ThaiPublica > เกาะกระแส > สัมมนาปฏิรูป ป.ป.ช. ชี้ยังขาดธรรมาภิบาล ไม่เปิดข้อมูล ทำงานช้า 6 พันคดีหมดอายุความ – “สุภา” เสนอออก กม.กำหนดเวลาทำคดี

สัมมนาปฏิรูป ป.ป.ช. ชี้ยังขาดธรรมาภิบาล ไม่เปิดข้อมูล ทำงานช้า 6 พันคดีหมดอายุความ – “สุภา” เสนอออก กม.กำหนดเวลาทำคดี

18 กรกฎาคม 2015


(จากซ้ายไปขวา) นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นายประมนต์ สุธีวงศ์ พล.ร.อ. พะจุณณ์ ตามประทีป และนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์
(จากซ้ายไปขวา) นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นายประมนต์ สุธีวงศ์ พล.ร.อ. พะจุณณ์ ตามประทีป และนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธาน ได้จัดงานสัมมนา เรื่อง “ปฏิรูป ป.ป.ช. แก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น” เพื่อหารือถึงแนวทางการปฏิรูปการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ์วิพากษ์วิจารณ์ ป.ป.ช. เรื่องความโปร่งใสในการทำงาน

“สังศิต” ชี้ ป.ป.ช. ยังขาดความโปร่งใส

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานอนุกรรมาธิการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรอิสระฯ และหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันภาครัฐ สปช. กล่าวว่า สิ่งที่เป็นหลุมดำของ ป.ป.ช. ก็คือไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องขั้นตอนการพิจารณาคดีความต่างๆ ทั้งที่ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/9 กำหนดให้ต้องนำไปแสดงไว้บนเว็บไซต์ ทำให้ขณะนี้คนไม่รู้เลยว่าคดีไปถึงไหนและจะจบเมื่อไร นอกจากนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานชุดต่างๆ ของ ป.ป.ช. เป็นใครมาจากไหนบ้าง

“ป.ป.ช. ควรจะนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ให้มากขึ้น ในเมื่อคุณเป็นหน่วยงานตรวจสอบคนอื่น ก็ควรจะเปิดเผยข้อมูลให้ภาคประชาสังคมได้ตรวจสอบคุณด้วย” นายสังศิตกล่าว

นายสังศิตกล่าวว่า อยากให้เปลี่ยนวิธีการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ไม่ควรจะเป็นแบบเดิม คือให้เฉพาะประธานศาลมานั่งเป็นกรรมการสรรหา ควรจะหาผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ เข้ามาอยู่ในกรรมการสรรหาด้วย ต้องไม่ให้หลักคิดแบบนักกฎหมายมาครอบงำ เพิ่มกฎหมาย เพิ่มบทลงโทษมากๆ แล้วคนจะไม่ทำผิด ซึ่งไม่จริง นอกจากนี้ กฎหมาย ป.ป.ช. ยังไม่แยกอำนาจของกรรมการกับฝ่ายสำนักงาน ทำให้กรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจทั้งการวินิจฉัยคดี ทำงบ ตั้งคน ซึ่งขัดกับหลักธรรมาภิบาล โดย กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และ กมธ.ปฏิรูปการเมือง เห็นตรงกันว่าควรจะแบ่งแยกอำนาจให้ชัดเจน

ทำคดีหมดอายุความก็ไม่ถูกลงโทษ

นายสังศิตกล่าวอีกว่า สังคมไทยไม่ควรฝากความหวังไว้ที่องค์กรเดียว ควรหาวิธีให้ ป.ป.ช. ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดย ป.ป.ช. ควรจะเน้นการทำงานด้านส่งเสริมมากกว่าปราบปราม เพราะปราบอย่างไรก็ไม่หมด และที่ผ่านมาคดีก็เพิ่มขึ้นไม่หยุด ถึงจุดหนึ่ง ป.ป.ช. จะแบกไม่ได้ ที่สำคัญต้องสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชนให้มากขึ้น เพราะไม่มีประเทศไหนที่แก้ปัญหาคอร์รัปชันได้โดยไม่อาศัยภาคประชาสังคม

“การออกแบบรัฐธรรมนูญรวมถึงกฎหมาย ป.ป.ช. ทำให้การทำงานของ ป.ป.ช. ไม่มีประสิทธิภาพ เกิดคดีค้างรอไต่สวนหลายปี หรือมีคดีหมดอายุความจำนวนมาก ซึ่งเป็นตำรวจหรืออัยการทำคดีหมดอายุความจะต้องถูกลงโทษ แต่ ป.ป.ช. ทำคดีหมดอายุความกลับไม่ถูกลงโทษ” นายสังศิตกล่าว

บี้เปิดข้อมูลคดีมากขึ้น – กม. บังคับอยู่แล้ว

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ที่ปรึกษาอนุ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปช. กล่าวว่า วันนี้ ป.ป.ช. ทำงานช้ามาก เนื่องจากปัญหาทางข้อกฎหมาย เพราะไม่ว่า ป.ป.ท. สตง. หรือดีเอสไอ ไต่สวนคดีอย่างไร หากพบว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเกี่ยวข้อง ก็ต้องส่งมาให้ ป.ป.ช. ไต่สวนต่อ ซึ่งต้องเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่แรก ซึ่งกฎหมายเช่นนี้จะทำลายตัวมันเอง หากไม่มีการแก้ไขในอนาคต

