ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ชาวบ้านรวมรายชื่อเตรียมฟ้องจนท. แก้ฝุ่นดำ “ท่าเรือนครหลวง” ไม่คืบ เดือดร้อนกว่า 10 ปี

ชาวบ้านรวมรายชื่อเตรียมฟ้องจนท. แก้ฝุ่นดำ “ท่าเรือนครหลวง” ไม่คืบ เดือดร้อนกว่า 10 ปี

26 มิถุนายน 2015


เรือขนสินค้าท่าเรือนครหลวง
เรือขนสินค้าท่าเรือนครหลวง

ชาวบ้านอำเภอนครหลวงรวม 140 คน ให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเป็นตัวแทน เตรียมยื่นฟ้องหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หลังชาวบ้านเดือดร้อนจากปัญหามลพิษมายาวนานกว่า 10 ปี จากท่าเรือขนส่งถ่านหิน แป้งมันสำปะหลัง และปุ๋ยเคมีกว่า 40 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วอำเภอนครหลวง แต่การร้องเรียนต่างๆ ของชาวบ้านกลับไม่เคยได้รับการแก้ไขใดๆ ด้านเอสซีจีชวนชาวบ้าน ทนายความ และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ดูท่าเรือถ่านหินของบริษัทที่โครงการวัดบันได ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนมาเป็นระบบปิดด้วยงบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท และโครงการบ่อโพงซึ่งเป็นสถานที่ขนส่งเดิมที่มีการพัฒนามาจนกระทั่งไม่มีการเทกองถ่านหินกลางแจ้งแล้ว ในขณะที่ทนายความยืนยันว่าการฟ้องร้องครั้งนี้จะมีหน่วยงานถูกฟ้องกว่า 20 แห่ง และกระทบกับผู้ประกอบการ 30-40 ราย ไม่เว้นแม้แต่เอสซีจี

หลังจากไทยพับลิก้านำเสนอข่าวในซีรีส์ท่าเรือนครหลวงกับความไร้ระเบียบมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ชาวบ้านอำเภอนครหลวงรวม 140 คน เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองแล้ว ด้านนายอำนาจ อ่วมภักดี ชาวบ้านตำบลคลองสะแก อำเภอนครหลวง กล่าวว่า ชาวอำเภอนครหลวงอาศัยอยู่กับปัญหาที่เกิดจากท่าเรือขนส่งสินค้าทั้งถ่านหิน แป้งมันสำปะหลัง และปุ๋ยเคมี มานานกว่า 30 ปี แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการพัฒนาการขนส่งและขนถ่ายสินค้าให้ดีขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งยังคงมีการออกใบอนุญาตสร้างท่าเรือและโกดังเก็บสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งท่าเรือกว่า 40 ท่าในอำเภอนี้ไม่มีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอเลยแม้แต่ท่าเรือเดียว เนื่องจากท่าเรือดังกล่าวมีขนาดไม่เกินข้อกำหนดตามกฎหมายที่ต้องทำอีไอเอ โดยแต่ละบริษัทขอใบอนุญาตสร้างท่าเรือหลายๆ ท่าซึ่งอยู่ติดกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำอีไอเอ อีกทั้งโกดังสินค้าต่างๆ ล้วนไม่อยู่ภายใต้กฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยอ้างว่าเป็นเพียงอาคารที่เข้าข่ายขออนุญาตก่อสร้างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารเท่านั้น ไม่เข้าข่ายโรงงานอุตสาหกรรมตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด

นายอำนาจกล่าวต่อว่า เมื่อปีที่แล้วหลังจากมีการประชุมในระดับจังหวัดเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษจากท่าเรือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยายืนยันว่า จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับท่าเรือและโกดังเก็บสินค้าที่ก่อให้เกิดมลพิษโดยจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายในวันที่ 1 มกราคม 2558 แต่จนถึงวันนี้กลางปี 2558 แล้วก็ยังไม่เห็นว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายใดๆ เพื่อควบคุมมลพิษ ทั้งการใช้กฎหมายลงโทษตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และการไม่อนุมัติการต่อใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการที่ก่อมลพิษ

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ท่าเรือที่อำเภอนครหลวงเป็นท่าเรือขนถ่ายถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจนับแสนล้านบาท ซึ่งคงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ความเดือดร้อนของประชาชนถูกเพิกเฉย ไม่ว่าชาวบ้านจะเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานราชการในจังหวัดกี่ครั้ง หรือร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมเพื่อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านร้องเรียนไปแล้วกว่า 10 ครั้ง แต่สุดท้ายแล้วคำพูดของชาวบ้านไม่เคยถูกบันทึกอยู่ในการประชุมใดๆ และเป็นข้ออ้างสำคัญที่หน่วยงานราชการนำไปอ้างว่า “ไม่เคยมีการร้องเรียนจากชาวบ้าน”

