ThaiPublica > คนในข่าว > “อนุสรณ์ ศิวะกุล ” เจ้าของ”เคมี อ.อุ๊” เปิดใจเมื่อโรงเรียนกวดวิชาต้องเสียภาษีกับคำถาม”รวยพันล้าน”

“อนุสรณ์ ศิวะกุล ” เจ้าของ”เคมี อ.อุ๊” เปิดใจเมื่อโรงเรียนกวดวิชาต้องเสียภาษีกับคำถาม”รวยพันล้าน”

21 กรกฎาคม 2015


จากมาตรการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 กำหนดให้เงินได้จากกำไรสุทธิหรือผลตอบแทนและเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรของโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชาต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีนั้น ทำให้ผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาหลายรายสงสัยว่าทำไมถึงต้องเก็บภาษี เพราะเป็นโรงเรียนเช่นเดียวกับโรงเรียนประเภทอื่นๆ และไม่ได้มีกำไรสูงอย่างที่หลายคนเข้าใจเนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้มีกำไรได้ไม่เกินร้อยละ 20

อย่างไรก็ตาม เมื่อออกกฎหมายมาแล้วผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาจำเป็นต้องปฏิบัติตาม โดยคาดว่ากรมสรรพากรจะเริ่มเก็บภาษีตั้งแต่กรกฎาคม 2558 ในขณะที่ด้านผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งยังคงมีปัญหาและข้อคำถามเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมและทำความเข้าใจในการเก็บภาษีดังกล่าวอยู่

นายอนุสรณ์ ศิวะกุล ในฐานะรักษาการนายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา อดีตเคยดำรงตำแหน่งนายกฯ 2 สมัย อดีตครูที่ผันตัวเองมาทำธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังร่วมกับภรรยาในนาม “โรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ หรือเคมี อ.อุ๊” ที่ปัจจุบันมีจำนวน 30 สาขา ต่อยอดจากธุรกิจกวดวิชามาก่อตั้งธุรกิจให้เช่าพื้นที่เปิดโรงเรียนกวดวิชาในนาม บริษัท วรรณสรณ์ธุรกิจ จำกัด

นายอนุสรณ์มีบทบาทสำคัญในกลุ่มผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาและสะท้อนปัญหานั้นสู่กระทรวงศึกษาธิการและกรมสรรพากรเพื่อหารือแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการจ่ายภาษี โดยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาและนโยบายการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาว่า

อนุสรณ์ ศิวะกุล รักษาการนายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา
อนุสรณ์ ศิวะกุล รักษาการนายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา

ไทยพับลิก้า: มองอย่างไรกับนโยบายการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาและมีปัญหาอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ชัดเจนแล้ว โรงเรียนกวดวิชาทั้งหมดต้องเสียภาษี แต่ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้เรียน นอกจากนี้ โรงเรียนกวดวิชาทุกแห่งต้องทำบัญชีเพื่อใช้ประเมินภาษี แต่ยังมีคำถามหลายเรื่องที่ยังไม่ได้คำตอบจากสรรพากรและทำให้มีปัญหา ได้แก่

การทำบัญชี จะทำได้อย่างไรหากไม่สามารถทำต้นทุนสินทรัพย์ได้ชัดเจน เช่น โรงเรียนกวดวิชาขนาดใหญ่ต้องแปลงตัวเองไปเป็นนิติบุคคล ซึ่งหน่วยงานรัฐต้องการให้เป็นนิติบุคคลเพราะมีความชัดเจนและตรวจสอบได้ แต่สินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมจะทำอย่างไร เพราะโรงเรียนกวดวิชาที่เปิดมานานแล้ว สินทรัพย์ทั้งหมดที่มีอยู่ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์นั้นใบเสร็จอาจไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง หรือไม่มีใบเสร็จเป็นหลักฐานแล้ว

สมมติซื้ออาคารมา 10 ล้านบาท เขาสามารถลงบัญชีว่ามีต้นทุน 10 ล้านบาทได้หรือไม่ ในเมื่อเอกสารหลักฐานราชการระบุแค่ 7 ล้านบาท เพราะปกติเวลาเราซื้อโดยไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรแต่มีสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งอยู่ที่กรมที่ดินหรือสำนักงานเขตที่ดิน สิ่งที่เป็นปัญหาคือเวลาที่ประเมินสินทรัพย์นั้นเขาลงตามราคาประเมิน แต่ราคาซื้อขายนั้นราคาตามตลาด ซึ่งราคาประเมินถูกกว่าราคาตลาดแน่นอน ดังนั้น เขาก็มีใบเสร็จจากกรมที่ดินในราคาประเมิน