“ในวันนี้ ป.ป.ช. มีกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/9 ที่กำหนดให้ต้องเปิดเผยขั้นตอนการไต่สวนคดี เช่น วันนี้เหลือคดีเท่าไร ตัดสินคดีไปแล้วเท่าไร มีคดีอยู่ระหว่างไต่สวนเท่าไร รวมถึงถ้ายกฟ้องให้เหตุผลอะไร สิ่งเหล่านี้ต้องขึ้นเว็บไซต์ให้หมด เพื่อให้ประชาชนตรวจดู แต่กลับไม่มีการดำเนินการ ทั้งที่มาตรานี้อาจนำไปสู่การถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะได้” นายชาญชัยกล่าว

นายชาญชัยกล่าวอีกว่า ส่วนกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 วรรคสอง ที่กำหนดให้เอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐจะต้องยื่นบัญชีรับจ่ายในโครงการให้กรมสรรพากรตรวจสอบ แต่ผ่านมา 4-5 ปีแล้ว ยังไม่มีการดำเนินการอะไรเลย จึงอยากให้เร่งใช้มาตรานี้อย่างเต็มที่ เพราะจะช่วยป้องกันการทุจริต ให้ตามรอยเส้นทางการเงินได้ เนื่องจากกำหนดว่าการใช้จ่ายเกินจำนวนเท่าไรห้ามใช้เงินสด ต้องโอนผ่านบัญชีเท่านั้น

“พะจุณณ์” อัดตั้งคนสีเทามาทำงานให้

พล.ร.อ. พระจุณณ์ ตามประทีป รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กล่าวว่า ใจจริงไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์ ป.ป.ช. เพราะเห็นว่าทำงานหนัก และจะถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปดิสเครดิต แต่เนื่องจากการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมาถึงทางตันแล้วจริงๆ หลายอย่างจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง สิ่งที่ตนอยากให้ ป.ป.ช. ปรับปรุงมี อาทิ อยากให้ ป.ป.ช. บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่กฎแห่งกรรม เหมือนบางคดีที่ทำล่าช้ามากจนผู้ถูกกล่าวหาเสียชีวิต, ป.ป.ช. ไม่ใช่ศาล จึงไม่จำเป็นต้องมีแต่นักกฎหมาย ควรจะตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ด้วย และการแต่งตั้งคนเข้าไปทำงานให้ ป.ป.ช. ก็ควรจะเปิดเผยมากที่สุด เพราะทราบว่ามีกรรมการ ป.ป.ช. บางคนนำคนซึ่งมีคดีความอยู่ใน ป.ป.ช. มาเป็นหน้าห้องตัวเอง ซึ่งหากตนเป็นเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. คงเดินขบวนขับไล่ไปแล้ว

“ป.ป.ช. ยังไม่ใส่ใจการเปิดเผยความคืบหน้าคดี ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/9 เท่าที่ควร ทั้งที่หากทุกอย่างเปิดเผยคนที่กระทำผิดจะเกรงกลัว” พล.ร.อ. พะจุณณ์ กล่าว

รองเลขาฯ ป.ป.ช. รับอยู่ระหว่างปฏิรูปตัวเอง

ด้านนายชัยรัตน์ ขนิษฐบุตร รองเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ในขณะที่ สปช. ตั้ง กมธ. ขึ้นมาปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ป.ป.ช. เองก็ตั้งคณะงานขึ้นมา 2 หน่วย เพื่อปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องและปฏิรูปโครงสร้างสำนักงาน ทั้งนี้ ในภารกิจ 3 ด้านของ ป.ป.ช. ก็มีการปรับปรุงการทำงาน ด้านการป้องกัน จะเน้นการทำงานเชิงรุกมากขึ้น เช่น เพิ่มความเข้มข้นการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง เฝ้าระวังโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมาก ฯลฯ ด้านการปราบปราม แม้ะจะมีการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. เพิ่มอำนาจ 2 ครั้ง ในปี 2554 และปี 2558 ซึ่งคิดว่าเฉพาะอำนาจตามกฎหมายน่าจะเพียงพอแล้ว เหลือเพียงหาวิธีทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง ป.ป.ท. สตง. ดีเอสไอ ปปง. ศาล

“รวมถึงภาคประชาสังคม และด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน ก็จะเปลี่ยนวิธีทำงานจากตรวจจากเอกสารในการยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่ง เมื่อออกจากตำแหน่ง และเมื่อออกจากตำแหน่งครบ 1 ปี เป็นตรวจสอบในระหว่างการดำรงตำแหน่งด้วย” นายชัยรัตน์กล่าว