“วันนี้ชาวบ้านจำนวน 140 คน จึงตัดสินใจขอให้นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เป็นตัวแทนชาวบ้านเพื่อดำเนินการฟ้องร้องหน่วยงานราชการต่อศาลปกครองฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ โดยการฟ้องครั้งนี้เป็นการฟ้องเพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่ได้หมายความว่าจะขับไล่ออกไปจากชุมชน แต่อยากให้หน่วยงานราชการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเพราะเชื่อว่าการปฏิบัติตามกฎหมายจะช่วยแก้ปัญหาได้ อีกทั้งที่ผ่านมาเราเดือดร้อนจริงๆ และหมดหนทางร้องเรียนทางอื่นแล้ว” นายอำนาจกล่าว

ทั้งนี้ การรวบรวมรายชื่อชาวบ้านเพื่อเป็นโจทย์ในการฟ้องครั้งนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่รู้ว่าตัวเองเดือดร้อนแต่จะให้ออกแรงสู้จะไม่ทำ ซึ่งจำนวนทั้ง 140 คน ที่ได้มานั้นคือชาวบ้านรับรู้และเข้าใจว่าคดีฟ้องร้องในครั้งนี้อาจใช้เวลานาน และเป็นกลุ่มชาวบ้านที่เข้มแข็งไม่เกรงกลัวการข่มขู่ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ฟ้อง 140 คน นี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดในอำเภอนครหลวง อีกทั้งโจทก์ในการฟ้องร้องครั้งนี้ครอบคลุมชาวบ้านในทุกตำบล ยกเว้นตำบลบางระกำเพียงแห่งเดียว ซึ่งอาจเพราะเป็นตำบลที่กำนันอำเภอนครหลวงอาศัยอยู่ ที่สำคัญ ผู้นำชุมชนของอำเภอนครหลวงส่วนใหญ่นิ่งเฉยกับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น มีผู้นำเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่อยู่ข้างชาวบ้านที่เดือดร้อน

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำป่าสักที่เกิดจากท่าเรือในอำเภอนครหลวงสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งชาวบ้านก็ร้องเรียนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่เป็นผลทั้งๆ ที่มีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจน จึงเป็นเหตุให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้เข้ามาช่วยในการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองในครั้งนี้

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในอำเภอนครหลวงหลายครั้งพบว่า การประกอบการกิจการท่าเรือและโกดังสินค้าเกือบทั้งหมดเป็นระบบเปิดและเทกองสินค้ากลางแจ้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในสถานประกอบการและชุมชนโดยรอบ อีกทั้งคุณภาพสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพน้ำ ดิน อากาศ หรือเสียง อีกทั้งยังมีการฟุ้งกระจายของฝุ่นแป้งมันสำปะหลัง ปุ๋ย และถ่านหิน ออกไปยังพื้นที่ชุมชนโดยรอบ และชาวบ้านก็ได้รับข่าวสารที่ไม่ครบถ้วนรอบด้านจากทั้งหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการ เหมือนถูกปิดบังให้ทราบแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น

“การฟ้องร้องคดีในตอนนี้อยู่ระหว่างการรวมรวบข้อมูลและหลักฐาน ซึ่งคาดว่าจะสามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ในเร็ววัน แต่จะเป็นเมื่อไหร่นั้นยังบอกไม่ได้ โดยคาดว่าจะฟ้องร้ององค์กรกว่า 20 หน่วยงาน ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งผู้ประกอบการประมาณ 30-40 แห่ง จะได้รับผลกระทบจากคดีนี้ด้วย แม้ว่าผู้ประกอบการบางรายจะปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นแล้วก็ตามแต่ผลกระทบที่เกิดจากกิจการในอดีตยังคงอยู่ ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการรายไหนที่ทำดีแล้วก็ไม่น่าต้องกังวลอะไร ทั้งนี้ ในกรณีที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางสุขภาพหรือเกิดความเสียหายก็อาจจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อไป” นายศรีสุวรรณกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการก็ต้องดูแลควบคุมองค์กรและพนักงานให้ดี ซึ่งสำหรับการดูพื้นที่ทำงานของเอสซีจีในวันนี้ถือว่ามีมาตรฐานที่รับได้ และน่าจะเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ นำไปปฏิบัติตาม แต่การบอกเพียงปากเปล่าคงไม่สามารถทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นหันมาปฏิบัติตามได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้การฟ้องร้องเป็นไม้เรียวบังคับ เช่นเดียวกับที่มาบตาพุด

