ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิด “11 ประเด็นสำคัญ” ร่าง กม.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ให้ครอบคลุม “รัฐวิสาหกิจ-องค์กรอิสระ” เพิ่มช่องทาง ปชช.ร่วมตรวจสอบ

เปิด “11 ประเด็นสำคัญ” ร่าง กม.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ให้ครอบคลุม “รัฐวิสาหกิจ-องค์กรอิสระ” เพิ่มช่องทาง ปชช.ร่วมตรวจสอบ

9 กรกฎาคม 2015


กม.จัดซื้อจัดจ้าง

เปิดเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. ซึ่งที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2558 มีมติเห็นชอบ โดยมีสาระสำคัญต่างจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวม 11 ประเด็น

  1. ขอบเขตการใช้บังคับ ขยายความจากเดิมที่ให้ใช้เฉพาะกับส่วนราชการ เป็นให้รวมถึง “รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์การมหาชน หน่วยงานอิสระ มหาวิทยาลัยใต้กำกับของรัฐ และหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”
  2. เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านการใช้ “ข้อตกลงคุณธรรม(Integrity Pact)”
  3. เพิ่มจำนวน “คณะกรรมการกลาง” ในการพิจารณาขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง เป็น 5 ชุด เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ จากเดิมมีเพียง คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ เพียงชุดเดียว
  4. กำหนดให้ผู้ประกอบการไปขึ้นทะเบียนรวมศูนย์ไว้กับ “กรมบัญชีกลาง” จากเดิมแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างขึ้นทะเบียน
  5. กำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างให้เหลือเพียง 3 วิธี คือ ประกาศเชิญชวนทั่วไป คัดเลือก และเฉพาะเจาะจง
  6. เพิ่มเกณฑ์ในการคัดเลือกให้คำนึงถึง “คุณภาพ” ด้วย ไม่ใช่พิจารณาแค่ “ราคาต่ำสุด” เพียงอย่างเดียว
  7. กำหนดวิธีการจ้างที่ปรึกษา ให้ทำได้ 3 วิธี คือ ประกาศเชิญชวนทั่วไป คัดเลือก และเฉพาะเจาะจง
  8. กำหนดวิธีการจ้างออกแบบและควบคุมงาน ให้ทำได้ 4 วิธี คือ ประกาศเชิญชวนทั่วไป คัดเลือก เฉพาะเจาะจง และ ประกวดแบบ
  9. กำหนดให้ต้อง “ประเมินผลการปฏิบัติงาน” ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐด้วย จากเดิมที่ไม่ได้กำหนด
  10. กำหนดวิธีการร้องเรียนและการอุทธรณ์หากเห็นว่าหน่วยงานของรัฐใดไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  11. กำหนด “โทษทางอาญา” สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ จากเดิมมีเพียง “โทษทางวินัย” โดยผู้ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงจะต้องได้รับโทษถึงสองเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นี้ ก็จะส่งให้กฤษฎีกาตรวจแก้ถ้อยคำเพียงเล็กน้อย ก่อนส่งให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ป.ป.ช. ได้ยื่นข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.นี้ มายังรัฐบาลหลายประเด็น อาทิ ควรนำหลักการตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 (ให้หน่วยงานของรัฐแสดงราคากลางและวิธีคิดราคากลางโครงการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการไว้บนเว็บไซต์ และให้คู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายของโครงการนั้นต่อกรมสรรพากร) บรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.นี้ด้วย, ให้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว เปิดเผย โปร่งใส และลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ฯลฯ เป็นต้น