น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

“สุภา” ขอออก กม. กำหนดระยะเวลาทำงาน

น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เรื่องการทำงานที่มีคดีค้างจำนวนมาก หากกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการทำไว้ก็ดี จะได้ไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อ ป.ป.ช. ชี้มูลและส่งให้อัยการดำเนินการต่อ ซึ่งปรากฏว่า ไม่มีกำหนดระยะเวลาว่าต้องพิจารณาจะส่งฟ้องเมื่อใด บางคดีส่งไปนานกว่า 5 ปี ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ ป.ป.ช. ต้องนัดทำความเข้าใจกับอัยการว่า หากมีคดีใดที่ส่งไปแล้ว 1 ปี ยังไม่คืบหน้า จะต้องมานั่งคุยกันว่าเพราะอะไร

น.ส.สุภากล่าวว่า คดีที่เมื่อไม่มีการกำหนดอายุความแล้วมีปัญหาที่สุด ก็คือคดีทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะกรณีที่ดิน ที่แม้ ป.ป.ช. จะชี้ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินแปลงใด แต่เมื่อส่งไป กรมที่ดินก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาอีก บางคดีใช้เวลา 6-7 ปี ก็ยังไม่เพิกถอน ทำให้พวกบุกรุกป่าไม้ไม่กลัว จึงอยากเขียนให้ชัดเพื่ออุดรูรั่ว

“ถ้ากำหนดตารางเวลาให้ชัดเจน ทุกคนก็จะไม่มีสิทธิแหก ไม่ใช่ปล่อยให้ลอยไปลอยมา” น.ส.สุภากล่าว

น.ส.สุภากล่าวว่า ส่วนกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/9 จะนำความเห็นไปเสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช. แต่อยากให้มองอีกมุมว่า หากเปิดเผยรายชื่อผู้ถูกกล่าวหา ก็อาจจะทำให้เขาได้รับความเสียหาย เรื่องนี้จึงเป็นดาบสองคม ต้องหาวิธีว่าทำอย่างไรเมื่อนำลงเว็บแล้วจะไม่ถูกป้ายสีซ้ำ แต่ตามปกติ หากถูกชี้มูลแล้วก็จะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ได้ แต่ถ้ายังอยู่ระหว่างดำเนินการ ถ้าเผยแพร่ไปก็สุ่มเสี่ยงจะถูกฟ้องร้องได้

“กรณีที่มีบางคดีขาดอายุความ ก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว แต่พบว่าเป็นการขาดอายุความเพียงบางมาตราเท่านั้น ยังไม่มีคดีใดที่ขาดอายุความทั้งคดี” กรรมการ ป.ป.ช. รายนี้กล่าว

อัดปล่อย 6,000 คดีหมดอายุความ – ชงใช้มาตรการภาษีปราบโกง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่เปิดให้มีการแสดงความเห็น ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนมากกล่าวโจมตีการทำงานของ ป.ป.ช. เช่น กรณีไต่สวนคดีล่าช้าจนมีคดีหมดอายุความกว่า 6,000 คดี, การยกคำร้องบางคดีทั้งที่พยานหลักฐานค่อนข้างชัดเจน, การตั้งผู้ที่เคยถูกไล่ออกจากราชการให้เข้าไปเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ.) ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีหลากหลายข้อเสนอ เช่น อยากให้ ป.ป.ช. นำมาตรการทางภาษีมาใช้ในการปราบปราบคอร์รัปชัน เพราะทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอยู่แล้ว, อยากให้กำหนดบทลงโทษ ป.ป.ช. กรณีที่ปล่อยให้คดีหมดอายุความ ฯลฯ เป็นต้น

สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ มีผู้ทำงานในหน่วยงานตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันเข้าร่วมจำนวนมาก นอกจาก น.ส.สุภาและนายชัยรัตน์ที่มาจาก ป.ป.ช. ก็ยังมี นายโสภณ จันเทรมะ ประธานกรรมการ ป.ป.ท. นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. ฯลฯ

กฎหมาย ป.ป.ช.

– มาตรา 103/7

ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้

เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในกรณีที่มีการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐนั้น มีหน้าที่แสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐต่อกรมสรรพากร นอกเหนือจากบัญชีงบดุลปกติที่ยื่นประจำปี เพื่อให้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินและการคำนวณภาษีเงินได้ในโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

ในกรณีที่ปรากฏจากการตรวจสอบหรือการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าบุคคลหรือนิติบุคคลใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกรณีมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินหรือการชำระภาษีเงินได้ของบุคคลหรือนิติบุคคลนั้น แล้วแต่กรณี ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจประสานงานและสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องรับเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แล้วให้หน่วยงานของรัฐนั้นมีหน้าที่รายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป

นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เนื่องจากการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรในการกำหนดมาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐรับไปปฏิบัติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐนั้นดำเนินการไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดมาตรการในเรื่องนั้นแล้วรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบก็ได้

– มาตรา 103/9

ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดให้มีการเปิดเผยกระบวนการและขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ โดยให้มีการจัดทำข้อมูลดังกล่าวไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของบุคคลและผลกระทบต่อรูปคดีด้วย