จากเหตุการณ์ดำเนินการเพื่อจะฟ้องร้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้ ด้านผู้ประกอบการบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี จึงเปิดโอกาสให้ชาวบ้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา กับทีมทนาย และสื่อมวลชน เข้าชมท่าเรือขนส่งถ่านหินของเอสซีจี ในโครงการวัดบันได ซึ่งเป็นท่าเรือแห่งใหม่ที่ใช้ระบบปิดในการขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือไปสู่โรงงานผลิตในจังหวัดสระบุรี

นายบรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า โครงการวัดบันไดนี้เป็นเริ่มสร้างเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว และเปิดดำเนินการถึงปัจจุบันมา 1 ปี 4 เดือนแล้ว โดยระบบการขนถ่ายตั้งแต่หน้าท่าจะมีการฉีดพ่นน้ำเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายจากการใช้แทรกเตอร์ตักถ่านหินขึ้นจากเรือเทใส่ถังเพื่อลำเลียงถ่านหินไปตามสายพานซึ่งอยู่ในระบบปิด โดยส่วนหนึ่งจะเก็บสต็อกไว้ในโกดัง แต่ส่วนใหญ่จะจ่ายผ่านสายพานไปยังรถบรรทุกโดยตรงเพื่อขนส่งไปยังสระบุรี ซึ่งทุกวันนี้ระบบปิดยังไม่สมบูรณ์ แต่จะสมบูรณ์ภายใน 2 ปีต่อจากนี้ เนื่องจากการใช้เครื่องจักรที่เรียกว่าสกรูอันโหลดเดอร์ (screw unloader) ดูดถ่านหินจากเรือเข้าสายพานโดยตรง ซึ่งสั่งซื้อและอยู่ระหว่างการประกอบจากประเทศสวีเดน

สำหรับท่าเรือแห่งนี้มีปริมาณถ่านหิน 5,200 ตันต่อวัน โดยเป็นถ่านหินชนิดบิทูมินัสที่ซื้อมาจากอินโดนีเซียในราคาเริ่มต้นที่ 2,000 บาทต่อตัน ซึ่งเรือแต่ละลำจะบรรทุกถ่านหินได้ 1,000-2,000 ตันต่อลำ หรือประมาณ 1,000 ตันกรอส สำหรับโกดังเก็บถ่านหินจุได้ถึง 14,000-16,000 ตัน แต่การสต็อกถ่านหินจะเก็บไว้ไม่เกิน 1 เดือน ส่วนการขนส่งไปยังโรงงานปูนและกระดาษของเอสซีจีนั้นจะใช้รถบรรทุกความจุ 25 ตันต่อคัน โดยจะใส่ถ่านหินไม่เกินขอบกระบะรถเพื่อป้องกันการร่วงหล่น หลังจากนั้นปิดคลุมด้วยผ้าใบและขนส่งออกไป ซึ่งรวมแล้วจะมีรถบรรทุกขนถ่านหินออกจากท่าเรือประมาณ 200 เที่ยว

“ท่าเรือแห่งนี้มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งในทางธุรกิจไม่มีความคุ้มค่าเลย แต่เราทำเพื่อเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และปัจจุบันท่าเรือแห่งนี้มีคุณภาพน้ำในลำน้ำ น้ำทิ้งในท่าเรือ เสียง และอากาศ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานซึ่งตรวจวัดปีละ 2 ครั้งและส่งรายงาน อบต. การลงทุนทำระบบปิดนี้ใช้เงินลงทุนสูงมาก ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเดียว เช่น ถ่านหิน อาจไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุน แต่สำหรับเอสซีจีสามารถทำได้เพราะมีปูนซีเมนต์เป็นธุรกิจหลัก” นายบรรณกล่าว

การตักถ่านหินจากหน้าท่าเรือเข้าใส่สายพาน ณ ท่าเรือเอสซีจีโครงการวัดบันได
การตักถ่านหินจากหน้าท่าเรือเข้าใส่สายพาน ณ ท่าเรือเอสซีจีโครงการวัดบันได
รถบรรทุกมารับถ่านหินจากสายพานในระบบปิดก่อนคลุมผ้าใบและขนส่งไปยังสระบุรี
รถบรรทุกมารับถ่านหินจากสายพานในระบบปิดก่อนคลุมผ้าใบและขนส่งไปยังสระบุรี

