ThaiPublica > เกาะกระแส > โมเดลคุมงบซื้อสื่อ 5 ชาติ ห้ามใช้โฆษณาบุคคล ให้ กก. ตรวจก่อนเบิกจ่าย – สหรัฐฯ ห้ามมีรูปนักการเมืองบนป้าย ฝ่าฝืนปรับอ่วม

โมเดลคุมงบซื้อสื่อ 5 ชาติ ห้ามใช้โฆษณาบุคคล ให้ กก. ตรวจก่อนเบิกจ่าย – สหรัฐฯ ห้ามมีรูปนักการเมืองบนป้าย ฝ่าฝืนปรับอ่วม

28 กรกฎาคม 2015


วันนี้ จะครบกำหนด 7 วันที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธาน จะทบทวนปรับปรุงร่างกฎหมายปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน จำนวน 3 ฉบับ ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม สปช. เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 ก่อนส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

หนึ่งในนั้นได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ. …. ที่มีสาระสำคัญคือการสร้างกลไกกำกับดูแลการใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ไม่มีการทุจริต และไม่ถูกนำไปใช้โฆษณาตัวบุคคล มากกว่าภารกิจของหน่วยงานนั้นๆ

รัฐบาลกลางออสเตรเลียซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์ 4 สีเต็มหน้า โดยไม่มีรูปของนักการเมืองหรือข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเป็นภาพที่แปลกตาหากเทียบกับสิ่งที่เราเห็นจนเคยชินในเมืองไทย ที่มาภาพ: http://goo.gl/ni7zoC
รัฐบาลกลางออสเตรเลียซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์ 4 สีเต็มหน้า โดยไม่มีรูปของนักการเมืองหรือข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเป็นภาพที่แปลกตาหากเทียบกับสิ่งที่เราเห็นจนเคยชินในเมืองไทย ที่มาภาพ: http://goo.gl/ni7zoC

ก่อนหน้านี้สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเคยนำเสนอข่าวว่า เบื้องหลังการจัดทำร่าง พ.ร.บ.นี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้ใช้ข้อมูลจากรายงานการศึกษา หัวข้อ “การแทรกแซงสื่อสาธารณะโดยฝ่ายการเมือง” ของคณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาเป็นโมเดลในการสร้างกลไกกำกับดูแลการใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ เพราะในรายงานดังกล่าว นอกจากชี้ถึงจุดอ่อนในการกำกับดูแลการใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐไทยแล้ว ยังยกตัวอย่างวิธีกำกับดูแลในอีก 5 ชาติ เพื่อดูว่าจะนำมาปรับใช้กับไทยอย่างไรได้บ้าง โดยแต่ละชาติก็มีวิธีที่แตกต่างกันออกไป ตามโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน และบริบทของสังคมนั้นๆ

โดยสาระสำคัญในการกำกับดูแลหรือควบคุมการใช้จ่ายงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ของทั้ง 5 ชาติ มีดังนี้

โมเดลออสเตรเลีย

– กฎหมาย ในระดับรัฐบาลกลาง มีการออกกฎระเบียบมาควบคุมการใช้งบประชาสัมพันธ์ในชื่อ “แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นในการประชาสัมพันธ์และการโฆษณารณรงค์ (Guidelines on Information and Advertising Campaigns, 2010)” ซึ่งออกตาม “กฎหมายว่าด้วยการจัดการและการรับผิดชอบทางการเงิน (Financial Management and Accountability Act, 1997)”

ในระดับรัฐย่อย ก็มีการออกกฎระเบียบมาควบคุมเฉพาะเช่นกัน เช่น รัฐนิวเซาท์เวลส์ ที่มีเมืองใหญ่อย่างนครซิดนีย์ ก็มีการออก “แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล (Government Advertising Guidelines)” ซึ่งออกตาม “กฎหมายว่าด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล (Government Advertising Act, 2011)”

– วิธีการควบคุม การควบคุมการใช้งบประชาสัมพันธ์ของออสเตรเลียจะมี 2 ระดับ คือ ในส่วนของเนื้อหา และส่วนของกระบวนการ

