ThaiPublica > เกาะกระแส > 5 สถาบันจับมือทำฐานข้อมูลแรงงาน นำระบบ”LEED-X” มาใช้ใหม่ – ชี้ปัญหาใหญ่ต่างคนต่างทำ จัดเก็บคนละรูปแบบ

5 สถาบันจับมือทำฐานข้อมูลแรงงาน นำระบบ”LEED-X” มาใช้ใหม่ – ชี้ปัญหาใหญ่ต่างคนต่างทำ จัดเก็บคนละรูปแบบ

10 มิถุนายน 2015


เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดการประชุม “ระบบ LEED-X สู่ยุค Digital” ถึงแนวทางการพัฒนาระบบฐานข้อมูล LEED-X หรือระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างหน่วยงาน ในด้านข้อมูลกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมเพื่อหาแนวทางในด้านความร่วมมือ การพัฒนา และหารือปัญหาที่เกิดขึ้น

การจัดเก็บข้อมูลเรื่องเดียวกันไม่เหมือนกัน ปัญหาเรื้อรังราชการไทย

5

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวถึงความเป็นมาของ LEED-X ว่า LEED-X ต้องการรวบรวม สังเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้มีศูนย์กลางข้อมูลของกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงของหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกำลังคน เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายหรือทิศทางต่างๆ ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการดังกล่าว

“ลีดเอ็กซ์” (LEED-X: Labor Economic and Education Data Exchange) เว็บไซต์ http://ledx.oie.go.th คือ ระบบฐานข้อมูลเศรษฐกิจ การศึกษา และแรงงาน เพื่อใช้ในการคำนวณแนวโน้มความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2551 เดิมมีองค์กรร่วมอยู่เพียง 3 องค์กร ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ โดยระบบนี้มีทีดีอาร์ไอและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกำกับดูแลอยู่ แต่ในปี 2554 ต้องหยุดการดูแลระบบลงเนื่องจากมีปัญหาด้านงบประมาณ ส่งผลให้เว็บไซต์ต้องปิดตัวเนื่องจากขาดเจ้าหน้าที่ทางเทคนิค ขาดการอัปเดตข้อมูลใหม่ รวมถึงการถูกโจมตีจากแฮกเกอร์ ต่อมาในปี 2558 จึงเกิดแนวคิดทำระบบฐานข้อมูลนี้ใหม่ให้ทันสมัย ใช้งานง่ายกว่าเดิม เพราะเป็นจุดศูนย์รวมข้อมูลที่มีประโยชน์จำนวนมาก โดยจะมี 5 หน่วยงานในการร่วมพัฒนา ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กล่าวถึงปัญหาด้านข้อมูลของแต่ละหน่วยงานว่า “ที่ผ่านมาแต่ละที่มีข้อมูลที่ต่างกัน ไปติดต่อกระทรวงศึกษาธิการก็มีข้อมูลอย่างหนึ่ง ไปสำนักงานสถิติก็ข้อมูลอย่างหนึ่ง ไปสำนักงานสถิติแห่งชาติก็ข้อมูลอย่างหนึ่ง กรมแรงงานก็อย่างหนึ่ง เกิดการสับสนในทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องแรงงาน แม้ในกระทรวงเดียวกันข้อมูลไม่เหมือนกัน ข้อมูลจำนวนโรงงานยังไม่เท่ากันเลย แล้วจะวางแผนพัฒนากันได้อย่างไร ภาคราชการพูดอย่าง ภาคเอกชนพูดอย่าง ประเทศไทยขาดข้อมูลสำหรับการเตรียมตัวของแรงงาน ว่าแต่ละสาขาต้องการแรงงานเท่าใดแน่ บางครั้งผลออกมาว่าวิศวกรขาดแคลน แต่ผลิตออกมาแล้วเกิน ไม่สัมพันธ์กัน”

