ThaiPublica > เกาะกระแส > นบข. ตั้ง กก. แยกข้าวเกรดต่ำ 5.89 ล้านตัน ส่งทำ “เอทานอล-เชื้อเพลิง” – นำข้าวในสต็อก 500 ตัน ทำข้าวถุงให้สหกรณ์ชุมชนขายราคาถูก

นบข. ตั้ง กก. แยกข้าวเกรดต่ำ 5.89 ล้านตัน ส่งทำ “เอทานอล-เชื้อเพลิง” – นำข้าวในสต็อก 500 ตัน ทำข้าวถุงให้สหกรณ์ชุมชนขายราคาถูก

1 กรกฎาคม 2015


ที่ประชุม นบข. ตั้ง กก. แยกข้าวเกรดต่ำ 5.89 ล้านตัน ส่งทำ “เอทานอล-เชื้อเพลิง” คาดประมูล ก.ค. 58 นี้ – นำข้าวในสต็อก 500 ตัน ทำข้าวถุงให้สหกรณ์ชุมชนขายราคาถูก

580701นบข
(จากซ้ายไปขวา) นายนิพนธ์ พัวพงศกร, น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร และนางดวงพร รอดพยาธิ์ ร่วมแถลงผลการประชุม นบข.

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (กนข.) ครั้งที่ 4/2558 โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุม ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) แถลงว่า ที่ประชุม นบข. ได้พิจารณา 4 วาระสำคัญ และมีมติเห็นชอบทั้งหมด ดังนี้

  1. ให้ขยายระยะเวลาการเก็บสต็อกข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวอีก 1 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2558 เป็นสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2559
  1. ให้นำข้าวในคลัง 20,000 ตัน ออกมาทำข้าวถุงแล้วให้สหกรณ์ชุมชนหรือโรงสีชุมชนนำไปขายเพื่อหารายได้ให้กับชุมชนนั้นๆ ตามแนวคิด Social Business ของนายกฯ โดยจะให้สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยเป็นผู้นำข้าวไปบรรจุถุง เพื่อให้ได้มาตรฐานและเกิดความโปร่งใส จากนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำไปส่งมอบให้กับสหกรณ์ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งแจ้งเข้ามาเบื้องต้นว่ามีความพร้อม 149 ราย โดยจะขายในปริมาณและราคาเดียวกัน คือ ถุงละ 2 กิโลกรัม ในราคาต่ำกว่าราคาท้องตลาด 20% โดยเขียนไว้บนถุงว่าเป็นโครงการเพื่อชุมชน ระยะแรกจะนำข้าวออกมา 500 ตัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้กลางเดือนสิงหาคม 2558 นี้

ตั้ง กก. แยกข้าวเกรดต่ำ “5.89 ล้านตัน” ส่งทำเอทานอล-เชื้อเพลิง

  1. มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ทั้งด้านการผลิต มีกระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพ ทั้งลดราคาขายปลีกปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ข้าว และค่าเช่ารถเกี่ยวข้าว ส่วนกระทรวงมหาดไทยจะช่วยเหลือในการลดค่าเช่าที่นาเฉลี่ยไร่ละ 200 บาท นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมอื่นๆ เช่น ทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้พลังงานทดแทนในการสูบน้ำ ฯลฯ และด้านราคา พณ. เสนอ 2 มาตรการ ทั้งชดเชยดอกเบี้ย 3% สำหรับการนำข้าวออกจากตลาด 2-6 เดือน เพื่อให้ราคาขายข้าวสูงขึ้น ตั้งเป้ามีข้าวร่วมโครงการ 3 ล้านตันข้าวสาร ใช้งบกว่า 385 ล้านบาท และจัดตลาดนัดข้าวเปลือก จะจัดใน 56 จังหวัด 262 ครั้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่โรงสีอยู่ไกลให้พบกับผู้ซื้อโดยตรง ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอ 3 มาตรการ ทั้งสินเชื่อรวบรวมข้าว ชดเชยดอกเบี้ยให้สหกรณ์ 3% ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ชาวนาเป็นเวลา 6 เดือน แต่อยู่ระหว่างหาข้อสรุปว่าจะให้ยอดเงินเท่าไร ซึ่งต้องไม่เกินรายละ 100,000 บาท และชะลอการขายข้าวเปลือกของเกษตรกรในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มียุ้งฉางในการเก็บข้าวออกไปก่อน
  1. รายงานความคืบหน้า การตรวจสอบข้าวในคลังทั้งของ ธ.ก.ส. และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งมีการแจ้งความกับพนักงานสอบสวนเอาไว้แล้ว โดยคลังใดที่ตรวจสอบเสร็จแล้ว จะมีคณะทำงานเข้าไปคัดแยกข้าวเสื่อมสภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือข้าวเกรดซี รวมถึงข้าวเสีย ออกจากข้าวดี เพื่อไม่ให้ปะปนไปใช้ในการบริโภคไม่ว่าจะของคนหรือสัตว์ จากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการระบายข้าวสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้าวเกรด C สามารถนำไปทำเอทานอลได้ ส่วนข้าวเสียจะนำไปสู่โรงปูนหรือทำเป็นเชื้อเพลิง จะพยายามประมูลให้ทันภายในเดือนกรกฎาคม 2558 นี้