นอกจากนี้ โรงเรียนกวดวิชายังมีสินทรัพย์อื่นๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ที่ใช้งานมาหลายปีแล้ว ใบเสร็จก็ไม่มีเพราะเขาไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ มีแต่บัญชีรับ-จ่ายธรรมดาที่ไม่สามารถใช้ยื่นต่อกรมสรรพากร แล้วเขาก็โอนสินทรัพย์เหล่านี้เข้ามายังโรงเรียนที่เป็นนิติบุคคลใหม่ แต่โรงเรียนเดิมนั้น สินทรัพย์ที่โอนไปต้องเสียภาษีหรือไม่

คำถามข้างต้น กรมสรรพากรต้องตอบมาให้ชัดเจนว่า สินทรัพย์เหล่านี้โอนมาเป็นต้นทุนหรือเพิ่มทุนเพื่อให้ลงบัญชีได้โดยไม่มีภาระภาษี หรือหากบอกว่าโอนมาได้แต่มีภาระภาษีเพราะโรงเรียนเดิมโอนมาให้บริษัท โรงเรียนเดิมจึงมีรายได้ เพราะฉะนั้น โรงเรียนเดิมจึงต้องเสียภาษีหรือไม่

“คำถามเหล่านี้เราฝากไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เพื่อให้ สช. ประสานเรื่องไปยังกรมสรรพากรให้ชัดเจนว่าจะเก็บภาษีหรือไม่”

ในขณะที่โรงเรียนในระบบไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์จะไม่มีต้นทุนทางภาษี แต่เมื่อวันนี้โรงเรียนกวดวิชาถูกเก็บภาษีแล้ว ต้นทุนทางบัญชีอาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการหลายขั้นตอนมาก การปรับเปลี่ยนจากบุคคลธรรมดาไปเป็นนิติบุคคลก็ต้องขออนุญาตใหม่ตามกระบวนการขออนุญาตของ สช. เริ่มจากจดทะเบียนนิติบุคคลจากกระทรวงพาณิชย์ แล้วก็เอาทะเบียนกระทรวงพาณิชย์มาขอทำแผนจัดตั้งโรงเรียน ทำรายงานกิจการโรงเรียนเป็นขั้นเป็นตอน ก็ต้องใช้เวลาทำเอกสาร แล้วก็ผ่านกระบวนการก็มาตรวจสอบ ซึ่งจริงๆ ก็คือโรงเรียนเดิม ซึ่งขั้นตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการบอกว่าใช้เวลาแบบเร็วๆ ก็ประมาณ 2 เดือน

“ดังนั้นในสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โรงเรียนกวดวิชาที่มาจดเป็นนิติบุคคลต้องจบแล้ว และตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ก็เริ่มคิดคำนวณภาษีจนถึงสิ้นปี ซึ่งปัญหาตรงนี้สรรพากรบอกว่ายังไม่ต้องทำปีนี้ก็ได้ปีหน้าค่อยทำ ส่วนปีนี้ก็เสียภาษีครึ่งปีเป็นบุคคลธรรมดาไปก่อน ในขณะที่ผู้ประกอบการไม่อยากมีภาระภาษีมาก เพราะว่าอาจต้องเสียสูงสุดถึงร้อยละ 35 ในขณะที่นิติบุคคลเสียสูงสุดร้อยละ 20”

สำหรับโรงเรียนเล็กมีรายรับไม่มาก ผู้ประกอบการหลายรายต้องคิดว่าจะเปลี่ยนจากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคลหรือไม่ เพราะจะมีภาระทางบัญชี เนื่องจากไม่มีองค์ความรู้ ต้องจ้างคนมาทำบัญชี จ้างผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

“วันนี้โรงเรียนกวดวิชาจะถูกเก็บภาษีแล้ว กรมสรรพากรจะมีโมเดลธุรกิจการศึกษาเป็นตัวอย่างหรือไม่ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นกิจจะลักษณะและปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เพื่อในอนาคตจะนำโมเดลดังกล่าวใช้จัดเก็บภาษีธุรกิจการศึกษาประเภทอื่นๆ รวมถึงกำหนดให้ประเภทธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายได้เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ในตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการเลือกได้ว่าจะหักค่าใช้จ่ายตามจริงหรือเหมาจ่ายก่อนหักภาษี”

หากกรมสรรพากรยังไม่ให้คำตอบโรงเรียนกวดวิชาก็ทำอะไรต่อไม่ได้ ล่าช้า ซึ่งเมื่อตัดสินใจว่าจะเก็บภาษีแล้วน่าจะพิจารณารายละเอียดและให้คำตอบเพื่อให้เราเดินหน้าปฏิบัติได้ชัดเจน ทั้งนี้ โรงเรียนกวดวิชาไม่ควรมีภาระภาษีมากเกินไป เพราะสุดท้ายแล้วจะไปตกที่ผู้บริโภค