นอกจากนี้ ท่าเรือระบบปิดนี้ยังเปิดให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ เข้าชมตลอดทั้งปี ซึ่งท่าเรือนี้ถือเป็นท่าเรือระบบปิดแห่งแรกของไทยด้วย อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการปูนซีเมนต์และถ่านหินที่มีความพร้อมและต้องการปรับปรุงระบบท่าเรือให้ดีขึ้นจำนวน 9 บริษัทในนาม “กลุ่มรักษ์ชุมชน” ประกอบด้วย สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) บริษัทเอสซีจี บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) บริษัท ลานนา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) และบริษัท เปรมไทย เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งปัจจุบันสมาชิกกำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงการขนส่งให้ได้ตามาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ร่วมกันตั้งไว้ เช่น มีบ่อล้างล้อรถก่อนออกนอกพื้นที่ มีการสร้างกำแพงต้นไม้และผ้าใบโปร่งเพื่อป้องกันถ่านหินปลิวสู่ภายนอก ฯลฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน

กองถ่านหินเดิม ณ โครงการบ่อโพง
กองถ่านหินเดิม ณ โครงการบ่อโพง
ลานกว้างซึ่งเดิมเป็นพื้นที่เทกองถ่านหินของเอสซีจี ณ โครงการบ่อโพง
ลานกว้างซึ่งเดิมเป็นพื้นที่เทกองถ่านหินของเอสซีจี ณ โครงการบ่อโพง
เครื่องพ่นละอองน้ำในอากาศเพื่อป้องกันถ่านหินฟุ้งกระจาย ที่เคยใช้กับกองถ่านหินกลางแจ้ง ณ บ่อโพง
เครื่องพ่นละอองน้ำในอากาศเพื่อป้องกันถ่านหินฟุ้งกระจาย ที่เคยใช้กับกองถ่านหินกลางแจ้ง ณ บ่อโพง

นายบรรณกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการท่าเรือบ่อโพงดำเนินกิจการมากว่า 10 ปีแล้ว เป็นจุดขนถ่ายถ่านหินเดิมของเอสซีจี ที่เป็นระบบเทกองกลางแจ้ง และใช้รถแทรกเตอร์ตักจากกองใส่ถุงบิ๊กแบ็ก แล้วใส่รถบรรทุกขนไปยังภายนอก โดยจะมีการฉีดพ่นน้ำด้วยเครื่องทำละอองน้ำขนาดใหญ่เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายในอากาศ ต่อมาก็พัฒนาโดยการสร้างโกดังเพื่อเทกองถ่านหินจำนวน 2 โกดัง และค่อยๆ ลดการเทกองกลางแจ้ง โดยภายในโกดังยังคงใช้รถแทรกเตอร์ตักเหมือนเดิม แต่รอบๆ โกดังจะฉีดพ่นเป็นม่านน้ำบริเวณประตูโกดัง อีกทั้งยังมีแผ่นพลาสติกขั้นอีก 1 ชั้นเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายออกมาภายนอก

“ปัจจุบันที่บ่อโพงไม่มีการเทกองกลางแจ้งแล้วตั้งแต่พฤษภาคม 2558 หลังจากที่เริ่มลดการเทกองมาเรื่อยหลังเปิดดำเนินการที่โครงการวัดบันได โดยถ่านหินจากบ่อโพงนี้นอกจากใช้ในอุตสาหกรรมของเอสซีจีแล้วยังขายให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมยางรถยนต์” นายบรรณกล่าว

กองถ่านหินที่อยู่ในโกดัง และมีม่านน้ำฉีดพ่นตลอดเวลาบริเวณหน้าประตู ณ บ่อโพง
กองถ่านหินที่อยู่ในโกดัง และมีม่านน้ำฉีดพ่นตลอดเวลาบริเวณหน้าประตู ณ บ่อโพง
การลำเลียงถ่านหินที่บรรจุในถุงบิ๊กแบ็กขึ้นรถบรรทุก ณ บ่อโพง
การลำเลียงถ่านหินที่บรรจุในถุงบิ๊กแบ็กขึ้นรถบรรทุก ณ บ่อโพง
บ่อล้างล้อรถ ก่อนออกนอกพื้นที่ท่าเรือ เพื่อลดปัญหามลพิษในที่สาธารณะ
บ่อล้างล้อรถ ก่อนออกนอกพื้นที่ท่าเรือ เพื่อลดปัญหามลพิษในที่สาธารณะ