การควบคุมเนื้อหา อาทิ ต้องไม่มีเนื้อหาสนับสนุนหรือโฆษณาพรรคการเมืองหรือนักการเมืองคนใด, ต้องไม่ระบุเว็บไซต์ สโลแกน หรือภาพของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองใด หรือผู้ผลักดันให้เกิดการประชาสัมพันธ์นี้, ต้องวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ที่ได้รับ (cost-benefit analysis) เพื่อพิสูจน์ความคุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้, เนื้อหาการโฆษณาประชาสัมพันธ์จะต้องตรงกับความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้น เป็นต้น

การควบคุมกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างโครงการสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ของออสเตรเลียจะเป็นลักษณะ “รวมศูนย์” ที่กระทรวงการคลัง เมื่อหน่วยงานราชการใดเสนอโครงการเข้ามา กระทรวงการคลังก็จะให้บริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลเข้ามาเป็นผู้วางแผนสื่อให้กับรัฐเป็นผู้ช่วยวางแผนการโฆษณาให้ โดยปัจจุบันผู้ชนะการประมูลมี 2 บริษัท ได้แก่ Universal McCann และ Adcorp Australia Limited

นอกจากนี้ ในการหาราคากลางและผู้ผลิตจากภายนอก จะต้องค้นจาก “ระบบข้อมูลกลาง” ที่กระทรวงการคลังเก็บรวบรวมข้อมูลเอาไว้แล้ว

สำหรับโครงการที่ใช้งบเกิน 250,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 6.2 ล้านบาท) จะมีคณะกรรมการ 2 ชุด มาช่วยกำกับดูแล ประกอบด้วย 1. คณะผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Review Group: PRG) ที่มีผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีสมาชิกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ การตลาด และโฆษณา มาช่วยประเมินโครงการและพิจารณาความเหมาะสมของแผนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และ 2. คณะกรรมการอิสระด้านการสื่อสาร (Independent Communication Committee: ICC) ซึ่งเป็นตัวแทนจากบุคคลภายนอก ที่จะมาตรวจสอบการโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้น โดยเฉพาะเรื่องของเนื้อหาว่ามีการอิงการเมืองหรือไม่ แล้วนำรายงานเสนอต่อสาธารณชนผ่านเว็บไซต์กระทรวงการคลัง

โมเดลงบพีอาร์2
ทุกปี กระทรวงการคลังจะต้องทำรายงานสรุปการใช้จ่ายงบโฆษณาประชาสัมพันธ์เผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์ โดยจะต้องระบุว่าแต่ละกระทรวงใช้งบไปเท่าไร กับแผนงานอะไร และในสื่อใดบ้าง ที่มาภาพ: http://www.finance.gov.au/advertising/campaign-advertising-reports.html

โมเดลแคนาดา

– กฎหมาย มีการออกกฎหมายกำหนดงบประชาสัมพันธ์ ทั้งในระดับ “ส่วนกลาง” และ “ส่วนภูมิภาค” โดยส่วนกลางอยู่ภายใต้ “กฎหมายว่าด้วยการบริหารงบประมาณ (Financial Administration Act, 1985)” และนโยบายการสื่อสารของรัฐบาลแคนาดา ซึ่งกำหนดกระบวนการและขั้นตอนเกี่ยวกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล

– วิธีการควบคุม ในส่วนของเนื้อหา โดยทั่วไป ห้ามหน่วยงานราชการใช้เงินของรัฐซื้อสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองโดยเด็ดขาด และห้ามมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป ยกเว้นสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้ทำ เช่น ประกาศรับสมัครงานราชการ

แม้กฎหมายในส่วนกลางจะไม่ได้ลงรายละเอียดเรื่องเนื้อหามากนัก แต่ในส่วนภูมิภาค เช่น รัฐออนแทรีโอ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของแคนาดา และเป็นที่ตั้งของนครโตรอนโต มีกฎหมายว่าด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Government Advertising Act, 2004) กำหนดว่า ห้ามมีรูปภาพหรือเสียงของนักการเมือง ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด ไม่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และต้องระบุด้วยว่าใช้เงินจากงบประมาณของรัฐ โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ของออนแทรีโอ จะเป็นผู้พิจารณาเนื้อหาโฆษณาว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ก่อนอนุมัติให้ผลิตสื่อต่อไป

