ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมความเครียดจึงเป็นศัตรูตัวร้ายของคนที่อยากลดน้ำหนัก: cognitive load and self-control

ทำไมความเครียดจึงเป็นศัตรูตัวร้ายของคนที่อยากลดน้ำหนัก: cognitive load and self-control

11 กรกฎาคม 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ผมเชื่อว่าคงจะมีคุณผู้อ่านหลายท่านที่เวลาเครียดๆเเล้วอดไม่ได้จริงๆที่จะเอื้อมมือไปหยิบขนมขึ้นมาทาน (เเละก็ทานไม่หยุดด้วย) ถึงเเม้ว่าตอนนั้นอาจจะกำลังอยู่ในช่วงคุมน้ำหนักอยู่ก็ตาม วันนี้ผมจะมาขออธิบายโดยใช้หลักจิตวิทยาให้คุณผู้อ่านทราบโดยทั่วกันว่าทำไมความเครียดจึงเป็นศัตรูตัวร้ายที่สุดสำหรับคนที่อยากควบคุมน้ำหนักตัวเอง

Systems 1 and 2

เเต่ก่อนอื่นผมอยากให้คุณผู้อ่านทำความเข้าใจกันก่อนว่าสมองของคนเรานั้นมันทำงานกันยังไง

จากการวิจัยของนักจิตวิทยาหลายท่าน รวมไปจนถึงเเดเนียล คานีเเมน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาดีกรีรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ สมองของคนเรานั้นมีระบบการทำงานอยู่สองระบบ ระบบเเรก หรือที่เรียกกันในวงการวิชาการว่า System 1 เป็นระบบที่เร็ว อัตโนมัติ เเละเป็นฟังก์ชันของอารมณ์ของคนเรา ส่วนระบบที่สอง หรือ System 2 เป็นระบบที่ช้าเเต่ว่ามีเหตุมีผลเเละมีความรอบคอบ เเดเนียล คานีเเมน กล่าวเอาไว้ว่าเราจะใช้ System 2 ในการค้นหาคำตอบให้กับ 274 x 57 เเละ System 1 ในการค้นหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่าผู้หญิงคนนั้นสวยไหม

โดยปกติเเล้วเรามักจะใช้ทั้ง System 1 เเละ System 2 ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เเต่ด้วยสาเหตุที่ System 1 เป็นระบบที่เร็วเเละอัตโนมัติ โอกาสที่เราจะใช้ระบบนี้ในการตัดสินใจในเรื่องหลายๆเรื่องในชีวิตประจำวันจีงเยอะกว่าโอกาสที่เราจะใช้ System 2 ค่อนข้างเยอะ เเต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า System 1 นั้นเป็นระบบที่ดีกว่า System 2 เสมอไป เเต่เเค่เป็นเพราะว่าการใช้ System 2 ในการคิดเเต่ละเรื่องนั้นสมองของเราต้องใช้พลังงานในการคิดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องการจะบังคับตัวเองให้มีสติ (self-control) นั้น System 2 มักจะต้องทำงานเกือบเต็มพิกัดของพลังงานทั้งหมดที่สมองต้องการ เเละคนเราก็ไม่ได้มีเวลาหรือพลังงานในการใช้สมองของเราในการที่จะใช้ System 2 ในการตัดสินใจทุกๆเรื่องในชีวิต

พอมาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านหลายท่านอาจจะกำลังสงสัยว่าเเล้วมันเกี่ยวข้องกับความเครียดกับการลดนำ้หนักยังไงล่ะ

Cake versus fruits experiment

บาบา ชิฟ (Baba Shiv) เเละอเล็กซานเดอร์ เฟโดริกิน (Alexander Fedorikhin) เป็นที่รู้จักในวงการวิชาการในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัยสเเตนฟอร์ด (Standford) เเละอินดีเเอนา (Indiana) เเละเป็นที่มาของการทดลองที่โด่งดังที่เรารู้จักกันว่า cake versus fruits experiment