เปลี่ยน “LEED-X” ฐานข้อมูลเศรษฐกิจการศึกษา-แรงงาน

ดร. วัชระ ฉัตรวิริยะ
ดร. วัชระ ฉัตรวิริยะ

ดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นผู้ดูแล LEED-X ในเชิงเทคนิคทั้งหมด กล่าวว่า โครงการที่ทำถือเป็นดิจิทัลอีโคโนมีแล้ว เมื่อพูดถึงดิจิทัลอิโคโนมีก็มักจะคิดว่าต้องมีเครื่องมือรวดเร็วทันสมัย แต่การมีระบบริหารจัดการข้อมูล การวางแผน การทำงานใช้ข้อมูลจริงเป็นความหมายที่น่าสนใจกว่า

“โครงการนี้พยายามแก้ปัญหา 2 เรื่อง 1. แบ่ง แยก วิเคราะห์ข้อมูล ว่าอยู่ในรูปแบบไหนถึงจะใช้ประโยชน์ได้ และไม่เกิดความซ้ำซ้อน 2. การนำข้อมูลที่มีอยู่แล้วมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อให้กิดข้อมูลที่มีประโยชน์ในการตัดสินใจ 2 เรื่องนี้ฟังดูเหมือนง่าย แต่ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความยากลำบาก ข้อมูลในปัจจุบันมีหลายแหล่ง ซับซ้อน หรือบางทีมีข้อมูลแต่ยากต่อการทำความเข้าใจ มีคำถามเกิดขึ้นว่าทำไมไม่ทำอุตสาหกรรมทุกกลุ่มในประเทศ ทุกสัดส่วน เรื่องหนึ่งคือเราทำไม่ไหว การต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงาน หรือสังคมต้องใช้เวลาอย่างมาก”

ดร.วัชระ ชี้ว่า ก่อนหน้านี้ข้อมูลบน LEED-X นั้นมีมากแต่ค่อนข้างดูยาก จึงจะจัดทำให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย จะทำข้อมูลตัวอักษรเป็นข้อมูลภาพหรืออินโฟกราฟิกมากขึ้น ขณะนี้เลือกจะทำข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมไว้ 13 กลุ่ม ได้แก่ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารและเครื่องดื่ม ยางพารา ไม้และเฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง เซรามิกส์ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี กระดาษ และอัญมณี ในอนาคตคงมีการขยายขอบเขตมากขึ้น

ข้อมูลไม่เที่ยงตรง ขาดความร่วมมือ
นายพงศา แสนใจงาม
นายพงศา แสนใจงาม

ด้านนายพงศา แสนใจงาม ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาด้านข้อมูลของสภาอุตฯ เองว่า ที่ผ่านมามีจุดอ่อนในเรื่องของข้อมูลของผู้ที่จะสมัครงาน จากการมีงบจำกัด จุดอ่อนของเว็บไซต์สายงานแรงงาน http://www.ftijob.com/ นั้นขัดแย้งกับพฤติกรรมจริงๆ ของการผลิต มีการพูดว่าต้องการแรงงานในระบบ 2-3 แสนคน แต่ตรงนั้นไม่มีข้อมูลที่แท้จริง เนื่องจากแรงงานไม่มีทักษะไม่มีความสามารถใช้เว็บไซต์นี้ได้ แต่เป็นการประมาณการของกลุ่มอุตสาหกรรม 43 กลุ่มว่าในแต่ละช่วง แต่ละไตรมาสมีความต้องการแรงงานเท่าไหร่ ยอมรับว่าไม่ได้มีการเที่ยงตรง ฉะนั้น ต้องทำการบ้านว่าจะรวมกลุ่มผู้ใช้แรงงานระดับล่างได้อย่างไร

นายเสถียร อุตสาหะ ตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ เสนอว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการเวลาใช้ข้อมูล นอกจากจะใช้เป็นระดับจังหวัดแล้ว จะมีข้อมูลเป็นลักษณะกลุ่มจังหวัด ฉะนั้นการเอาจังหวัดต่างๆ มารวมเป็นกลุ่มจังหวัด ถ้ามีเครื่องมือให้ใช้รวมเป็นกลุ่มได้ ตามที่ได้กำหนดไว้ก็จะดี ตามจุดประสงค์ของกระทรวงศึกษาธิการก็จะช่วยได้มาก หรือไม่อย่างนั้นเอาจังหวัดรวมกันเป็นภาคภูมิศาสตร์ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าการกำหนดภาคของแต่ละหน่วยงานเหมือนกันหรือไม่