ในส่วนของกระบวนการ จะมี 6 ขั้นตอน ผ่านความร่วมมือ 4 หน่วยงาน

  1. ทุกปี แต่ละกระทรวงจะต้องเสนอแผนการโฆษณาในปีนั้นๆ ให้ “สำนักงานคณะที่ปรึกษาส่วนบุคคล (Privy Council Office: PCO)” พิจารณา โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล (Government Advertising Committee: GAC) ขึ้นมาช่วยตรวจทานโครงการ และอาจขอให้มีการแก้ไข หากเห็นว่าโครงการนั้นไม่เหมาะสม
  2. เมื่อผ่าน GAC ก็จะเสนอให้ที่ประชุม “คณะรัฐมนตรี (Cabinet)” พิจารณาอนุมัติและกำหนดวงเงินขั้นสูง ซึ่งต้องอยู่ภายใต้แผนการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล
  3. เมื่อผ่าน 3 ขั้นตอนแรก PCO จะแจ้งให้หน่วยงานเจ้าของโครงการไปขออนุมัติงบประมาณจาก “คณะกรรมการด้านการคลัง (Treasury Board)” โดยจะมีการประกาศรายละเอียดให้ประชาชนได้รับทราบผ่านเว็บไซต์
  4. กระทรวงการจัดซื้อจัดจ้าง (Public Works and Government Services Canada: PWGSC) ซึ่งดูแล “ระบบข้อมูลการจัดการโฆษณาประชาสัมพันธ์” จะเข้ามาจัดหาและทำสัญญาจ้างผู้ผลิตสื่อ โดยจะต้องนำสัญญาจ้างโครงการประชาสัมพันธ์ทุกฉบับเผยแพร่ต่อสาธารณชน
  5. ก่อนที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ชิ้นใดจะได้รับการเผยแพร่ กระทรวงการจัดซื้อจัดจ้างจะทำการ pre-test ประสิทธิภาพของโฆษณาชิ้นนั้นก่อน ก่อนมอบหมายให้บริษัทเอกชนที่มีสัญญากับรัฐบาล ได้แก่ Cossette Media of Toronto เป็นผู้ติดต่อซื้อพื้นที่และเวลาการโฆษณาจากสื่อเอกชน
  6. โครงการโฆษณาที่มีมูลค่า 1,000,000 ดอลลาร์แคนาดา (ราว 26 ล้านบาท) ขึ้นไป กระทรวงการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องร่วมกับหน่วยงานราชการต้นสังกัดประเมินผลการโฆษณาชิ้นนั้นๆ ก่อนเผยแพร่รายงานให้สาธารณชนรับทราบ

โดยทุกกระทรวงต้องเผยแพร่สัญญาว่าจ้างโครงการโฆษณาที่มีมูลค่าเกิน 10,000 ดอลลาร์แคนาดา (ราว 2.6 แสนบาท) ไว้บนเว็บไซต์ของตัวเอง

โมเดลงบพีอาร์3
2 เดือนก่อน Bonnie Lysyk ผู้ว่าการ สตง.หญิงของรัฐออนทาริโอ ออกมาวิจารณ์ความพยายามแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลกลางแคนาดา เพื่อลดอำนาจ สตง. ในการเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ที่มาภาพ: http://goo.gl/7gUIIo

โมเดลสหราชอาณาจักร

– กฎหมาย ไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้งบประชาสัมพันธ์ แต่มี “กฎหมายว่าด้วยการประชาสัมพันธ์ (Communication Act, 2003)” ที่ห้ามไม่ให้สถานีโทรทัศน์และวิทยุเผยแพร่โฆษณาเกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะโฆษณาให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการใช้เงินแผ่นดินมาหาเสียงส่วนตัว แต่ป้องกันไม่ให้มีการโจมตีหรือให้ร้ายกันทางการเมือง

