ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ขบวนการรับจ้างต่างชาติจดทะเบียนสมรสกับหญิงไทย” (ตอนที่1): อดีตปลัดสามพราน ร้องรองปลัดยุติธรรม แก้ต่างข้อกล่าวหา รับจ้างแขกจดทะเบียนสมรสเก๊ 250 คู่

“ขบวนการรับจ้างต่างชาติจดทะเบียนสมรสกับหญิงไทย” (ตอนที่1): อดีตปลัดสามพราน ร้องรองปลัดยุติธรรม แก้ต่างข้อกล่าวหา รับจ้างแขกจดทะเบียนสมรสเก๊ 250 คู่

12 กรกฎาคม 2015


เมื่อวันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2558 น.ส.ศิวพร กาญจนภิญพงศ์ อดีตปลัดอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เข้าพบพ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อร้องขอความเป็นธรรม กรณีถูกกล่าวหาพัวพัน “ขบวนการรับจ้างชาวอินเดียจดทะเบียนสมรสกับหญิงไทย” เป็นเท็จ
เมื่อวันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2558 น.ส.ศิวพร กาญจนภิญพงศ์ อดีตปลัดอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เข้าพบพ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อร้องขอความเป็นธรรม กรณีถูกกล่าวหาพัวพัน “ขบวนการรับจ้างชาวอินเดียจดทะเบียนสมรสกับหญิงไทย” เป็นเท็จ

เมื่อวันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2558 น.ส.ศิวพร กาญจนภิญพงศ์ อดีตปลัดอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เข้าพบพ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อร้องขอความเป็นธรรม กรณีถูกกล่าวหาพัวพัน “ขบวนการรับจ้างชาวอินเดียจดทะเบียนสมรสกับหญิงไทย” เป็นเท็จ ซึ่งเป็นคดีความมั่นคงของชาติที่กำลังแพร่ระบาดในเขตพื้นที่ภาคกลางหลายจังหวัด อาทิ สระบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร เป็นต้น

น.ส.ศิวพร เปิดเผยว่า หลังจากที่ตนถูกย้ายจากปลัดอำเภอสามพรานไปดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2558ได้รับแจ้งจากทางอำเภอสามพราน ว่ากรมการปกครอง ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพบความผิดปกติ กรณีสำนักทะเบียนอำเภอสามพราน รับจดทะเบียนสมรสให้หญิงไทยกับชาวต่างชาติ สัญชาติอินเดีย ในช่วงเดือนตุลาคม 2557-กุมภาพันธ์ 2558 เป็นจำนวนมากถึง 257 คู่ ตรงกับช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอสามพราน ซึ่งตนขอยืนยันว่าในระหว่างปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2557-วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ทางอำเภอสามพรานได้จดทะเบียนสมรสให้ชาวอินเดียกับหญิงไทยไป 7 คู่เท่านั้น โดยตนเป็นลงนามในทะเบียนสมรสแค่ 5 คู่ ส่วนอีก 2 คู่ ลงนามโดยปลัดอำเภอคนอื่น

“หลังจากที่ดิฉันทราบข่าว กรมการปกครองตรวจพบความผิดปกติ ทางอำเภอสามพรานจดทะเบียนสมรสให้หญิงไทยกับต่างชาติไปถึง 257 คู่ ก็รู้สึกตกใจ จึงเดินทางกลับมาที่ว่าการอำเภอสามพราน เพื่อตรวจสอบว่าปลัดอำเภอท่านใดลงนามในคำร้องขอจดทะเบียนสมรส คร.1-คร.2 ปรากฏว่าพบคำร้องขอจดทะเบียนแค่ 7 คู่ อีก 250 คู่ หายไปจากตู็เก็บเอกสาร จึงไปตรวจสอบในคอมพิวเตอร์ พบว่ายังมีข้อมูลการจดทะเบียนสมรส 250 คู่ ตกค้างอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงพิมพ์ออกมาเก็บไว้เป็นหลักฐาน” น.ส.ศิวพร กล่าว

น.ส.ศิวพร กล่าวต่ออีกว่า จากนั้นตนได้นำรายชื่อหญิงไทยที่จดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติมาทำการสุ่มตรวจ 2 ราย คือ น.ส.วรรณ และน.ส.ลลิตา (นามสมมติ) จึงเชิญบุคคลทั้ง 2 มาสอบถาม ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และจากการสอบถามข้อมูลจากบุคคลทั้ง 2 ราย ตรงกัน คือ ได้รับการติดต่อจากน.ส.กนกพร (นามสมมติ) ขอให้มาจดทะเบียนกับชาวอินเดีย โดยได้รับค่าตอบแทน 2,000 บาท เมื่อตอบตกลงประมาณ 1 สัปดาห์ ก็นัดหมายสถานที่ โดยให้นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน มาใช้เป็นหลักฐานและให้ลงลายมือชื่อในคำร้องการขอจดทะเบียนสมรส (คร.1 และ คร.2) ซึ่งทั้งคู่ยืนยันว่าไม่ได้เดินทางไปจดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอสามพราน และไม่เคยพบเห็นนายทะเบียนแต่อย่างใด

