ThaiPublica > คนในข่าว > “มานะ นิมิตรมงคล” ตรวจการบ้านปราบโกง 1 ปี คสช. ยังมีแต่มาตรการระยะสั้น กับเรื่องเล่า “คนตามนาย” เริ่มสร้างเครือข่ายอิทธิพล

“มานะ นิมิตรมงคล” ตรวจการบ้านปราบโกง 1 ปี คสช. ยังมีแต่มาตรการระยะสั้น กับเรื่องเล่า “คนตามนาย” เริ่มสร้างเครือข่ายอิทธิพล

17 กรกฎาคม 2015


ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 จะเป็นวันดีเดย์ที่ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เริ่มมีผลบังคับใช้ หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาครบ 180 วัน ถือเป็นมาตรการปราบปรามคอร์รัปชันแรกที่ออกมาในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มีสาระสำคัญคือให้หน่วยงานของรัฐจัดทำคู่มือเปิดเผยขั้นตอนและระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาออกใบอนุญาต และองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันกฎหมายนี้ก็คือองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

ผ่านมาปีเศษ สำหรับการใช้อำนาจพิเศษเข้าปฏิรูปประเทศ ตั้งแต่กฎอัยการศึก ยันมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557

ในสมรภูมิต่อต้านคอร์รัปชัน มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง หรือท้ายสุดก็อาจจะ “เสียของ” ดังเช่นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหลายๆ ชุดที่ผ่านมา

“ดร.มานะ นิมิตรมงคล” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จะมาตรวจการบ้านวิชาว่าด้วยการสร้างความโปร่งใส ในมุมมองของภาคเอกชนที่ทำงานรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันมาตลอดหลายปี

ไทยพับลิก้า: ภาพรวมการต่อต้านคอร์รัปชันในยุคของรัฐบาล คสช. เป็นอย่างไรบ้าง

ที่ผ่านมา คสช. ก็ให้ความสนใจเรื่องปัญหาคอร์รัปชัน และได้ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมาหลายชุด เช่น คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ให้มาทำงานร่วมกับองค์กรอิสระที่มีหน้าที่อยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ ศาลอาญาได้ตั้งแผนกคดีคอร์รัปชันขึ้นมา ถือเป็นเรื่องเชิงบวกที่ศาลได้ตอบสนองกระแสสังคมที่อยากให้มีการพิจารณาคดีคอร์รัปชันอย่างรวดเร็วโดยผู้ชำนาญงาน ถือเป็นการริเริ่มโดยตัวเอง ไม่ต้องรอให้รัฐบาลตั้งให้ พอกระแสสังคมเป็นแบบนี้ คุณก็ทำของคุณเอง สิ่งที่ต้องการจะบอกก็คืออยากให้ทุกองค์กรในสังคมไทยลงมือทำอะไรด้วยตัวเองภายใต้บทบาทและอำนาจหน้าที่ที่ตัวเองมีอยู่ เรื่องนี้คือสิ่งที่เราขอชื่นชม

อย่าลืมว่า คอร์รัปชันเอาชนะกันด้วยกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องอาศัยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการพิจารณา เช่น การคอร์รัปชันเชิงนโยบายคืออะไร ประชานิยมจะเป็นการคอร์รัปชันได้อย่างไร ผลประโยชน์จะเป็นคอร์รัปชัน แล้วแค่ไหนจะถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ

หากไปดูตัวเลขดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใสของไทย (Corruption Perceptions Index: CPI) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ตั้งแต่ปี 2542-2557 จะเห็นว่า ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร คอร์รัปชันก็จะลดลง แต่เมื่ออำนาจพิเศษเหล่านี้หมดไป นักการเมืองเริ่มปรับตัวและรู้ว่าจะเอาตัวรอดอย่างไร trend คอร์รัปชันก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสูงขึ้นกว่าเดิม ก่อนมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แนวโน้มมันก็ลง แต่หลังจากนั้นก็ปรับตัวสูงขึ้นอีก สถานการณ์ในเวลานี้ก็เหมือนจะดูดีขึ้น แต่คำถามก็คือจะทำอย่างไรให้ แนวโน้มของ CPI มันพุ่งลง เรื่องนี้ก็ต้องไปเชื่อมโยงกับการปฏิรูปประเทศ เพราะถ้าคุณปล่อยไปอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็จะขึ้นมาอีก แต่ถ้ามีการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชันอย่างมียุทธศาสตร์ ก็อาจจะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ แต่ถ้าเอาแต่ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมา หรือไปจี้ให้ ป.ป.ช., คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือตำรวจ ไปตามจับผู้กระทำความผิด หรือให้ทหารใช้มาตรา 44 จับๆๆ ระยะยาวมันจะไม่ได้อะไร เพราะเดี๋ยวก็จะหมดอำนาจ

