โดนคดียาในคุกหญิงที่อุดรนี่ก็มีเยอะเหมือนกัน ประมาณร้อยกว่าคน ส่วนใหญ่โดนข้ามราช ตัดมา 27-30 ปีทั้งนั้น”

“ส่วนคนไทยก็มีข้ามราชเหมือนกัน ตอนขึ้นศาลเราไม่สู้เลย เพราะหลักฐานอยู่ในกระเป๋าเรา เราปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว เรามาคนเดียว แต่ถ้าอยากปฏิเสธก็คือ เราไม่ได้ค้า เราแค่เสพ เคยพูดเรื่องนี้ตอนชั้นสืบสวน บอกเขาว่าหนูไม่ได้ค้า หนูเสพ ตำรวจบอกว่าถ้าเกิน 15 เม็ดคือค้าทุกกรณี ตอนมาอยู่ตรงนี้เราค่อยๆ เรียนรู้ว่าถ้าเราสู้แล้วสู้ไม่ตลอดหรือเราแพ้ เราก็ไม่ได้โดนแค่ 25 ปีนะ แต่ประหารชีวิต แต่เพราะเราไม่เคยกระทำความผิดและรับสารภาพเราถึงได้มา 25 ปี” องุ่นกล่าว

เมื่อถามว่ามองชีวิตตัวเองในเรือนจำต่อไปอีกเกือบ 25 ปีอย่างไร เธอกล่าวว่า

“ทำตรงนี้ให้ดีที่สุด อยู่แบบรอวันออก เพื่อให้เราได้กลับไปหาครอบครัว มันยังมีคนข้างหลังรอเรา ทุกคนที่อยู่ตรงนี้ คดีแต่ละคนที่เรานั่งคุยกัน ส่วนมากก็มีไว้เสพ แต่โดนลงครอบครองเพื่อจำหน่ายเพราะยา 200-300 เม็ด หรืออาจมีจำหน่ายจริงก็ไม่มากมากนัก เขาก็เอาเงินมาให้ครอบครัว บางคนไม่ได้ทำแต่แค่รับจ้างก็โดน แต่พวกที่จ้าง พวกตัวใหญ่ๆ ทำไมไม่โดน โดนแต่พวกเรา แล้วพวกเราก็ไม่มีอะไรเลย ฐานะก็แย่อยู่แล้ว ญาติพี่น้องก็ต้องดิ้นรนทำมาหากิน แล้วเราก็ต้องทิ้งลูกไว้กับเขาอีกหลายสิบปี ถ้าเขาจะไม่ค่อยมาเยี่ยมเราก็เข้าใจ เพราะเขาภาระเยอะ เราต้องช่วยเหลือตัวเองและอดทน”

องุ่นอยู่กองงานซักรีด ซักผ้าให้เจ้าหน้าที่และรับจ้างซักผ้าให้ผู้ต้องขังที่มีฐานะอีก 2-3 คนเพื่อแบ่งเบาภาระของญาติซึ่งจะเดินทางมาเยี่ยมเดือนละครั้ง

“เราต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย เพราะโทษเรา 25 ปี แล้วเราเป็นผู้หญิง อย่างน้อยๆ ก็ผ้าอนามัยทุกเดือน เราต้องนั่งรอญาติหรือ อยู่ข้างนอกก็ต้องช่วยตัวเองอยู่แล้ว ไม่แตกต่างจากอยู่ในนี้”

“เรื่องสำคัญมากคือเรื่องน้ำ ผู้หญิงเราเรื่องสุขอนามัยก็อย่างที่รู้ บางทีน้ำไม่มี บางทีได้อาบคนละ 3 ขัน เป็นเมนส์นี่จบเลย น้ำกินบางทีก็ขาด ไม่มาแทงก์ บางทีเดือนนึงสองครั้ง ถ้ามีเงินก็ซื้อกินได้ คนไม่มีก็ลำบาก อีกข้อคือหมอฟัน อยากให้ช่วยหน่อย ตอนอยู่ข้างนอกใครที่เล่นยา ตอนปวดฟันเสพแล้วมันจะหาย มันเหมือนพลังอย่างหนึ่งก็ว่าได้ เราปวดฟัน ปวดท้อง เสพแล้วหายแล้วยังมีแรงทำงาน แต่พอมาอยู่ในนี้มันปวดตลอดเวลา ที่ได้บ้างก็คือยาพาราอย่างเดียว หมอฟันยังไม่เห็นเข้ามา หนูลงว่าปวดฟันตลอด ทุกวันนี้หนูก็กินแต่ยาพารา”

“หนูอยากถามว่าตั้งขึ้นมาทำไม (กฎหมาย) นำเข้าแค่เม็ดเดียวก็ 25 ปี พวกครอบครองเป็นหมื่นเม็ดก็ตัด 25 ปี ทำไมมันต่างกันนัก แล้วจะไม่ให้นักโทษล้นคุกได้ยังไงพี่ เพื่อนๆ หนูยาสองเม็ดแทนที่จะรอลงอาญา แต่ก็โดน 2 ปีเพราะมีเงินล่อซื้อ”

“ตัวเราน่ะไม่เท่าไร เราห่วงคนข้างนอก แต่ก่อนเราเคยหาให้เขากิน แต่ก่อนถึงเวลาเปิดเทอมต้องพาไปซื้อหนังสือ ซื้อชุด แต่พอเราโดนจับมันลำบาก พ่อแม่เราก็แก่แล้ว เลี้ยงเราไม่พอยังเจอลูกเราอีก ถามถึงพ่อของลูก ไม่ต้องถามเลย ตั้งแต่ก้าวแรกถ้าเขาสำนึกว่าเป็นพ่อเขาต้องดูแลลูก แต่เขาไม่มีแต่แรกอยู่แล้ว คนที่ดูแลเราทุกวันนี้คือพ่อกับแม่ เพื่อนฝูงไม่ต้องพูดถึง หนูเป็นตัวแทนพูดแทนได้ทุกคน พวกเราในนี้มีชีวิตเหมือนๆ กัน”

องุ่นเล่าไปก็ร้องไห้ไป