ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ช่องโหว่เลี่ยงกฎหมายอีไอเอ/อีเอชไอเอกรณีท่าเรือบ้านโพธิ์ : โครงการใหญ่แต่ซอยย่อยใบอนุญาตขนาดเล็ก

ช่องโหว่เลี่ยงกฎหมายอีไอเอ/อีเอชไอเอกรณีท่าเรือบ้านโพธิ์ : โครงการใหญ่แต่ซอยย่อยใบอนุญาตขนาดเล็ก

10 กรกฎาคม 2015


ตามที่ได้นำเสนอปัญหาและช่องโหว่ของการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการบางประเภท แต่ปัจจุบันพบว่ามาตรการดังกล่าวมีช่องว่างที่ทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ ได้แก่ 1)กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน 2)ความเข้าใจผิดที่ว่าคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) ไม่มีอำนาจเห็นชอบ 3)การไม่แก้ไขรายงานเมื่อพบข้อเท็จจริงใหม่ 4)การทำรายงานเท็จ 5)การตีความหมายกฎหมายของหน่วยงานรัฐ และ6)การข้อบัญญัติของกฎหมายที่ไม่ครอบคลุม

ที่ผ่านมาโครงการขนาดใหญ่ที่เลี่ยงกฎหมายอีไอเอและอีเอชไอเอ โดยการแยกขอใบอนุญาตก่อสร้างเป็นโครงการขนาดเล็กหลายๆ ใบอนุญาต เพื่อให้มีขนาดที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องทำรายงานอีไอเอและอีเอชไอเอ ดังตัวอย่างที่กำลังฟ้องร้องกรณีโครงการท่าเรือและโกดังเก็บสินค้าบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา โดยทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมได้เข้าช่วยเหลือเป็นตัวแทนฟ้องหน่วยงานราชการฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ต่อศาลปกครองระยองตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ในขณะที่โครงการกำลังเร่งเดินหน้าการก่อสร้าง

ความจริงกรณีท่าเรือบ้านโพธิ์ทั้ง 6 ท่า

โครงการท่าเรือและโกดังเก็บสินค้าบ้านโพธิ์เป็นโครงการขนาดใหญ่ของบริษัทอีสเทิร์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด ในพื้นที่ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ขออนุญาตสร้างท่าเรือทั้งหมด 6 ท่า ความยาวหน้าท่ารวม 457.2 เมตร ในแม่น้ำบางปะกงซึ่งมีระยะทางเดินเรือจากปากอ่าว 36 กิโลเมตร หรือห่างจากเกาะสีชัง 56 กิโลเมตร โดยบริษัทอ้างว่าจะใช้พื้นที่ขนส่งสินค้าเกษตร 40,000 ตารางเมตร พร้อมระบุว่าไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่ดังกล่าวคิดเป็น 1 ใน 9 ของพื้นที่ทั้งหมด 358,470 ตารางเมตร

ทั้งนี้ แม้ว่าท่าเรือบ้านโพธิ์จะเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่ไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ เป็นผลจากการแยกขอใบอนุญาตทำท่าเรือขนาดเล็กหลายท่าเรือ จึงไม่ต้องทำอีไอเอ แต่ถ้ารวมจำนวนท่าเรือที่ขออนุญาตทั้งหมดเข้าด้วยกัน ก็เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ ซึ่งระเบียบการทำอีไอเอของท่าเรือกำหนดว่าให้ท่าเรือที่ต้องทำอีไอเอคือท่าเรือต้องมีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป ในขณะที่ท่าเรือบ้านโพธิ์ทั้ง 6 ท่า มีพื้นที่ 831 ตารางเมตร จำนวน 2 ท่า และมีพื้นที่ 995 ตารางเมตร จำนวน 4 ท่า

อีกทั้งไม่เข้าข่ายที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอด้วย เพราะตามระเบียบกำหนดให้ท่าเรือที่ต้องทำอีเอชไอเอคือท่าเรือที่มีความยาวหน้าท่า 300 เมตรขึ้นไป ซึ่งความยาวหน้าท่าของท่าเรือทั้ง 6 ท่า นั้นมีความยาว 66.6 เมตร จำนวน 2 ท่า และความยาว 81 เมตร จำนวน 4 ท่า

นอกจากท่าเรือแล้วยังมีโครงการสร้างโกดังสินค้ารวม 35 โกดัง ซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 5,000 ตารางเมตร ซึ่งในปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้รับใบอนุญาตแล้วทั้งการสร้างท่าเรือและโกดังสินค้า และอยู่ระหว่างการเร่งก่อสร้าง โดยส่วนของท่าเรือนั้นเริ่มขุดลอกลำน้ำแล้ว และมีการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ส่วนโกดังสินค้าก็เริ่มสร้างอาคารแล้ว ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ การขุดลอกลำน้ำอาจทำให้น้ำไหลเปลี่ยนทิศทางและเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงมลพิษทางเสียงจากเครื่องจักรและฝุ่นจากการก่อสร้าง อีกทั้งยังก่อความเสียหาย จากการจราจรคับคั่ง และอันตรายจากอุบัติเหตุ เพราะเส้นทางคมนาคมของชุมชนมีขนาดเล็กและมีรถบรรทุกวิ่งเข้าออกจำนวนมาก และอาจก่อความเสียหายมากกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัวหากไม่มีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม

สำหรับมูลค่าการลงทุนโครงการท่าเรือและโกดังเก็บสินค้าบ้านโพธิ์นี้ไม่ทราบตัวเลขรวมที่แน่นอน แต่ข้อมูลเบื้องต้นจากคำให้การในชั้นศาลเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 บริษัทอีสเทิร์นฯ ชี้แจงว่า ลงทุนไปแล้ว 859.62 ล้านบาท

จากข้อมูลดังกล่าว มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมหรือเอ็นลอว์จึงเป็นตัวแทนชาวบ้านยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยองเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 โดยนายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธิเอ็นลอว์กล่าวว่า คดีนี้ชาวบ้านจำนวน 16 คน ซึ่งปัจจุบันถอนฟ้องไป 1 คนนั้น ยื่นฟ้องผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าที่ 6, นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สนามจันทร์ และบริษัท อีสเทิร์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีประเด็นสำคัญในการฟ้องคือ

1. หลีกเลี่ยงการจัดทำอีไอเอและอีเอชไอเอตามประกาศกระทรวงทรัพยากรทรัพยากรชาติและสิ่งแวดล้อม ในการออกใบอนุญาต สร้างท่าเทียบเรือ และก่อสร้างคลังสินค้าอาคารขนาดใหญ่
2. การดำเนินโครงการที่กระทบระบบนิเวศพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติที่ต้องทำอีไอเอตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
3. มติที่ประชุมของคณะกรรมการพิจารณาการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำไม่ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย เนื่องจากนายก อบต.สนามจันทร์ ไม่เข้าร่วมพิจารณา
4. ไม่แจ้งวาระการประชุมล่วงหน้า
5. กรมเจ้าท่าไม่ได้นำข้อเท็จจริงเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำและมาตรการแก้ไขผลกระทบมาพิจารณาในการออกใบอนุญาต จึงเป็นดุลพินิจที่มิชอบ 6. การออกใบอนุญาตโกดังและท่าเรือไม่มีการรับฟังความเห็นและให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 57, 58, 66 และ67 รวมถึงไม่มีการสอบถามความเห็นของ อบต. ประกอบการพิจารณาโครงการ

ทั้งนี้ มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลเพิกถอนใบอนุญาตท่าเทียบเรือ 6 ฉบับ ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ 6 ฉบับ และใบอนุญาตก่อสร้างโกดังเก็บสินค้าทั้ง 35 ฉบับ

แผนผังโครงการท่าเรือบ้านโพธิ์
แผนผังโครงการท่าเรือบ้านโพธิ์

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า เดิมบริษัทต้องการสร้างท่าเรือ 13 ท่า แต่กรมเจ้าท่าเห็นว่าสร้างมากเกินไปและอาจสร้างผลกระทบในพื้นที่จึงอนุญาตเพียง 6 ท่า โดยบริษัทอ้างว่าทุกท่ารองรับเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อส่งออกข้าวและแป้งมันสำปะหลังซึ่งเป็นอีกธุรกิจของบริษัทที่มีกำลังผลิตปีละ 130,000 ตันต่อปี ไปยังเกาะสีชังก่อนขนส่งไปยังต่างประเทศ โดยการขนส่งจะใช้เรือลากจูง 1 ลำ ลากจูงสินค้า 3 ลำ เพียงวันละ 2 เที่ยว คือขาไปและขากลับ ส่วนการขนส่งสินค้าจากโรงงานผลิตเข้ามายังโกดังจะใช้รถบรรทุกสิบล้อเพียงอย่างเดียว(อ่านเพิ่มเติมท่าเรือนครหลวงกับความไร้ระเบียบ)

นายสุรชัยกล่าวต่อว่า สิ่งที่บริษัทอ้างนั้นเราไม่รู้ถูกต้องมากแค่ไหน เพราะไม่ได้ทำอีไอเอจึงไม่เห็นรายละเอียดโครงการ อีกทั้งบริเวณดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ เป็นป่าชายเลน การสร้างและประกอบกิจการอาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เช่น แม่น้ำบางปะกงเน่าเสีย ซึ่งอาจเกิดการที่น้ำรั่วไหลทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่มีอาชีพเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ได้รับผลกระทบเพราะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ อีกทั้งการบรรทุกสินค้าวันละ 4,000-5,000 ตัน อาจทำให้ระบบนิเวศป่าชายเลนเสียหายและตลิ่งพัง ส่วนกิจกรรมจากโกดังสินค้าอาจก่อให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย ถนนสาธารณะเสียหาย และเกิดอุบัติเหตุทางเรือได้

“การอนุญาตก่อสร้างท่าเรือและโกดังสินค้าอาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต เช่น เดิมระบุว่าส่งออกสินค้าเกษตรเท่านั้น แต่ต่อไปก็อาจจะมีการขนส่งถ่านหินและสินค้าอื่นๆ ได้ รวมถึงอาจจะมีการนำเข้าสินค้าด้วยมิใช่เพียงส่งออกเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันโครงการท่าเรือได้ขอเปลี่ยนแปลงการสร้างท่าเรือได้แล้ว คือ เดิมยืนยันต่อศาลว่าจะไม่มีการขุดลอกตลิ่งหน้าท่าแน่นอน แต่ปัจจุบันได้ขออนุญาตกรมเจ้าท่าและอยู่ระหว่างการขุดลอก” นายสุรชัยกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา และให้โอกาสโจทก์และจำเลยหาข้อมูลตอบโต้ได้จนกว่าศาลจะกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตามในคดีดังกล่าวทางโจทย์ได้ขอให้ศาลคุ้มครองคดีชั่วคราว โดยให้หยุดโครงการท่าเรือบ้านโพธิ์ไว้ก่อน แต่ศาลยกฟ้องเพราะมองผลกระทบแยกเป็นใบอนุญาต ในขณะที่ก่อนหน้านี้ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าให้คุ้มครองคดีชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลของคดีดังกล่าวยังมีปัญหา เช่น กรณีการใช้ดุลยพินิจของศาลนั้นศาลสามารถเรียกข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ได้หากเห็นว่าเกี่ยวข้องกับคดี แต่อย่างรายละเอียดของโครงการศาลก็อาจจะไม่เรียกข้อมูลให้เพราะมองว่าเป็นข้อมูลทางธุรกิจ หรือกรณีที่จะใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารขอข้อมูลจากหน่วยงานรัฐก็ยังไม่ชัดเจนว่าเรื่องนี้ต้องยื่นขอข้อมูลกับหน่วยงานใด กระทรวงอุตสาหกรรม กรมเจ้าท่า หรือว่าองค์การปกครองส่วนถิ่น (อปท.)

ทั้งนี้ การฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ศาลมักอ้างเสมอว่า หากในอนาคตเกิดผลกระทบขึ้นจริงสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ แต่จุดประสงค์ของการฟ้องร้องในกรณีเช่นนี้คือ ผู้ฟ้องต้องการให้เกิดมาตรการการป้องกัน ไม่ใช่ต้องการการเยียวยา

แผนผังโครงการท่าเรือบ้านโพธิ์

ด้านนางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธิเอ็นลอว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทอีสเทิร์นฯ ยื่นคำร้องขออนุญาตก่อสร้างท่าเรือเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 โดยระบุข้อความว่า “ทำท่าเทียบเรือ คสล. (โครงสร้างเหล็ก) รูปตัวที พร้อมโครงหลังคาจำนวน 6 ท่า เพื่อใช้ในการขนถ่ายสินค้าประเภทเกษตรกรรม” ซึ่งพบการเขียนคำร้องเพียงครั้งเดียว แต่ต่อมาในวันที่ 9 สิงหาคม 2555 กรมเจ้าท่าลงนามโดยนายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 ได้ออกใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำแยกเป็นทั้งหมด 6 ใบคือ ท่าเรือ A B C D E F ให้แก่บริษัทอีสเทิร์นฯ

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า จากการขออนุญาตก่อสร้างและออกใบอนุญาตก่อสร้างเป็นไปไม่ได้ที่กรมเจ้าท่าจะไม่รู้ว่าโดยรวมแล้วโครงการมีขนาดใหญ่ และจำเป็นต้องทำอีไอเอและอีเอชไอเอ เพราะตามขั้นตอนการขออนุญาตกรมเจ้าท่าต้องลงสำรวจพื้นที่ และในขั้นตอนของการกลั่นกรองก็ต้องพิจารณาได้แล้วว่าสมควรออกใบอนุญาตหรือไม่โดยมีตัวแทนจากองค์การปกครองส่วนตำบลสนามจันทร์เข้าร่วมพิจารณาด้วย อีกทั้งในส่วนใบอนุญาตสร้างโกดังสินค้าของ อปท. ทั้ง 35 ใบนั้นแม้อาคารแต่ละหลังจะเป็นเพียงการสร้างอาคารตามกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมอาคารเท่านั้น แต่ในใบอนุญาตระว่า “อาคาร/โรงงาน” ซึ่งตีความได้ว่าเป็นโรงงานประเภทที่ 3

“เมื่อมีคำว่าโรงงาน ตีความได้ว่าโกดังสินค้าดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ด้วยหรือไม่ ไม่ใช่เฉพาะหน้าที่ความรับผิดชอบของ อปท. เท่านั้น ดังนั้น เมื่อ กรอ. ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วพบว่าก่อผลกระทบจริงก็ต้องหยุดดำเนินการได้ แต่ทุกวันนี้การก่อสร้างยังดำเนินต่อไปและหากสุดท้ายพบว่า สร้างผลกระทบจริง หน่วยงานราชการหรือศาลจะสั่งรื้อสิ่งก่อสร้างต่างๆ หรือไม่” นางสาวสุภาภรณ์กล่าว

อีกทั้งยังกล่าวว่า การก่อสร้างใดในพื้นที่ อปท. ควรให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนรับทราบความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เช่น การจัดประชุมก่อนออกใบอนุญาต แต่ปัจจุบันประเทศไทยขาดหลักเกณฑ์การมีส่วนร่วม มีเพียงแต่หลักการกว้างๆ เท่านั้น จึงทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริงไม่เกิด อย่างกรณีการขออนุญาตก่อสร้างท่าเรือนั้น ตามระเบียบขั้นตอนไม่มีขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง มีเพียงขั้นตอนการพิจารณาของจังหวัดและ อปท. เท่านั้น ซึ่งทางหน่วยงานรัฐคงตีความว่าเป็นการมีส่วนร่วมของพื้นที่แล้ว

“ในอนาคตอาจต้องมีพระราชบัญญัติการมีส่วนร่วมเพื่อเป็นหลักเกณฑ์กลางเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนให้หน่วยงานต่างๆ นำไปปรับใช้เพื่อแก้ปัญหา” นางสาวสุภาภรณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็เป็นไปได้ว่าท่าเรือบ้านโพธิ์จะเป็นแหล่งขนถ่ายถ่านหิน เนื่องจากอยู่ไม่ห่างจากที่ตั้งของโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อนที่พยายามจะก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน แม้บริษัทจะกล่าวว่าเรื่องถ่านหินและผลกระทบต่างๆ เป็นเรื่องที่ชาวบ้านคิดมากไปเอง