ไทยพับลิก้า: แค่ปราบอย่างเดียวไม่ยั่งยืน

สิ่งที่เราเห็นตอนนี้ก็คือการเบิกจ่ายงบประมาณในภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้า เพราะข้าราชการเมื่อตกอยู่ในสถานะที่เขาต้องระวัง ดีที่สุดก็คือไม่ทำอะไร อะไรที่ทำได้ก็กินน้อยหน่อย แต่อะไรที่หวาดเสียวก็ไม่ทำ ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนี้ รอจนกว่าสถานการณ์มันจะเริ่มคลี่คลาย

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 บอกว่าจะแก้ปัญหาของประเทศโดยทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมา พอมาถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีการทำให้องค์กรอิสระเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น แต่มันได้พิสูจน์ว่าไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดก็ไม่ได้แก้ปัญหาคอร์รัปชัน

พอมาถึงร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) กำลังพิจารณากันอยู่ กมธ.ยกร่างฯ บอกว่าจะให้ความสำคัญกับประชาชน ทำให้ภาคประชาชนเป็นใหญ่ นี่เป็น เทรนด์ใหม่ที่นาสนใจ แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระบวนการปฏิรูปประเทศว่าจะมีการวางรากฐานไปสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ภาคประชาชนเป็นใหญ่ มีอำนาจ มีพลังจริงๆ หรือเปล่า โดยสิ่งที่จะใช้วัดก็คือสิทธิ เสรีภาพ และการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้าไปร่วมคิด ร่วมตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐ โดยวางกลไกให้เข้าไปมีส่วนร่วมได้ง่ายๆ โดยไม่มีต้นทุน และให้การปกป้องเขาด้วย อย่ารอให้ภาคประชาชนเป็นฝ่ายวิ่งเข้ามาเอง รัฐต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมขึ้นมาก่อน

ไทยพับลิก้า: รัฐบาลได้วางกลไกอะไรที่เอื้อต่อการทำงานของภาคประชาชนในการตรวจสอบคอร์รัปชันไปแล้วบ้าง

สิ่งที่รัฐบาล คสช. ทำในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องระยะสั้นทั้งนั้น ยังไม่มีอะไรเป็นผลงานระยะยาวเลย เช่น ไล่จับข้าราชการ ถามว่าจะมีผลระยะยาวไหม ก็ไม่มี เพราะถึงจะจับไปคนอื่นก็ยิงกินอยู่

แต่มันมี 2 มาตรการที่แม้จะยังไม่มีผลทางปฏิบัติ แต่มีการออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่งหากนำไปทำได้จริงจะเกิดผลกระทบมหาศาล 1. การที่มีมติ ครม. ให้บรรจุหลักสูตร “โตไปไม่โกง” ในการเรียนการสอนของนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1 ไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ทั่วประเทศ และ 2. รัฐบาลจะเริ่มแคมเปญการต่อต้านในภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นผลอะไรเป็นรูปธรรม แต่ถ้าทำได้จริง จะเกิดผลอย่ามหาศาล

อย่าลืมว่าคุณออกกฎหมายอะไรมาก็เอาชนะคอร์รัปชันไม่ได้ เพราะคนโกงทำเป็นขบวนการ ก่อนเขาจะโกง เขาก็ศึกษากฎหมายมาอย่างดีแล้ว และก็มักจะมีผู้มีอำนาจระดับสูงคอยให้การอำนวยความสะดวก เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ผ่านมาเราจึงทำไม่สำเร็จเสียที มีแต่แย่ลงๆ การต่อต้านคอร์รัปชันจะได้ผลดี ภาคประชาชนต้องตื่นตัว ไม่เพียงบอกว่า “เราจะไม่โกง” เท่านั้น แต่จะต้องบอกว่า “เราจะไม่ยอมให้ใครโกง” อีกด้วย 2 เรื่องนี้ต้องคู่กัน แล้วการคอร์รัปชันจะหายไป

มันเป็นคำบอกเล่าว่า ก็ยังต้องจ่ายเงิน ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยจ่ายข้าราชการ ก็จ่ายอยู่ ถ้าเป็นเรื่องที่คนมาขายโครงการ มาเก็บส่วย เก็บสินบน ก็มีคนใส่เสื้อยืดสีต่างๆ เข้ามา ที่ไม่ใช่เสื้อการเมือง แต่เครือข่ายใหม่ใส่เสื้อสีต่างๆ พวกนี้ไม่ยั่งยืน เพราะ “มันมาตามนาย” ไม่เหมือนกับนักการเมืองที่เครือข่ายยั่งยืนกว่า

