ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > เอสเอ็มอีแบงก์เริ่มฟื้น 5 เดือน กำไร 503 ล้าน – ขานรับรัฐบาลปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้รายเล็ก 15,000 ล้าน – สคร.ไฟเขียวเพิ่มทุน 1,000 ล้านบาท

เอสเอ็มอีแบงก์เริ่มฟื้น 5 เดือน กำไร 503 ล้าน – ขานรับรัฐบาลปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้รายเล็ก 15,000 ล้าน – สคร.ไฟเขียวเพิ่มทุน 1,000 ล้านบาท

25 มิถุนายน 2015


เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการและนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดแถลงข่าวผลการดำเนินงานของธนาคารช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan)
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการและนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) แถลงข่าวผลการดำเนินงาน 5 เดือน 2558 และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

วันที่ 25 มิถุนายน 2558 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)แถลงข่าวผลการดำเนินงานของในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) โดยนางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธพว. และนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธพว.ว่าตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 มิถุนายน 2558 ได้มอบหมายให้ธพว.ปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก (Policy Loan)วงเงิน 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4 % ต่อปี ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะชดเชยให้ธพว.อีก 3 % และให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ค้ำประกันได้สูงสุดถึง 18 % ของยอดสินเชื่อที่ผ่านการอนุมัติ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

1. ปล่อยกู้แก่ SMEs รายย่อยวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันสามารถมากู้ยืมเงินจากธพว.ได้ โดยให้ บสย.ค้ำประกันเต็มจำนวน

2. วงเงินกู้ 1 – 5 ล้านบาท ในกรณีที่เป็นสมาชิกของภาคีของธนาคาร ให้ภาคีเหล่านี้ ช่วยกลั่นกรองคุณภาพในเบื้องต้น เพื่อผ่อนปรนในเรื่องหลักประกัน และให้ บสย.ค้ำประกันบางส่วน

3. วงเงินกู้ 5 – 15 ล้านบาท การพิจารณาเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคาร ทั้งในเรื่องศักยภาพของลูกหนี้ และการกำหนดมูลค่าหลักประกัน โดยมีเงื่อนไขว่าการกู้ยืมในทุกวงเงิน SMEs โดยเฉพาะรายย่อยที่มากู้ยืมต้องจดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ หรือ อย่างน้อยจดทะเบียนกับศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับภาคีของธนาคาร ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอี กรมพัฒนาชุมชน และสมาคมการค้าต่าง ๆ ขณะนี้ภาคีเหล่านี้ได้เริ่มพา SMEs ที่เป็นสมาชิก เข้ามายื่นเรื่องขอกู้เงินแล้ว เชื่อว่าสามารถปล่อยกู้ได้ครบ 15,000 ล้านบาท ภายในปี 2558

ส่วนผลประกอบการธนาคาร 5 เดือนของปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม ธนาคารมีกำไรสุทธิ 503 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของธนาคาร ส่วนการขยายสินเชื่อในเดือนพฤษภาคม 2558 มียอดเบิกจ่ายสินเชื่อ 2,469 ล้านบาท รวม 5 เดือน ธนาคารได้มีการอนุมัติสินเชื่อใหม่ไปแล้ว 13,623 ล้านบาท โดยสินเชื่อที่ปล่อยกู้เพิ่มในปี 2558 มีวงเงินต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท มีจำนวน 6,061 ราย ล่าสุดธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 86,461 ล้านบาท

นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธพว.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารทำเรื่องขอให้กระทรวงการคลังจัดงบประมาณมาเพิ่มทุนให้ธนาคารวงเงิน 2,000 ล้านบาท ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อนุมัติวงเงินเพิ่มทุนมาให้ธนาคารแล้ว 1,000 ล้านบาท โดยธนาคารจะทำเรื่องขอเบิกเงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 โดยการเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคาร (BIS) มีสัดส่วน 8.5% ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 7.5%

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2558 ธนาคารจึงมียอด NPLs อยู่ที่ 28,785 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 33.29 %ของยอดสินเชื่อคงค้าง เปรียบเทียบกับช่วงสิ้นปี 2557 มียอด NPLs อยู่ที่ 31,960 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 37.61 % ของยอดสินเชื่อคงค้าง คาดว่าในเดือนมิถุนายน 2558 ยอด NPLs ของธนาคารจะลดลงได้อีก เพราะธนาคารจะมีการขายหนี้ NPLs

นอกจากนี้ธนาคารยังดูแลลูกค้า SMEs รายย่อยมีปัญหาขาดสภาพคล่อง ธนาคารได้จัดงาน”เริ่มต้นวันใหม่” โดยเชิญลูกหนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 3,078 ราย คิดเป็นเงินต้น 1,403 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดีฟ้องร้องไปจนถึงขั้นพิพากษาและบังคับคดี มาเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นรายบุคคล เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้รายย่อยไม่ถูกฟ้องล้มละลาย และได้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมฝึกอาชีพ เพื่อเสริมสร้างโอกาสการทำธุรกิจใหม่และเพิ่มรายได้ให้กับลูกค้าที่ผ่านการเจรจาหนี้เรียบร้อย สำหรับลูกหนี้ที่ผ่านการปรับปรุงโครงการสร้างหนี้และมีประวัติการชำระหนี้ที่ดีต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน ธนาคารเตรียมมอบทุนการศึกษาให้กับบุตรของลูกหนี้จำนวน 10 ทุน ทุนละ 2,000 บาท

ประนอมหนี้

นางสาลินีกล่าวต่อว่านอกเหนือจากการให้สินเชื่อ ธพว.ได้จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน(Private Equity Trust Fund)ตามนโยบายของกระทรวงการคลังแล้ว เพื่อการพัฒนาศักยภาพของ SMEs ทั้งก่อนและหลังอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งจะมีโครงการเพิ่มขีดความสามารถ SMEs โดยให้คำปรึกษาแนะนำในลักษณะ Coaching หรือ “พี่เลี้ยงธุรกิจแบบตัวต่อตัว” ณ สถานประกอบการจริง โดยจะให้คำแนะนำเรื่องการเขียนแผนธุรกิจและการจัดทำงบการเงินในปีนี้มีเป้าหมาย 1,000 ราย ขณะนี้ธนาคารกำลังประสานงานกับหน่วยราชการอื่น ๆ เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้ SMEs อาทิ การค้าขายผ่านสื่อออนไลน์ และขอพื้นที่วางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต

นอกจากนี้คณะกรรมการธนาคารได้ทีมเพื่อสอบสวนคณะผู้บริหารระดับสูง 3 คน ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่าย รวมทั้งพนักงานระดับปฏิบัติการอีก 1 คน เนื่องจากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ธนาคารเกิดความเสียหาย และในระหว่างการสอบสวน ธนาคารได้ให้พนักงานกลุ่มนี้ออกจากตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่ายไว้ก่อน แต่ยังคงเป็นพนักงานของธนาคาร

ทั้งนี้ทีมที่ทำหน้าที่สอบสวน ประกอบด้วย บุคคลภายนอก อาทิเช่น ผู้เชี่ยวชาญที่เชิญมาจากกรม DSI นักกฎหมายจากสำนักทนายความ อดีตผู้ตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดปัจจุบันของธนาคารจะให้ความสำคัญในเรื่องความโปร่งใส ความซื่อสัตย์สุจริต และความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา ตามนโยบายของรัฐบาล