ดร.วัชระตอบว่า แนวคิดที่บอกว่าเป็นกลุ่มข้อมูลรายจังหวัดเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะการใช้งานข้อมูลของผู้ใช้งานแต่ละองค์กรไม่เหมือนกัน เอกชน ราชการ ก็ไม่เหมือนกัน ระบบนี้น่าจะตอบสนองความต้องการได้ ส่วนช่วงเวลาของการเก็บข้อมูล ขณะนี้เป้าหมายอยู่ในช่วงที่ต้องได้ข้อมูลมามากที่สุดก่อน แล้วจะใส่หมายเหตุไว้ ซึ่งเพียงพอต่อการวิเคราะห์ข้อมูล ทาง สจล. สนใจข้อมูลที่เป็นทุติยภูมิก่อน คือ มีผลสรุปมาแล้ว มีค่าเฉลี่ย ภาพรวม การให้ข้อมูลปฐมภูมิของแต่ละคนมาประมวลผล เป็นเรื่องใหญ่มาก น่าจะสุ่มเสี่ยง

นายบุญเลิศ ธีระตระกูล
นายบุญเลิศ ธีระตระกูล

ด้านนายบุญเลิศ ธีระตระกูล ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน (นักวิชาการแรงงานทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน ให้ความเห็นว่า การบอกได้ว่าแรงงานเป็นอย่างไร ต้องมีข้อมูล และข้อมูลต้องมีที่มา เช่น เรื่องของความต้องการแรงงานต้องมาจากสถานประกอบการณ์ แต่เวลาสำรวจ นายจ้างจะไม่ให้ความร่วมมือ ความยากอยู่ที่ความร่วมมือ แม้จะมีการรณรงค์ ทำหนังสือไปส่งถึงนายจ้างเป็นหมื่นฉบับ ขณะนี้มีเว็บไซต์เรื่องแรงงานหมดแล้ว อยู่ที่ว่าแต่ละภาคส่วนจะร่วมมือหรือไม่ หากไม่มีความร่วมมือจะจัดการอะไรไม่ได้

“เคยโทรคุยกับฝ่ายบุคคลของแต่ละบริษัท เปิดทางให้เลือกว่าจะส่งข้อมูลทางอีเมล ทางแฟกซ์ เขาก็ไม่ส่ง หรือส่งก็เกินเวลาไปแล้ว มันยากมากเลยที่จะได้ข้อมูล ก็เลยส่งคนลงไปสำรวจนิคมอุตสาหกรรมหนึ่ง ไปเดินสองวัน ได้มาแค่ 250 แห่ง จาก 500 แห่ง เพราะเขารู้สึกว่ามันเป็นภาระงานเขา เราต้องพูดความจริง ถ้าไม่พูดความจริงก็ทะเลาะกันเปล่าๆ” นายบุญเลิศกล่าว

ปัญหางบประมาณก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งของการรวมข้อมูล นายอานนท์ จันทวิช ผู้อำนวยการสำนักสถิติเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานสถิติ เล่าถึงปัญหาของการจะสำรวจสำมโนอุตสาหกรรมในปีหน้าว่า “ได้ทำการของบประมาณไป 340 ล้านบาท แต่ได้จริงเพียง 54 ล้านบาท แต่ก็ต้องทำ หากปีหน้าไม่มีข้อมูลตัวนี้ข้อมูลจะขาด ก็ต้องมีการปรับแผนจากหน่วยงานต่างๆ ที่จะให้ ข้อมูลดีๆ มันต้องแพง ถ้าไม่มีเงิน ก็ไม่มีข้อมูลที่ดี”

