ThaiPublica > เกาะกระแส > กฤษฎีกา ไฟเขียว กสทช. ลด “ค่าธรรมเนียมรายปี 2%” ทีวีดิจิทัลได้ หากสร้างภาระโดยไม่สมเหตุสมผล

กฤษฎีกา ไฟเขียว กสทช. ลด “ค่าธรรมเนียมรายปี 2%” ทีวีดิจิทัลได้ หากสร้างภาระโดยไม่สมเหตุสมผล

2 กรกฎาคม 2015


คณะกรรมการกฤษฎีกา ไฟเขียว กสทช. ลด “ค่าธรรมเนียมรายปี” ที่หักจาก 2% ของรายได้ของทีวีดิจิทัล ทั้ง 24 ช่องได้ หากเห็นว่าสร้างภาระโดยไม่สมเหตุสมผล

580701ทีวีดิจิตอล
คณะกรรมการ กสทช. ในวันประกาศเลขช่องทีวีดิจิทัล ทั้ง 24 ช่อง ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9570000010372&Html=1&TabID=3&

หลังจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทั้ง 24 ช่อง ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ขอให้ยกเว้นการเก็บ “ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลรายปี” ในอัตรา 2% จากรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อกไปสู่ทีวีดิจิทัล และที่ประชุม กสท. เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 เห็นควรให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว โดยมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติเหตุแห่งการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ

แต่เนื่องจากมีประเด็นสงสัยทางข้อกฎหมาย กสท. จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หารือในประเด็นนี้มายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ล่าสุด ในเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา สคก. โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้มีความเห็นตอบข้อหารือดังกล่าว ตามเรื่องเสร็จที่ 1071/2558 เรื่อง อำนาจในการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์

โดยมีสาระสำคัญคือ กฤษฎีกาเห็นว่า กสทช. มีอำนาจลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิทัลไว้เป็นการเฉพาะ 2 กรณี เท่านั้น

  1. ในกรณีที่การประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ของผู้รับใบอนุญาตรายการข่าวสารหรือมีสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ “เกินกว่าสัดส่วน” ของรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามที่ กสทช. ประกาศกำหนด
  1. ในกรณีลดหย่อนให้กับ “หน่วยงานที่ได้รับยกเว้น” ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แต่มีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

กฤษฎีกา ระบุว่า เมื่อกฎหมายได้ให้อำนาจ กสทช. ในอันที่จะลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กสทช. จึงมีอำนาจลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมได้เฉพาะที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้เท่านั้น ไม่อาจอาศัยความจำเป็นหรือความสมควรอื่นใดไปลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมได้

อย่างไรก็ตาม โดยที่ กสทช. มีอำนาจกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยแยกเป็นค่าธรรมเนียมซึ่งต้องชำระเมื่อได้รับใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมซึ่งต้องชำระเป็นรายปี ซึ่งการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมรายปีนั้นรวมทั้งสิ้นแล้วต้องไม่เกิน 2% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายของผู้รับใบอนุญาต

“ทั้งนี้ มาตรา 19 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ ได้กำหนดเงื่อนไขว่าการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวนั้น กสทช. ต้องไม่กำหนดให้เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการหรือผู้ใช้บริการโดยไม่สมเหตุสมผล และต้องกำหนดโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ความคุ้มค่า ความขาดแคลน วิธีการจัดสรรทรัพยากร และรายจ่ายที่ใช้ในการกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่และการกำกับดูแลการประกอบกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ

“ดังนั้น ในเวลาใดที่ กสทช. เห็นว่าค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้แล้วไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขข้อกฎหมายดังกล่าว เช่น ก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ประกอบการหรือผู้ใช้บริหารโดยไม่สมเหตุสมผล ก็ย่อมมีอำนาจที่จะกำหนดค่าธรรมเนียมใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นได้” ความเห็นกฤษฎีการะบุ

(ดู ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาตาม เรื่องเสร็จที่ 1071/2558 เรื่อง อำนาจในการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ฉบับเต็ม)

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือตอบข้อหารือจาก สคก. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 เตรียมนำเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุม กสท. ต่อไป