– วิธีการควบคุม การป้องกันไม่ให้นำเงินแผ่นดินไปใช้โฆษณาตัวเอง จะอยู่ใน “กระบวนการวางแผนและอนุมัติงบประมาณ” ที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยมีการรวมศูนย์การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐไว้ที่ 3 หน่วยงานแห่งในสำนักนายกรัฐมนตรี (The Cabinet Office)

1. ในขั้นตอนเตรียมการ จะมี “ฝ่ายการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล” ซึ่งมีตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ ทำหน้าที่กำหนดแผนการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลในทุกๆ ปี ทำให้การประชาสัมพันธ์มีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน และประหยัด

2. หลังจากได้รับอนุมัติแผนการประชาสัมพันธ์ แต่ละหน่วยงานจะส่งเรื่องให้ “ฝ่ายควบคุมการทำโฆษณา การตลาด และการสื่อสารของรัฐ” พิจารณาอนุมัติงบประมาณ โดยจะพิจารณาจาก 3 ปัจจัย เป็นการทำตามกฎหมาย หากไม่ทำจะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการ และโครงการนั้นจะให้ผลสำเร็จตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ ซึ่งการตรวจสอบจะเน้นไปที่โครงการซึ่งมีมูลค่า 100,000 ปอนด์ (ราว 5.4 ล้านบาท) ขึ้นไป

3. เมื่อโครงการผ่านแล้ว “ฝ่ายการพาณิชย์” จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการจัดซื้อจัดจ้าง

โมเดลฝรั่งเศส

– กฎหมาย ไม่มีกฎหมายเฉพาะห้ามใช้งบเพื่อการหาเสียงทางการเมือง ยกเว้นในช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ที่มีประมวลกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ห้ามไม่ให้รัฐทำการประชาสัมพันธ์ที่เอื้อต่อผู้สมัครพรรคใดพรรคหนึ่ง

– วิธีการควบคุม การใช้งบประมาณสัมพันธ์ ไม่รวมศูนย์เหมือนในออสเตรเลียหรืออังกฤษ แต่ละกระทรวงจะมีงบประชาสัมพันธ์ของตัวเอง แต่จะมีสำนักงานข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล (Service d’information du Gouvernement: SIG) หน่วยงานใต้สังกัดนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ทั้งข้อกฎหมาย การคลัง เทคนิคการผลิตสื่อ ฯลฯ รวมถึงเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้ เพื่อให้แต่ละกระทรวงทำงานไม่ซ้ำซ้อนกัน คล้ายกับการ “ลงขัน” ทั้งนี้ จะมีศาลบัญชี (Cour des Comptes) ทำหน้าที่คล้าย สตง. ของไทย เข้ามาตรวจสอบการใช้งบประชาสัมพันธ์ว่าใช้ไปมากน้อยขนาดไหน และมีความคุ้มค่าเพียงใด

กล่าวโดยสรุป หน่วยงานราชการของฝรั่งเศสยังมีอิสระในการใช้งบประชาสัมพันธ์ แต่มี SIG เป็นผู้ประสานความร่วมมือ หลังจากนั้นจะมีศาลบัญชีมาตรวจสอบ

โมเดลงบพีอาร์4
ในฝรั่งเศส จะมีศาลบัญชี (Cour des Comptes) ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ว่าใช้จ่ายไปมากน้อยเพียงใด และมีความคุ้มค่าหรือไม่ ที่มาภาพ: http://goo.gl/8jYa7A

โมเดลสหรัฐอเมริกา

– กฎหมาย ในระดับรัฐบาลกลางไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมการใช้งบประชาสัมพันธ์ และป้องกันนักการเมืองใช้โฆษณาตัวเอง