มุมมองนักวิชาการต่อระบบฐานข้อมูลประเทศไทย

ดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ความเห็นต่อปัญหาระบบฐานข้อมูลไทยหลังเสวนาว่า

“ที่ผ่านมามันสะดุดเนื่องจากว่าวิธีการที่ตั้งโครงการนี้มาเป็นลักษณะปีต่อปีแต่ได้มีการคุยกันแล้วว่าน่าจะทำต่อเนื่องได้ ก็ต้องขึ้นกับนโยบายผู้บริหารที่ดีด้วย อย่างกระทรวงศึกษาขอให้ส่งข้อมูลมาให้ เรื่องที่จะแยกหรือรวมข้อมูลนั้นมีระบบที่สามารถเรียกดูได้ ผู้ประกอบการหากจะดูข้อมูลของกลุ่มจังหวัดใดก็ดูได้ จะจัดการข้อมูลให้เหมาะกับผู้ใช้ จริงๆ แล้วพัฒนามาตั้งแต่เวอร์ชันที่แล้ว ขณะนี้เว็บไซต์ถูกปิดไว้ก่อน แต่ข้อมูลเดิมยังอยู่ครบ เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีการอัปเดตข้อมูลมากว่า 2 ปี โครงการLEEDX นี้เป็นการทำงานปีต่อปี ถ้าไม่มีงบประมาณมาก็ต้องหยุดไป เราจึงขอให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเปลี่ยนให้ทำโครงการนี้ต่อเนื่อง เป็นการจ้างทำตลอด ในทางฝั่งเทคนิคเมื่อเห็นปัญหานี้ก็ทำอะไรไม่ได้”

ปัญหาที่สอง เมื่อเนื้อหาการทำ LEED-X ยังเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจ และกระทรวงอุตสาหกรรมก็สามารถทำได้ แต่ผมบอกว่าจริงๆ เราต้องทำเรื่องนี้ในระดับประเทศ ต้องมีภาคบริการด้วย หากสำนักงานเศรษฐกิจเป็นคนออกเงินเขาก็จะถามว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกัน

ทีมงานเราไปคุยกับสำนักงานสถิติให้ช่วยเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ เพราะถ้าสำนักงานสถิติทำเรื่องนี้ก็จะดี คือ มีทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคอื่นๆ รวมหมดทุกอย่าง ควรจะเป็นแบบนั้น ในโครงการนี้อุตสาหกรรมเป็นคนเริ่ม แต่ท้ายที่สุดเมื่อพูดถึงระบบทั้งประเทศ ต้องกลับไปหาสำนักงานสถิติเช่นเดิม แล้วเราจะช่วยตั้งไข่ให้ แต่ต้องคุยกันถึงเรื่องนโยบาย

สำนักงานสถิติแห่งชาติถนัดการสำรวจสำมะโนครัว กระทรวงแรงงานก็ถนัดในส่วนที่เป็นแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมก็ถนัดเรื่องอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่สำนักงานสถิติแห่งชาติทำไม่ได้ สิ่งที่อยากจะสร้างโมเดลขึ้นมาว่าทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แล้วส่งข้อมูลกลับไปที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ต่อประเด็นการทำข้อมูลของแต่ละกระทรวงจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานฟอร์แมตเดียวกันหรือไม่ ดร.วัชระกล่าวว่า “ถ้ามีฟอร์แมตเดียวกันก็สะดวก แต่ในเชิงเทคนิคคิดว่าตรงนั้นไม่จำเป็นเลย อย่าไปติดตรงนี้เลย เพราะว่ามีพวกผม (technician) อยู่ เราพร้อมที่จะจัดระบบข้อมูลให้ คนที่ต้องเถียงกัน คือ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์แรงงาน นักวิชาการด้านสถิติ นิยามของแต่ละคนว่าอย่างไร แต่ตอนนี้เอาข้อมูลมาก่อน เพื่อที่ทางเราจะได้เชื่อมระบบได้ คนที่เคยทำงานกับเราบอกว่าจะให้ข้อมูล แต่คนที่ให้ข้อมูลเราจริงๆ คือคนที่อยู่ตามศูนย์ข้อมูลต่างๆ ต้องคุยกันละเอียดเลย ไม่อยากแตะข้อมูลที่เป็น data primary (ข้อมูลส่วนตัวของแรงงาน) เช่น คนนั้นคนนี้เคยทำอะไรมาบ้าง มันละเอียดอ่อนมาก มันมีบางอย่างที่คนไม่อยากบอก”