ไทยพับลิก้า: สาเหตุเมื่อมีรัฐบาลซึ่งมาจากการรัฐประหารแล้วปัญหาคอร์รัปชันจะลดลงแค่ระยะสั้นเท่านั้นมาจากอะไร

เพราะอำนาจพิเศษ ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร เราจะเจอ 2 เหตุการณ์ 1. ผู้นำการรัฐประหารจะแสดงตนว่าเป็นคนดี สร้างความดี ต้องทำดีด้วยการปราบคอร์รัปชัน เพราะมันคือข้ออ้างในการรัฐประหาร 2. เขาจะสร้างกลไกอะไรบางอย่างที่บอกให้คนเข้ามาช่วยกันพัฒนาประเทศ

ไทยพับลิก้า: แต่รัฐประหารครั้งก่อนๆ การปราบคอร์รัปชันก็ไม่ยั่งยืน แล้วรัฐประหารครั้งนี้จะแตกต่างจากเดิมอย่างไร

ต้องมีการปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ยังต้องออกกฎหมายและสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาในประเทศ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาล คสช. กำลังทำอยู่และเรายอมรับมากคือการที่รัฐบาลยอมรับกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ ทั้งเรื่องจัดทำข้อตกลงคุณธรรม การเข้าเป็นสมาชิกโครงการ Construction Sector Transparency Initiative (CoST) และโครงการ The Extractive Industries Transparency Initiative (EITI)

นี่คือในสายตาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ นะ เพราะที่ผ่านมาเราสู้มาหลายปี รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาก็ฟัง แต่ไม่ได้ยิน มาพูดคุย ถ่ายรูป แล้วก็จบ แต่ไม่มีใครทำจริงสักราย

แต่รัฐบาลก็บอกว่า โอเค แล้วเริ่มเลย วันนี้จึงเป็นการเริ่มต้นวัฒนธรรมการทำงานอย่างโปร่งใสของภาคราชการ เราไม่ได้หวังว่ามันจะสวยหรูโปร่งใสตั้งแต่เริ่ม แต่การทำงานอย่างโปร่งใสจะต้องควบคู่ไปกับการทำงานของภาคประชาชนด้วย ซึ่งมันต้องใช้เวลาสถาปนาความเป็นสถาบัน ข้าราชการจะต้องเข้าใจว่าทำไมต้องเริ่มแบบนี้ ทำไมต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งนี้ เขาต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนว่า ปรัชญาของมันคือให้ภาคประชาชนเข้ามาช่วยงานของภาคราชการ โดยจะเข้าไปยืนดูว่า คุณโปร่งใสไหม ถูกต้องไหม การเริ่มต้นไม่ได้หมายความว่าชั้นจะมาจับแกให้ได้ แต่มันหมายความว่าคุณโปร่งใสเพียงพอแล้วหรือยัง ก็ต้องค่อยๆ ดูกันไป สรุปบทเรียนร่วมกัน แล้วพัฒนาต่อไปข้างหน้า

ไทยพับลิก้า: ท้ายสุดหากรัฐบาล คสช. ปฏิรูปไม่สำเร็จ แล้วโอกาสที่คอร์รัปชันจะลดลงจะมีอยู่หรือไม่ หรือว่าจะพุ่งขึ้นไปเช่นในอดีต

ตอนนี้การที่คอร์รัปชันมันลดลงเพราะมีอำนาจพิเศษมาควบคุม ไม่ได้แปลว่าขบวนการคอร์รัปชันมันหมดไปนะ เครือข่ายคอร์รัปชันยังดำรงอยู่ ทั้งข้าราชการ นักธุรกิจ ขณะที่เครือข่ายนักการเมืองก็แค่ลดลงไป ไม่ได้หมดไป แค่ฟักตัวแอยู่เท่านั้น อะไรที่ทำได้ก็ทำ อะไรที่ทำไม่ได้ก็ยังไม่ทำ

ในกระบวนการคอร์รัปชันที่มีนักการเมืองเป็นหัวหอก มีนวัตกรรมเพื่อให้ทุจริตได้ครั้งละมากๆ ให้หลบหลีกได้มากขึ้น โดยคนกลุ่มนี้ไม่สนใจว่าประเทศจะเสียหายมากขนาดไหน ดังนั้นจะคอร์รัปชันให้หนักที่สุด เร็วที่สุด อย่าลืมว่านักการเมืองเขารู้ตัวดีว่าเมื่อเข้าสู่อำนาจ อำนาจเขาไม่ยั่งยืน บางคนได้เป็นรัฐมนตรีแค่ 3 เดือน ก็ถูกเด้ง แต่บางคนก็อยู่ค้ำฟ้า โดยเฉพาะในต่างจังหวัด คนที่รู้ตัวว่าจะอยู่สั้น ก็เอาเร็ว เอาหนัก ส่วนคนที่คิดว่าตัวเองจะอยู่ยาว ก็สร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ เครือข่ายพวกพ้อง เพราะสร้างแล้วกินยาว