แต่ในระดับมลรัฐ เช่น รัฐอิลลินอยส์ ที่ตั้งของนครชิคาโก ซึ่งมีกฎหมายว่าด้วยหลักจริยธรรมของพนักงานและลูกจ้างของรัฐ (State Officials and Employees Ethics Act) ที่ห้ามไม่ให้มีชื่อ รูป หรือเสียงของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติปรากฏอยู่ในประกาศหรือข่าวประชาสัมพันธ์ที่ใช้งบประมาณของรัฐ ไม่ว่าจะผ่านสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ บิลบอร์ด แม้แต่สติ๊กเกอร์และแถบแม่เหล็กติดตู้เย็น ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,100-5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (3.8 หมื่นบาท-1.7 แสนบาท) เช่นเดียวกับรัฐนิวยอร์ก ที่มีข้อห้ามใน “กฎหมายว่าด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ (Public Officers Law)” ว่าไม่ให้มีรูปหรือเสียงเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายการเมืองในสื่อประชาสัมพันธ์ที่ใช้เงินรัฐ ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,000-5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (3.4 หมื่นบาท-1.7 แสนบาท)

– วิธีการควบคุม สหรัฐฯ ไม่มีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบในการวางนโยบายหรือกำกับดูแลการใช้งบประชาสัมพันธ์เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร มีแต่ “หลักการว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณของรัฐ” ที่กล่าวว่าการใช้งบประชาสัมพันธ์จะต้องอยู่บนพื้นฐาน “ความจำเป็น” โดยมีข้อห้าม 2 ข้อ คือ ห้ามใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อการล็อบบี้ หรือโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda)

ทั้งนี้ จะมีหน่วยงานที่ชื่อว่า Government Accountability Office (GAO) ทำหน้าที่คล้าย สตง. ของไทย คือตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลและรายงานต่อสภาคองเกรส

(ดู ตารางสรุปโมเดลการควบคุมงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ของ 5 ประเทศ)

นายธิปไตร แสละวงศ์ หนึ่งในคณะผู้วิจัยของทีดีอาร์ไอที่จัดทำรายงานชิ้นนี้ กล่าวว่า โมเดลควบคุมงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐในระดับโลกที่มีการอ้างกันมากคือ ของออสเตรเลียกับแคนาดา โดยหลักการใกล้เคียงกันคือให้มีคณะกรรมการขึ้นมา pre-audit ตัวโครงการ เช่น มีแผนงานเป็นอย่างไร จะมีความคุ้มค่าหรือไม่ มีเนื้อหาโฆษณาตัวบุคคลหรือเปล่า ฯลฯ ก่อนเบิกจ่ายงบประมาณ

โมเดลของออสเตรเลียจะให้การใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งหมดไปรวมศูนย์อยู่ที่กระทรวงการคลัง แล้วมีหน่วยงานคล้ายกับกรมบัญชีกลางหาคู่ค้ามาให้ ทำให้รัฐมีอำนาจต่อรองมากขึ้น แต่ถ้าจะนำมาปรับใช้กับเมืองไทย จะดีหรือไม่ ยังต้องมาคุยกัน เพราะก็มีหลายคนทักท้วงว่า ถ้าเอาไว้ตรงกลาง เดี๋ยวก็กินกันตรงกลาง ส่วนของแคนาดา จะให้หน่วยงานคล้ายสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ของไทย มา pre-audit

ส่วนของประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ จะเขียนไว้ในจริยธรรมนักการเมืองว่าห้ามมีรูปอยู่ในโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ใช้งบของรัฐ ใครฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษโดยคณะกรรมการจริยธรรม โดยห้ามมีหน้า เสียง รูป ของนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อยู่ในสื่อโฆษณานั้นเลย โดยเฉพาะพวกบิลบอร์ด

“หลักคิดของเมืองนอกคือไปดักตั้งแต่ต้นทาง ของบ้านเรามาดักปลายทาง ทำให้กำกับดูแลได้ยาก เพราะถ้าเริ่มมาก็ไม่โปร่งใส ก็มีโอกาสที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐจะถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ไม่ใช่แค่ใช้เงินฟุ่มเฟือย ยังรวมถึงการแทรกแซงสื่อ หรือทุจริตด้วยการชงโฆษณาให้กับคนในเครือข่ายตัวเอง” นายธิปไตรกล่าว