จากเดิมมี 9 กลุ่มอุตสาหกรรม วันนี้จะเป็น 13 กลุ่ม ที่ทำมาก็มีวิวัฒนาการของระบบฐานข้อมูลเรื่อยๆ การแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมของสำนักงานสถิติ หรือของหน่วยงานอื่นๆ ไม่เหมือนกันเลย อย่างของสภาอุตสาหกรรมบอกว่าตอนนี้มี 44 กลุ่ม ตามอำนาจการต่อรอง แต่ของกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสถิติ และกระทรวงแรงงานจะอิงมาตรฐานโลก แต่ก็ไม่ใช่มาตรฐานเดียวกันอีก เมื่อเราได้ข้อมูลมาต้องเขียนหมายเหตุเต็มเลย บอกว่าอันนี้นิยามตามอะไร อย่างไร ข้อมูลที่เรากำลังพูดถึงมีเรื่องพวกนี้เต็มเลย

ส่วนประเด็นที่แต่ละหน่วยใช้ระบบแบ่งกลุ่มไม่เหมือนกัน การรวมข้อมูลเข้าด้วยกันก็ทำได้ยาก ดร.วัชระกล่าวว่า “ทำไม่ได้เลย เช่น ปีนี้มีการแบ่งอุตสาหกรรม 4 ชนิด ปีหน้าเป็น 5 ชนิด สมมติเก็บไปแล้ว 4 ชนิด ปีต่อไปเก็บ 5 ชนิด มันกลายเป็นความลุ่มลึกแล้ว นักสถิติจะมานั่งเถียงกันว่าจะใช้วิธีการตั้งค่าเฉลี่ยข้อมูลอย่างไร ซึ่งพวกนี้บอกตรงๆ ว่าชาวบ้านไม่ได้สนใจหรอก เขาจะสนใจที่ว่าตกลงแล้วตอนนี้ภาพรวมเป็นอย่างไร ต่อไปน่าจะเกิดอะไรขึ้น ระบบเราจะตอบคำถามแค่ 2 ข้อตรงนี้”

อย่างไรก็ตามระบบนี้มีประโยชน์ให้ในหน่วยงานต่างๆ มีการทำข้อมูลเพื่อตอบสนองหน่วยงานตนเองอยู่แล้ว เรื่องที่ยากมากคือการเข้าไปคุยกับผู้บริหารกระทรวงต่างๆ เพื่อที่จะโน้มน้าวว่าเป็นการทำเพื่อให้คนอื่น และก็ให้ตัวเองทำงานน้อยลงด้วย ซึ่งยากมากเพราะทุกคนจะบอกว่า “ของฉันก็เหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว”​ แล้วจะต้องทำข้อมูลแจกชาวบ้านอีกเพื่ออะไร คุณควรจะทำ เพราะเมื่อคุณไปแจกชาวบ้านแล้ว ข้อมูลตรงบางตัวคุณไม่ต้องทำเองเลย เช่น กระทรวงแรงงานเคยเก็บข้อมูลนี้ได้ กระทรวงศึกษาธิการเองก็อาจจะมีข้อมูลนี้ด้วย เราก็อาจจะไปคุยกับกระทรวงศึกษาฯ ให้ว่าคุณไม่ต้องเก็บเดี๋ยวเราขอมาให้ กระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ใช้ของทั้งสองกระทรวงเลย แล้วแต่ละองค์กรก็ผลิตแค่ข้อมูลของตัวเองเล็กน้อย แต่คนที่เห็นคือผู้บริหาร