ปัจจุบัน จากสต็อกข้าวรัฐบาล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ทั้งหมด 15.46 ล้านตัน เป็นข้าวเกรดซี 4.60 ล้านตัน และข้าวเสีย 1.29 ล้านตัน เหลือเป็นข้าวดี 9.57 ล้านตัน

ทั้งนี้ ยังมีการมอบหมายให้นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คำนวณต้นทุนที่ใช้ในการคัดแยกด้วยว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่

คาดราคาข้าวครึ่งปีหลัง ’58 สูงขึ้น เพราะผลผลิตโลกลดลง

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ข้าวไทยและข้าวโลกว่า กระทรวงเกษตรฯ ประเมินว่า ผลผลิตข้าวไทยในปีนี้จะลดลงจากปีก่อน 2% จาก 27 ล้านตัน เหลือ 26 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกับผลผลิตข้าวโลกที่น่าจะลดลง 1% ขณะที่ความต้องการซื้อน่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งจากจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จึงคาดว่าราคาข้าวขายในตลาดโลกในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง 5 เดือนแรกของปี 2558 ไทยส่งออกข้าวได้ 4.5 ล้านตัน จากเป้าหมายทั้งปี 10 ล้านตัน จึงเชื่อว่าในปีนี้น่าจะส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมาย

เมื่อถามว่า ปริมาณข้าวในสต็อกของรัฐบาล 15.46 ล้านตัน จะเป็นแรงกดดันต่อราคาข้าวหรือไม่ นางดวงพรกล่าวว่า ปริมาณข้าวในสต็อก เราถือเป็น safety stock รัฐบาลไม่ได้ต้องการระบายเพียงเพื่อให้หมดไป แต่ดูจังหวะที่เหมาะสมด้วย เหมือนที่การระบายข้าวทั้ง 7 ครั้งก่อนหน้านี้ โดยช่วงนี้ อยู่ระหว่างผลผลิตข้าวนาปรังเพิ่งหมดไป ส่วนข้าวนาปีก็ยังไม่มา จึงน่าจะเอาข้าวในสต็อกมาระบายได้ในช่วงเวลานี้

ชี้หาก “เอลนีโญ” จบในเดือนนี้ ผลกระทบจะไม่มาก

ด้านนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวไทยเพียงใด ต้องดูว่าเอลนีโญจะมีผลไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2558 หรือไม่ ถ้าจบแค่ในเดือนกรกฎาคม 2558 ก็คงจะมีผลกระทบไม่มาก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเพียงการคาดการณ์ เพราะขนาดรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ติดตามปรากฏการณ์เอลนีโญมาหลายปีก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอจะประเมินผลกระทบได้อย่างชัดเจน

“แต่ถ้าจะมีผลกระทบ ก็คงเฉพาะการทำข้าวนาปรัง ในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งอยู่ในเขตชลประทานเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงผลผลิตส่วนเดียวเท่านั้น ต่างกับข้าวนาปีที่ปลูกทั้งประเทศ โดยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด” นายนิพนธ์กล่าว

“บิ๊กตู่” บอกเสียเงินวันละ 46 ล้านเก็บข้าวจากโครงการรับจำนำ

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นบข. ว่า ปัจจุบันรัฐต้องใช้เงินในการจัดเก็บข้าวที่ได้รับจากโครงการรับจำนำข้าวถึงวันละ 46 ล้านบาท ถือเป็นภาระงบประมาณค่อนข้างมาก ดังนั้น หากนโยบายนี้ยังอยู่ ไม่เพียงข้าวจะเสียหาย ชาวนาก็ยังอยากจนเหมือนเดิม แต่การแก้ไขปัญหาจะต้องใช้เวลา เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