กรณีของน.ส.วรรณ ให้การว่าตนลงลายมือชื่อในคำร้องขอจดทะเบียนสมรสที่บ้านของนางพนอม ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนกรณีของน.ส.ลลิตา ให้การว่าได้ไปลงลายมือชื่อที่หมู่บ้านเอื้ออาทร ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ไม่พบนายทะเบียน พบแต่นางพนอม,น.ส.กนกพร และชาวอินเดียคู่สมรสเท่านั้น หลังจากลงลายมือชื่อเสร็จก็พามาส่งบ้านพร้อมกับจ่ายเงินค่าตอบแทน 2,000 บาท

แจ้วความดำเนินคดีจดทะเบียนสมรสปลอม

น.ส.ศิวพร กล่าวต่อว่า เมื่อทราบข้อเท็จจริงตามที่กล่าวมาข้างต้น วันที่ 14 มิถุนายน 2558 ตนจึงพา น.ส.วรรณและน.ส.ลลิตา ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร จากนั้นวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ตนได้เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ น.ส.กนกพร และนางพนอม ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ในข้อหาร่วมกันนำเอกสาร ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ของน.ส.วรรณและน.ส.ลลิตา ไปทำการจดทะเบียนสมรสเป็นเท็จ ทำให้ตนและอำเภอสามพรานได้รับความเสียหาย โดยมีน.ส.วรรณ และน.ส.ลลิตา ให้ปากคำเป็นพยาน ไม่เคยเดินทางมาจดทะเบียนที่อำเภอสามพราน และไม่เคยพบหน้าน.ส.ศิวพร

“สาเหตุที่ตนแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาจดทะเบียนสมรสเป็นเท็จ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้คู่สมรส ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต้องมาแสดงตนและลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียน โดยมีนายทะเบียนร่วมลงลายมือชื่อด้วย แต่กรณีนี้ตนยื่นยันว่าไม่เคยลงลายมือชื่อในแบบคำร้อง หรือทะเบียนสมรสของน.ส.วรรณและน.ส.ลลิตา รวมทั้งทะเบียนสมรสรายอื่นอีก 250 คู่ด้วย” น.ส.ศิวพร กล่าว

อดีตปลัดอำเภอสามพราน กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติหน้าที่ของปลัดอำเภอ โดยทุกๆวันตนต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนของตนไปเสียบที่เครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อเปิดระบบ หรือ กำหนดสิทธิของนายทะเบียนที่ปฏิบัติงานด้านทะเบียนราษฎร,ทะเบียนทั่วไป และงานด้านบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในอำเภอทุกคนเปิดระบบ โดยใช้รหัสผ่านของแต่ละคน เปิดให้บริการแก่ประชาชน เมื่อเจ้าหน้าที่รับแบบคำร้องจากประชาชนก็จะคีย์ข้อมูลเข้าไปในเครื่อง พร้อมกับเลือกนายทะเบียน (ปลัดอำเภอปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียน) เพื่อลงลายมือชื่อในแบบคำร้อง โดยเฉพาะงานจดทะเบียนสมรส ผู้ยื่นคำร้องต้องนำเอกสารจากเจ้าหน้าที่มายื่นต่อหน้านายทะเบียน จากนั้นนายทะเบียนจะตรวจสอบข้อมูลของคู่สมรสด้วยตนเองก่อนที่จะลงลายมือชื่อในใบสำคัญการสมรสและมอบให้คู่สมรสด้วยตนเองทุกครั้ง รวมทั้งกรณีนายทะเบียนถูกเชิญให้ไปจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ด้วย

“กรณีที่กรมการปกครองตรวจพบอำเภอสามพรานจดทะเบียนสมรสให้ชาวอินเดียกับหญิงไทย 257 คู่ ขอยืนยันอีกครั้งว่าตนลงลายมือในทะเบียนสมรสแค่ 5 คู่ที่มายื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสด้วยตนเอง ที่เหลืออีก 250 คู่ ตนขอยืนยันว่าไม่ได้ลงนามในใบสำคัญการสมรส และคู่สมรสไม่ได้มายื่นคำร้อง หรือ แสดงตนต่อหน้านายทะเบียนอำเภอสามพราน” น.ส.ศิวพร กล่าว

ด้านพ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า คดีนี้เป็นคดีความมั่นคงของประเทศ คงต้องขอเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูล และขยายผลการสอบสวนไปยังหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องก่อน อาทิ กรมการปกครอง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงานและกระทรวงต่างประเทศ เป็นต้น สำหรับมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ชาวต่างชาติว่าจ้างผู้หญิงไทยจดทะเบียนสมรส คือ ต้องการอยู่เมืองไทยนานๆ ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย และต้องทำเรื่องขอวีซ่าทุกๆ 3 เดือน หากข้อมูลการจดทะเบียนสมรสระหว่างชาวต่างชาติกับหญิงไทย เป็นเท็จ ข้อมูลที่อยู่ที่สตม. หรือกระทรวงต่างประเทศ ก็เป็นเท็จด้วยเช่นกัน
(ตอนต่อไปเปิดรายชื่อ 250 คู่สมรส)