“ก่อนหน้านี้ไปพบผู้บริหาร ขอให้เซ็นเอ็มโอยูว่า งานรวมข้อมูลนี้เป็นงานที่นับเป็นผลงานของเจ้าตัว คุยกันดิบดี แต่พอถึงเวลา ไม่มีใครให้ข้อมูล ถ้าให้ก็ให้ด้วยความใกล้ชิดหรือรู้จักส่วนตัว แรกๆ ต้องทำเช่นนี้ตลอด”

ข้อมูลนี้ช่วยให้พัฒนาประเทศด้วยการใช้ข้อมูลจริง เรื่องข้อมูลที่ว่าถามคนนั้นคนนี้ก็ไม่เท่ากัน แต่ในฐานะนักทำงานด้านข้อมูลมองว่า การที่ข้อมูลไม่เท่ากันเป็นเรื่องดี เพราะวิธีการนิยามข้อมูลของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมไปทำงานให้สำนักงานพัฒนาผู้พิการ ผู้พิการนิยามไม่เหมือนที่เราคิด กุมหัวเลย แต่ผมไม่เชี่ยวชาญด้านนี้ เลยไม่ได้เข้าไปนิยาม คุณว่าอย่างไรผมก็เขียนไปอย่างนั้น พอเอาเรื่องนี้ไปเทียบกับหมอ กับคนต่างๆ ไม่เหมือนกัน ถ้าบอกว่าจะมานั่งเทียบให้เหมือนกัน ไม่ต้องทำ เราเป็นตัวเชื่อมให้เจ้าของข้อมูลกับนักสถิติคุยกันได้

“เพราะถ้าบอกให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน เขาไม่ทำ ถ้าเราเริ่มทำให้เขาเริ่มมองเห็น เขาก็จะค่อยๆ ปรับเอง”

เมื่อถามว่าได้คุยกับคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลบ้างหรือไม่ ดร.วัชระกล่าวว่า “ยังไปไม่ถึง ก่อนหน้านี้เราจะเอาเรื่องนี้ไปเข้าสภาพัฒน์และสำนักงานสถิติให้เป็นเจ้าภาพเรื่องงบประมาณ แต่เมื่อพูดถึงการให้งบประมาณ สภาพัฒน์ก็ไม่ได้ และระบบนี้กลับมาได้เพราะมีคนมาถามหาว่าข้อมูลตรงนี้หายไปไหน กลุ่มธนาคาร สถาบันการเงิน ภาคต่างๆ เขาบอกเมื่อก่อนที่เรารวมให้เขาเห็นภาพรวมเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีตัวนี้ให้ก็ต้องนั่งรื้อค้นวุ่นวายไปหมด แล้วไม่มีหมายเหตุด้วยเขาดูไม่ได้ ไม่ใช่แค่ สศอ. ที่เดียว ทุกกระทรวงก็ถูกคนทวงถาม ข้อมูลที่เคยใช้อยู่มันหายไป ถ้าเข้าไปดูข้อมูล จะพบว่าข้อมูลเก่ายังอยู่หมด ตอนนี้กำลังเตรียมการเปิดสู่สาธารณะ”

“ตัวเราจะเป็นคนจัดหาข้อมูลให้กับหน่วยงานที่ร้องขอ ถ้าเราอัปเดต เขาก็จะได้ข้อมูลไปด้วย สำนักข่าว สำนักการเงินอะไรต่างๆ ใครอยากได้อะไร บอกได้ จะต่อให้ ใครยิ่งลิงก์กับเรามากๆ ใช้บ่อยๆ เมื่อข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งหายไป เขาก็จะมาบอก สศอ. ว่าทำไมหาย ถ้าทำได้ก็จะมีความสำคัญ ที่ใช้มากจะเป็นนักวิเคราะห์ ที่รู้ว่ามีข้อมูลตรงนี้ สมมติว่าเรามีอินโฟกราฟิกแล้ว ก็อาจจะต้องคุยกับสื่อมวลชนว่าเขาอยากรู้ข้อมูลแบบนั้น ก็จะขึ้นมาเป็นตัวชี้วัด”