ThaiPublica > คอลัมน์ > เด็กไทยปลุกจิตสำนึกพลังงานในสิงคโปร์

เด็กไทยปลุกจิตสำนึกพลังงานในสิงคโปร์

11 มิถุนายน 2015


กิตติทัต พร้อมทวีพงศ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ องค์กรพลังงานคาร์ตา

English Version “Youth Energy Movements in Asia”

ความต้องการในการใช้พลังงานที่สูงขึ้นเป็นปัญหาที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) คาดคะเนว่าความต้องการด้านพลังงานจะสูงขึ้นเป็นเท่าตัวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกภายในปี 2573 ทำให้ประเทศต่างๆ ตั้งธงจัดหาพลังงานเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ โดยที่จะต้องไม่ลืมคำนึงถึงผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่ประชากรทั่วโลก ต่างแสวงหาความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้น เราก็ต้องเผาผลาญพลังงานฟอสซิลเพิ่มขึ้น พร้อมไปกับเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เรากำลังทำลายโลกอย่างไม่มีวันหวนกลับหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสนองความต้องการพลังงานที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างไม่สิ้นสุดควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน

โจทย์ที่ท้าทายของคนรุ่นใหม่คือการผลักดันให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและการพัฒนาพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ คุณกิตติทัต พร้อมทวีพงศ์ แห่ง องค์กรพลังงานคาร์ตา(Energy Carta – EC) ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจจากประสบการณ์เป็นหนึ่งในผู้นำกิจการนักศึกษาด้านพลังงานในประเทศสิงคโปร์

จุดประกายการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากกิจการนักศึกษา

ย้อนกลับไป 7 ปีก่อน เมื่อขบวนการสร้างความยั่งยืนและพลังงานสะอาดของเยาวชนยังมีจำนวนไม่มากในทวีปเอเชีย กลุ่มนักเรียนชั้นปีสุดท้ายกลุ่มหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore – NUS) ซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศและมีส่วนร่วมกับศูนย์กลางธุรกิจที่หลากหลายทั่วโลก ได้ตระหนักถึงช่องว่างนี้ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค นักเรียนกลุ่มซึ่งมีความสนใจในพลังงานทางเลือก จึงตัดสินใจที่จะก่อตั้งองค์กรที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ แต่มีรูปแบบคล้ายธุรกิจแบบ start-up ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นองค์กรพลังงานคาร์ตาในต้นปี 2551

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คาร์ตามีส่วนร่วมในการสร้างเวทีให้นักเรียนนักศึกษาได้สัมผัสกับธุรกิจพลังงาน โดยผ่านช่องทางหลากหลาย เช่น การจัดประชุม เกม การแข่งขันข้อเสนอทางธุรกิจ รวมถึงการไปเยี่ยมชมธุรกิจพลังงาน เพื่อค้นหาวิธีที่ดีที่สุดในการดึงให้นักเรียนมามีส่วนร่วม และสร้างความตระหนักถึงโอกาสที่หลากหลายในธุรกิจพลังงาน กิจกรรมหลักสองกิจกรรมองค์กร ได้แก่ “พลิกเกม: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และ “ตามรอยพลังงาน” ก็ถือกำเนิดขึ้นจากการริ่เริมคราวนั้น

“พลิกเกม: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Changing the Game: Southeast Asia – CtG) เป็นกิจกรรมพิเศษที่องค์กรพลังงานคาร์ตาเตรียมไว้ให้ผู้เข้าร่วม ซึ่งอยู่ในรูปแบบของบอร์ดเกม โดยมีตัวต่อเลโก้ และไพ่สับเปลี่ยน ผู้เล่นจะต้องสวมบทบาทเป็นพลเมือง รัฐบาล ภาคธุรกิจ และองค์กรเพื่อภาคเอกชน (NGOs) เพื่อออกนโยบายเกี่ยวกับพลังงานที่หลากหลาย โดยมีจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจในปี 2573 จากรูปแบบของกรณีฐาน (Business-as-usual scenario) ให้เป็นภาพอนาคตใหม่ โดยผู้เล่นจะคำนึงถึงความต้องการในอนาคตโดยเปรียบเทียบกับความต้องการในปัจจุบัน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เจรจาหาทางออกที่ครอบคลุมทั่วภูมิภาค และทำงานร่วมกัน (หรือแข่งกัน) เพื่อที่จะ “พลิกเกม” ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2555 ก็ได้มีการนำเกมนี้ไปเล่นในงานต่างๆ เช่น การประชุมสุดยอดพลังงานสำหรับเยาวชนเอเชีย ซึ่งจัดโดยองค์กรพลังงานคาร์ตา และการประชุมพลังงาน 2556 ซึ่งจัดร่วมกับคณะกรรมการตลาดพลังงานของรัฐบาลสิงคโปร์ (Energy Market Authority)

