ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. จ่อขึ้น “บัญชีดำ” เอกชนนับพันบริษัท ให้ขาดคุณสมบัติรับงานจากรัฐ 28 ก.ค. นี้ หลังไม่ยื่นบัญชีตามมาตรการปราบโกง

ป.ป.ช. จ่อขึ้น “บัญชีดำ” เอกชนนับพันบริษัท ให้ขาดคุณสมบัติรับงานจากรัฐ 28 ก.ค. นี้ หลังไม่ยื่นบัญชีตามมาตรการปราบโกง

23 กรกฎาคม 2015


580722เว็บปปช
ในวันที่ 28 ก.ค. 2558 เว็บไซต์ ป.ป.ช. จะประกาศรายชื่อบริษัทเอกชนที่ขาดคุณสมบัติ (แบล็กลิสต์) การเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ หลังไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 วรรคสอง

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐชอง ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาว่า มีบริษัทเอกชนใดที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 วรรคสอง ที่กำหนดให้คู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐในโครงการที่มูลค่าเกินกว่า 2 ล้านบาท ต้องยื่นบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายในโครงการ หรือแบบ บช.1 ให้กรมสรรพากรตรวจสอบทุกปี เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น การให้เงินใต้โต๊ะ สำหรับบทลงโทษของเอกชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 วรรคสอง ก็คือการประกาศขึ้นบัญชีดำ หรือ “แบล็กลิสต์” ไม่ให้ทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐได้อีก โดยจะประกาศไว้บนเว็บไซต์ของ ป.ป.ช.

ทั้งนี้ เท่าที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. รายงานข้อมูลมาเบื้องต้น คาดว่าจะมีบริษัทเอกชนนับพันที่ถูกขึ้นแบล็กลิสต์ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้ง ทำให้อาจจะยังไม่รู้ว่ามีกฎเกณฑ์นี้อยู่

“แต่หลังจากถูกขึ้นแบล็กลิสต์แล้ว หากบริษัทเอกชนใดดำเนินการยื่นบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายในโครงการให้ถูกต้อง ก็จะถูกปลดชื่อออกจากแบล็กลิสต์ สามารถกลับเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐได้อีก ต่างกับกรณีทิ้งงานที่จะไม่สามารถกลับมาเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐได้ตลอดไป” นายภักดีกล่าว

ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. เกือบ 7 หมื่นสัญญา

ด้านนายวิโรจน์ ฆ้องวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสกลนคร ในฐานะอนุกรรมการกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐของ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 วรรคสอง ได้เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบันก็ครบ 3 ปีแล้ว ที่ผ่านมายังไม่มีการประกาศแบล็กลิสต์ เพราะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจก่อน จากข้อมูลที่มีอยู่มีคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐเกือบ 70,000 สัญญา ที่ไม่ได้ยื่นแบบ บช.1 คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนราว 1,000 บริษัท เพราะแต่ละบริษัทจะเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐราว 40-50 สัญญา

“แต่ข้อสรุปเรื่องจำนวนบริษัทเอกชนที่จะถูกขึ้นแบล็กลิสต์ รวมถึงมีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ติดโผด้วยหรือไม่ จะมีความชัดเจนในการประชุมวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 นี้” นายวิโรจน์กล่าว

ส่วนการถอนแบล็กลิสต์ นายวิโรจน์กล่าวว่า หากบริษัทเอกชนที่ถูกแบล็กลิสต์ยื่นแบบ บช.1 เข้ามา หลังจากนั้น จะใช้เวลาตรวจสอบไม่เกิน 60 วัน หากดำเนินการถูกต้องก็จะถอนแบล็กลิสต์ให้ คงไม่ใช้เวลานานเป็นปี เพราะอาจสร้างความเสียหายในการประกอบธุรกิจของบริษัทเอกชน

580722ภักดี
นายภักดี โพธิศริ กรรมการ ป.ป.ช. ขณะบรรยาย เรื่อง มาตรการเสริมด้านการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ใช้เป็นมาตรการเสริม “สกัดสินบน-ไต่สวนคดี”

เช้าวันเดียวกัน ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายภักดีกล่าวบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “มาตรการเสริมด้านการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” ระหว่างการสัมมนาเรื่องแนวทางการปฏิบัติของคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำและแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการฯ ที่จัดโดยศูนย์กำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และมีเอกชนคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐกับนักตรวจบัญชีกว่า 300 คน เข้าร่วมสัมมนา มีใจความตอนหนึ่งว่า เงินที่ประเทศใช้จ่ายงบลงทุนปีละ 6-7 แสนล้านบาทในการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ในจำนวนนี้เกิดความสูญเปล่าไม่น้อยกว่า 20-30% ที่หายไปในการทุจริต ซึ่งแทนที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศแต่กลับถูกนำไปเป็นประโยชน์ของคนส่วนน้อย

แต่ขณะนี้มีมาตรการที่จะดำเนินการอย่างเฉียบขาดขึ้น ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 วรรคสอง ที่กำหนดให้คู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐต้องยื่นบัญชีรับจ่ายในโครงการที่มีมูลค่าเกิน 2 ล้านบาท หรือที่เรียกว่าแบบ บช.1 ให้กับกรมสรรพากร กรณีเป็นบุคคลธรรมดา ให้ยื่นไปพร้อมกับการยื่นภาษีเงินไปบุคคลธรรมดา คือไม่เกินวันที่ 30 มีนาคมของทุกปี กรณีเป็นนิติบุคคลให้ยื่นเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณของบริษัทนั้นๆ เพื่อใช้เป็นมาตรการป้องกันการทุจริต ทั้งกรณีให้เงินทอน หรือให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะการใช้จ่ายเงินในโครงการที่มีมูลค่าเกินกว่า 30,000 บาท จะกระทำได้โดยการโอนผ่านบัญชีธนาคารเท่านั้น นอกจากนี้ ยังจะใช้เป็นฐานข้อมูลในการไต่สวนคดีความ หากบริษัทเอกชนดังกล่าวถูกพาดพิงว่าเข้าไปมีส่วนพัวพันกับการทุจริต

“บริษัทเอกชนใดที่ไม่ยื่นแบบ บช.1 ก็จะถูกขึ้นแบล็กลิสต์ และไม่สามารถทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐได้อีก เช่นเดียวกับบริษัทเอกชนที่ถูกขึ้นบัญชีว่าทิ้งงาน โดยจะมีการประกาศรายชื่อเร็วๆ นี้” นายภักดีกล่าว