ประเด็นที่กระทบภาพรวมคือจะมีอีกกลุ่มที่ไม่ทำอะไรเลย นั่นคือโรงเรียนเถื่อน ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงเรียนกวดวิชากับกระทรวงศึกษาธิการ และต่อไปก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และข้อมูลเบื้องต้นที่ทราบมาพบว่า หลังจากมีมาตรการเก็บภาษีมีผู้ถอนใบอนุญาตโรงเรียนกวดวิชาหลายรายแล้ว ซึ่งผู้ถอนใบอนุญาตเหล่านี้อาจจะกลายเป็นโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนต่อไป เนื่องจากมาตรการภาษีทำให้เกิดความยุ่งยาก

บรรยากาศภายในอาคารเรียนวรรณสรณ์ พญาไท
บรรยากาศภายในอาคารเรียนวรรณสรณ์ พญาไท

นอกจากนี้ กรณีกลุ่มพันธมิตรของโรงเรียนกวดวิชาโดยแบ่งผลประโยชน์ซึ่งได้ค่าตอบแทนแบบแบ่งสัดส่วนรายได้นั้น กรมสรรพากรเห็นว่าควรจะทำบัญชีในลักษณะกลุ่มร่วมทุนเป็นบัญชีเดียวเพื่อเสียภาษี แต่ทางกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาเสนอว่าแต่ละโรงเรียนทำบัญชีแยกและต่างคนต่างเสียภาษีได้หรือไม่ เพราะการร่วมทุนตีความได้หลายอย่าง คือ เสียภาษีจากรายได้รวมทั้งหมด หลังจากนั้นแต่ละบริษัทก็ต้องเสียภาษีอีก ซึ่งไม่ยุติธรรม

“หากจะให้ผมเสียภาษีจากรายได้ทั้งหมดก็คงไม่ถูกต้อง เพราะผมได้ส่วนแบ่งแค่ร้อยละ 30 แต่ต้องเสียภาษีทั้งหมด ซึ่งดูเหมือนว่ากำไรมาก ทำให้เสียภาษีมาก เพราะฉะนั้น ตามหลักการต้องแยกบัญชีกัน ใครมีต้นทุนมีรายได้เท่าไหร่ก็ทำบัญชีของตัวเอง เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีก”

ไทยพับลิก้า: ที่มาของการรวมตัวกันของกลุ่มพันธมิตรโรงเรียนกวดวิชาของวรรณสรณ์

จุดประสงค์คือต้องการให้เกิด one stop service ให้ได้ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพราะจากประสบการณ์ตรงในช่วงแรกๆ ที่เคมีอุ๊เปิดสาขาที่ต่างจังหวัดนักเรียนไม่เข้ามาเรียน เนื่องจากส่วนใหญ่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เช่น สาขาที่ชลบุรีเปิดมา 7-8 ปีแล้วนักเรียนก็เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง เนื่องจากวิชาเรียนไม่ครบถ้วน ดังนั้นวรรณสรณ์จึงลงทุนเรื่องอาคารสถานที่ให้โรงเรียนกวดวิชาทุกแขนงเข้ามาสอน โดยทางวรรณสรณ์ได้ส่วนแบ่งร้อยละ 30 จากโรงเรียนกวดวิชาที่เข้ามาใช้พื้นที่ โดยมีวรรณสรณ์เป็นผู้บริหารจัดการทุกเรื่องให้ เช่น แอพพลายด์ฟิกสิกส์, ไบโอบีม, ดาว้องก์ ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ผูกมัดว่าโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้ต้องเปิดสาขากับวรรณสรณ์เท่านั้น บางสาขาโรงเรียนกวดวิชาเหล่านั้นก็เปิดสาขาแยกเอง

ทั้งนี้ กฎเกณฑ์ในการใช้พื้นที่อาคารของวรรณสรณ์คือ แบ่งพื้นที่ให้โรงเรียนกวดวิชาต่างๆ เข้ามาจนเต็มพื้นที่ หากวันหนึ่งพื้นที่ใช้สอยไม่พอแล้วโรงเรียนกวดวิชาไหนที่พร้อมขยายไปตั้งสาขาเองก็ย้ายออกไป แต่ถ้าไม่มีโรงเรียนกวดวิชาไหนย้ายออกไปก็จะให้โรงเรียนกวดวิชาที่เข้ามาหลังสุดออกไปก่อน

ไทยพับลิก้า: ในอดีตโรงเรียนกวดวิชาเสียภาษีอะไรบ้าง

สำหรับโรงเรียนกวดวิชาที่เป็นบุคคลธรรมดา เขาก็จะเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา ส่วนโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล พนักงานทุกตำแหน่งในโรงเรียนกวดวิชาก็เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดารวมถึงเจ้าของโรงเรียนกวดวิชาเองก็มีตำแหน่งในโรงเรียนกวดวิชาเช่นกัน ส่วนรายได้ที่เป็นของโรงเรียนกวดวิชาที่เป็นบริษัทไม่เสียภาษี

ทั้งนี้ เป็นไปได้ยากที่ผู้จดทะเบียนนิติบุคคลจะไม่เสียภาษีเลยเพราะว่าไม่มีตำแหน่งในโรงเรียนกวดวิชานั้น และกรมสรรพากรจะหาตำแหน่งให้เอง ซึ่งถ้าไม่ยอมมีตำแหน่งงานกรมสรรพากรก็จะไปตรวจสอบบัญชีส่วนตัวของผู้จดทะเบียนนิติบุคคลว่ามีรายได้จากไหน

ไทยพับลิก้า: โรงเรียนกวดวิชาที่เป็นบุคคลธรรมดา ที่ผ่านมาเสียภาษีเงินได้บุคคลรรมดา แต่มาตรการภาษีโรงเรียนกวดวิชานี้จะกระทบกับโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

ใช่ แต่ทุกวันนี้โรงเรียนกวดวิชาขนาดเล็ก ยังมีมุมมองและความเห็นว่าไม่ควรเก็บภาษีเขา แล้วทำไมไม่เก็บธุรกิจการสอนอื่นๆ ด้วย หรือการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาในอนาคตจะมีมาตรการผ่อนปรนหรือชักจูงใดบ้างที่จะทำให้โรงเรียนกวดวิชาเถื่อนเข้าสู่ระบบ

“ทุกวันนี้กรมสรรพากรบอกว่าเก็บภาษีไม่เข้าเป้า เพราะถ้าไม่ขยายฐานภาษีด้วยภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีมรดก ภาษีโรงเรียนกวดวิชา แต่เก็บภาษีเท่าที่มีตามกฎหมายเดิมให้ทั่วถึงและไม่รั่วไหล เช่น ร้านค้าแผงลอยข้างทางเท้าโดยส่วนใหญ่ไม่เสียภาษีเลย ทั้งๆ ที่มีรายได้สูง มีบ้าน มีรถ ฯลฯ ถ้าทุกคนช่วยกันจ่ายก็จบ อย่างอาจารย์อุ๊ก็เสียภาษีปีละกว่าล้านบาท ผมเองก็เสียภาษีปีละเกือบ 1 ล้านบาท เพราะมีเงินเดือนจาก 3 บริษัทรวมกันกว่า 2 แสนบาท

จากเป้าหมายว่ากรมสรรพากรจะเก็บภาษีได้ประมาณ 1,400 ล้านบาทนั้น คงจะได้จากส่วนอื่นมากกว่า เพราะว่า มูลค่าราคาในตลาดของโรงเรียนกวดวิชาไม่สูง ตามรายงานวิจัยของ ป.ป.ช. มีตัวเลขผิดพลาดเนื่องจากนับจำนวนคอร์สเป็นจำนวนนักเรียน และกรมสรรพากรอาจได้ภาษีเพิ่มจากค่าใช้จ่ายของโรงเรียนกวดวิชาที่ต้องซื้อสินค้าที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม จากเดิมที่สามารถซื้อสินค้าที่ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มได้

ไทยพับลิก้า: ความแตกต่างของระหว่างโรงเรียนกวดวิชาขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

ต้องดูจากต้นทุนของโรงเรียนแต่ละแห่งจากรูปแบบการสอนและขนาดโรงเรียน บางแห่งสอนด้วยครูเท่านั้น บางแห่งสอนทั้งระบบคอมพิวเตอร์ ดีวีดี และครู ซึ่งต้นทุนเฉพาะค่าชั่วโมงสอนของครูเริ่มต้นที่ 800 บาทต่อชั่วโมง และการสอนส่วนใหญ่จะมีนักเรียนในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือปิดเทอม ส่วนเวลาเย็นหลังเลิกเรียนไม่ค่อยได้เปิดสอนเนื่องจากนักเรียนเลิกเรียนในโรงเรียนเย็นมากและเหนื่อยเกินกว่าจะมาเรียนกวดวิชาต่อในตอนเย็น

แต่อย่างไรก็ตาม กำไรที่ได้ก็จะไม่เกินร้อยละ 20 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็จะมาประเมินหลักสูตรและขนาดสถานศึกษาว่ารายจ่ายกับรายได้นั้นจะทำให้เกินกำไรเกินร้อยละ 20 หรือไม่ ทั้งนี้ การประเมินนั้นไม่ได้ประเมินจำนวนนักเรียนเต็มจำนวนความจุของห้องเรียน เพราะโดยทั่วไปแล้วในสภาวะเศรษฐกิจดีๆ โรงเรียนกวดวิชาจะมีนักเรียนที่ประมาณร้อยละ 60-70 ของความจุห้องเรียนทั้งหมด แต่ในสภาวะเศรษฐกิจแย่ๆ อย่างช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมาโรงเรียนกวดวิชามีผู้เรียนไม่ถึงร้อยละ 50 ของความจุห้องเรียนทั้งหมด เพราะผู้บริโภคกำลังซื้อลดลง นักเรียนหลายคนลดจำนวนวิชาเรียนหรือบางรายก็เลิกเรียนกวดวิชา

ส่วนจำนวนเงินที่เป็นกำไรนั้นจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนของโรงเรียนกวดวิชานั้นๆ ผู้บริโภคจะเลือกเองว่าเขาอยากจะเรียนกวดวิชารูปแบบไหน คอมพิวเตอร์หรือครู รวมถึงคุณภาพของวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในการเรียน เช่น โรงเรียนบางแห่งต้นทุน 1 ล้านบาทก็มีกำไรได้ 2 แสนบาท ถ้าลงทุน 100 ล้านบาทก็กำไรได้ 20 ล้านบาท

“กำไรร้อยละ 20 ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไม่จำเป็นว่าผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาต้องทำได้เป๊ะๆ อาจมากกว่านิดหน่อย เพราะโดยหลักการเมื่อที่ผู้ประกอบการมีกำไรไม่ถึงร้อยละ 20 กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ได้ชดเชยให้ เนื่องจากข้อเท็จจริงคือในแต่ละปีมีรายได้ไม่เท่ากัน เช่น หากเศรษฐกิจดีอาจมีกำไรถึงร้อยละ 22 แต่โดยทั่วไปกำไรร้อยละ 10 กว่าก็โอเคแล้ว”

ในกรณีที่โรงเรียนกวดวิชามีหลายสาขา เช่น เคมีอุ๊ เดอะเบรน เอนคอนเสปต์ บางสาขาก็ขาดทุนคือเด็กต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทำให้โรงเรียนมีกำไรลดลง เช่น เคมีอุ๊ที่สาขาวิสุทธิกษัตริย์ ทั้งนี้ โรงเรียนแต่ละสาขามีต้นทุนไม่เท่ากัน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถกำหนดค่าเรียนให้แต่ละสาขาราคาต่างกันได้ แต่บางโรงเรียนที่ราคาเรียนเท่ากันทุกสาขาเพราะผู้ประกอบการจะรวมต้นทุนกำไร แม้ว่าการลงทุนและค่าดำเนินการของสาขาต่างจังหวัดจะสูงกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น ภูเก็ต ระยอง

ไทยพับลิก้า: ราคาคอร์สเรียนแบบสอนสดทำไมถึงแพงกว่าคอร์สเรียนรูปแบบอื่นๆ แม้ว่าจะเป็นเนื้อหาเดียวกัน

ไม่จำเป็น อยู่ที่วิธีการคิดราคาของโรงเรียนกวดวิชาแต่ละแห่ง เช่น โรงเรียนที่สอนและทำสื่อมี 20 สาขานั้นครูสามารถสอนสดได้เพียงสาขาเดียว ห้องเรียนเดียว จำนวนนักเรียนในคอร์สสดส่วนใหญ่มีไม่ถึงร้อยละ 5 ของนักเรียนทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 95 คือเรียนผ่านสื่อไม่ว่าดีวีดี คอมพิวเตอร์ หากคิดราคาคอร์สแต่ละรูปแบบตามต้นทุนแท้จริงของคอร์สรูปแบบนั้นๆ ก็จะทำให้คอร์สสดราคาสูงมาก ทั้งนี้ไม่นับรวมโรงเรียนกวดวิชาที่สอนสดทั้งหมดซึ่งจะมีต้นทุนประมาณ 200 บาทต่อชั่วโมง โดยกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้มีผู้เรียนต่อห้องได้สูงสุด 90 คน

ทุกวันนี้ โรงเรียนกวดวิชารายใหญ่ราคาคอร์สสอนสื่ออยู่ที่ชั่วโมงละ 30-50 บาท ส่วนคอร์สสอนสดอยู่ที่ชั่วโมงละ 40-60 บาท ซึ่งแพงกว่ากันไม่มากนัก เพราะเฉลี่ยต้นทุนของทุกรูปแบบเข้าด้วยกันแล้วคิดราคาคอร์สสดสูงกว่าคอร์สสอนผ่านสื่อประมาณ 2,000 บาท และปรับปรุงห้องเรียนสอนสื่อและพัฒนาการสอนให้เสมือนว่าเรียนคอร์สสดเพื่อดึงดูดให้ผู้เรียนอยากมาเรียนในทุกๆ คอร์ส

“คุณอาจจะเห็นว่าเขาลงทุนไม่มาก แต่จริงๆ คุณก็ไม่เห็นว่าที่ผ่านมาเขาต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง และต้องใช้เวลาในการสร้างองค์ความรู้ ซึ่งราคาคอร์สในปัจจุบันไม่ได้แพงเพราะกระบวนการได้มาซึ่งความรู้แต่แพงเพราะเขาไม่อยากราคาคอร์สแบบสดและสื่อต่างกันมาก เนื่องจากคนที่เรียนสดคือคนที่อยากเรียนกับเรามากแต่ชอบบรรยากาศแบบเห็นหน้าเห็นตา ซึ่งก็ต้องรีบมาธนาคารแต่เช้าเพื่อให้ทันลงทะเบียนเรียนคอร์สสด ในขณะที่บางคนสนใจแค่ว่าเรียนสถานที่เรียนเดินทางได้สะดวก และมีเวลาเรียนที่พึงพอใจ”

ผู้เรียนจะตัดสินใจเลือกคอร์สเรียนจากองค์ความรู้ที่เรียนแล้วเข้าใจ และมีราคาเหมาะสม แต่ในวันนี้มีรูปแบบการเรียนผ่านคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า self ซึ่งมีต้นทุนที่ 70-80 บาทต่อชั่วโมง สูงกว่าคอร์สสดและดีวีดีเกือบเท่าตัว เนื่องจากต้องลงทุนระบบ ค่าโปรแกรม ค่าวางเครือข่าย ค่าฮาร์ดแวร์ หากโรงเรียนกวดวิชาแห่งใดมีสาขามากก็ยิ่งต้องลงทุนมาก ทั้งนี้ ระบบ self ของโรงเรียนบางแห่งอาจมีต้นทุนที่ชั่วโมงละ 50-60 บาท ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้

สำหรับการลงทุนครั้งแรก หากทำระบบอย่างดีมีมูลค่าการลงทุนที่หลัก 10 ล้านบาท เฉพาะค่าเขียนโปรแกรมอยู่ที่ 3-4 ล้านบาท นอกจากต้นทุนเรื่องระบบสื่อแล้ว ยังมีต้นทุนค่าดำเนินการในโรงเรียนกวดวิชาด้วย โดยเฉพาะบุคลากร ซึ่งต้องดูแลควบคุมชั้นเรียนและติดต่อประสานงานภายในโรงเรียนกวดวิชา รวมถึงค่าเช่าอาคารสถานที่ ค่าสาธารณูปโภค

ทั้งนี้ ต้นทุนการจ้างงานก็เริ่มต้นที่ 15,000 บาทต่อเดือนตามอัตราการจ้างงานขั้นต่ำ และเงินเดือนก็ต้องเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนต้นทุนการผลิตก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะลงทุนมากในครั้งแรก โดยสื่อดีวีดีจะมีต้นทุนการจัดส่งไปยังสาขาต่างๆ สูง ส่วนสื่อคอมพิวเตอร์ยิ่งมีการลงทุนครั้งแรกสูงกว่าระบบดีวีดีมาก และมีค่าใช้จ่ายรายเดือนคือค่าอินเทอร์เน็ต ค่าลีสไลน์ (Leased Line)

ด้านราคาค่าเช่าอาคารสถานที่ขึ้นอยู่กับทำเล บางพื้นที่ราคา 700-800 บาทต่อตารางเมตร บางพื้นที่ 300-400 บาทต่อตารางเมตร ส่วนต้นทุนค่าสาธารณูปโภคจะไม่ต่างกันมากนักเพราะต้องเครื่องปรับอากาศต้องเย็น แสงสว่างเพียงพอ ทั้งนี้ อุปกรณ์ต่างๆ ด้านไอทีจะมีอายุการใช้งาน จึงต้องเปลี่ยนบ่อยทั้งโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ รวมถึงต้องปรับปรุงอาคารสถานที่อยู่เสมอ เช่น ทำห้องน้ำใหม่ เปลี่ยนวอลเปเปอร์ใหม่

สำหรับอาคารวรรณสรณ์มีราคาพื้นที่ราคา 500 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งขึ้นมาจากราคา 450 บาทต่อตารางเมตร ทั้งนี้โรงเรียนกวดวิชาจะต้องมีพื้นที่ใช้สอยรวมขั้นต่ำ 100 ตารางเมตรตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ

ไทยพับลิก้า: พัฒนาการรูปแบบการสอนของโรงเรียนกวดวิชาตั้งแต่การสอนสดสู่สื่อคอมพิวเตอร์มาจากอะไร

“เด็กต้องการความสะดวกสบาย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือองค์ความรู้ที่เกิดประโยชน์ เพื่อให้เรียนในห้องเรียนเข้าใจ ทำเกรดและสอบแข่งขันเพื่อเรียนต่อได้” สำหรับคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีก็จะเลือกรูปแบบการเรียนที่สะดวกสบายที่สุด ส่วนเด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยลงมาก็อาจจะเรียนแบบดีวีดี และมีอีกหลายคนที่อยากเรียนแต่ไม่ได้เรียนเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเรียน ซึ่งบางคนที่มีความสามารถก็ขอทุนการศึกษาจากโรงเรียนกวดวิชาได้ซึ่งมีโรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งที่ให้ทุน