รูปที่ 1: เกม “พลิกเกม” ที่การประชุมสุดยอดพลังงานสำหรับเยาวชนเอเชีย 2558 (ซ้าย) และการประชุมเชื่อมโยงพลังงาน 2556 (ขวา)
รูปที่ 1: เกม “พลิกเกม” ที่การประชุมสุดยอดพลังงานสำหรับเยาวชนเอเชีย 2558 (ซ้าย) และการประชุมเชื่อมโยงพลังงาน 2556 (ขวา)

“ตามรอยพลังงาน” (Energy Trail) เป็นกิจกรรมเรียนรู้เชิงทดลอง ซึ่งทำให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ในประเทศสิงคโปร์ที่ได้ริเริ่มแนวคิดเชื่อมโยงพลังงานกับความยั่งยืน สถานที่ที่ได้เยี่ยมชมที่ผ่านมาได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ บริษัทหรือองค์กรที่มีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมความยั่งยืน สถาบันพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Energy Institute of Singapore – SERIS) โรงไฟฟ้าฟอสซิล และระบบพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทฟีนิกซ์ ที่ศูนย์กีฬาสิงคโปร์

รูปที่ 2: ไปเยี่ยมสวนเทคโนโลยีสะอาดจูล่ง (ซ้าย) และ องค์กรพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (ขวา)
รูปที่ 2: ไปเยี่ยมสวนเทคโนโลยีสะอาดจูล่ง (ซ้าย) และ องค์กรพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (ขวา)

กิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักศึกษากลุ่มนี้ มาจากความพยายามและเวลาโดยนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งคงไม่ได้จำกัดอยู่ในประเทศสิงคโปร์ นักศึกษากลุ่มอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ก็อาจจะมีการรวมตัวในลักษณะเดียวกันเพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง ลองนึกดูว่า ในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความต้องการพลังงานมหาศาล คิดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ 20% ของการบริโภคพลังงานทั้งหมดในภูมิภาคนี้ และในขณะเดียวกันก็มีศักยภาพสูงในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม การมีส่วนร่วมของนักศึกษาในการร่วมกำหนดอนาคตประเทศ ซึ่งก็คืออนาคตของพวกเขาจะสำคัญเพียงใด

พลังงาน เรื่องน่าเบื่อสำหรับเยาวชน?

นักเรียน นักศึกษา หรือเยาวชนโดยทั่วไปล้วนก็ต้องการอนาคตพลังงานที่ยั่งยืนและสะอาด แต่ปัจจุบันยังมีช่องว่างอยู่ เพราะพวกเขาอาจไม่แน่ใจว่าจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร ประเด็นฮอตเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางพลังงาน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีอยู่ในสื่อนั้น จริงๆ แล้ว ค่อนข้างเป็นนามธรรม และยากต่อการเข้าใจซึ่งอาจทำให้นักศึกษาเพิกเฉยต่อเรื่องเหล่านี้ได้ แต่หากเราเริ่มด้วยการจุดประกายไฟแห่งจินตนาการเล็กๆ ก่อนจะขยายวงออกไปเป็นความคิด แม้ว่าในตอนเริ่มต้นเราจะไม่เห็นเส้นทางอนาคตที่ปรากฏเด่นชัด แต่การรวบรวมความคิดกับเพื่อนๆ นักศึกษาคนอื่น พร้อมทั้งการปรึกษาอาจารย์ผู้สอนก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หากเรามองโลกใบนี้ด้วยใจที่เปิดกว้าง พร้อมไปกับการทุ่มเทความใฝ่ฝันและความจริงใจที่จะทำให้เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตพลังงานสะอาดสำหรับภูมิภาคนี้ได้