ThaiPublica > เกาะกระแส > สนช. มติเอกฉันท์ 203 เสียง แก้ รธน.2557 เปิดทางประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ – ส่งผล รบ.ประยุทธ์ อยู่ถึงสิ้นปี 59

สนช. มติเอกฉันท์ 203 เสียง แก้ รธน.2557 เปิดทางประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ – ส่งผล รบ.ประยุทธ์ อยู่ถึงสิ้นปี 59

18 มิถุนายน 2015


นายวิษณู เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th/media/EyWwB5WU57MYnKOuFtKgxC7y3U7NDUZF4W07jv5D9dpksin1upyhec.jpg
นายวิษณู เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th/media/EyWwB5WU57MYnKOuFtKgxC7y3U7NDUZF4W07jv5D9dpksin1upyhec.jpg

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 36/2558 เพื่อพิจารณา “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….” หรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เสนอ โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานในการประชุม และใช้วิธีพิจารณา 3 วาระรวด ภายในวันเดียว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุม สนช. ว่า หลักของการเสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 เพื่อกำหนดวิธีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติอื่นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เหตุผลสำคัญของการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 เนื่องจากขณะนี้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ทั้ง 36 คน กำลังทำงานอยู่ใกล้แล้วเสร็จ ปรากฎรูปร่างหน้าตาเผยแพร่ต่อสาธารณะชนและอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปแก้ไขใหม่ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เผยแพร่ออกไปก็มีเสียงวิจารณ์ ติชม และเสนอข้อคิดเห็นไปยัง กมธ.ยกร่างฯ จำนวนมาก โดยมีเสียงเรียกร้องให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหมือนกับคราวยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เรื่องนี้ คสช. และ ครม. ได้รับฟังและติดตามข่าวสารมาโดยตลอด และเห็นว่าน่าจะเป็นความต้องการของประชาชนโดยทั่วไป จึงสมควรให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งคิด ก็อยู่ในใจ คสช. มาแต่ต้น ตั้งแต่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 แต่ที่ยังไม่ใส่ไว้แต่ต้นเพราะไม่รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร แล้วประชาชนจะมีความเห็นอย่างไร เพราะหากประชาชนพอใจกับร่างรัฐธรรมนูญฉับบใหม่ ถ้าเขียนใส่ไว้ก่อน ก็จะทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ”

นายวิษณุ กล่าวว่า และเมื่อจะมีการแก้เรื่องประชามติ ก็ควรจะแก้ประเด็นอื่นที่เกี่ยวเนื่องไปในเวลาเดียวกัน ดังนั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ที่จะพิจารณาในวันนี้ จึงมี 7 ประเด็นใหญ่ๆ ประกอบด้วย

1.แก้เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิก สนช. จากเดิมที่เคยกำหนดว่า “ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” เป็น “ไม่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”

2.แก้เรื่องการถวายสัตย์ปฏิญญาณจากเดิมที่กำหนดว่าจะต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์ เป็นกระทำต่อพระมหากษัตริย์หรือผู้ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้แทนพระองค์ หรือรัชทายาทที่ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว

3.แก้เรื่องระยะเวลาทำงานของ กมธ.ยกร่าง จากเดิมให้เวลาพิจารณาคำขอแก้ไขไม่เกิน 60 วัน สามารถขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน

4.แก้ไขให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

5.แก้วาระดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) ทั้ง 250 คน ว่าเมื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่แล้ว ให้มี “กรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป” จำนวน 200 คน ขึ้นมาทำหน้าที่แทน

6.แก้กรณี กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน สิ้นสุดลง ไม่ว่าจะ สปช.ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรมนูญ หรือประชามติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะมี “กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” มีจำนวน 21 คน ขึ้นมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน

และ 7.เมื่อแก้ 6 ประเด็นข้างต้น ก็ต้องมีการปรับตัวเลขมาตราให้สอดคล้องกัน

ทั้งนี้ ภายหลังสมาชิก สนช. ได้อภิปรายเนื้อหาของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 อย่างกว้างขวาง ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ก็ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ ครม. และ คสช. เป็นผู้เสนอ ก่อนส่งกลับไปให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

โดยวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ มีมติเห็นชอบ 204:0 เสียง วาระที่ 2 ขั้นของการแปรญัตติ ซึ่งใช้วิธีให้ สนช. เต็มสภาเป็นกรรมาธิการ และพิจารณาเป็นรายมาตรา มีมติเห็นชอบตามที่เสนอทั้งหมด และวาระที่ 3 ขั้นพิจารณาทั้งฉบับ มีมติเห็นชอบ 203:0 เสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำให้โรดแม็ปการดำเนินงานของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องขยายออกไป จากเดิมที่จะมีการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2559 เป็นเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2559 ในเงื่อนไขว่าร่างรัฐธรรมนูญต้องผ่านการทำประชามติ แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ก็จะต้องมีการจัดตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญอีกฉบับแทน กมธ.ยกร่างฯ โดยให้ระยะเวลาทำงานไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งจะทำให้โรดแม็ปการทำงานของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ต้องขยายออกไปอีก

ป้ายคำ :