อย่าง เคมีอุ๊ มีหลักเกณฑ์คือ ยากจน มีผลการเรียนดี มีใบรับรองความประพฤติจากโรงเรียน และเชิญผู้ปกครองมาคุย เช่น เด็กคนหนึ่งเขียนจดหมายมาขอผ่อนค่าเรียนเดือนละ 500 เพราะทำงานพิเศษและมีรายได้อาทิตย์ละ 500 บาท หลังจากรายจ่ายต่างๆ แล้วจะมีเงินประมาณเดือนละ 500 บาท ซึ่งเด็กคนนี้ผลการเรียนดี และอยากเรียนพิเศษเพราะต้องการจะสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ให้ได้ ซึ่งทางโรงเรียนก็อนุมัติทุนการศึกษาให้

“เด็กบางคนก็ได้รับทุนยาวตลอดทั้งมัธยมศึกษาตอนปลายถึงคอร์สสอบเข้ามหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังแบ่งประเภททุนเป็น ทุน 100% 70% 50% แต่ส่วนใหญ่ให้ทุนเต็ม 100% ทั้งนี้จำนวนทุนที่ให้นั้นทางเคมีอุ๊ให้นักเรียนทุกสาขาและไม่ได้จำกัดจำนวนทุน ซึ่งแต่ละปีจะมีประมาณ 100 กว่าคนต่อปีการศึกษา นอกจากนี้ยังให้ทุนการศึกษากับวิชาพันธมิตรด้วย เพราะเด็กบางคนไม่ได้ขอทุนเฉพาะวิชาเคมี แต่ต้องการวิชาฟิสิกส์ ชีววิทยา ฯลฯ ด้วย”

โรงเรียนกวดวิชาที่เปิดสอนในอาคารวรรณสรณ์ พญาไท
โรงเรียนกวดวิชาที่เปิดสอนในอาคารวรรณสรณ์ พญาไท

ไทยพับลิก้า: กรณีที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดว่าการเปิดโรงเรียนกวดวิชาว่าต้องเปิดในอาคาร “ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างหรือใบอนุญาตต่อเติมอาคารจากทางราชการ ให้ใช้เป็นอาคารเรียนเพื่อการศึกษา” นั้นเกี่ยวข้องกับตึกวรรณสรณ์หรือไม่

อาคารที่ใช้เปิดโรงเรียนกวดวิชาได้ นอกจากตึกวรรณสรณ์ที่พญาไทและสยามกิตติ์ที่สยามสแควร์แล้ว ยังมีอาคารศูนย์การค้า และอาคารสำนักงานด้วย เพียงแต่เจ้าของอาคารต้องมาขออนุญาตจดวัตถุประสงค์ของอาคารเพิ่ม ซึ่งกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ถูกลักไก่และกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาไม่ได้ตั้งตัวเลย

อาคารเหล่านี้มีการขออนุญาตที่ลักลั่นกันระหว่างกฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการที่ใช้กับโรงเรียนนอกระบบ เพื่อควบคุมอาคารเรียนให้ใช้อาคารที่แข็งแรงปลอดภัย และพระราชบัญญัติควบคุมอาคารของกระทรวงมหาดไทยที่ระบุว่าโรงเรียนกวดวิชาต้องเปิดในอาคารเพื่อการศึกษาเท่านั้น ซึ่งความมั่นคงแข็งแรงของอาคารนี้ไม่ต่างจากอาคารสาธารณะอื่นๆ ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการมองว่าอาคารสาธารณะทั่วไปก็มีความแข็งแรงพอเพียงแล้ว เพื่อให้เกิดโรงเรียนกวดวิชาที่ต้นทุนไม่สูงนัก

“ทุกครั้งที่คุยกัน โรงเรียนกวดวิชาจะทะเลาะกับตัวแทนกรมโยธาธิการของกรุงเทพมหานครและกระทรวงมหาดไทย จนสุดท้ายหน่วยราชการอื่นๆ จะอ้างถึงโรงเรียนกวดวิชาที่อาคารไม่มีความมั่นคง แข็งแรง ซึ่งส่วนใหญ่คือโรงเรียนเถื่อน จนกระทั่งวันหนึ่งภายในกระทรวงศึกษาธิการชงเรื่องและออกระเบียบดังกล่าวมา ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอิทธิพลหรือผลประโยชน์ของเจ้าของตึกเพื่อการศึกษา”

“หลังข้อกำหนดออกมา โรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่แย่ เช่น บริเวณวงเวียนใหญ่อาคารที่เปิดให้โรงเรียนกวดวิชาเช่านั้นไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อการศึกษา ซึ่งเมื่อโรงเรียนกวดวิชาเก่าเลิกเช่าไป โรงเรียนกวดวิชาแห่งใหม่ก็มาเช่าต่อไม่ได้ หากจะปรับปรุงอาคารใหม่เพื่อให้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาก็ต้องออกแบบใหม่ แก้ไขให้เข้าองค์ประกอบ ซึ่งยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูงเจ้าของอาคารจึงไม่ทำ ทั้งนี้ บางอาคารก็เปิดให้โรงเรียนกวดวิชาเช่าแม้ว่าจะไม่มีใบอนุญาตว่าเป็นอาคารเพื่อการศึกษาก็ตาม”

วันนี้เราเป็นประชาชนเต็มขั้นเพราะเสียภาษีแล้ว และสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชาไม่มีแล้ว ทุกวันนี้ผมดำรงตำแหน่งรักษาการนายกฯ ซึ่งอนาคตอาจจะตั้งเป็นสมาคมวิชาชีพส่งเสริมการศึกษา เป็นบทบาทใหม่ที่ไม่ผูกติดกับคำว่าโรงเรียนกวดวิชาที่นักวิชาการมักตีความว่า โรงเรียนกวดวิชาคือโรงเรียนที่ไล่กวด สอนข้อสอบ สอนเทคนิคการทำข้อสอบ สอนกลโกงและการเดาข้อสอบให้เด็ก ซึ่งคนที่พูดแบบนี้คือคนไม่รู้จริง

“ต่อจากนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมในการเก็บภาษี และผู้บริโภคเดือดร้อนน้อยที่สุด นี่คือสิ่งที่ผมในฐานะของกลุ่มผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาต้องทำต่อไปและสมาชิกของเราเห็นตรงกัน และไม่อยากให้ใครมาพูดว่าผมเป็นโรงเรียนกวดวิชาที่รวยที่สุดในประเทศไทย หรือเพราะใช้ช่องทางหลบเลี่ยงภาษี เพราะคนพูดรู้อยู่เต็มอกว่าไม่มีทางหลบเลี่ยงภาษีเพราะจะถูกเก็บภาษีแล้ว ทุกวันนี้พูดตามตรงว่าผมอาจจะทำได้ดีกว่าคนที่ว่าผม เพราะถ้าผมไม่มีคุณภาพซึ่งการันตีโดยผู้เรียนทุกวันนี้คงไม่มีหลายสาขา ซึ่งหลายๆ โรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งก็มีสาขาจำนวนมากเช่นกันเพราะสอนมีคุณภาพ”

ไทยพับลิก้า: โรงเรียนกวดวิชาขนาดใหญ่เช่น เคมีอุ๊ มีรายได้เป็นร้อยล้านต่อปี รวยเป็นพันล้านจริงหรือไม่

เงินร้อยล้านพันล้านที่เขาได้ต้องถามว่าเขาทำมากี่ปีแล้ว ผมเองทำโรงเรียนกวดวิชามา 30 ปีแล้ว รายได้ถึงพันล้านหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ปัจจุบันผมลงทุนแต่ละสาขามากกว่า 50 ล้านบาท บางสาขาลงทุนถึง 100 ล้านบาท ไม่รวมที่ดิน ซึ่งมีทั้งหมด 30 สาขา ดังนั้น เฉพาะเงินลงทุนของผมก็ 1,500 ล้านบาทแล้ว แต่เงินลงทุนจำนวนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียว แต่เกิดจากการทยอยการลงทุนที่นำกำไรจากส่วนนั้นมาลงทุนส่วนนี้ ซึ่งตอนนี้หยุดขยายมา 5-6 ปีแล้ว ดังนั้น คำนวณง่ายๆ แล้วผมก็มีกำไรร้อยละ 20 จากเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท ที่ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี

“ไม่ได้หมายความว่าผมมีกำไรปีละ 300 ล้านบาท แต่กำไร ณ จุดนี้เกิดจากการลงทุนที่ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ ตลอด 30 ปี นอกจากนี้ผมยังมีธุรกิจให้เช่าอพาร์ตเมนต์ เพราะเมื่อลงทุนที่ดินและอาคารแล้วก็ทำให้ครบวงจร เช่นเดียวกับตึกวรรณสรณ์ก็ลงทุนจากเงินกำไรในธุรกิจต่างๆและการกู้ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่โรงเรียนกวดวิชาละผมก็เสียภาษีถูกต้อง ดังนั้น รายได้ของผมมาจากหลายทางไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนกวดวิชา และทุกวันนี้ก็ยังต้องทำงานใช้หนี้ตึกวรรณสรณ์อยู่เลย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ยังเกษียณอายุไม่ได้”