ThaiPublica > เกาะกระแส > คมนาคม-กสทช. ลงนาม MOU จัดระเบียบวิทยุชุมชนส่งคลื่นรบกวนการบิน หวั่นเกิดอุบัติเหตุ – พบแค่ 4 เดือน รบกวนเกือบ 1 พันครั้ง

คมนาคม-กสทช. ลงนาม MOU จัดระเบียบวิทยุชุมชนส่งคลื่นรบกวนการบิน หวั่นเกิดอุบัติเหตุ – พบแค่ 4 เดือน รบกวนเกือบ 1 พันครั้ง

7 กรกฎาคม 2015


580706คมนาคม_กสทช
(จากซ้ายไปขวา) นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.อ.อ. ธเรศ ปุณศรี ประธานกรมการ กสทช. และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (คค.) นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัด คค. พล.อ.อ. ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Understanding: MOU) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาวิทยุภาคพื้นรบกวนการสื่อสารการบินและวิทยุเครื่องช่วยเดินอากาศอย่างบูรณาการ ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อการเดินอากาศ

การลงนาม MOC ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังคลื่นความถี่วิทยุการบินได้รับการรบกวนการจากคลื่นวิทยุภาคพื้น โดยเฉพาะคลื่นวิทยุภาคพื้นที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างนักบินกับผู้ควบคุมจราจรทางอากาศไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการสื่อสาร และยังทำให้อากาศยานประสบปัญหาขาดความต่อเนื่องในการรับสัญญาณจากวิทยุเครื่องช่วยเดินอากาศ ส่งผลกระทบในการบอกทิศทางและแนวกึ่งกลางทางวิ่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดในการนำร่องและนำร่อนอากาศยานลงสู่สนามบิน ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ได้

สำหรับสาระสำคัญของ MOU ระหว่าง คค. กับ กสทช. มีอยู่ 2 ข้อ คือ

– ประสานงานและร่วมมือในการบริหารจัดการและกำกับดูแลคลื่นความถี่ในกิจการคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมทั้งกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การใช้ประโยชน์คลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งการจัดการปัญหาการรบกวนของคลื่นความถี่

– ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีความร่วมมือทั้งสองฝ่ายในกิจกรรมด้านการพัฒนาและนำระบบเทคโนโลยีสื่อสารและโทรคมนาคมมาประยุกต์ใช้ในกิจการคมนาคมและกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลจากบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ระบุว่า ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2558 มีการรบกวนการบินรวมทั้งสิ้น 992 ครั้ง แบ่งเป็นที่ศูนย์ควบคุมการบินกรุงเทพฯ 555 ครั้ง ท่าอากาศสุวรรณภูมิ 351 ครั้ง และท่าอากาศภูมิภาค 87 ครั้ง

ทั้งนี้ เนื่องจากการควบคุมจราจรทางอากาศใช้งานย่านความถี่ 118-137 MHz ในขณะที่การกระจายเสียงระบบ FM ใช้คลื่นความถี่ 87.5-107.75 MHz แม้จะห่างกันมากถึง 10 MHz แต่หากกระจายเสียงระบบ FM ด้วยเครื่องส่งที่ด้อยคุณภาพ จะทำให้มีการส่งสัญญาณแปลกปลอมออกมารบกวนต่อคลื่นความถี่ใกล้เคียง

Print
แม้คลื่นวิทยุ FM จะใช้ย่านความถี่ 87-108 MHz ส่วนวิทยุควบคุมจราจรทางอากาศจะใช้ย่านความถี่ 118-137 MHz ซึ่งอยู่ห่างกันเกือบ 10 MHz แต่หากการกระจายเสียวิทยุ FM ทำด้วยเครื่องส่งที่ด้อยคุมภาพ ก็อาจไปรบกวนคลื่นความถี่ที่อยู่ใกล้เคียงกันได้

ที่ผ่านมา บวท. เคยร่วมมือกับ กสทช. ในการแก้ไขปัญหาเรื่องวิทยุภาคพื้น โดยเฉพาะวิทยุชุมชน รบกวนการสื่อสารการบินเบื้องต้น รวม 7 มาตรการ

  1. เจ้าหน้าที่ บวท. แจ้ง กสทช. โดยการแฟกซ์เอกสารไปให้เจ้าหน้าที่ กสทช. เพื่อที่หากตรวจพบการรบกวน จะได้แจ้งระงับการออกอากาศ
  2. ใช้งานช่องความถี่สำรองที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.
  3. เจ้าหน้าที่ บวท. ออกทำการค้นหาเอง
  4. ให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับสถานีวิทยุชุมชน โดยเป็นผู้บรรยายตามการประชุมสัมมนาของเครือข่ายกลุ่มสถานีวิทยุชุมชน
  5. ปรับปรุงระบบควบคุมวิทยุสื่อสาร ให้สามารถเปลี่ยนความถี่จากส่วนกลางได้ (fully control) เพื่อสามารถใช้งานความถี่สำรองได้
  6. รวบรวมข้อมูลสถิติความถี่รบกวนทุก 15 วัน และส่งรายงานให้ กสทช. ทุก 3 เดือน
  7. ประสานงานการส่งข้อมูลจากการออกไปตรวจสอบความถี่รบกวนให้ กสทช.เขต โดยตรง

นายสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย ให้ข้อมูลว่า ในอดีต เมื่อปี 2520 เคยเกิดอุบัติเหตุกับสายการบิน KLM ของเนเธอร์แลนด์ และสายการบิน Pan Am ของสหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 583 คน จากปัญหาการรบกวนวิทยุการบิน ทำให้นักบินได้รับการสื่อสารจากหอบังคับการบินผิดพลาด จากคำว่า standby for take off เป็น take off จนเครื่องบิน 2 ลำพุ่งชนกับบนรันเวย์สนามบิน Las Palmas ของสเปน