เหมือนอย่างเช่นนักการเมืองบางพรรคคุมอยู่แค่บางกระทรวง เช่น เกษตรและสหกรณ์กับท่องเที่ยว หรือพลังงานกับอุตสาหกรรม คิดดูว่าถ้าเขาคุมได้ 10-15 ปี เขาดูเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกองจนถึงอธิบดีกรม รองปลัดกระทรวง ปลัดกระทรวง แน่นอนว่าถ้าเครือข่ายเขาแน่น จะทำอะไรก็ง่าย

580716ประยุทธ์
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. นำทุกภาคส่วนประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต สร้างจิตสำนึกไทยไม่โกง ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php?option=com_k2&view=item&id=92556:id92556&Itemid=141&lang=th

ไทยพับลิก้า: การที่ คสช. เข้ามา จะเท่ากับเป็นการตัดเครือข่ายเหล่านี้หรือไม่ หรือเพียงแค่เปลี่ยนตัวผู้คุมเครือข่ายจากนักการเมืองมาเป็นข้าราชการประจำ

โดยส่วนตัว ผมยังไม่เห็นว่ามีเครือข่ายไหนถูกทำลายไป

ไทยพับลิก้า: แล้วมีเครือข่ายใหม่เกิดขึ้นหรือไม่

มันเป็นคำบอกเล่าว่า ก็ยังต้องจ่ายเงิน ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยจ่ายข้าราชการ ก็จ่ายอยู่ ถ้าเป็นเรื่องที่คนมาขายโครงการ มาเก็บส่วย เก็บสินบน ก็มีคนใส่เสื้อยืดสีต่างๆ เข้ามา ที่ไม่ใช่เสื้อการเมือง

…แต่เครือข่ายใหม่ใส่เสื้อสีต่างๆ พวกนี้ไม่ยั่งยืน เพราะมันมาตามนาย ไม่เหมือนกับนักการเมืองที่เครือข่ายยั่งยืนกว่า

ไทยพับลิก้า: 1 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นความพยายามในการปราบปรามคอร์รัปชันจากรัฐบาลชุดนี้ แต่คนอีกกลุ่มก็อาจจะบอกว่าทำไมไม่ทำได้มากกว่านี้ แล้วเวลาที่เหลือจะทำได้สำเร็จหรือ หรือท้ายสุดก็จะเสียของไม่ต่างจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารครั้งก่อนๆ

อันนี้เป็นคำถามที่ประชาชนต้องไปถามให้ทางรัฐบาลตอบว่า ผลงานในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เขาทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน เพราะยังมีคนนอกรัฐบาลบอกว่า การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาก็ยังทำแบบฉาบฉวย ไม่มีอะไรยั่งยืน หรือไม่ตรงจุด

แต่มีสิ่งที่ผมอยากให้เครดิตมากที่สุดก็คือ 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้ได้ทำอะไรมากกว่ารัฐบาล 6 ชุดก่อนหน้า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ไทยพับลิก้า: คนที่ไม่เห็นด้วยอาจจะแย้งว่า “ก็คุณมีอำนาจพิเศษ” เลยทำอะไรได้ง่ายกว่า

แล้วที่ผ่านมาทำไมคุณไม่ทำ ไม่ว่าจะรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทย มีหลายๆ เรื่องที่พูดกันมาตั้งนานมา ทำไมคุณไม่ทำ น่าจะทำอะไรสักอย่าง

ไทยพับลิก้า: ในระยะเวลาที่เหลือ อยากให้ทำอะไรเพิ่มเติมอีก หรือเร่งเรื่องไหนเป็นพิเศษ

ขอให้มีการทบทวนว่ากลไกปกติในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันซึ่งมีอยู่แล้ว และจะต้องอยู่ต่อไปแม้ว่า คสช. จะจากไปแล้ว องค์กรเหล่านี้ควรจะมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ป.ป.ท. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ฯลฯ เพราะในการปฏิรูปประเทศเวลานี้ มีการพูดถึงองค์กรเหล่านี้น้อยมาก ดังนั้น ก่อนที่ คสช. จะหมดอำนาจไป ควรจะทำอะไรที่เป็นการติดอาวุธให้กับองค์กรเหล่านี้ ให้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ มีการแชร์ทรัพยากรระหว่างกัน

เพราะถ้าองค์กรเหล่านี้มีศักยภาพสูงขึ้นเมื่อไร ในวันข้างหน้าก็ไม่ต้องรอพึ่งพาอำนาจพิเศษให้มาช่วยปราบคอร์รัปชัน

สรุป ผลงาน/มาตรการปราบคอร์รัปชันในรัฐบาลนี้ โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล