ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > การบริหารจัดการน้ำ “ชัยนาทโมเดล” ใช้ “โซนแมน” จัดสรร รู้คนใช้ตัวจริง สร้างวินัย-ความเป็นธรรมในการใช้น้ำ

การบริหารจัดการน้ำ “ชัยนาทโมเดล” ใช้ “โซนแมน” จัดสรร รู้คนใช้ตัวจริง สร้างวินัย-ความเป็นธรรมในการใช้น้ำ

27 กรกฎาคม 2015


ข่าวภัยแล้ง ข่าวน้ำแห้ง ข่าวน้ำไม่พอใช้ ปรากฏอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายๆ ปี ทุกๆ ปีก็มีมาตรการเฉพาะหน้าของรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่มีส่วนรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงบพิเศษเพื่อการจ้างงานทดแทน การขุดบ่อบาดาล การขนน้ำไปแจกประชาชนที่เดือดร้อน รวมทั้งการประกาศเป็นจังหวัดที่ประสบภัยพิบัติอยู่เสมอทุกปีๆ กลายเป็นแล้งซ้ำซาก เมื่อน้ำขาดแคลนการจัดลำดับความสำคัญ ต้องจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก ภาคอุตสาหกรรมรองลงมา ส่วนภาคเกษตรมักจะถูกสั่งการให้งดทำการเกษตร หรือให้หันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน เป็นต้น

การจัดการแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด โดยพื้นฐานแล้วต้องมีข้อมูลเศรษฐกิจ ประชากร รายได้รวมของจังหวัดมาจากอะไร ปริมาณการใช้น้ำแต่ละประเภทอุตสาหกรรม แหล่งน้ำ ปริมาณน้ำที่มี เพื่อการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของทุกภาคส่วน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังประสบปัญหาซ้ำๆ แต่ก็มีบางพื้นที่ที่ชุมชนเข้มแข็งก็สามารถบริหารจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี หรือบางพื้นที่มีหน่วยราชการทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนจริงๆก็มีตัวอย่างการบริหารจัดการน้ำที่ดี ซึ่งแต่ละพื้นที่บริหารจัดการที่แตกต่างกันตามลักษณะพื้นที่และศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน พื้นที่การเกษตรหลายแห่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ทำให้ผลผลิตเสียหาย ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่เขตชลประทานที่ทำนาข้าวโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่างก็ประสบปัญหาแล้งเช่นเดียวกัน

สำหรับพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานของสำนักชลประทานที่ 12 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง 6 จังหวัด คือ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี สุพรรณบุรี และอยุธยาฯ นั้นมีการบริหารจัดการน้ำรูปแบบใหม่ “ชัยนาทโมเดล” ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือการแบ่งปันน้ำเพื่อช่วยให้จัดสรรน้ำไปยังพื้นที่ในระดับแปลงนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายฎรงค์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12
นายฎรงค์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12

การจัดการน้ำ “ชัยนาทโมเดล” 6 จังหวัด 2 ล้านไร่ นา 2 แสนแปลง

นายฎรงศ์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 ได้ริเริ่มโครงการ “ชัยนาทโมเดล” ได้เล่าว่า ชัยนาทโมเดลเป็นการบริหารจัดการน้ำในภาวะฝนแล้ง โดยทางสำนักชลประทานฯ ได้เสนอให้ช่วงหน้าแล้งลดการใช้น้ำให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้โดยจัดสรรแบ่งปันน้ำไปยังแปลงนาต่างๆ ตามสัดส่วนที่เหมาะสมให้ทั่วในพื้นที่ชลประทานทั้งหมดกว่า 2 ล้านไร่

“ชัยนาทโมเดลที่เรียกกันเป็นคำพูดของคุณชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เรียกชื่อโครงการเมื่อครั้งที่มาดูงานเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดภาวะขาดน้ำในการทำนา ทำการเกษตร”

สำหรับการแบ่งน้ำใช้ในเขตชลประทานที่ 12 นี้ จะมีคลองส่งน้ำสายหลัก คลองย่อย และคูน้ำ เพื่อส่งน้ำไปยังแปลงนา แต่ระบบการกระจายน้ำนี้ เดิมจะปล่อยให้น้ำไหลไปตามคูคลองต่างๆ ตามที่ได้รับจัดสรรน้ำมาจากส่วนกลาง ไม่มีการแบ่งเขตพื้นที่แปลงนาบนแผนที่เพื่อตรวจสอบความต้องการใช้น้ำที่แท้จริงของคูคลองสายต่างๆ จึงทำให้ไม่ทราบว่าน้ำที่ส่งไปนั้นจะถึงแปลงนาไหนบ้าง ซึ่งระบบส่งน้ำย่อยที่เป็นเสมือนเส้นเลือดฝอยคือคูน้ำที่หล่อเลี้ยงแปลงนาได้อย่างทั่วถึง ซึ่งคลองสายหนึ่งๆ จะมีคูน้ำกว่า 100 คู และแปลงนาใดๆ ที่ใช้น้ำร่วมกันก็ตั้งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำ

ขั้นตอนแรกของการทำชัยนาทโมเดลคือ การจัดทำฐานข้อมูลแปลงนาแต่ละแปลงในเขตพื้นที่ชลประทานที่ 12 เริ่มจากการรวบรวมข้อมูลแปลงนาจากกรมที่ดินและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วนำข้อมูลมาวาดแปลงนาบนกูเกิลเอิร์ท จัดทำฐานข้อมูลให้สมบูรณ์และนำไปใช้งาน

ด้านการประยุกต์ใช้งานของฐานข้อมูลมีดังนี้

1. จัดทำบัตรผู้ใช้น้ำให้กับเจ้าของแปลงนาแต่ละแปลง
2. ติดป้ายชื่อคูส่งน้ำเพื่อให้ชาวบ้านทราบว่าแปลงนาตัวเองอยู่ในกลุ่มผู้ใช้น้ำจากคูใด
3. จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานพนักงานส่งน้ำแบบรายเขตพื้นที่ย่อยและรายตำบล
4. จัดทำรายงานการเพาะปลูกพืชรายสัปดาห์เพื่อตรวจสอบความต้องการใช้น้ำกับการเจริญเติบโตของผลผลิต โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่า “โซนแมน” รวบรวมข้อมูล ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะตรวจสอบความถูกต้องกับข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรด้วย
5. นำไปบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แปลงนาต่างๆ

นอกจากนี้ยังสามารถนำฐานข้อมูลไปประยุกต์ใช้ทำรายงานพื้นที่คาดการณ์เสียหายในวิกฤติต่างๆ เกี่ยวกับน้ำได้ รวมถึงใช้ตรวจสอบพื้นที่ประสบภัยที่ต้องการขอสูบน้ำ ซึ่งทางสำนักงานฯ จะพิจารณาว่าอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่

นี่คือหลักการที่เราพัฒนาขึ้นมา โดยขยายแผนที่ให้ใหญ่ขึ้นจนเห็นแปลงนาต่างๆ ซึ่งสำรวจและสร้างแผนที่นี้ด้วยการใช้ระบบภาพถ่ายทางอากาศ บวกกับระบบการกำหนดขอบเขตที่ดินของกรมที่ดิน แล้วเอามาตราส่วนมาเทียบกันเพื่อทำเป็นแผนที่ระดับแปลงนา

10 ปี ทำฐานข้อมูล “รู้คนใช้น้ำตัวจริง”

สำหรับพื้นที่ชลประทานที่ 12 กว่า 2 ล้านไร่ มีจำนวนแปลงนา 2 แสนกว่าแปลง ดังนั้น สำนักงานจึงจำเป็นต้องจัดหมวดหมู่แปลงนาเพื่อให้เรียกขานชื่อได้ถูกต้องและตรวจสอบตำแหน่งของแปลงนานั้นๆ ได้รวดเร็ว โดยกำหนดชื่อเป็นรหัสแปลงนาขึ้น และออกบัตรผู้ใช้น้ำที่มีรหัสแปลงนากำกับไว้ให้กับเกษตรกรผู้ใช้น้ำในแปลงนานั้นๆ ด้วย ซึ่งผู้ถือบัตรคือผู้ใช้น้ำจริงไม่ใช่เจ้าของที่ดิน เพราะสำนักชลประทานฯ สนใจที่ผู้ใช้น้ำไม่ได้ให้ความสำคัญกับเจ้าของที่ดิน

ด้านประโยชน์ของรหัสแปลงนาคือทำให้เกษตรกรที่มีปัญหาเรื่องการใช้น้ำสามารถแจ้งตำแหน่งแปลงนาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้โดยเร็ว ต่างจากเดิมที่ต้องแจ้งชื่อ ที่อยู่ ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูพื้นที่ แล้วกลับมาเขียนรายงานเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ระบบใหม่เจ้าหน้าที่จะรู้ทันทีว่าปัญหาอยู่ที่แปลงนาใด และสามารถช่วยเหลือได้รวดเร็วขึ้น

“ผมใช้เวลามาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2547 กว่าจะได้ระบบนี้ใช้อย่างสมบูรณ์ โดยเริ่มพัฒนาเรื่อยมาจาก 0 และเสร็จสมบูรณ์ในปี 2557 นี่คือวิธีการบริหารจัดการน้ำในเขตชลประทานของสำนักชลประทานที่ 12 ซึ่งดูแล 6 จังหวัด คือ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี สุพรรณบุรี และอยุธยาฯ หรือคือด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทานเราก็ไม่ได้ทำให้ แต่คิดว่าต่อไปต้องทำข้อมูลแปลงนาเช่นกัน”

จากสำนักชลประทาน 17 เขต ทั่วประเทศ ตอนนี้ก็เริ่มมีสำนักงานอื่นอยากจะทำตามเป็นนโยบายบ้าง เช่น สำนักชลประทานที่ 2 สำนักชลประทานที่ 10 ซึ่งถ้าทำโดยใช้ข้อมูลที่เราจัดทำไปปฏิบัติตามก็จะใช้เวลาทำสำเร็จได้เร็วกว่าเรา อาจสักประมาณ 4-5 ปี

“ชัยนาทโมเดล” มีการกระจายน้ำอย่างมีรูปแบบ ด้วยการรู้แปลงนา รู้เจ้าของ รู้คนใช้น้ำ ทำให้สามารถนำข้อมูลนี้ไปประยุกต์ใช้งานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกันได้ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตรฯ ที่ต้องลงทะเบียนเกษตรกรหรือผู้ทำนา แต่ถ้าใช้ข้อมูลแปลงนาเราประกอบด้วยก็เป็นประโยชน์ หรือช่วงที่เป็นอุทกภัยก็สามารถสำรวจความเสียหายได้ง่ายและตรวจสอบได้ว่าใครเป็นผู้เสียหายบ้างโดยเอาภาพถ่ายจากดาวเทียมมาเทียบมาตราส่วนกับพื้นที่น้ำท่วม

ส่วนความขัดแย้งระหว่างพื้นที่ต้นน้ำกับปลายน้ำนั้นมีแน่นอน เพราะพื้นที่ต้นน้ำจะได้น้ำไปใช้ก่อน ดังนั้น ถ้าไม่มีกติกาจัดสรรน้ำก็จะเกิดความขัดแย้งสูง โดยเฉพาะช่วงที่ต้องแบ่งปันน้ำกันใช้ ซึ่งการปันน้ำเกิดขึ้นอยู่ทุกๆ ฤดูแล้งของปีที่ไม่มีน้ำฝน หรือคือช่วงพฤศจิกายนถึงเมษายน ช่วงนี้จะเห็นว่าพึ่งพาน้ำจากเขื่อนเพียง 2 แห่ง คือ เขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพล ซึ่งจะจัดสรรน้ำไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะระบายน้ำเท่าไหร่เพื่อกิจกรรมแต่ละประเภท ได้แก่ เพื่อการเกษตร เพื่ออุปโภค-บริโภค เพื่อผลักดันระบบนิเวศน์และประปา นั่นคือไม่ได้หมายความว่ามีน้ำใช้เหลือเฟือในหน้าแล้ง

ทุกปีการพึ่งน้ำจากเขื่อนจะมีข้อจำกัดในการใช้น้ำเพื่อประโยชน์ต่างๆ ในสัดส่วนที่ต่างกัน โดยในกรณีที่มีน้ำในเขื่อนมากเป็นปกติ พื้นที่การเกษตรทั้งลุ่มเจ้าพระยาร้อยละ 100 จะได้รับน้ำจัดสรรประมาณร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ทั้งหมด นั่นคือเกษตรกรไม่ควรเพาะปลูกเกินร้อยละ 60-70 ของพื้นที่เพื่อให้สามารถกระจายใช้น้ำได้ทั่วถึง แต่ความจริงคือพื้นที่ต้นน้ำเพาะปลูกเต็มพื้นที่ของตัวเองมาโดยตลอด ทำให้ช่วงท้ายน้ำขาดแคลนน้ำ

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีเครื่องมือชัยนาทโมเดลก็ไม่ได้หมายความว่าจะขจัดความขัดแย้งของกลุ่มผู้ใช้น้ำได้ เพราะชัยนาทโมเดลเป็นเพียงเครื่องช่วยบริหารจัดการน้ำในลักษณะปันน้ำไปยังคูคลองแต่ละแห่งว่ามีนากี่แปลง จำเป็นต้องใช้น้ำเท่าไหร่ เหมือนเป็นเกณฑ์การจัดสรรน้ำมากน้อยตามพื้นที่ของคูคลองนั้นๆ แล้วกลุ่มผู้ใช้น้ำจากคูต่างๆ ก็ไปบริหารจัดการกันเอง เพราะหน้าที่หลักของเราคือ รู้ว่าคูคลองสายหนึ่งๆ รับผิดชอบพื้นที่ใช้น้ำกี่ไร่ รวมถึงมีประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำก็นำโมเดลนี้มาใช้ได้ด้วย

คลองส่งน้ำชลประทานในลั่มน้ำเจ้าพระยาของสำนักชลประทานที่ 12 ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2558
คลองส่งน้ำชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาของสำนักชลประทานที่ 12 ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2558

สร้างวินัยเกษตรกรใช้น้ำ

ในฤดูแล้ง กรณีที่เขื่อนมีน้ำมากเป็นปกติ เราเคยได้รับน้ำ 2,400 ลบ.ม. ต่อ 1 ครอป ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่ก็ทำนา 2 ครั้งต่อปีแต่บางรายก็ทำนา 3 ครั้ง แต่ช่วงหลังเราก็พยายามประกาศว่าให้ทำนาแค่ 2 ครั้งต่อปีเท่านั้น ด้วยหลายเหตุผลคือ 1. ให้ดินได้พักฟื้น 2. ตัดวงจรชีวิตศัตรูพืช และ 3. มีเวลาบำรุงรักษา ซ่อมแซมคลองส่งน้ำ

เกษตรกรของพื้นที่นี้ส่วนใหญ่ทำนา ยังไม่มีการปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก ที่เห็นเข้ามาบ้างคือ อ้อย ที่อยู่ระหว่างการส่งเสริมให้ปลูกแทนข้าวแต่ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งคิดว่าต่อไปก็น่าจะปลูกแทนข้าวได้มากกว่าอย่างอื่น แต่ว่าอ้อยมีต้นทุนสูงและต้องผลิตเป็นพื้นที่เฉพาะ

น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยามาจาก 2 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพล โดยจะจัดสรรน้ำอย่างไรจะดูจากปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งสองเมื่อสิ้นฤดูฝนว่านำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ได้เท่าไหร่ เพื่อจัดสรรการใช้น้ำในฤดูแล้งนั้นก่อนฝนจะมาปีหน้าในทุกกิจกรรม แบ่งเป็น น้ำอุปโภคและทำประปา น้ำระบบนิเวศ น้ำเพื่อการปลูกพืชฤดูแล้ง และเพื่อน้ำไว้ส่งต้นฤดูฝนเพื่อการเกษตร

ภาวะแล้งมีตลอด คำว่าแล้งคือน้ำน้อย ดังนั้น เราต้องปันน้ำที่มีน้อยให้พื้นที่ต่างๆ อย่างเหมาะสมตามพื้นที่จริง และตามความต้องการเพาะปลูก อย่างข้าวอายุต่างกันก็ต้องการน้ำปริมาณต่างกันด้วย ทั้งนี้เราก็ต้องสร้างวินัยให้เกษตรกรด้วยว่าน้ำน้อยอย่าสูบน้ำต้องปันกันใช้ ซึ่งเราก็อาศัยฝ่ายปกครองและทหารเพื่อกำชับว่าอย่าสูบน้ำใช้หากไม่ใช้รอบปันน้ำของพื้นที่ตัวเอง และต้นน้ำอย่าสูบน้ำเยอะเกินจนไม่มีเหลือให้ปลายน้ำ

สำหรับพื้นที่โครงการของสำนักชลประทานนี้แบ่งเป็น 14 โครงการย่อยๆ เป็นเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่แปลงนา และรายงานผลว่าข้าวอยู่ในระยะใด แล้วเอาข้อมูลมาเทียบกับกรมเกษตร ก็จะได้ความต้องการใช้น้ำของแปลงนาแต่ละแห่งด้วย เช่น ข้าวที่ตั้งท้องแล้วจะต้องการน้ำมากกว่าข้าวที่ยังไม่ตั้งท้อง ซึ่งเราจะจ่ายน้ำให้พื้นที่ไหนก็จะดูแบ่งเป็นช่วงๆ

ส่วนการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลกับสิริกิติ์ลงมาจะถูกกั้นด้วยเขื่อนเจ้าพระยาจนกระทั่งน้ำสูงกว่าท้องน้ำให้สามารถล้นเข้าคลองโครงการชลประทานที่มีอยู่ทั้งหมด 5 สาย เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยาในฤดูแล้งมีหน้าที่กักน้ำไว้ให้สูงจนเข้าคลองชลประทานด้วย อีกหน้าที่หนึ่งคือปล่อยน้ำลงท้ายเขื่อนเพื่อไปผลักดันน้ำเค็มและทำน้ำประปานครหลวง ซึ่งใช้น้ำจากเราวันละ 4 ลบ.ม. ทำประปาให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลบางส่วน

สำหรับการระบายน้อยที่สุดที่เคยทำคือ 45 ลบ.ม. ต่อวินาที จนกระทั่งปัจจุบันนี้ไม่เพียงพอเพราะฝนตกน้อยและดินมีความชุ่มชื้นน้อย วันนี้เราระบายเพิ่มเป็น 90 ลบ.ม. ต่อวินาที ในขณะที่ปีที่แล้วระบายที่ 75-80 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งในฤดูฝนจะตกลงน้ำสาขาเราก็บริหารแค่ด้านเหนือเขื่อนเพื่อเพียงพอทำเกษตร แล้วที่เหลือก็ปล่อยลงข้างล่างทั้งหมดหากปริมาณฝนปกติก็ประมาณ 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที แต่ฤดูน้ำหลากก็ 2,500 ลบ.ม. ต่อวินาทีขึ้นไป อย่างตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ระบายลง 3,700 ลบ.ม. ต่อวินาที

นิยามภัยแล้งของชลประทาน

ณ วันนี้เรียกว่าภัยแล้งได้ เพราะภัยแล้งของชลประทานนับในเฉพาะช่วงฤดูฝน คือถ้าฤดูฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์ปกตินิดหน่อยเราก็พอบริหารได้ แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงนานและทำให้มีปริมาณน้ำที่จะใช้ในภาคเกษตรของฤดูฝนนั้นๆ ขาดแคลนเช่นปัจจุบันถือว่าเป็นภัยแล้ง

คำว่าแล้งคือแล้งช่วงฤดูฝน ไม่ใช่แล้งช่วงฤดูแล้ง คนละความหมายกัน ความหมายของกรมชลประทานหน้าแล้งก็คือแล้งเพราะไม่มีฝน แต่ความหมายของป้องกันภัยของฝ่ายพลเรือน แล้งคือไม่มีน้ำจะกิน ให้ประชาชนนอกเขตชุมชน หรือไม่เพียงพอต่ออุปโภคบริโภค

แต่แล้งของชลประทานคือ น้ำฝนไม่ได้นำมาใช้คำนวณน้ำต้นทุนเลย น้ำที่นำมาใช้ในฤดูแล้งของชลประทานคือนี่เก็บกักได้ในอ่างเก็บน้ำที่เป็นน้ำต้นทุน ซึ่งปริมาณน้ำในอ่างจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่ตกลงมาในอ่างเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน เพราะบางครั้งฝนตกใต้อ่างก็เก็บไม่ได้ แต่ถ้าตกเหนืออ่างมากเก็บน้ำได้มากฤดูแล้งนั้นก็ใช้น้ำได้มาก น้ำสำรองเมื่อหมดนาปรังนี้มีมากขึ้นแปลว่าฝนตกในเกณฑ์ดีและถูกที่ถูกทาง แต่ถ้าหากฝนแล้งอย่างปีนี้ ที่ฝนตกน้อย และไม่รู้ว่าตกแล้วเก็บกักได้หรือไม่ ก็เข้าสู่ภาวะแล้งไม่มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร อาจมีเพียงเพื่อการบริโภค ใส่ระบบนิเวศ และผลักดันน้ำเค็ม

ชัยนาทโมเดล2

อย่างปีนี้ น้ำจากทั้งสองเขื่อนรวมกันมีน้ำต้นทุนเหลือเพียง 300 ล้าน ลบ.ม. (20 กรกฎาคม 2558) เท่านั้นเอง ทำให้ขณะนี้ประกาศงดใช้น้ำเพื่อการเกษตรถึงแม้ว่าจะมีพื้นที่ปลูกข้าวแล้ว 4 ล้านไร่ แต่ก็จำเป็นต้องประกาศไม่ให้ชาวบ้านสูบน้ำไปใช้เพื่อการเกษตร เพื่อประคองภาวะที่จะส่งไปกรุงเทพฯ ไปผลักดันน้ำเค็มและมีไว้เพื่อการประปาชุมชนที่มีตลอดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำที่กรุงเทพฯ ซึ่งใช้น้ำประปารวมกันวันละประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มาเป็นอันดับแรก

ปีก่อนหน้านี้ฝนมาช้าประมาณ 15 วันแล้วก็ตกตลอด แต่ปีนี้รุนแรงมากคือ 3 เดือนแล้วมีฝนตกแค่นิดหน่อยไม่มีผลต่อน้ำท่า ก็เรียกได้ว่าฝนไม่ตกเลย ซึ่งถือว่าแล้งที่สุดในรอบ 50 ปี โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ วันนี้ต่ำกว่าระดับปกติประมาณ 2.7 เมตร และจากประมาณการณ์น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์คาดว่าจะมีน้ำให้ใช้ได้เพียงกว่า 10 วัน หรือถึงประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้เท่านั้นหากไม่มีน้ำฝนมาช่วย

การใช้น้ำอย่างเป็นธรรม แบ่งปันน้ำกันตามสัดส่วนของพื้นที่

ในเรื่องการใช้น้ำ ตอนนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังจะออกกฎหมายพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ซึ่งร่างมีเนื้อหาว่า การใช้น้ำในลุ่มน้ำต้องใช้น้ำอย่างเป็นธรรม ทุกคนมีสิทธิใช้น้ำอย่างเป็นธรรมโดยการแบ่งปันน้ำทั้งลุ่มน้ำ ซึ่งทุกคนมีสิทธิใช้มาก-น้อยตามความจำเป็นต่างๆ น่าจะเป็นการกำหนดในกฎหมายย่อยว่าแต่ละภาคส่วนจะได้สัดส่วนน้ำไปเท่าไร

เดิมทีการบริหารน้ำจะดูจากความต้องการของชาวบ้านมาเป็นตัวกำหนดเพื่อจัดสรรน้ำ ซึ่งทำได้ในกรณีที่น้ำต้นทุนมีปริมาณมาก แต่ในกรณีที่น้ำมีปริมาณจำกัดอย่างเช่นฤดูแล้งหน้านั้น จำเป็นต้องเอากฎหมายนี้มาใช้ แล้วกำหนดว่าแต่ละพื้นที่ใช้น้ำเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของน้ำต้นทุน เพราะถ้าไม่มีแบ่งปันน้ำกันใช้น้ำตามพื้นที่ ก็จะเกิดปัญหาพื้นที่เกษตรตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยาสูบน้ำไปใช้และทำให้พื้นที่เกษตรลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างขาดแคลนน้ำ ซึ่งพื้นที่เกษตรตอนล่างลุ่มน้ำเจ้าพระยาขาดแคลนน้ำฤดูแล้งมาประมาณ 5 ปีแล้ว และทำให้ประชาชนแย่งน้ำกันมาก

ฉะนั้น ต่อไปนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องมาแบ่งปันน้ำกันตามสัดส่วนของพื้นที่ แล้วในแต่ละพื้นที่ต้องดูว่าพื้นที่สัดส่วนย่อยๆ ด้วยว่าแต่ละแปลงนาต้องการใช้น้ำเท่าไหร่ แล้วแบ่งน้ำไปใช้ตามสัดส่วนที่ได้ ซึ่งชัยนาทโมเดลก็จะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยให้จัดการพื้นที่ส่งน้ำได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ มีสถานีสูบน้ำที่เป็นแพลอยน้ำซึ่งสูบน้ำประมาณ 333 สถานีที่แม่น้ำปิง ยม น่าน นี่คือการสูบน้ำไปใช้นอกเขตชลประทาน ซึ่งควบคุมยาก ในขณะที่เขตชลประทานควบคุมง่ายด้วยกลไกของชลประทาน ซึ่งผมก็พยายามผลักดันให้เกิดการควบคุมด้วยกลไกกฎหมาย สำหรับเขตนอกพื้นที่ชลประทานของสำนักงานชลประทานที่ 12 นั้นจะอยู่ห่างจากลำน้ำไปไกล ต่างจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนที่พื้นที่นอกเขตชลประทานอยู่ติดแม่น้ำสายหลัก