โดยใน cake versus fruits experiment นี้ทั้งสองเริ่มโดยการเเบ่งอาสาสมัครที่มาทำการทดลองของเขา (จำนวน 165 คน) ออกเป็นสองกลุ่ม จากนั้นทั้งสองก็ให้อาสาสมัครที่อยู่ในกลุ่มเเรกนั้นเริ่มโดยการจำเลขสองหลัก (ยกตัวอย่างคือ 25) ไว้ในหัว ส่วนอาสาสมัครที่อยู่ในกลุ่มที่สองนั้นทั้งสองได้ให้พวกเขาเริ่มโดยการจำเลขเจ็ดหลัก (ยกตัวอย่างคือ 3948120) ไว้ในหัว จากนั้นทั้งสองก็ให้อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มเดินออกจากห้องเพื่อไปเลือกของว่างไปทาน โดยตัวเลือกของของว่างนั้นมีอยู่สองอย่าง อย่างเเรกก็คือเค้กช็อกโกเเลตที่มีเเคลอรี่ที่น่าจะสูงมาก เเละอย่างที่สองก็คือฟรุตสลัดที่ดูเฮลตีมากกว่ากันเยอะ

ที่มาภาพ : http://th.openrice.com/UserPhoto/Article/0/18/0008T5446EDC16B6DB97A3j.jpg
ที่มาภาพ : http://th.openrice.com/UserPhoto/Article/0/18/0008T5446EDC16B6DB97A3j.jpg

ทั้งสองพบว่าจากคนที่ให้จำเลขเจ็ดหลักทั้งหมด 63% เลือกที่จะกินเค้กช็อกโกเเลตเเทนฟรุตสลัด เเละจากคนที่ให้จำเลขสองหลักทั้งหมด 41% เท่านั้นที่เลือกที่จะกินเค้กช็อกโกเเลตเเทนฟรุตสลัด

พูดง่ายๆก็คือคนที่ไม่จำเป็นต้องใช้พลังสมองเยอะในการจำเลขหลายๆหลักไว้ในหัวมักเลือกของว่างที่ดีต่อสุขภาพของเขามากกว่าของว่างที่อาจจะอร่อยมากกว่าเเต่ก็ให้โทษมากกว่าด้วย

Cognitive load and self-control

บาบาเเละอเล็กซานเดอร์อธิบายผลการวิจัยของเขาไว้ง่ายๆว่าการระงับใจตัวเอง (หรือ self-control) นั้นจำเป็นต้องใช้ System 2 ในการทำงาน (นั่นก็เป็นเพราะการควบคุมตัวเองให้มีสติอยู่ตลอดเวลานั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเเละต้องอาศัยเหตุผลในการคงพฤติกรรมอยู่เยอะพอสมควร) เเต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม System 2 ของเราเกิดต้องการทำงานเต็มพิกัด (ตัวอย่างก็คือการที่เราจำเป็นต้องจำเลขเจ็ดหลักให้ได้) เนื้อที่ใน System 2 ที่เรามีในการใช้ควบคุมตัวเองก็จะลดน้อยลงจนในที่สุดสมองของเราก็จะใช้งานได้เเค่ System 1 ซึ่งตามปกติเเล้วไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานในการทำงานมากนัก (เพราะมันเป็นอะไรที่อัตโนมัติ) บาบาเเละอเล็กซานเดอร์เรียกปรากฎการณ์ของการทำงานเต็มพิกัดของ System 2 ว่า cognitive (over)load

เเละนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่มีอะไรที่จำเป็นต้องคิดในหัวเยอะ (พูดง่ายๆก็คือคนที่เครียดดีๆนี่เอง) จึงมัก act on impulse มากกว่าคนที่ไม่มีอะไรให้ต้องคิดในหัวสมองเยอะนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าคุณผู้อ่านอยากที่จะลดน้ำหนักผมขอเเนะนำให้หาอะไรทำที่มันไม่ต้องใช้พลังงานจาก System 2 เยอะนะครับ เก็บพลังของมันเอาไว้ในการช่วยระงับใจตัวเองในการไม่กินของจุกจิกดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม
Shiv, B., & Fedorikhin, A. (1999). Heart and mind in conflict: The interplay of affect and cognition in consumer decision making. Journal of consumer Research, 26(3), 278-292.